นีลเส็น เผยผลการสำรวจออนไลน์ด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคล่าสุด พบความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกตกลงต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ด้านผู้บริโภคชาวไทยเริ่มนโยบายรัดเข็มขัด
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : จากการสำรวจออนไลน์ของผู้บริโภคซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ครั้งต่อปีเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ข้อกังวล และการจับจ่ายเงินจาก 52 ประเทศ จากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 26,000 คนตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน ถึง วันที่ 6 ตุลาคม 2551
โดยพบว่าจากทั้ง 52 ประเทศที่เราทำการสำรวจนั้น ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคใน 43 ประเทศ (หรือคิดเป็น 83%) ลดลงจากผลการสำรวจในครึ่งปีแรก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกค่อนข้างสิ้นหวัง
โดย 62 เปอร์เซ็นต์คิดว่า โอกาสทางด้านการงานข้างหน้าจะไม่ค่อยดี และมากกว่าสองในสามเชื่อว่า ภายใน 12 เดือนข้างหน้า เป็นช่วงเวลาที่ไไม่เหมาะสมที่จะซื้อสิ่งของที่พวกเขาต้องการ
ส่วนผู้บริโภคในประเทศที่กำลังมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว พบว่ายังคงมีความเชื่อมั่นในทางบวกโดยจะเห็นได้จากผลการสำรวจว่า อินเดียเป็นประเทศที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นสูงที่สุดอันดับหนึ่งในโลก บราซิลและจีนมีระดับความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น
ส่วนรัสเซียถูกจัดอยู่ในลำดับที่ห้าของโลกที่มองทิศทางในเศรษฐกิจในทิศทางที่ดี โดยประเทศทั้งหมดดังกล่าวจัดอยู่ในสิบลำดับแรกที่มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจภายในประเทศของตน )
นางจันทิรา ลือสกุล กรรมการผู้จัดการ นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ท่ามกลางความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าว เราพบว่าสินค้าและบริการหลายอย่างยังคงเติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก และการใช้จ่ายของผู้บริโภคไม่ได้รับผลกระทบในระดับที่รุนแรงเหมือนอย่างประเทศในทางตะวันตก
ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจาก วิกฤติทางการเงินของโลกในขณะนี้ องค์กรต่างๆและผู้บริโภคในประเทศใหญ่ที่กำลังเติบโตเหล่านี้ ยังมีความมั่นใจต่อทิศทางของเศรษฐกิจของตนในระยะกลางถึงระยะยาวว่ายังแข็งแรงอยู่ ”
ส่วนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดวิกฤติเศรษฐกิจ พบว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคด้วยดัชนีความเชื่อมั่นที่ต่ำสุดในระดับใหม่ที่ 82 ซึ่งลดลงจากระดับ 100 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา
โดยผู้บริโภคมากถึง 86% คิดว่า เศรษฐกิจของประเทศตนอยู่ในภาวะถดถอยและมากกว่าครึ่งคิดว่าภาวะฯนี้จะยังคงยึดยาวไปอีกใน 12 เดือนข้างหน้า
ระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวไทย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการสำรวจในหกเดือนที่แล้วจาก 87 เป็น 89 โดยแปดในสิบของผู้บริโภคชาวไทยคิดว่าเศรษฐกิจของประเทศตนในขณะนี้อยู่ในภาวะถดถอย และสี่ในสิบของผู้บริโภคไม่เชื่อว่าประเทศของตนจะหลุดพ้นจากสถานการณ์นี้ได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า
จากการสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคชาวไทย (72%) เชื่อว่าโอกาสทางด้านการงานภายใน 12 เดือนข้างหน้า จะไม่ค่อยดีหรือแย่ และผู้บริโภคชาวไทย (68%) เชื่อว่า ในช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ไม่ดีหรือไม่เหมาะสมที่จะซื้อสิ่งของที่พวกเขาต้องการภายใน 12 เดือนข้างหน้า โดยพบผู้บริโภคชาวไทยกว่าครึ่ง (58%) มีความประสงค์จะเก็บเงินในส่วนที่เหลือเพื่อเก็บออมหลังจากใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
“12 เดือนที่ผ่านมาสำหรับผู้บริโภคทั่วโลกนั้นเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างวุ่นวายสับสน ซึ่งรวมถึงประเทศไทยเช่นกันเนื่องจากระบบเศรษฐกิจมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับความต้องการของตลาดโลก
แต่ในด้านดีที่เราพบก็คือ กว่าครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคชาวไทยมีความมั่นใจเกี่ยวกับสภาพทางการเงินของตนเองสำหรับปีหน้า และผู้บริโภคชาวไทยเพียงแค่ 5% กล่าวว่าพวกเขาไม่มีเงินเหลือเก็บเลย” นางจันทิรา กล่าวเสริม
ปัญหาที่กังวลมากที่สุดในอีก 6 เดือนข้างหน้า
เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขาเป็นกังวลมากที่สุดในอีกหกเดือนข้างหน้า ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาทางเศรษฐกิจจัดอยู่ในลำดับแรกที่ผู้บริโภคทั่วโลกรวมถึงผู้บริโภคชาวไทยกังวลมากที่สุด โดยพบผู้บริโภคชาวไทย (40%) กังวลเรื่องเศรษฐกิจ รองลงมาคือความไม่มั่นคงทางการเมือง (27%) ราคาน้ำมัน ( 20%)ปัญหาหนี้สิน ( 18%) และความมั่นคงในงาน ( 16%) ตามลำดับ
โอกาสทางการตลาดในช่วงเศรษฐกิจถดถอย
เมื่อถามถึงจุดมุ่งหมายในการใช้จ่าย ผู้บริโภคชาวไทยกว่าครึ่ง (58%) มีความประสงค์จะออมเงินหลังจากใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยสนใจที่จะลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ( Retirement Funds) เป็นจำนวนมาก
ในขณะเดียวกัน จากผลสำรวจของนีลเส็นจะสังเกตได้ว่า ผู้บริโภคชาวไทยไม่ได้ตั้งใจจะหยุดการใช้จ่ายทั้งหมด แต่ยินดีที่จะจับจ่ายใช้สอยหากมีข้อเสนอที่ดี
ถึงแม้ว่าผู้บริโภคจะอยู่ในช่วงความรู้สึกที่ต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย เรายังคงเห็นโอกาสที่ดีสำหรับบริษัทท่องเที่ยว กลุ่มผู้ค้าปลีก กลุ่มด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าเทคโนโลยี่ เนื่องจากผู้ ผู้บริโภคชาวไทยยังคงสนใจกับการใช้จ่ายในด้านการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจ (51%) การปรับปรุงและตกแต่งบ้าน (34%) และสินค้าทางด้านเทคโนโลยี่ (32%) ตามลำดับ
ในขณะที่ไม่มีใครสามารถจะคาดการณ์ได้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจของโลกจะยืดเยื้อไปอีกนานเท่าไร
นีลเส็นได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยได้เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายตั้งแต่ปีที่แล้ว
โดยพบว่า พวกเขาได้ตัดค่าใช้จ่ายในเรื่องต่อไปนี้
- ประหยัดไฟ (60%)
- ลดการออกไปหาความบันเทิงนอกบ้าน (57%)
- ซื้อเสื้อผ้าใหม่น้อยลง (56%)
- ใช้รถยนต์น้อยลง (49%)
- ลดค่าโทรศัพท์ ( 44%)
นางจันทิรา กล่าวเสริมว่า “การอยู่ในบ้านจะเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับผู้บริโภคในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเทรนด์นี้ถือเป็นโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ที่ดี สำหรับธุรกิจประเภทอาหารและเครื่องดื่ม อาหารสำเร็จที่มีคุณภาพสูง รวมถึงทางเลือกของสิ่งบันเทิงใหม่ๆ ซึ่งเจาะกลุ่มเฉพาะเพื่อความบันเทิงในบ้าน ”
ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว สิ่งที่สำคัญสำหรับนักการตลาดที่ควรนึกถึงก็คือ ช่องว่างและโอกาส บริษัทที่ยังคงลงทุนในผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของตน และยังคงรักษาความสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายของตนอย่างต่อเนื่องในช่วงภาวะวิกฤตินี้ได้ก็จะเป็นผู้ชนะ เนื่องจากผู้บริโภคจะจดจำบริษัทและสินค้าที่เข้าใจความต้องการที่เปลี่ยนไปของพวกเขาในช่วงวิกฤตินี้
สำหรับนักการตลาด ไม่มีอะไรที่จะเป็นสิ่งสำคัญมากไปกว่าการที่จะสร้างและรักษาความภักดีต่อแบรนด์ในสภาวะเศรษฐกิจ เช่นนี้ เพื่อวันที่ดีกว่าข้างหน้า”
Source: กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์