มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน พบได้ไม่บ่อย แต่ไม่ควรมองข้าม

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

[ข่าวประชาสัมพันธ์]

ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนให้ความสนใจเกี่ยวกับมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนกันค่อนข้างมาก เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ค่อยถูกพูดถึงและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่มะเร็งชนิดนี้ก็เป็น 1 ในมะเร็งหลายชนิดที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้เช่นกันหากมาพบแพทย์และรับการรักษาช้า เพราะฉะนั้นการทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการสังเกตอาการและดูแลตัวเอง น่าจะเป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ

นายแพทย์ธเนศ เดชศักดิพล อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน หรือทางการแพทย์เรียกว่า soft tissue sarcoma คือมะเร็งที่เกิดขึ้นในกลุ่มอวัยวะเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ชั้นใต้ผิวหนัง เช่น ก้อนไขมัน กล้ามเนื้อ เส้นเลือด เส้นประสาท เป็นต้น  ซึ่งแต่ละชนิดจะมีการวินิจฉัยและรักษาที่แตกต่างกัน โดยมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยสูงอายุแต่พบได้ไม่บ่อยนัก ตามสถิติในประชากร 100,000 คน จะพบเพียง 3 คน หรือคิดเป็น 0.003 % เท่านั้น สำหรับอาการของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ผู้ป่วยจะมีก้อนขึ้นตามส่วนต่างๆ เช่น แขน ขา หรือลำตัว โดยก้อนนี้จะค่อยๆใหญ่ขึ้นและไม่เคลื่อนที่ตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหรือไม่มีอาการเจ็บก็ได้ แต่ถ้าหากมีแผลก็จะเป็นแผลเรื้อรังที่ไม่หาย ส่วนสาเหตุของโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ยังไม่มีการศึกษาออกมาแน่ชัด เบื้องต้นในบางชนิดอาจมีปัจจัยเสี่ยงหลักที่สำคัญ เช่น

  • สาเหตุจากพันธุกรรมบางโรค เช่น Li-Fraumeni syndrome, Retinoblastoma เป็นต้น
  • สารเคมีในอุตสาหกรรม เช่น vinyl chloride, Thorotrast เป็นต้น
  • มีประวัติรักษาด้วยการฉายแสงในบริเวณแขน และขา ลักษณะที่สงสัยคือก้อนเกิดหลังจากฉายแสงแล้วนานกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้พบได้ไม่บ่อยนัก
  • ประวัติแขนขาบวมเรื้อรังจากทางเดินน้ำเหลืองอุดตันเรื้อรัง
  • การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่นไวรัส HHV-8 เป็นต้น

ส่วนปัจจัยจากการกระแทกนั้น ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าเป็นสาเหตุของมะเร็งกลุ่มนี้แต่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น แผลเรื้อรังได้ ซึ่งการรักษาโรคนี้ค่อนข้างซับซ้อน เพราะต้องดูว่าเป็นโรคของอวัยวะใต้ผิวหนังกลุ่มใด รวมถึงโรคอยู่ในระยะใด หากมาพบแพทย์ในขณะที่โรคยังอยู่ในระยะต้นหรือระยะที่ไม่แพร่กระจาย ก็จะมีโอกาสรักษาหายขาดสูง โดยการรักษาหลักคือการผ่าตัดโดยแพทย์เฉพาะทาง และพิจารณาให้การฉายแสงหรือยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัดตามข้อบ่งชี้ เพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ

ทั้งนี้ ในกรณีที่โรคอยู่ในระยะแพร่กระจายแล้ว การรักษาจะขึ้นอยู่กับลักษณะของตัวโรคแต่ละกรณีไป ว่าผ่าตัดออกได้หมดหรือไม่ กรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมด แพทย์จะรักษาต่อด้วยยาเป็นหลัก ซึ่งตัวยานั้นจะขึ้นอยู่กับว่าเป็นมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนชนิดใด


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •