10 วัคซีน สร้างแรงบันดาลใจให้กับแบรนด์และธุรกิจ เตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกหลังโควิด-19

  • 250
  •  
  •  
  •  
  •  

ไม่มีเวลาไหนที่แบรนด์และธุรกิจกำลังต้องการแรงบันดาลใจเท่าเวลานี้ Head100 ในฐานะนักการตลาดจึงริเริ่มรวบรวมกว่า100มุมมอง จากผู้นําความคิดและผู้เช่ียวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพ และ วิเคราะห์สรุป 10 ประเด็นขัดแย้ง 10 โอกาสที่เกิดขึ้น และพัฒนา 10 วัคซีนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แบรนด์และธุรกิจก้าวต่อไป พวกเราเชื่อว่ารายงานนี้จะ ส่งเสริมความคิดและทัศนคติที่ยิ่งใหญ่ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับโลก

1. NEW NORMAL OR OLD NORMAL?

วิถีชีวิตใหม่ หรือ กลับไปสู่วิถีเดิม ?

เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้พวกเราอย่างมาก แต่มากพอที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตเราไปตลอดหรือไม่ วิกฤตการณ์ครั้งนี้ เป็นเหมือนนาฬิกาปลุกชั้นดีที่ช่วยปลุกให้พวกเราตื่น และได้นั่งคิดทบทวนอีกครั้งว่าแท้จริงแล้วจุดประสงค์ในการใช้ชีวิตของเราคืออะไร ในความยากลำบาก เรามักจะมองเห็นความหมายของสิ่งต่างๆชัดเจนมากขึ้น  มีเวลาที่จะได้คิดและเปิดมุมมองใหม่ๆแบบที่ไม่เคยมาก่อน ตอนนี้ เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่เราจะได้หยุดเพื่อ สะท้อน ทบทวน และวางแผนชีวิตใหม่   เหตุการณ์หลังวิกฤติครั้งนี้จะเป็นอย่างไรอยู่ที่ทางเลือกของพวกเราทุกคน

กลับไปสู่วิถีเดิม

หลายเสียงเชื่อว่า คนไทยลืมง่าย และวิถีชีวิตแบบเดิมฝังอยู่ในรากลึกของพวกเราทุกคน การจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยๆทำกันมาแบบถาวรคงจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก หลายคนเฝ้ารอและพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะได้กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติเหมือนเคย อีกครั้ง แต่คำถามที่สำคัญคือการใช้ชีวิตเหมือนเคยจะดีพอหรือไม่สำหรับดำเนินชีวิตต่อหลังการระบาดสิ้นสุดลง

วิถีชีวิตใหม่

วิถีชีวิตแบบใหม่ หรือ New normal เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตของพวกเราหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส มีหลายเสียงสนับสนุนให้คนไทยต่อยอดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เพราะเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างจริงจัง แต่กว่าจะถึงจุดที่ทุกอย่างลงตัว หนทางข้างหน้าอาจมีความขรุขระบ้าง การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะคุ้มค่าหรือไม่

  • ประเด็น เพื่อเตรียมรับมือกับวิถีชีวิตแบบใหม่
  • Health เพราะการไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ
  • Home as hub บ้านจะกลายเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิต ลดเวลาเดินทาง เพิ่มเวลาความสุขให้ครอบครัว
  • Human touch เมื่อคนโหยหาความสัมพันธ์และการเข้าถึงกันแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
  • Here and Now เมื่อชีวิตมีความไม่แน่นอน คนจะให้ความสำคัญกับปัจจุบันกว่าเคย
  • Help ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะวิกฤตินี้ เราต้องรอดไปด้วยกัน
  • Hygiene เว้นระยะห่าง รักษาความสะอาดเพื่อความปลอดภัย ใช้ชีวิตแบบไร้สัมผัส
  • Heal the world โลกที่สะอาดและยั่งยืนกว่าที่เคย
  • Hyper digital ชีวิตออนไลน์ ในโลกเสมือนจริง
  • Hold hands การร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆที่ไร้ขีดจำกัด
  • Head over heels ใส่ใจแผนระยะสั้น พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือ

วัคซีนที่ 1 : BE BETTER HUMANS

สร้างมนุษย์ที่ดีกว่าเดิม

จะสร้างการเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ให้โลก ต้องเริ่มจากการสร้างตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น

 

2. WE OR ME ?

รวมกันเราอยู่ หรือ แยกกันอยู่ถึงรอด?

เป็นบททดสอบครั้งยิ่งใหญ่ ที่จะพิสูจน์ว่าเราจะรักกันมากขึ้นหรือจะแบ่งแยกกันมากกว่าเดิม

ตัวเองต้องอยู่รอด

การระบาดของไวรัสครั้งนี้ สร้างระยะห่างยิ่งใหญ่ทั้งทางกายและทางใจ ทุกคนต่างดิ้นรนให้ ตัวเรา รอดพ้นจากวิกฤติครั้งนี้ให้ได้ หลังจากนี้เราอาจจะได้เห็นการแข่งขันในรูปแบบต่างๆที่จะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม ใครเก่งสุดก็อยู่รอดไป

รวมตัวกันจะดีกว่า

หรือวิกฤติครั้งนี้ทำให้เราห่างกันได้แค่ตัว แต่กลับดึงให้ใจเราใกล้ชิดและรวมเป็นหนึ่งเดียวกันมากกว่าที่เคย เราได้เห็นการช่วยเหลือ การแบ่งปันในหลายรูปแบบ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน … เพราะคนๆเดียวไม่สามารถต่อสู้กับไวรัสตัวร้ายนี้ได้ การเอาตัวรอดที่ดีที่สุดคือการรอดไปพร้อมกัน การร่วมมือกันคือทางออก

วัคซีนที่ 2 : UP THE COLLABORATIONS

ร่วมมือกันถึงจะรอด

วัคซีนที่ดีที่สุดคือการรวมพลังและร่วมมือกัน เริ่มจากตัวเราทุกคน ขยายต่อเป็นวงกว้างจนกลายเป็นคำว่าพวกเรา ที่แข็งแรงกว่าที่เคย ซึ่งการทำ collaboration สามารถร่วมมือกันได้หลายระดับ ดังนี้ Me-to-Me (M2M), Business-to-Business (B2B), Government-to-Business (G2B) จนไปถึง Global-to-global (G2G).

 

3. EQUALIZER OR DIVIDER ?

ยิ่งเท่าเทียม หรือ ยิ่งเหลื่อมลํ้า?

ไวรัสครั้งนี้จะทำให้เราเห็นถึงความเท่าเทียมกันของมนุษย์หรือความแบ่งแยกทางสังคมที่หนักกว่าทุกครั้ง

เท่าเทียมกัน

การระบาดครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นการระบาดอย่างเท่าเทียมเพราะไม่ว่าจะเป็นใคร เชื้อชาติศาสนาอะไรก็มีสิทธิ์โดนเล่นงานได้ทั้งนั้น ไม่เลือกทำร้ายแต่คนรวย และไม่ละเว้นคนจน ตั้งแต่ผู้นำประเทศ ไปจนถึงคนหาเช้ากินค่ำ ทุกคนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เพราะไวรัสไม่ปราณีใคร

ช่องว่างสังคมที่กว้างขึ้น

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมจะสูงขึ้นที่สุด คนที่ฐานะไม่ดีกำลังถูกฉุดให้ตกไปอยู่ในจุดที่ยากลำบาก ในขณะที่คนมีฐานะยังพอหาวิธีประคองชีวิตให้ดำเนินต่อไปได้ ช่องว่างและความเหลื่อมล้ำจะรุนแรง การแบ่งชนชั้นทางสังคมจะชัดเจนขึ้นไปอีก

ไม่ว่าจะเจ็บมากเจ็บน้อย ก็สอนให้เราหันมาชื่นชมและมีความสุขกับสิ่งรอบตัวที่เราอาจละเลยไป ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือสุขภาพ ให้เราย้อนกลับมาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง  และปัจจัยพื้นฐานของชีวิตอีกครั้ง

วัคซีนที่ 3 : TAKE THE SELF SUFFICIENT WAY

ธุรกิจพอเพียงที่เพียงพอ

วัคซีนตัวนี้ ขอนำเสนอคำว่า พอเพียง ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็นำมาปรับใช้ได้เสมอ ตอนนี้เป็นเวลาที่เราจะต้องร่วมกันสร้างอนาคตที่แข็งแรงให้กับประเทศ โดยการสร้างธุรกิจที่เอื้อประโยชน์ให้ทุกคนอย่างแท้จริง ปรับมุมมองจากคิดเพื่อตัวเองเป็นคิดเพื่อสังคม จากการหาประโยชน์เป็นการเกื้อกูล และจากการมองระยะสั้น เป็นการคำนึงถึงผลกระทบระยะยาว ร่วมกันสร้างธุรกิจที่พอเพียง ให้เพียงพอสำหรับทุกคน

 

4. FEAR OR FREEDOM ?

กลัวการไปต่อ หรือ  กล้าเดินต่อไป ?

เมืองสยามยิ้มไม่กว้างเหมือนเคย

สถานการณ์แบบนี้สร้างความเครียดและความกดดันให้ใครหลายๆคน มีคำถามวนเวียนอยู่ในใจว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร มองไปทางไหนก็เหมือนจะเห็นแต่ความไม่แน่นอน คาดเดาอะไรไม่ได้

วิกฤติคือโอกาส

แต่ใน ‘ทุกวิกฤติมีโอกาสซ่อนอยู่’ คงจะไม่มีเวลาไหนสามารถพิสูจน์ได้เท่าเวลานี้อีกแล้ว คนที่จะอยู่รอดต้องเปลี่ยนมุมมอง ใช้ความสร้างสรรค์ พลิกวิกฤติ สร้างโอกาส อยู่ที่ว่าใครจะพลิกแพลงและลงมือได้เร็วกว่ากัน

วัคซีนที่ 4 : UNLOCK FEAR WITH CREATIVITY

สร้างสรรค์สู้ความกลัว

วัคซีนนี้ขอสนับสนุนให้ทุกคน เอาชนะความกลัวด้วยความคิดสร้างสรรค์ สองสิ่งแรกที่ธุรกิจต่างๆมักกังวลในช่วงวิกฤติแบบนี้อาจมีแค่เรื่องเงินกับลูกค้า เพราะสองสิ่งนี้คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันธุรกิจให้ดำเนินต่อไปได้ แต่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนแบบนี้วิธีเดิมๆอาจไม่ได้ผล ต้องอาศัยความกล้าคิดนอกกรอบ กล้างัดไอเดียแปลกใหม่ สร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่ ถึงจะอยู่รอดและเติบโต

 

5. SOLID PLAN OR AGILE ?

เดินตามแผน หรือ  ไหลตามน้ำ?

วางแผน

บทเรียนสำคัญจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 คือ ‘อะไรก็เกิดขึ้นได้’ ธุรกิจที่รุ่งก็ร่วงได้ชั่วข้ามคืน เมื่อสถานการณ์อยู่เหนือการควบคุม การบ้านของเราคือการวางแผนรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันเหล่านี้ เช่นหากเกิดเวฟ2 เราจะมีวิธีตั้งรับอย่างไรไม่ให้เจ็บหนัก ทุกธุรกิจควรวางแผนให้พร้อมเสมอ

ปรับแผน

สำหรับหลายธุรกิจแผนที่วางไว้มาเป็นปี นำมาใช้ไม่ได้จริงในตอนนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือการปรับเปลี่ยนแผนให้พร้อมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วง ยิ่งวางแผนกันเป็นรายสัปดาห์ได้เลยยิ่งดี เพราะในช่วงนี้สิ่งที่แน่นอนที่สุดคือความไม่แน่นอน การปรับตัวและมีความยืดหยุ่นจึงเป็นหัวใจสำคัญอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

วัคซีนที่ 5 : RESPONSIVE PLANNING

วางแผนอย่างยืดหยุ่น

วัคซีนตัวนี้เน้น การปรับตัว เพราะการต่อสู้กับโรคระบาดที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เช่นนี้ ต้องปรับตัวระยะสั้นให้เร็ว ให้ความสำคัญและแก้ไขปัญหาต่างๆให้ถูกจุด แต่ต้องไม่ลืมจุดประสงค์และเป้าหมายระยะยาวที่วางไว้  เพราะท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายที่เราต้องการจะไปยังคงเป็นจุดหมายเดิมเพียงแค่ต้องเปลี่ยนเส้นทางหลีกหนีสิ่งกีดขวางเล็กน้อยเท่านั้น

 

6. FOCUS OR DIVERSIFY ?

มุ่งไปที่จุดเดียว หรือ  กระจายความเสี่ยง ?

โฟกัส

เวลานี้หลายๆคนเชื่อว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการโฟกัสเฉพาะจุด ไม่ว่าจะเป็น

  • โฟกัสเรื่องชีวิต… การกักตัวอยู่บ้าน ทำให้เรามีเวลาให้ตัวเองกลับมาโฟกัสที่ครอบครัว สุขภาพ และชีวิตมากขึ้น
  • โฟกัสเรื่องธุรกิจ… เข้าใจแก่นของธุรกิจ ว่าเราทำอะไรได้ดีที่สุดและอะไรเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการและมองหาจากเรา
  • โฟกัสที่ลูกค้า… เข้าใจว่าเราสามารถทำอะไรให้ลูกค้าได้บ้างโดยเฉพาะในช่วงเวลานี้เพื่อตอบโจทย์และรักษาลูกค้าให้อยู่กับเรา
  • โฟกัสที่ทีม… เข้าใจว่าทีมงานต้องการอะไร และดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด

…แต่การโฟกัส ก็อาจเป็นข้อผิดพลาดที่หนักหนา หากเอาไข่ทั้งหมดที่มีใส่ไว้ในตะกร้าเพียงใบเดียว เมื่อตะกร้าตกลงมา ก็เท่ากับทุกอย่างที่มีพังทลายลงในพริบตา

กระจายความเสี่ยง

อีกหลายๆคนจึงมีความเห็นว่าไม่ควรโฟกัสหรือพึ่งพารายได้จากแหล่งเดียว ควรกระจายความเสี่ยงทั้งสินค้า บริการ แหล่งรายรับ รายจ่าย คู่ค้า ลูกค้า ซัพพลายเออร์ ออกไป เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ธุรกิจก็จะยังอยู่รอดได้

วัคซีนที่ 6 : FOCUS ON THE CORE BUT DIVERSIFY IS A MUST.

โฟกัสที่แก่นธุรกิจและกระจายความเสี่ยง

วัคซีนที่ดีที่สุด คือการโฟกัสที่แก่นธุรกิจ โดยมีการกระจายความเสี่ยงด้วย นี่คือความสมดุลที่ทุกธุรกิจต้องมี โดยมุ่งเน้นไปในสิ่งที่ธุรกิจทำได้ดี และสำคัญ พร้อมกับเตรียมตะกร้าใบอื่นไว้รองรับวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดฝัน

 

7. TECH OR HUMAN ?

พึ่งพาเทคโนโลยี หรือ  ให้มนุษย์นำพา ?

โลกแห่งยุคดิจิตอลที่แท้จริง

ยุคที่โลกถูก disrupt โดยเทคโนโลยี ออนไลน์คือทุกอย่าง ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นมาก อยู่บ้านแต่ยังสามารถช้อป จ่ายบิล โอนเงิน เรียนหนังสือ ทำงาน หรือแม้แต่การประชุมออนไลน์ ผู้บริโภคเปิดรับเทคโนโลยีมากขึ้นเป็นสิบๆเท่า ทำให้ E-Era เข้าไปมีบทบาทสำคัญในวงการธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น E-biz, E-Logistics, E-learning และ E-Med ธุรกิจหันมาใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก พร้อมเทคโนโลยี  ไม่ว่าจะเป็นAI, VR, Automation และการใช้ Data อย่างมหาศาล

มนุษย์ยังคงเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง

ในขณะเดียวกันเราก็เห็นวีรบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พนักงานDelivery พนักงานแคชเชียร์ ทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเพื่อส่วนร่วม เราเห็นความร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งของมนุษยชาติเพื่อความอยู่รอด เราเห็นมนุษย์เรียนรู้ทักษะการเอาชีวิตรอดบทใหม่ และสิ่งที่สำคัญที่สุด เราเห็นความเข้าอกเข้าใจ ความรัก และนั่นจะช่วยนำพาให้เราผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกันได้

วัคซีนที่  7 : TECH MEETS HUMANITY.

รวมพลังเทคโนโลยีและมนุษย์

การผสมผสานความร่วมมือระหว่างมนุษย์เข้ากับเทคโนโลยี ในช่วง COVID-19 ทำให้เราได้เห็นว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยมนุษย์ในด้านใดบ้าง วันนี้ผู้ประกอบการต้องทำการบ้าน โดยการออกแบบวิธีการทำงานเพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างเทคโนโลยีและมนุษย์เพื่อโลกที่ดีกว่า เพราะนั่นคือสูตรสำเร็จของอนาคต

 

8. RISE OR FALL ?

จะรุ่ง หรือ ร่วง ?

รับมือกับความวุ่นวาย

หนทางข้างหน้า เรามองเห็นความวุ่นวาย และความผันผวนในเศรษฐกิจของไทย ธุรกิจที่เคยเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง กลับดิ่งลงเหวในชั่วข้ามคืน หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก ถูกปรับลดเงินเดือน ถูกเลิกจ้าง นำไปสู่ปัญหาสังคมที่จะตามมา คดีอาญาที่จะเพิ่มขึ้น สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นดูเหมือนเป็นบทลงโทษ หรือนี่จะเป็นการล่มสลายของพวกเรา

แต่ประเทศไทยจะต้องชนะ

ความเป็นคนไทย จะทำให้เราพลิกกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติหรือภัยพิบัติ เราจะเห็นน้ำใจคนไทยหลั่งไหลมาจากทุกทิศ รวมพลังเป็นหนึ่ง พร้อมที่จะช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน นอกจากน้ำใจแล้ว คนไทยยังมองโลกในแง่ดี มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ และคนไทยไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรค แม้จะต้องล้มกี่ครั้ง แต่เราก็ยังลุกขึ้นมาได้ทุกครั้ง

วัคซีนที่ 8 : NATIONAL PRIDE & UNITY.

ความสามัคคีและความภูมิใจของชาติ

สร้างความภาคภูมิใจ และ ความสามัคคีระดับชาติสู้วิกฤต ผ่าน 10 เสาหลักในอุตสาหกรรมไทยดาวรุ่ง

 

9. BIG FISH OR SMALL FISH ?

ปลาใหญ่ หรือ ปลาเล็ก ?

ปลาแบบไหนจะได้ครองมหาสมุทร

ตัวใหญ่ พลังเยอะ

ปลาตัวใหญ่ก็เหมือน ธุรกิจที่มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุน สามารถอยู่ได้ท่ามกลางพายุ ผู้บริโภคยังมองหาความมั่นคงในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ทำให้แบรนด์ใหญ่ๆได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค

ตัวเล็ก ว่ายเร็ว

ปลาตัวเล็ก หุ่นเพรียว ทำให้เคลื่อนไหวตัวได้ไวกว่าปลาตัวใหญ่ สามารถตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากธุรกิจได้ง่าย ตัดสินใจเร็ว มีโครงสร้างต้นทุนขั้นต่ำกว่า ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุด

วัคซีนที่ 9 : BE A FAST FISH.

กลายร่างธุรกิจ ขยับตัวให้ไวขึ้น

 

10. GIVE BACK TO NATURE OR NATURE STRIKES BACK ?

คืนสู่ธรรมชาติ หรือ ธรรมชาติเอาคืน ?

ธรรมชาติได้รับความทุกข์ทรมานมายาวนาน เมื่อหลายๆประเทศทำการล็อคดาวน์ ภาพธรรมชาติที่ไม่ได้เห็นมานานกลับมาอีกครั้ง เราเห็นแม่น้ำและมหาสมุทรสวยใสขึ้น เห็นท้องฟ้าเปลี่ยนจากสีเทาเป็นสีฟ้า เราได้สูดอากาศบริสุทธิ์เป็นครั้งแรกหลังจากต้องทนอยู่กับ PM2.5 เป็นเวลานาน เราได้เห็นปลาโลมา วาฬ และเต่าได้กลับมายังดินแดนของมันอีกครั้ง มนุษย์ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างของโลกใบนี้ เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับสิ่งที่มีชีวิตอื่นให้ได้

วัคซีนที่ 10 : SUSTAINABILITY & REAL PURPOSE

ความยั่งยืนและเป้าหมายที่แท้จริง

ถึงเวลารวมธรรมชาติให้เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจอย่างแท้จริง เปลี่ยนจากเศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) ที่การผลิตทำให้เกิดของเสีย มาให้ความสำคัญกับการผลิตอย่างยั่งยืน หมุนเวียนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เกิดความสิ้นเปลืองน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ความยั่งยืนในระยะยาวเท่านั้นที่จะทำให้เราและโลกรอด

แบรนด์ต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า เป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร ทำไมเราถึงทำธุรกิจนี้  บทบาทใดของเรา ทำให้เรามีสิทธิ์ที่จะอยู่ต่อไป และจะทำให้ชีวิตของผู้บริโภคดีขึ้นได้อย่างไร ที่ไม่ใช่แค่ยอดขาย ผลกำไร หรือส่วนแบ่งทางการตลาด

 

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มของวัคซีนที่จะสร้างแรงบันดาลใจแบรนด์และธุรกิจ : พร้อมสำหรับโลกที่มี COVID-19 : www.head100company.com/vaccines-to-inspire-brands-and-businesses-ready-for-the-world-with-covid-19


  • 250
  •  
  •  
  •  
  •