รู้จัก Pictograms มรดกทางศิลปะที่ ‘ญี่ปุ่น’ ส่งต่อให้มวลมนุษยชาติผ่าน Olympic และ 2 นักแสดงเงียบผู้ขโมยซีน รู้ไหม? เคยเปิดการแสดงที่ไทย

  • 744
  •  
  •  
  •  
  •  

จบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ พิธิเปิดกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ โอลิมปิกเกมส์ ซึ่งถ้าบอกว่าเป็นอีเวนต์ที่ทุกคนทั่วโลกตั้งตารอคอยคงไม่ผิด เพราะต้องเว้นว่างไปถึง 1 ปีจากโรคไวรัสโควิด-19 ระบาด และแม้แต่ปีนี้เองก็เกือบจะไม่ได้จัด แน่นอนว่าเจ้าภาพญี่ปุ่นก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง ซึ่งรายละเอียดของงานเราไม่ได้จะมาพูดถึงในบทความนี้ แต่ที่จะพูดก็คงเป็นตัวขโมยซีนที่ฮือฮาไปทั่วโลก นั่นก็คือ “การแสดง Pictogramsทั้งน่าทึ่ง สนุก บนความเรียบง่าย โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคพิเศษอะไรแต่ก็คว้าหัวใจคนทั้งโลกไปแล้ว ดังนั้น เราลองมาทำความรู้จักกับ Pictograms กันให้มากกว่าเดิมดีกว่า ว่าคืออะไร และมีความหมายอะไร

 

Pictograms เปลี่ยน pain point สู่มรดกทางศิลปะ  

ภาพ Pictograms ปี 1964 // ภาพจาก https://www.olympic-museum.de/pictograms/olympic-games-pictograms-1964.php

 

Pictograms คือภาพแสดงสัญลักษณ์ชนิดกีฬาต่างๆ ซึ่งออกแบบและสร้างสรรค์โดย Masaaki Hiromura โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารกับผู้ชมและผู้เข้าร่วมงานทั่วโลก โดยใช้เรื่องของภาพในการสื่อสารเป็นหลัก ก้าวข้ามข้อจำกัดทางด้านภาษา สำหรับการนำมาใช้ในโอลิปิกครั้งนี้เปิดตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2019 โดยใช้เวลาในการพัฒนาราว 2 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์

 

การใช้ Pictograms ในกีฬาโอลิมปิก ก็ต้องบอกว่าประเทศที่ริเริ่มก็คือ “ญี่ปุ่น” นี่แหละ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงชนิดกีฬาแต่ละประเภท โดยเริ่มครั้งแรกใน กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน ที่กรุงโตเกียว ในปี 1964 เพื่อช่วยในการสื่อสารให้ข้อมูลในเกม โดยไม่จำเป็นต้องใช้คำพูด ก้าวข้ามอุปสรรคทางภาษา ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นจุดอ่อนของคนญี่ปุ่น และนับตั้งแต่นั้น Pictograms ก็ถูกใช้อย่างต่อเนื่องในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเรื่อยมาก

 

50 ภาพจาก 33 ชนิดกีฬา

 

สำหรับการดีไซน์เพื่อ โตเกียว โอลิมปิก 2020  นั้นอย่างที่เกริ่นไว้ว่า สร้างสรรค์ผ่านทีมนักออกแบบกราฟฟิกชั้นนำของญี่ปุ่น Masaaki Hiromura ซึ่งเป็นนักออกแบบชื่อดัง มีผลงานสร้างชื่อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นป้ายบอกทางและ wayfinding ที่ใช้ในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเกิดใหม่แห่งชาติในโตเกียว และพิพิธภัณฑ์ศิลปะโยโกสุกะ ซึ่งได้รับคำชื่นชมอย่างมาก

 

สัญลักษณ์ Pictograms มีทั้งหมด 50 ภาพ ถูกนำมาใช้สำหรับ 33 ชนิดกีฬา โดยกีฬาแต่ละชนิดมีหลายประเภทแตกออกไปอีก ดังนั้น Pictograms ก็จะทำมาเฉพาะเพื่อกีฬานั้นๆ ด้วย เช่น กีฬาแข่งม้า ก็มีทั้ง ศิลปะการบังคับม้า และ การแข่งขันขี่ม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง เป็นต้น

การออกแบบที่ให้เกียรติต้นตำรับเดิม และไม่ได้มีแค่สีเดียว

 

Pictograms ในปีนี้ เน้นรูปร่างรูปทรงแบบ “เรขาคณิต” เพื่อแสดงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยให้มีรูปร่างที่ไม่เชื่อมต่อกัน แขน ขา หัว ถูกแยกส่วนออกมา และยังแยกออกจากอุปกรณ์กีฬาอีกด้วย เช่น ไม้กอล์ฟ หรือไม้ฮอกกี้ เป็นต้น นอกจากนี้ เขายังมีแรงบันดาลใจมาจากต้นตำรับคือการออกแบบในปี 1964 โดย Masasa Katzumie และ Yoshiro Yamashita ที่เน้นรูปร่างและแอคชั่นท่าทาง

 

สำหรับสีหลักที่ใช้ใน Pictograms ปีนี้ได้แก่ “สีฟ้าคราม” (Embem blue) ซึ่งเป็นสีเดียวกับที่ใช้ในโลโก้ Tokyo 2020 ออกแบบโดยศิลปินชาวญี่ปุ่น Asao Tokolo เปิดตัวในครั้งแรกเมื่อปี 2016  และไม่ใช่มีเพียงแค่สีฟ้าครามเท่านั้น ชุดสีของ Pictograms ยังมีสีอื่นอีก 5 สี ซึ่งเป็นสีที่เรียกว่า “ญี่ปุ่นดั้งเดิม” ตามที่คณะกรรมการจัดงานอนุมัติ ได้แก่ สีแดงเข้ม (kurenai), สีฟ้า (ai), สีชมพูอ่อน (sakura), สีม่วง (fuji) และสีเขียว (matsuba) ซึ่งจะถูกใช้ในระหว่างเกมการแข่งขันด้วย

 

ส่วนการนำเสนอนั้นมีสองรูปแบบคือแบบมีเฟรมและไม่มีเฟรม โดยที่ รูปภาพแบบที่ไม่มีเฟรม จะถูกใช้ในงานโปสเตอร์และสินค้าเมอร์เชนไดซ์ ขณะที่ภาพแบบมีเฟรม จะถูกใช้ปรากฏบนแผนที่ ป้ายบนถนน ไกด์บุ๊ก และบนเว็บไซต์ของ Tokyo 2020 อีกด้วย

การแสดง Pictograms Show จอมขโมยซีน  

(ขอบคุณคลิปจาก https://www.facebook.com/AIS/posts/10160249692201554)

 

สำหรับในส่วนของการแสดงพิธีเปิด ซึ่งเต็มไปด้วยการแสดงน่าสนใจมากมาย หนึ่งในการแสดงที่คว้าหัวใจทุกคน และสื่อต่างประเทศบางแห่งยังยกให้เป็น ‘จอมขโมยซีน’ เป็น MVP ของงาน ได้แก่ การโชว์ Pictograms ผ่านการแสดงเงียบ ในนักแสดงชุดสีฟ้าและชุดสีขาวไร้ใบหน้า จัดการแสดงเพียงแค่ 3 คน แต่ก็ทำการแสดงแบบเอาอยู่หมด พร้อมอุปกรณ์ประกอบฉาก แสดงภาพเฟรมของชนิดกีฬาในการแข่งขันได้อย่างน่าทึ่ง อาจจะมีผิดพลาดไปเล็กน้อยแต่ก็พร้อมให้อภัยได้

 

โดยผู้ที่มานำโชว์ในงาน ได้แก่  MASA และ Hitoshi รวมตัวกันในชื่อ GABEZ  ทีมนักแสดงตลกเงียบ (dance and silent comedy) ชื่อดัง ซึ่งเขาได้เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า “เร่งรีบมากแต่สนุกมากๆ เหมือนกัน ขอบคุณมาก” ซึ่งจากทวีตเดียวของเขาปรากฏว่ามีการรีทวีตสูงถึง 27,600 ครั้ง และมีกดไลก์สูงกว่า 1 แสนครั้งเลย

 

ว่าซั่น! GABEZ เคยมาเปิดการแสดงที่เมืองไทย

มากไปกว่านั้น รู้หรือไม่ว่า นักแสดงทั้งสองยังเคยมาเปิดการแสดงที่ประเทศไทย! อีกด้วย โดยเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok International Children’s Theatre Festival 2018 ซึ่งจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 24-27 พฤษภาคม 2018

 

สำหรับคนไทย การแสดง Pictograms ทำให้เราย้อนกลับไปนึกถึงรายการญี่ปุ่นในอดีต “เกมส์ซ่าท่ากึ๋น” ซึ่งมีวิธีการนำเสนอที่คล้ายๆ กัน และแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์แบบนอกกรอบของคนญี่ปุ่นได้ดี

 

ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่การแสดงเดียว ทำให้เราสามารถดึงทั้ง อดีต ปัจจุบัน และอนาคต มารวมกันไว้ได้ เป็นการผสมผสานทุกศิลปะได้อย่างลงตัว สมแล้วกับที่ญี่ปุ่นได้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีความสวยงาม เรียบง่ายในแบบญี่ปุ่นมากๆ จนอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘มรดก’ ทางศิลปะที่ญี่ปุ่นได้มอบให้ไว้กับมนุษยชาติผ่านการแข่งขันกีฬาสำคัญของคนทั้งโลก 

โดยเฉพาะกับปีนี้ ปีที่อาจเรียกได้ว่ามนุษย์โลกสูญเสียมากที่สุด ต้องขอบคุณและชื่นชมความทุ่มเทของญี่ปุ่นด้วย ที่ทำให้คนทั้งโลกมีความสุข และมีรอยยิ้มอีกครั้ง.

 

Source:

designweek.co.uk

washingtonpost.com

olympic-museum.de

jfbkk.or.th


  • 744
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!
CLOSE
CLOSE