สถานการณ์โรคระบาดในประเทศไทย ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้จะเริ่มเห็นอัตราผู้ติดเชื้อลดลง ส่งผลกระทบต่อภาคประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ หนึ่งในนั้น คือ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่พึ่งพารายได้จากกลุ่ม Medical Tourism โดยจะเห็นได้จากในปี 2563-2564 โรคระบาดทำให้รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนใตลาดหลักทรัพย์ฯ หดตัวประมาณ 12.5% และ 11.9% ตามลำดับ และคาดว่าในปี 2565 การบริหารจัดการโรคระบาดในประเทศจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากกลุ่ม Medical Tourism
ทั้งนี้ ช่วงก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด ประเทศไทยถือเป็นผู้นำตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ในภูมิภาคเอเชีย โดยพิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาใช้บริการ Medical Tourism ในการรับบริการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่มาตรวจเช็คสุขภาพ ศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม รวมถึงผ่าตัดกระดูกและหัวใจ ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 39,000 ล้านบาทต่อปี หรือคืดเป็นสัดส่วนราว 24% ของรายได้โรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด
อย่างไรก็ดี หลังจากสถานการณ์โรคระบาดต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งการระบาดที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งยังคงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นรายต่อวัน ส่งผล
กระทบต่อการตัดสินใจเดินทางเข้ามาของกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งรวมถึงกลุ่มคนไข้ต่างชาติที่เป็น Medical Tourism เช่นกัน สถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะกระทบต่อรายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนที่สูง
และด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน ส่งผลให้ในช่วง 1-2 ปีนี้ ยังคงต้องระมัดระวังในด้านการฟื้นตัว
ของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงจำนวนคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ที่จะเดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ในไทย โดยคาดว่า ภาพรวมของตลาด Medical Tourism ของไทยในปี 2564 ยังคงหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าไม่ต่ำกว่า 90% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยตลาดคนไข้ที่คาดว่าจะหดตัวสูงสุดน่าจะเป็นกลุ่มตะวันออกกลาง (เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, คูเวต, โอมาน, ซาอุดีอาระเบีย) จีน และกลุ่มประเทศในอาเซียน (เมียนมา, กัมพูชา, ลาว) ซึ่งเคยสร้างรายได้ให้กับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของรายได้คนไข้ต่างชาติทั้งหมด
เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้จะมีทั้งที่เป็นการเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยโดยตรง (Direct Fly-in) และเลือกที่จะมาใช้บริการทางการแพทย์ควบคู่ไปกับการพักผ่อนท่องเที่ยว โดย
บริการทางแพทย์ที่เลือกส่วนใหญ่จะไม่ซับซ้อน ไม่ต้องอาศัยการพักฟื้นเป็นเวลานานและสามารถท่องเที่ยวต่อได้ เช่น การตรวจเช็คสุขภาพเบื้องต้น ทันตกรรม เป็นต้น แต่ภายหลังมีสถานการณ์โรคระบาดเกิดขึ้นในช่วง 2 ปีนี้ ทำให้การเดินทางระหว่างประเทศของกลุ่ม Medical Tourism ทำได้ยากลำบากและต้องหยุดชะงักไป ส่งผลต่อรายได้ที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่กลุ่มคนไข้ต่างชาติที่ทำงานและพำนักอยู่ในประเทศ (EXPAT) เช่น ชาวญี่ปุ่น หรือ กลุ่มชาวยุโรปที่เดินทางเข้ามาพำนักระยะยาวในไทย (Long-Stay) คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบเช่นกัน
แต่อาจจะน้อยกว่ากลุ่ม Medical Tourism ขณะที่ปี 2565 คาดว่าจะยังคงเป็นปีที่ท้าทายและยากลำบากสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นเจาะตลาดกลุ่ม Medical Tourism ซึ่งมองว่าการกลับมาฟื้นตัวของตลาด Medical Tourism จะเร็วหรือช้ายังคงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการโรคระบาดและการฉีดวัคซีนของคนในประเทศ
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากสถานการณ์โรคระบาดระลอกนี้สามารถคลี่คลายได้ภายในสิ้นปี 2564 โดยตั้งเป้าให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่ำกว่า 1,000 คนต่อวัน และไม่มีการระบาดในคลัสเตอร์ใหม่ ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) จะเริ่มทยอย
กลับมาเข้าใช้บริการทางการแพทย์ และคาดว่าจำนวน Medical Tourism ในปี 2565 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 130,000-180,000 คน โดยส่วนใหญ่น่าจะเป็นกลุ่มคนไข้เดิมที่เข้ารับการรักษาพยาบาลหรือดูแลสุขภาพผ่านโรงพยาบาลเอกชนของไทยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวตะวันออกกลาง เมียนมา จีน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี อาจจะต้องติดตามสถานการณ์การ
ระบาด รวมถึงการบริหารจัดการโรคระบาดในประเทศอย่างใกล้ชิด ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปจนถึงปีหน้าก็อาจจะสร้างความกังวลและทำให้จำนวน Medical Tourism ที่จะเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยน้อยกว่าที่ประเมินไว้ในเบื้องต้น
โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ Medical Tourism เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่คาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากโควิดในปี 2564 – 2565 ซึ่งการกลับมาของ Medical Tourism และการเป็น Medical Hub ของไทยจะกลับมาได้เร็วหรือช้านั้น ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการสถานการณ์
โรคระบาดภายในประเทศ รวมถึงการฉีดวัคซีนให้กับคนในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย
ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่คนไข้ Medical Tourism จะเลือกใช้บริการทางการแพทย์ในเมืองท่องเที่ยวเป็นหลัก เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี (พัทยา) นอกจากนี้การบริหารจัดการโรคระบาดในประเทศต้นทางของกลุ่มคนไข้ Medical Tourism ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทยเช่นกัน นอกจากนี้ยังเห็นอีกว่า สถานการณ์ในระยะข้างหน้าที่อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้อีก โดยเฉพาะการระบาดของโรคอุบัติใหม่ๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
แม้ในมุมหนึ่งเหมือนจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพและต้องการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกันมากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งหากสถานการณ์รุนแรงและขยายไปในวงกว้างจนไม่สามารถควบคุมได้ ก็อาจจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจเช่นกัน ดังนั้น บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจอาจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือการสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การพิจารณาการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health Tech) เข้ามาใช้บริหารจัดการและอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้มากขึ้น
โดยเฉพาะในกรณีที่คนไข้ไม่สามารถเดินทางเข้ามารับการรักษาในประเทศได้ รวมถึงการกระจายฐานลูกค้าที่หลากหลายทั้งในมิติของการมองหากลุ่มลูกค้าใหม่ๆ หรือการเจาะกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย Segment ของรายได้มากขึ้น เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงควบคู่ไปกับการนำเสนอบริการทางการแพทย์ใหม่ๆ เช่น การให้บริการรักษาพยาบาลโรคที่ซับซ้อนขึ้น รวมถึงโปรแกรมการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันครบวงจร (Preventive care) ให้กับคนไข้ เป็นต้น
ข้อมูลโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย