ย้อนต้นกำเนิด Tesla บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก ก่อนเปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ

  • 380
  •  
  •  
  •  
  •  

เครดิตภาพ DANIEL CONSTANTE / Shutterstock.com

เป็นบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าที่คนไทยรอคอยมากที่สุดสำหรับ Tesla บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของมหาเศรษฐีอย่าง “อีลอน มัสก์”  โดยความหวังที่จะได้เห็น Tesla เปิดจำหน่ายรถยนต์อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเริ่มใกล้ความจริงขึ้นแล้วหลังจากมีการเปิดเผยว่าบริษัท Tesla เข้ามาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ก่อนที่ล่าสุด Tesla จะเปิดให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นผ่าน App Store และ Google Play ประเทศไทยส่งสัญญาณชัดเจนว่า Tesla จะเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยอย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้

อย่างไรก็ตามก่อนที่คนไทยจะได้สัมผัส Tesla แบบ Official เรามาทำความรู้จักกับต้นกำเนิดของบริษัท Tesla ที่ในเวลานี้ มีมูลค่าตามราคาตลาดอยู่ที่ 1.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ Tesla เป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และเป็นบริษัทรถยนต์ที่ “มีมูลค่ามากที่สุดในโลก” ในเวลานี้ โดยมีมูลค่ามากกว่าบริษัท Toyota ที่ตามมาในอันดับที่ 2 ถึง 3 เท่า หรือเรียกได้ว่าทิ้งห่างจากคู่แข่งอย่างไม่เห็นฝุ่น

ต้นกำเนิดรถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

แน่นอนว่า Tesla ไม่ใช่บริษัทแรกที่คิดค้นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานสหรัฐ การผลิตรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าออกมาในระดับอุตสาหกรรมขนาดเล็กเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศฮังการี เนเธอร์แลนด์ และในสหรัฐ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 หลังจากมีการคิดค้นมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ขึ้นในช่วงเวลาที่รถม้ายังได้รับความนิยมบนท้องถนน

โรเบิร์ต แอนเดอร์สัน นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ

อย่างไรก็ตามย้อนกลับไปในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 “รถม้าที่ไม่ต้องใช้ม้า” แต่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ตัว “ต้นแบบ” ถูกคิดค้นขึ้นโดย “โรเบิร์ต แอนเดอร์สัน” (Robert Anderson) นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษในค.ศ.1837 ก่อนจะถูกพัฒนาให้ใช้ได้จริงมากขึ้นเช่นพัฒนาไปสู่การใช้แบตเตอรี่ที่ชาร์จพลังงานกลับเข้าไปได้โดยนักประดิษฐ์เพื่อนร่วมชาติและนักประดิษฐ์ในฝรั่งเศสในเวลาต่อมา

รถไฟฟ้าเคยรุ่งเรืองก่อนรถน้ำมัน

พัฒนาการของรถไฟฟ้ายกระดับขึ้นอีกครั้งในสหรัฐอเมริกา โดยนักเคมีชาวอเมริกัน ที่มีชื่อว่า “วิลเลียม มอร์ริสัน” (William Morrison) ที่สร้างรถม้าไร้ม้าขับเคลื่อนได้ด้วยไฟฟ้าที่สามารถชาร์จไฟได้ ได้สำเร็จในปีค.ศ.1890 โดยรถของมอร์ริสันสามรถบรรทุกผู้โดยสารได้ 6 คน ทำความเร็วได้ 22 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

วิลเลียม มอร์ริสัน นักเคมีชาวอเมริกันนั่งอยู่บนรถม้าขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่สามารถชาร์จไฟได้

รถยนต์ไฟฟ้าของมอร์ริสันโด่งดังไปทั่วสหรัฐ ส่งผลให้ความต้องการรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น มีหลายโรงงานพัฒนาและผลิตรถไฟฟ้า หรือรถม้าไร้ม้าออกมาอย่างต่อเนื่อง และความนิยมรถไฟฟ้าก็พุ่งสูงขึ้นในช่วงค.ศ. 1900 ในจุดที่รถม้าไร้ม้าที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า มีจำนวนมากถึง 1 ใน 3 ของยานพาหนะทั้งหมดบนท้องถนนในสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตามความนิยมมีอยู่ในเวลาไม่นานก่อนที่จะเกิด Disruption กับอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าที่กำลังรุ่งเรืองกับการมาถึงของรถยนต์เครื่องสันดาบรุ่น “Model T” ของแบรนด์  Ford บริษัทรถยนต์ที่ร่วมกันก่อตั้งโดย “เฮนรี่ ฟอร์ด” และ “โทมัส เอดิสัน” นักประดิษฐ์ชื่อดังโดย Model T ออกวางขายในค.ศ. 1908  เป็นรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงที่วิ่งได้นานและไกลว่าในราคาที่ถูกกว่าทำให้อุตสาหกรรมรถไฟฟ้าชะงักลงในปีค.ศ. 1935

รถ Model T รถยนต์เครื่องยนต์สันดาบรุ่นแรกของ Ford (cr. Ford)

รถยนต์ Model T ที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันนอกจากจะมีราคาถูกกว่าที่ 650 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 23,300 บาท เทียบกับรถพลังงานไฟฟ้าแบบเดิมๆที่มีราคาถึง 1,750 ดอลลาร์สหรัฐหรือราว 62,800 บาทแล้ว  Model T ยังมีสมรรถนะที่ดีในการใช้เดินทางระหว่างเมือง ขณะที่การค้นพบแหล่งน้ำมันดิบในรัฐเท็กซัส ของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ราคาน้ำมันถูกลง รวมไปถึงการเกิดขึ้นของปั้มน้ำมันทั่วสหรัฐอเมริกาแม้แต่ในพื้นที่ชนบทบางแห่งที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาบผงาดขึ้นมาในตลาดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปี 2003 ต้นกำเนิด Tesla

กระทรวงพลังงานสหรัฐเปิดเผยข้อมูลระบุว่ากระแสรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเริ่มเลือนหลายไปจนเรียกได้ว่าในช่วงปีค.ศ.1935 -1997 เป็น “ยุคมืดของรถยนต์ไฟฟ้า” ก็ว่าได้ แม้ว่าจะมีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นเป็นช่วงๆระหว่างทศวรรษที่ 70-90 ผลจากปัญหาน้ำมันขาดแคลนและร่างกฎหมายเกี่ยวกับคุณภาพอากาศที่มีการแก้ไขใหม่ก็ตาม

ในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 20 นับเป็นจุดเริ่มต้นของรถยนต์ Hybrid อย่าง Toyota Prius ที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่นในปีค.ศ.1997 ก่อนจะออกขายทั่วโลกในปีค.ศ.2000 นับเป็นรถยนต์ลูกผสมที่ประสบความสำเร็จอย่างมากหลังจากเกิดกระแสความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการปล่อยกาศเรือนกระจกที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม

เครดิตภาพ : 60b / Shutterstock.com

Tesla ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.2003 โดยนักธุรกิจชาวอเมริกันอย่าง มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด (Martin Eberhard) และ มาร์ก ทาร์เพนนิ่ง (Marc Tarpenning) โดยหวังจะสานต่อความสำเร็จจาก Toyota Prius ออกไปอีกโดยบริษัทก่อตั้งขึ้นภายใต้ชื่อ Tesla Motors ซึ่งตั้งขึ้นตามชื่อของนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันเชื้อสายเซอร์เบีย นิโกลา เทสลา (Nikola Tesla) (นักประดิษฐ์อัจฉริยะที่ทำให้โลกในปัจจุบันมีนวัตกรรมอย่างไฟฟ้า วิทยุ และหุ่นยนต์) โดยมีเป้าหมายเพื่อพิสูจน์ว่ารถยนต์ไฟฟ้านั้นยอดเยี่ยมกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน

“เพื่อพิสูจน์ว่าผู้คนไม่จำเป็นต้องรู้สึกได้อย่างเสียอย่างหากจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพราะรถยนต์ไฟฟ้าสามารถเป็นได้เหนือกว่า เร็วกว่า และขับสนุกกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาบ” บริษัท Tesla ระบุเอาไว้ในเว็บไซต์

