ทางออก SMEs ไทย ภายใต้วิกฤตโควิด-19

  • 18
  •  
  •  
  •  
  •  

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เศรษฐกิจเกิดการหยุดชะงัก จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นของแต่ละประเทศ ถือเป็นวิกฤตที่ทำให้ระบบอุปสงค์ อุปทาน ระบบโลจิสติกส์ และซัพพลายเชนโดยรวมของโลกเกิดการชะลอตัว และส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ซึ่งมีสายป่านสั้นกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ หน่วยงานภาครัฐหลายองค์กรจึงได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้รอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง “ทางออก SMEs ไทย ภายใต้วิกฤตโควิด-19” ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือ รวมทั้งข้อเสนอแนะในการปรับตัวของผู้ประกอบการหลังวิกฤตโควิด-19

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ความต้องการสินค้าและบริการเกิดการชะลอตัว ดังนั้นการเพิ่มกำลังการผลิตจึงเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญ คือการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อทำให้กระบวนการผลิตสินค้ามีประสิทธิภาพดีขึ้น ในต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการหลังจบวิกฤตการณ์ครั้งนี้

ที่ผ่านมา บีโอไอได้ให้สิทธิประโยชน์หลายด้านแก่ผู้ประกอบการ จากสถิติย้อนหลัง 3 ปี แต่ละปี มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม ที่มีขนาดการลงทุนไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบการ SMEs คิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนโครงการทั้งหมดที่ยื่นขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอ โดยบีโอไอได้มีการปรับปรุงมาตรการและเพิ่มสิทธิประโยชน์เพื่อให้ SMEs เข้าถึงมาตรการของบีโอไอได้ง่ายขึ้น โดยคุณสมบัติของ SMEs ที่บีโอไอให้การส่งเสริมต้องมีบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ของทุนจดทะเบียน มีรายได้รวมต่อปีไม่เกิน 500 ล้านบาทในช่วง 3 ปีแรก โดยมีเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 500,000 บาท ก็สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs ได้แล้ว จากเกณฑ์ปกติทั่วไปต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน)

ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขข้างต้น สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs โดยจะได้สิทธิประโยชน์พื้นฐาน คือการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุดถึง 8 ปี (ตามประเภทกิจการ)
การเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเงินลงทุน การได้รับยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร และการยกเว้นอากรวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก เป็นต้น

นอกจากนี้ บีโอไอยังมีมาตรการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะอาศัยวิกฤตโควิดครั้งนี้ เตรียมองค์กรให้พร้อมรับโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ในอนาคต

“จากวิกฤตครั้งนี้ เราจะเห็นว่ากิจการหลายแห่งได้นำระบบดิจิทัล ไอทีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งถือว่าเข้าข่ายมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ที่สามารถมาขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอได้ หรือบางบริษัทมีการติดตั้งแผงโซลาร์เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ซึ่งบีโอไอให้การส่งเสริมเช่นเดียวกัน หัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการอยู่รอดได้ในภาวะวิกฤตก็คือการปรับตัว” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ทั้งนี้ บีโอไอยังได้ทำงานสอดประสานกับสถาบันการเงินของรัฐที่ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ ทั้ง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และธนาคารเพื่อการส่งออกนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ที่มีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อสำหรับ SMEs เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวะวิกฤต

นายสมเจตน์ ปัญจวัฒนางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟร์ ฟูดส์ จำกัด ผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องปรุงรส ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs ตัวจริงที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ โดยได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับ SMEs และมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต กล่าวว่า ได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของบีโอไอในปี 2562 เนื่องจากต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานภายในโรงงาน ซึ่งบริษัทมีเงินทุนสำหรับติดตั้งได้ 50 กิโลวัตต์ แต่จากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากบีโอไอ ทำให้บริษัทสามารถติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 314 กิโลวัตต์ ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 5 – 6 หมื่นบาทต่อเดือน สามารถนำเงินไปต่อยอดการดำเนินธุรกิจด้านอื่นๆ ได้ ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มาก

“จากความคิดที่ว่าการขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ มีความยุ่งยากนั้น ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีความยุ่งยากอย่างที่คิด บีโอไอมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาและแนะนำ เพราะฉะนั้นจึงหมดประเด็นเรื่องความกลัวสำหรับธุรกิจ SMEs ในการขอสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ” นายสมเจตน์กล่าว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้สิทธิประโยชน์จากการใช้มาตรการของบีโอไอเพื่อสร้างแต้มต่อในการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือกับการแข่งขันในโลกยุคใหม่ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และบีโอไอพร้อมเป็นกองหนุน ติดอาวุธให้ SME ไทยฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้


  • 18
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE