ความเชื่อมั่นผู้บริโภคไทย-ทั่วโลกต่ำสุดใน 4ปี

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

logo_nielsenจากการสำรวจออนไลน์ของผู้บริโภคซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ครั้งต่อปีเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ข้อกังวล และการจับจ่ายเงินจาก 50 ประเทศ จากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 25,140 คนตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ถึง วันที่ 2 เมษายน 2552 ผลสำรวจล่าสุดเปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศไทยลดลงแปดจุดจาก 89 จากการสำรวจเมื่อหกเดือนที่ผ่านมา มาแตะที่ระดับ 81 ในการสำรวจรอบนี้ ซึ่งถือเป็นสถิติต่ำสุดในรอบสี่ปี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกก็ลดลงเช่นกันที่ลดลงจาก 84 มาที่ 77

จากทั้ง 50 ประเทศที่เราทำการสำรวจนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคใน 49 ประเทศ ลดลงมีเพียง ไต้หวัน ประเทศเดียวที่สวนกระแสของโลกโดยพบดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นจาก 60 เป็น 63 แต่อย่างไรก็ตามก็ยังถือว่าต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยทั่วโลก 14 จุด

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นสูงที่สุดอันดับหนึ่งในโลก ด้วยระดับความเชื่อมั่นที่ 104 ลำดับรองลงมาคือ เดนมาร์ก (102) และอินเดีย (99) ส่วนประเทศที่หดหู่มากที่สุดคือ เกาหลีใต้ (31) รองลงมาคือ ญี่ปุ่น (42) โปรตุเกส และแลทเวีย (เท่ากันที่48)

“ผู้บริโภคทั่วโลกได้รับผลกระทบจากข่าวร้ายต่างๆในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดคนงาน การประกาศของบริษัทล่วงหน้าเกี่ยวกับผลกำไรที่จะลดลงต่ำกว่าระดับที่เคยคาดการณ์มาก่อน การล้มละลาย การยึดทรัพย์สินที่จำนองไว้ การคาดการณ์ค่าจีดีพีที่ต่ำลง รวมถึงการคาดการณ์ของอุตสาหกรรมการผลิตที่ชะลอตัว โดยปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการจับจ่ายใช้สอยให้ตกอยู่ในระดับต่ำที่สุดในประวัติการณ์” – จันทิรา ลือสกุล กรรมการผู้จัดการ นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด

จากผลการสำรวจพบว่าผู้บริโภคชาวไทยมากถึงเก้าสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์คิดว่าเศรษฐกิจของประเทศตนในขณะนี้อยู่ในภาวะถดถอย โดยเพิ่มสูงขึ้นจากการสำรวจครั้งที่แล้วที่มีผู้บริโภคแปดสิบเปอร์เซ็นต์คิดเช่นนี้ และสี่สิบสี่เปอร์เซ็นต์ของผู้บริโภคไม่เชื่อว่าประเทศของตนจะหลุดพ้นจากสถานการณ์นี้ได้ในอีกสิบสองเดือนข้างหน้า ในขณะเดียวกันพบจำนวนผู้บริโภคมากขึ้นโดยมีผู้บริโภคประมาณ 24% ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในอีกสิบสองเดือนข้างหน้า

สิ่งที่น่าสนใจที่พบจากการสำรวจก็คือ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในทวีปตะวันออกกลาง/แอฟริกา และทวีปอเมริกาเหนือลดลงเพียงสองและสามจุดตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การไม่พบการลดลงไปกว่าเดิมในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งอาจถือว่าเป็นสัญญาณที่ชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดอยในที่สุดก็มาถึงขีดต่ำสุดแล้ว

“ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของนีลเส็น ชี้ให้เห็นว่าเราอาจจะอยู่ที่จุดต่ำสุด หรืออย่างน้อยใกล้กับจุดต่ำสุดในวงจรเศรษฐกิจนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ที่เราพบการปรับตัวอย่างชัดเจนของผู้บริโภคในการใช้จ่ายและการออม โดยพบผู้บริโภค 40% กล่าวว่า พวกเขากำลังใช้เงินที่เหลือจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันชำระหนี้และเก็บออม ชาวอเมริกันมีมุมมองในทิศทางบวกเพิ่มมากขึ้น โดยมีผู้บริโภคเกือบยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ที่มีความหวังว่าจะเห็นเศรษฐกิจฟื้นตัวในอีก 12 เดือนข้างหน้า ” – จันทิรา ลือสกุล กรรมการผู้จัดการ นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด

ผู้บริโภคชาวไทย 82% เชื่อว่าโอกาสทางด้านการงานภายใน 12 เดือนข้างหน้า จะไม่ค่อยดี 61% หรือแย่ 21% ในเอเชียแปซิฟิก ผู้บริโภคชาวเกาหลีมากถึง 75% และชาวญี่ปุ่นจำนวน 60% คิดว่าโอกาสทางด้านการงานของตนอยู่ในขั้นเลวร้าย

การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคชาวไทย

55% ของผู้บริโภคชาวไทยยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของตนโดยผู้บริโภค ขณะที่ 66% เชื่อว่าในช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมที่จะซื้อสิ่งของที่พวกเขาต้องการภายใน 12 เดือนข้างหน้า

เมื่อถามถึงการใช้จ่ายเงินหลังจากใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ผู้บริโภคชาวไทยกว่าครึ่งหรือ 54% มีความประสงค์จะเก็บเงินในส่วนที่เหลือเพื่อเก็บออมเป็นลำดับแรก 46% เพื่อการท่องเที่ยว 27% ซื้อกองทุนในยามเกษียนและ 27% ปรับปรุงที่อยู่อาศัย หรือตกแต่งบ้าน

“เศรษฐกิจของประเทศไทยมีการชะลอตัวเนื่องจาก การค้าระหว่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันการบริโภคภายในครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับที่เป็นทิศทางบวก โดยเป็นผลมาจากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล จากข้อมูลรายงานดัชนีการค้าปลีกของนีลเส็น ยอดค้าปลีกของสินค้าอุปโภค บริโภคยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตที่ 7.3% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเติบโตกว่าปีที่แล้ว ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กลุ่มธุรกิจ FMCG ยังคงเติบโตอย่างแข็งแรง ดูเสมือนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่ถดถอยในช่วงเวลานี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มธุรกิจดังกล่าว” – จันทิรา ลือสกุล กรรมการผู้จัดการ นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด

ปัญหาที่กังวลมากที่สุดของผู้บริโภคชาวไทย

ในขณะที่ความเชื่อมั่นของทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยทำสถิติต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา ความกังวลกับปัญหาการว่างงานถูกจัดอยู่ในลำดับแรกที่ผู้บริโภคทั่วโลกกังวลมากที่สุด โดยการสำรวจพบผู้บริโภคใน 31 ประเทศจาก 50 ประเทศที่กังวลเรื่องนี้เป็นอันดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวไทยมีความคิดเห็นว่า สิ่งที่พวกเขากังวลมากที่สุดในอีกหกเดือนข้างหน้าอันดับแรก 36% ปัญหาเศรษฐกิจ 17%กังวลปัญหาการว่างงาน 10% กังวลความไม่มั่นคงทางการเมือง และ 7% กังวลกับปัญหาหนี้สิน

ผู้บริโภคชาวไทยวางแผนควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างไร

นีลเส็นได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยวางแผนที่จะตัดค่าใช้จ่ายในเรื่องต่อไปนี้ 59% ประหยัดไฟ 57% ซื้อเสื้อผ้าใหม่น้อยลง 54% ลดการออกไปหาความบันเทิงนอกบ้าน 47% ลดค่าโทรศัพท์ 39% ชะลอการเปลี่ยนสินค้าเทคโลยี่ เช่น คอมพิวเตอร์ หรือ โทรศัพท์

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


  •  
  •  
  •  
  •  
  •