อีลอน มัสก์ เข้าลงทุนใน Tesla

หนึ่งในผู้สนับสนุน Tesla Motors เป็นคนแรกๆคือ นักธุรกิจเชื่อสายแอฟริกาใต้ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท PayPal อย่าง “อีลอน มัสก์” โดยมัสก์ นักธุรกิจมองการณ์ไกลก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีสำรวจอวกาศ SpaceX บริษัทที่มีเป้าหมายให้บริการขนส่งทางอวกาศในราคาเข้าถึงได้ในปี 2002 ก่อนที่ในปี 2003 มัสก์ ที่มีความสนใจในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าและความยั่งยืนร่วมทดสอบรถ TZero ที่สร้างขึ้นโดยบริษัท AC Propulsion บริษัทในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประสบการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เข้ามามีส่วนในการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในเวลาต่อมา

เครดิตภาพ: Rokas Tenys / Shutterstock.com

มัสก์ เล่าถึงประสบการณ์การทดสอบขับ TZero ในครั้งนั้นเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมาว่า “มันไม่มีประตูหรือหลังคาดังนั้นชัดเจนว่าคุณจะต้องพัฒนาให้มีของพวกนี้และระบบความปลอดภัยต่างๆ และมันไม่น่าไว้วางใจเลยเพราะมันเป็นเพียงแค่ต้นแบบเพื่อพิสูจน์คอนเซ็ปต์เท่านั้น”

ประสบการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มัสก์ ควักเงินลงทุนมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐกับบริษัท Tesla ในปี 2004 และมัสก์ก็ก้าวเข้าไปนั่งในฐานะประธานบริษัทนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

Master Plan ของ มัสก์

อีลอน มักส์ ระบุเอาไว้เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมาถึง Master Plan ของ Tesla ในช่วงต้นที่ไม่ได้มีความซับซ้อนเลยแต่ประกอบไปด้วยเรื่องธรรมดาที่เป็นพื้นฐาน 4 ข้อด้วยกัน

    1. ผลิตรถในจำนวนน้อยๆซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีราคาสูง
    2. ใช้เงินจากข้อที่ 1 มาผลิตรถในราคาที่ถูกลงลง โดยผลิตในปริมาณระดับกลาง
    3. ใช้เงินจากข้อ 2 มาผลิตรถยนต์ที่ราคาเข้าถึงได้ โดยผลิตในปริมาณมาก
    4. ทำให้เกิดการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น

มัสก์ ระบุถึงเหตุผลที่จะต้องเริ่มจากข้อที่ 1 ว่า “มันเป็นทั้งหมดเท่าที่ผมจะหาเงินมาทำได้จากการทำ PayPal ผมคิดว่าโอกาสที่จะประสบความสำเร็จของเรามันต่ำมากดังนั้นผมจึงไม่ต้องการเอาเงินใครก็ตามมาเสี่ยงนอกจากเงินของผมเอง นั่นเพราะบริษัทรถยนต์ Start Up ที่ประสบความสำเร็จมันมีน้อยมาก”

“การตั้งบริษัทรถยนต์นั้นเป็นเรื่องโง่เขลา และการตั้งบริษัทรถยนต์ไฟฟ้ามันเป็นเรื่องโง่ยิ่งกว่า” มัสก์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม 3 ปีต่อมาในปี 2006 Tesla Motors เปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไปตลอดกาลด้วยการเปิดตัวรถสปอร์ตไฟฟ้าสุดหรู รุ่นต้นแบบ ที่สามารถวิ่งได้ระยะทางมากกว่า 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จเพียงครั้งเดียวที่พัฒนาไปเป็น Tesla Roadster ที่วางขายเป็นรุ่นแรก

Tesla Roadster รถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์คันแรก

Tesla เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์คันแรกในชื่อรุ่น Tesla Roadster ในปี 2008 รถสปอร์ตหรู 2 ที่นั่งที่ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แรงบิดสูงถึง 14,000 รอบต่อนาที มีระบบขับขี่ 5 รูปแบบ สามารถชาร์จด้วยระบบชาร์จเร็วจนเต็มได้ในเวลา 3.5 ชั่วโมง หรือชาร์จให้ได้ความจุ 80% ใน 2 ชั่วโมง ขณะที่การชาร์จไฟบ้านเต็มใช้เวลา 10-15 ชั่วโมง

Tesla Roadster เปิดตัวปี 2008 เครดิตภาพ: Frontpage / Shutterstock.com

ในปี 2010 Tesla ประกาศเปิดสายการผลิต Tesla Roadster อย่างเป็นทางการ และเปิดตัวรถยนต์สปอร์ตไฟฟ้า 5 ที่นั่ง ที่ทำความเร็ว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ใน 3.9 วินาที แรงบิดสูง 13,000 รอบต่อนาที เป็นรุ่นต่อมาและเริ่มเปิดโรงงาน Fremont Factory รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเดิมสร้างขึ้นโดย General Motors โรงงานที่ในปัจจุบันสามารถผลิตรถยนต์ได้มากถึง 9,000 คันต่อสัปดาห์ และทำสถิติเป็นโรงงานที่ผลิตรถยนต์ได้มากที่สุดในสหรัฐในปัจจุบัน

ผู้ร่วมก่อตั้งลา Tesla และปัญหาการฟ้องร้อง

ปลายปี 2007 “มาร์ติน เอเบอร์ฮาร์ด” ลาออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานด้านเทคโนโลยีของ Tesla ไปเข้านั่งเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาบริษัท ก่อนที่ในปี 2008 ลาออกจาก Tesla อย่างเป็นทางการแต่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้น ด้าน “มาร์ค ทาร์เพนนิ่ง” ลาออกจากตำแหน่งรองประธานด้านวิศวกรรมและหัวหน้าทีมพัฒนาระบบซอฟท์แวร์และระบบไฟฟ้ารถยนต์ Roadster และลาออกจากบริษัท Tesla ในเวลาต่อมา

เอเบอร์ฮาร์ด ยื่นฟ้อง อีลอน มัสก์ โดยกล่าวหามัสก์ว่าเข้า “ยึดครอง” Tesla และเขียนประวัติศาสตร์เพื่ออ้างความดีความชอบจากการพัฒนารถรุ่น Roadster ไว้กับตัวเอง อย่างไรก็ตามคดีความสิ้นสุดลงด้วยข้อตกลงยอมความกันในปี 2009

ปัจจุบัน เอเบอร์ฮาร์ด ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาเข้าถึงได้และปลอดภัยในเวลาเดียวกัน ขณะที่ ทาร์เพนนิ่ง เองก็เปิดเผยกับสื่อว่าไม่เสียใจที่อำลา Tesla เช่นกัน โดยที่ไม่ได้มีการเปิดเผยถึงรายละเอียดของข้อตกลงในการยอมความกันดังกล่าว

เปิดขายหุ้น IPO ครั้งแรก

Tesla Motors เปิดขายหุ้น IPO ในตลาด NASDAQ ของสหรัฐ ในวันที่ 29 มิถุนายนปี 2010 โดยเปิดขายหุ้นทั้งหมด 13.3 ล้านหุ้นที่ราคาหุ้นละ 17 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ก่อนที่ในวันที่ 8 มีนาคม 2010 ราคาจะมีการเปิดขายหุ้นอย่างเป็นทางการด้วยราคาเปิด 4.92 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น ซึ่งหากนับจนถึงปัจุบัน หุ้น Tesla ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 288 ดอลลาร์ต่อหุ้นหรือปรับตัวขึ้นมาแล้ว 5,755% นั่นหมายความว่าหากคุณลงทุนหุ้น Tesla เอาไว้เมื่อปี 2010 ด้วยเงิน 50,000 บาทเวลานี้เงินจำนวนนั้นจะงอกเงยขึ้นมาเป็น 2.87 ล้านบาท สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเติบโตของเทสลาได้อย่างชัดเจน

Model S เปิดตัวในปี 2012

Tesla Model S เครดิตภาพ: Teddy Leung / Shutterstock.com

หลังจาก Roadster ยุติการผลิตลงในปี 2012 Tesla หันมาเน้นที่การพัฒนา Model S ที่พัฒนาขึ้นจาก Roadster ในแง่ของความจุแบตเตอรี่ มีการเปลี่ยนตำแหน่งแบตเตอรี่ จากด้านท้ายรถมาอยู่ที่พื้นของตัวรถ และสามารถทำระยะได้มากกว่า 400 กิโลเมตรต่อชาร์จ สามารถทำความเร็ว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลาเพียง 4 วินาที

Model S นับว่าเป็นพัฒนาการของรถยนต์ ของ Tesla อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการย้ายตำแหน่งแบตเตอรี่ที่ช่วยให้รถมีศูนย์ถ่วงต่ำ ควบคุมรถได้ง่ายและเกาะถนนได้ดีขึ้น

เปิดตัว Model X ขยายธุรกิจสู่พลังงานแสงอาทิตย์

Tesla Model X เครดิตภาพ: Aleksei Potov / Shutterstock.com

Tesla เปิดตัว Model X สปอร์ต SUV คันแรกในปี 2015 รถยนต์ 7 ที่นั่งที่สามารถทำระยะทางได้มากกว่า 500 กิโลเมตรต่อชาร์จ และในปีเดียวกันนี้ Tesla ยังขยายธุรกิจไปสู่การพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานแสดงอาทิตย์ที่สามารถใช้ได้ทั้งกับครัวเรือนและภาคธุรกิจ ก่อนที่ในปีถัดมา Tesla จะเข้าซื้อหุ้นในบริษัท SolarCity ที่ทำให้ Tesla สามารถผลิตแผงโซลาร์เซล กระเบื้องหลังคาที่สามารถกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงระบบ Powerwall ที่ออกแบบมาเพื่อเก็บพลังงานเอาไว้ใช้ในเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์หรือในเวลาที่ไฟดับ

เทคโนโลยี Solar Roof ของ Tesla เครดิตภาพ: https://www.tesla.com/solarroof

การขยายรูปแบบธุรกิจออกไปมากกว่าการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ Tesla เปลี่ยนชื่อบริษัทจากเดิม Tesla Motors ไปเป็น Tesla Inc ในปี 2017

เปิดตัว Model 3 รถ Sedan ที่ราคาเอื้อมถึง

Tela Model 3 เครดิตภาพ: Mike Mareen / Shutterstock.com

Tesla เปิดตัว Tesla Model 3 ในปี 2017 เป็นรถยนต์ sedan ที่ราคาย่อมเยาว์กว่ารุ่นก่อนหน้านี้ โดยในเวลานั้นมีราคาเริ่มต้นที่ 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่ถึง 1.3 ล้านบาท มีหลังคากระจกตลอดแนว สามารถทำระยะได้ไกลถึง 560 กิโลเมตรต่อชาร์จ และด้วยราคาที่เอื้อมถึงทำให้ Model 3 กลายเป็นรถไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดของ Tesla และทำสถิติเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายดีที่สุดตลอดกาล แซงหน้า Nissan Leaf ไปแล้ว โดยในปี 2021 ปีเดียว Model 3 ขายไปได้มากกว่า 500,000 คันทั่วโลก

นับจนถึงตอนนี้เทสลาพัฒนามาแล้วทั้งรถไฟฟ้าหรูและรถไฟฟ้าที่ราคาจับต้องได้ที่ผลิตออกมาในจำนวนมาก รวมไปถึงการขยายธุรกิจไปยังพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นไปตาม Master Plan ของมัสก์ทั้งหมด

เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่อุตสาหกรรมรถไฟฟ้าโลก

แม้ Tesla ภายใต้การนำของ มัสก์ จะเผชิญปัญหาจนถึงขั้นถูกดำเนินคดีจาก กลต.สหรัฐหลังจากมัสก์ ทวีตข้อความว่าจะนำ Tesla ออกจากตลาดหลักทรัพย์โดยเสนอซื้อหุ้นสูงกว่าราคาตลาดอย่างมาก จนในที่สุดทั้งมัสก์ และ Tesla ต้องถูกสั่งปรับเป็นเงินมหาศาลมาแล้ว แต่ Tesla ก็พิสูจน์แล้วว่าเป็นผู้เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าของโลก และทำให้หลายๆแบรนด์ต้องหันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น Chevrolet ที่พัฒนา Chevy Bolt ในปี 2010 รถยนต์ plug-in hybrid ที่ออกขายเชิงพาณิชย์คันแรกของโลก ตามมาด้วย Nissan ที่เปิดตัว Nissan Leaf รถยนต์ไฟฟ้า 100% ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรก และอีกหลายๆแบรนด์ที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า 100% อีกหลายต่อหลายรุ่นตามมา

Model Y และ Tesla Semi ออกสู่ตลาดในปี 2022

Tesla Model Y เครดิตภาพ: Mike Mareen / Shutterstock.com

Tesla เปิดตัว Tesla Model Y ในปี 2022 SUV 7 ที่นั่งที่มีขนาดเล็กและราคาถูกกว่า Model X รถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการคาดหมายว่าจะมียอดขายเทียบเท่ากับ Model 3 รุ่นที่ขายดีที่สุดของ Tesla ในอีกไม่นานนี้ โดยในปี 2021 เพียงปีเดียวมียอดขายสูงถึง 410,000 คัน ขณะที่ในแคลิฟอร์เนีย รัฐเดียว ยอดขาย Model Y สูงถึง 60,000 คัน แซงหน้า Model 3 ที่ขายได้ 53,572 คันไปแล้ว

Tesla Semi เดรดิตภาพ: Mike Mareen / Shutterstock.com

อย่างไรก็ตาม อีลอน มัสก์ เปิดเผยใน Master Plan ใหม่ในปี 2016 ที่ผ่านมาว่า นอกจากรถยนต์สำหรับผู้บริโภคทั่วไปแล้ว ยังคงมีรถที่ Tesla อยากจะขยายตลาดออกไปอีก 2 segment ก็คือ รถบรรทุกหนักและรถบัส ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า โดยในส่วนของรถบรรทุกรุ่น Tesla Semi เป็นรถบรรทุกที่ Tesla มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าลง พร้อมกับระบุว่าจะเป็นรถบรรทุกที่ปลอดภัยละสะดวกสบายที่สุดเท่าที่เคยมีมาและเตรียมที่จะเปิดตัวในปีนี้แล้ว

อนาคตรถไฟฟ้าของ Tesla

Tesla วางแผนที่จะพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอีกหลาย Model ออกสู่ตลาด หนึ่งในนั้นรวมไปถึงการพัฒนา Roadster รุ่นพัฒนาใหม่ให้กลับมาอีกครั้ง โดย Tesla เปิดเผยว่า Roadster โมเดลใหม่ที่เคยมีแผนจะเปิดตัวก่อนหน้านี้ในปี 2021 แต่ต้องเลือนออกไปนั้นจะทำความเร็ว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้ภายใน 1.9 วินาที ความเร็วสูงสุดถึง 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และเดินทางได้ไกลเกือบ 1000 กิโลเมตรต่อ 1 ชาร์จ

Cybertruck เครดิตภาพ: Mike Mareen / Shutterstock.com

ไม่เพียงเท่านั้น Tesla ยังกำลังซุ่มพัฒนา Cybertruck รถปิ๊กอัพไฟฟ้า ที่คาดว่าจะพัฒนาเสร็จสิ้นในปี 2022 นี้เช่นกันโดย Cybertruck จะเป็นรถกระบะรูปทรงล้ำยุคที่สามารถเร่งความเร็ว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงได้ใน 2.9 วินาที และทำระยะทางได้ถึง 800 กิโลเมตรต่อชาร์จ อีกด้วย

รุ่นที่คาดว่าจะวางขายในไทย

    • Tesla Model S – Sedan 800 กิโลเมตรต่อชาร์จ ราคา 3.5-4.7 ล้านบาท
    • Tesla Model 3 – Sedan 547 กิโลเมตรต่อชาร์จ ราคาเริ่มต้น 1.5-2.15 ล้านบาท
    • Tesla Model X – SUV 560 กิโลเมตรต่อชาร์จ ราคาเริ่มต้น 3.9-4.69 ล้านบาท
    • Tesla Model Y – mid-size SUV 528 กิโลเมตรต่อชาร์จ ราคาเริ่มต้น 2-3 ล้านบาท

นั่นคือความเป็นมาของ Tesla บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก ที่พัฒนาต่อเนื่องอย่างก้าวกระโดด พร้อมด้วยวิสัยทัศน์ก้าวไกล ที่ทำให้ Tesla กลายเป็นแบรนด์รถยนต์ที่แข็งแกร่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ให้ลูกค้าได้ด้วยคุณภาพของตัวสินค้าเองโดยไม่ต้องใช้งบโฆษณาแม้แต่บาทเดียว และนั่นทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยที่จะมีแต่คนรอคอยให้ Tesla เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเพราะนับได้ว่าจะเป็นการเพิ่มทางเลือกและเปลี่ยนโฉมหน้าการแข่งขันของตลาดรถยนต์ในบ้านเราด้วยเช่นกัน


  • 380
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE