55 ปี โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สู่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของการสร้างนักวิจัย เพื่อแพทยศาสตร์การศึกษาไทย

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

เมื่อเอ่ยถึงโรงพยาบาลรามาธิบดีหลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพของโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ จุดหมายของผู้ป่วยจากทั่วทุกสารทิศ ที่ให้บริการผู้ป่วยนอกกว่า 2 ล้านครั้งต่อปี ผู้ป่วยที่ต่างหอบเอาความหวังที่อยากจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บมายังสถานที่แห่งนี้ ในอีกมุมหนึ่งโรงพยาบาลรามาธิบดียังเป็นโรงเรียนแพทย์เก่าแก่ก่อตั้งมานานมากกว่าห้าทศวรรษ เป็นสถานที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์หลากหลายสาขาให้มีความรู้ความสามารถที่เพียบพร้อม เพื่อออกไปทำงานรับใช้ประชาชน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในทุกภูมิภาคของประเทศไทย…

หากให้เราลองนึกถึงบุคคลที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี หนึ่งในนั้นย่อมมีชื่อของ  ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลรวมอยู่ด้วย บทบาทที่เป็นดั่งหัวหน้าครอบครัวใหญ่คือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ ศ.นพ.ปิยะมิตร มุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ของวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยให้สมกับมาตรฐานแห่งการเป็น ‘โรงเรียนแพทย์ของแผ่นดิน’

 

หมวกสามใบใต้ร่มรามาธิบดี

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา ถือเป็นบุคคลอีกท่านหนึ่งที่ดำรงบทบาทหลากหลายทั้งการเป็นนายแพทย์ด้านโรคหัวใจ, บทบาทการเป็นอาจารย์หมอของนักศึกษาแพทย์มากกว่าพันคนในแต่ละปี และยังเป็นประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ หน่วยงานที่มีภารกิจในการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทั้งในแง่ของการพัฒนาโรงพยาบาล, สนับสนุนการวิจัย, จัดซื้อเครื่องมือแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้จำนวนหลายหมื่นคนต่อปี ด้วยบทบาททั้ง 3 ด้านที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การสร้างสมดุลการทำงานให้มีประสิทธิภาพควบคู่กันไปจึงนับเป็นความท้าทายที่ต้องปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน

ยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านกับพัฒนาการของแพทยศาสตร์การศึกษาไทย

บทบาทการเป็นอาจารย์หมอผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษาแพทย์มานานกว่า 30 ปีของ ศ.นพ.ปิยะมิตร ทำให้เห็นพัฒนาการด้านการศึกษาของวงการแพทย์ไทย ที่ค่อยๆปรับตัวจากยุคอนาล็อกมาสู่ดิจิทัลในปัจจุบัน

“จุดร่วมที่เราเน้นมาเสมอตั้งแต่อดีตคือการผลิตบัณฑิตในสายงานแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้แบบครบวงจรเริ่มตั้งแต่การซักประวัติ-ตรวจร่างกาย, การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ, การวินิจฉัยโรคและการรักษาผู้ป่วยจนมีสุขภาพที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้คือหัวใจหลักของการเป็นแพทย์ที่จำเป็นต้องมีอย่างครบถ้วน ในส่วนวิชาการใหม่ที่แตกต่างจากอดีตคือองค์ความรู้ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นซึ่งเกิดจากการศึกษาวิจัยใหม่ ๆ และพัฒนาการรักษาโรคแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แนวคิดการเรียนรู้สมัยใหม่ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นให้ท่องจำอีกต่อไป หากแต่ต้องสามารถสืบค้นและต่อยอดความรู้ที่มีอยู่ได้ด้วยตนเองตลอดเวลา”

นอกจากนี้  การเรียนการสอนแพทย์ในปัจจุบันได้มีการนำศาสตร์วิชาความรู้ด้านอื่น ๆ เข้ามาผสมผสานร่วมด้วย เช่น หลักสูตรร่วมแพทยศาสตรบัณฑิต-การจัดการมหาบัณฑิต ที่มุ่งผลิต ‘แพทย์นักบริหาร’ ที่มีศักยภาพด้านกระบวนการคิดวิเคราะห์และบริหารจัดการระบบสาธารณสุขให้สามารถรับมือกับวิกฤตสุขภาพและโรคอุบัติใหม่ที่มีแนวโน้ม จะมีมากขึ้นในอนาคต อีกหนึ่งหลักสูตรที่ถือเป็นการเปิดประตูสู่มิติใหม่ของวงการแพทยศาสตร์ไทยคือหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต-วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ เพื่อสร้าง ‘แพทย์นวัตกร’ ผู้มีทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ มองเห็นโอกาสและแก้ไขปัญหาด้วยหลักการทางวิศวกรรมรวมถึงสามารถต่อยอดความรู้เพื่อพัฒนางานวิจัยและสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

นักแก้ไขความบกพร่องของการสื่อความหมาย

อาชีพในสายงานวิทยาศาสตร์การแพทย์แบ่งออกได้หลากหลายแขนงตามลักษณะอาการของโรค นอกจากหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานที่เราคุ้นเคยแล้ว ที่นี่ยังมีหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย (ด้านการพูดและการฟัง) ที่เปิดสอนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทยอีกด้วย โดยมุ่งพัฒนา ‘นักวิทยาศาสตร์ความผิดปกติของการสื่อความหมาย’ ซึ่งเป็นแขนงวิชาความรู้เฉพาะด้าน โดยกลุ่มคนไข้ที่ต้องการความช่วยเหลือของแพทย์ทางด้านนี้มีอยู่มากมาย เช่น ผู้พิการทางการพูดและการได้ยิน, ผู้สูงอายุที่เริ่มมีความเสื่อมของระบบการได้ยิน, ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตที่จำเป็นต้องฝึกบริหารกล้ามเนื้อในการพูดอีกครั้ง เป็นต้น การพูดและการได้ยินถือเป็นการสื่อสารที่จำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยจึงให้ความสำคัญในการผลิตบัณฑิตสาขานี้ โดยได้เปิดการสอนมากว่า 20 ปี รวมจำนวนผู้สำเร็จการศึกษากว่า 400 ราย

แพทย์นักวิจัยกับการยกระดับวิทยาศาสตร์การแพทย์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2508 นับถึงปัจจุบันมีอายุ 55 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิต ‘แพทย์นักวิจัย’ และ ‘ผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)’ ให้แก่สังคมไทย “เรามองว่าการดูแลรักษาพยาบาลและการวิจัยควรทำควบคู่กันไป การรักษาเป็นภารกิจสำคัญของแพทย์ที่พึงกระทำอยู่แล้ว ซึ่งเราอาจจะช่วยผู้ป่วยได้จำนวนหนึ่ง แต่การวิจัยหากค้นพบองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพทางการแพทย์ได้มากขึ้น  จะสามารถช่วยชีวิตคนได้เพิ่มขึ้นจำนวนมากเป็นร้อยเป็นพันหรือหลายล้านคน โดยหลักสูตรของรามาธิบดีได้เปิดโอกาสให้แพทย์ได้ทำการวิจัยในหลากหลายรูปแบบทั้งการวิจัยในห้องทดลองที่ทันสมัยและการวิจัยระบบสาธารณสุขเพื่อค้นหาวิธีการบริหารระบบสาธารณสุขมาพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น”

 

แรงผลักดันจากภาคประชาชน

หลายครั้งที่บุคลากรทางการแพทย์มักเป็นด่านหน้าของการรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านสุขภาพในสังคม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาคือกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เพราะในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีทางเลือกในการอยู่บ้านกับครอบครัวเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ แต่บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นต้องออกมา ปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้การรักษาพยาบาล ในช่วงเดือนที่การแพร่ระบาดทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ได้กลายเป็นศูนย์กลางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากในประเทศไทย โดยมีจำนวนของห้อง ICU ความดันลบกว่า 40 ห้อง  “ในสถานการณ์ปกติโรงพยาบาลรามาธิบดียังให้การพยาบาลรักษาแก่ผู้ป่วยโรคสลับซับซ้อนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยยากไร้จำนวนมาก อีกทั้งที่นี่ยังเป็นสถานที่ผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะมากที่สุดในประเทศไทย โดยสถิติการเปลี่ยนไตของโรงพยาบาลรามาธิบดีมีจำนวนมากกว่า 2,700 ราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ คือแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ภารกิจของเราสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และจากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปีนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความร่วมแรงร่วมใจระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ คือพลังสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยฝ่าฟันสถานการณ์ที่เป็นเหมือนฝันร้ายมาได้ด้วยดี” ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวปิดท้าย

ปัจจุบันมูลนิธิรามาธิบดีฯ มีโครงการที่รอการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก เช่น โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ ที่โรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายต้องดูแลกว่า 20 ล้านบาทต่อปี หรือโครงการเพื่อโรงพยาบาลชุมชน เพื่อพัฒนาให้โรงพยาบาลชุมชนสามารถดูแลรักษาผู้ป่วยในพื้นที่ได้อย่างมีคุณภาพ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนการทำงานของแพทย์ในทุกภารกิจได้ผ่านมูลนิธิรามาธิบดีฯ

 

ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี
ธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 879-2-00448-3
ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 026-3-05216-3
ธนาคารกรุงเทพ   เลขที่ 090-3-50015-5
บริจาคออนไลน์ www.ramafoundation.or.th สอบถามโทร 02-201-1111


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •