จะเห็นได้ว่าหลัง COVID-19 ผ่านพ้นไป “อุตสาหกรรมอีเวนต์” ในประเทศไทยค่อยๆ ฟื้นตัวต่อเนื่อง และแม้ในปี 2025 ยังคงมีความท้าทายรอบด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจที่เปราะบาง การค้าโลก กำลังซื้อผู้บริโภคที่ชะลอตัว รวมไปถึงภัยพิบัติ อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุดที่คาดว่าส่งผลกระทบในระยะสั้น แต่ “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” (Index Creative Village) มองว่าภาพรวม “อุตสาหกรรมอีเวนต์” ปีนี้กลับเข้าสู่สภาวะปกติอย่างเต็มรูปแบบ ด้วย 3 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่เกื้อหนุนกัน ประกอบด้วยการท่องเที่ยว, คอนเสิร์ต-มิวสิคเฟสติวัล, ตลาด Luxury Brand ที่รุกตลาดไทยมากขึ้น
1. การท่องเที่ยวหนุน “อีเวนต์”
แม้นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ของไทยจะลดลง และยังเจอกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีผลต่อภาคการท่องเที่ยว ตามรายงานศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยในปี 2025 ลงมาที่ 35.9 ล้านคน จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 37.5 ล้านคน
อย่างไรก็ตามมีการประเมินว่าจะเป็นผลกระทบในระยะสั้น และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งเป็นหนึ่งในปัจจัยสร้างการเติบโตให้กับ “อุตสาหกรรมอีเวนต์” มูลค่ากว่า 14,000 ล้านบาท
“ธุรกิจอีเวนต์เพิ่งกลับเข้าสู่สภาวะปกติอย่างเต็มรูปแบบในปี 2025 โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจาก “การท่องเที่ยว” เนื่องจากกลยุทธ์ของรัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Festive Country ด้วยการจัด 7 Month 7 Wonders โดยในช่วง 7 เดือนนี้จะมี Festival ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในไทยต่อเนื่อง เป็นอานิสงค์ทำให้อีเวนต์ในไทยกลับมาบูม
ในอดีตการโปรโมทการท่องเที่ยว รัฐบาลไม่ได้ทำเป็นรูปแบบซีรีส์ แต่ครั้งนี้ผลักดันโดยใช้อีเวนต์เป็นตัวขับเคลื่อนการท่องเที่ยว และเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะเป็น tool หนึ่งในการสื่อสารว่าประเทศไทยกลับมาเหมือนเดิมแล้ว” คุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ฉายภาพศักยภาพของการท่องเที่ยวไทยที่เป็นแรงขับเคลื่อนมาสู่อุตสาหกรรมอีเวนต์

2. “คอนเสิร์ต – มิวสิคเฟสติวัล” โตทั้งจำนวนและขนาด
อีกปัจจัยผลักดันอีเวนต์เติบโต คือ ตลาดคอนเสิร์ตและมิวสิคเฟสติวัล ซึ่งเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและขนาด โดยคาดว่ามีมูลค่ารวมกว่า 5,000 ล้านบาทในปีนี้
“ประเทศไทยน่าจะมีจำนวนการจัดคอนเสิร์ตและมิวสิคเฟสติวัลอันดับต้นๆ ของโลก โดยคาดว่าเป็นหลักร้อยงาน เนื่องจากประเทศไทยมีความอิสระมากที่สุดในภูมิภาคนี้ และยิ่งรัฐบาลปลดล็อกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสถานที่จัดงาน น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ผลักดันให้ตลาดคอนเสิร์ต และมิวสิคเฟสติวัลโต”
3. ไทยหมุดหมายของ Luxury Brand
แม้เศรษฐกิจจะผันผวน แต่ตลาด Luxury Brand ในไทยยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากรองรับทั้งนักช้อปในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางมาไทย และช้อปสินค้าแบรนด์หรูเช่นกัน สะท้อนได้จากการเปิดช้อปแบรนด์หรู ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวใหญ่ เช่น ภูเก็ต สิ่งที่ตามมาคือ อีเวนต์ของ Fashion Luxury Brand ที่จัดขึ้นในไทย โดยเฉพาะหลังผ่านพ้น COVID-19 เป็นต้นมา จะเห็นอีเวนต์ของเหล่าแบรนด์หรูที่จัดขึ้นหลายรูปแบบ เช่น อีเวนต์เปิด Pop-up store, อีเวนต์เปิดตัวสินค้าคอลเลคชันใหม่ เป็นต้น
“ทุนจีน” ยกแรงงาน–อุปกรณ์จากจีนเข้ามาจัดอีเวนต์ในไทย
อย่างไรก็ตามในโอกาสการเติบโต เวลานี้อุตสาหกรรมอีเวนต์ต้องเผชิญกับอีกหนึ่งความท้าทาย นั่นคือ การเข้ามาของ “ทุนจีน” หรือ “บริษัทจีน” เมื่อมีการจัดอีเวนต์ในไทยได้นำแรงงานจีนและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับใช้ในการจัดอีเวนต์จากประเทศตนเองเข้ามาเองทั้งหมด ในลักษณะเหมือนทัวร์ศูนย์เหรียญ
“บริษัทต่างชาติเข้ามาจัดอีเวนต์ในไทยมีมานานแล้ว แต่เมื่อก่อนถ้าเป็นบริษัทจากตะวันตกเข้ามา คนไทยยังได้เห็นเทคโนโลยี เห็นวิธีการ ได้เรียนรู้ แต่ในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ แบรนด์จีน หรือบริษัทจีนเข้ามาจัดอีเวนต์ในไทย เอาทั้งแรงงานจีน และอุปกรณ์แสงสีเสียงต่างๆ เข้ามาเอง กลายเป็นว่าประเทศไทยไม่ได้อะไรเลย นอกจากค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งถ้าปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป ต่อไปประเทศไทยจะไม่ได้อะไร เหมือนทัวร์ศูนย์เหรียญ
เพราะฉะนั้นเวลานี้ในอุตสาหกรรมนี้มีการคุยกันเรื่องนี้ เพื่อปกป้องตลาด โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power ได้ผลักดันและเริ่ม action กันแล้ว ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจ ทั้งเจ้าของงาน สถานที่จัดงาน ขณะที่ภาครัฐต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มข้น บังคับใช้กฎหมาย จะปล่อยให้เข้ามาอิสระอย่างทุกวันนี้ไม่ได้ ต้องมีใบอนุญาต
ขณะเดียวกันต้องกำหนดสัดส่วนการเอาต่างชาติเข้ามาได้เท่าไร เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยและคนทำงานในอุตสาหกรรมอีเวนต์ได้เรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น สามารถเอาระดับ Supervisor เข้ามาได้ หรือกำหนดว่าต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนในไทยเท่านั้น เพราะฉะนั้นตอนนี้อยู่ที่การคุยกัน เพื่อปกป้องตลาด” คุณเกรียงไกร ฉายภาพความท้าทายของอุตสาหกรรมอีเวนต์ในไทยที่กำลังเจอกับทุนจีนเข้ามา
“อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” ลุยอีเวนต์เชื่อมโยงเทรนด์ธุรกิจ
เมื่อย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2020 อุตสาหกรรมอีเวนต์ต้องเผชิญกับผลกระทบมหาศาลจากสถานการณ์ COVID-19 แต่ “อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ” (Index Creative Village) ก็สามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
– ปี 2020: รายได้ 372 ล้านบาท / ขาดทุน 171 ล้านบาท
– ปี 2021: รายได้ 598 ล้านบาท / ขาดทุน 78 ล้านบาท
– ปี 2022: รายได้ 913 ล้านบาท / กำไร 136 ล้านบาท
– ปี 2023: รายได้ 952 ล้านบาท / กำไร 122 ล้านบาท
– ปี 2024: รายได้ 1,322 ล้านบาท / กำไร 85 ล้านบาท
– ปี 2025: ตั้งเป้ารายได้ 1,500 ล้านบาท / กำไร 125 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์และเป้าหมายของอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ มุ่งสร้างปรากฏการณ์พาไทยไประดับโลก ด้วยการจับกระแสเทรนด์ธุรกิจมาแรงของประเทศไทยในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งขาเข้าและขาออก, ธุรกิจคอนเสิร์ต, อีเวนต์ Luxury Brand และตลาด Trad Fair ในต่างประเทศ
คุณเกรียงไกร เล่าว่า อินเด็กซ์ฯ ตั้งเป้าพาการท่องเที่ยวไทยไปสู่ระดับโลกผ่านการต่อยอดกลยุทธ์ Soft Power ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างที่อินเด็กซ์ฯ วางแผนทำมาตลอดปี 2024 ไม่ว่าจะเป็น “หมูเด้ง” ในโปรเจกต์ Bangkok Illumination 2024, “ลิซ่า” ในงาน Bvlgari Tubogas
หรือ “หมีเนย” ในนิทรรศการ Buttery World ที่ยังคงจัดแสดงอยู่ ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการเข้ามาและใช้จ่ายของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะฐานแฟนคลับของหมีเนยที่มีกำลังซื้อ อย่างนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวนมาก เพื่อเข้าชมและร่วมกิจกรรมของนิทรรศการ Butttery World โดยเฉพาะ นับว่าเป็นอีกก้าวของอินเด็กซ์ฯ ในการเป็นผู้เปิดประตูสู่เทรนด์การท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
ขณะที่ ตลาดคอนเสิร์ตและมิวสิคเฟสติวัล เหล่าผู้จัดต่างมองหาพันธมิตรที่สามารถให้บริการโซลูชันครบวงจร คำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง และการใช้อุปกรณ์ที่มีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่อินเด็กซ์ฯ เตรียมพร้อมและให้ความสำคัญเสมอมา จากการที่อินเด็กซ์ฯ ทุ่มงบกว่า 400 ล้านไปกับทุนประกันด้านความปลอดภัยของอีเวนต์ ตั้งแต่กระบวนการขนส่ง ติดตั้ง ตลอดจนการรื้อถอน ครอบคลุมทุกขั้นตอนการสร้างอีเวนต์
“เข้าสู่ปี 2025 นับว่าเป็นปีทองที่ธุรกิจอีเวนต์กลับมาเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบ อินเด็กซ์ฯ เอง ก็พร้อมที่จะลุยต่อ ในปีนี้ เรายังมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดที่หลากหลาย ซึ่งตลาดท่องเที่ยวปีนี้น่าสนใจ เราเดินตามเทรนด์ของประเทศไทยที่โฟกัสไปในตลาดนี้ที่เชื่อมโยงทั้งการท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม MICE
อินเด็กซ์ฯ เองเราเป็นผู้นำด้านการจัดอีเวนต์อยู่แล้ว ทั้งในและต่างประเทศ ปีนี้จึงขยายไปในมุมการทำงานให้กับหลาย ๆ จังหวัด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย อีกทั้งกลยุทธ์ Inbound กับ Outbound เชื่อมต่อประตูสู่การท่องเที่ยวทั้งส่งออกความเป็นไทยไปต่างประเทศในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการ ความเป็นไทยเชิงวัฒนธรรม ประเพณี โดยการสนับสนุนการท่องเที่ยวขาเข้าอย่างเต็มกำลัง” คุณเกรียงไกร ฉายภาพโอกาสการเติบโตของอินเด็กซ์ฯ ในปี 2025
Trade Fair พาสินค้าไทยไปต่างประเทศ – เดินหน้ารุกอีเวนต์ Luxury Brand และตลาด Healthcare
ในส่วนของ Trade Fair หลังประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นกับการบุกตลาดตะวันออกกลาง ด้วยการสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยไปจัดแสดงสินค้าและบริการ ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย พบว่าสินค้าไทยเป็นที่นิยมในหมู่ชาวซาอุฯ มาก อาทิ เครื่องหอม ไม้กฤษณา และรองเท้ายางพาราสุขภาพจากจังหวัดสงขลา ที่ทำยอดขายได้กว่า 50 ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้ละ 20,000 คู่ รวมรายได้กว่า 150 ล้านบาท
หลังจากเจาะตลาดซาอุฯ 3 ปีซ้อน ปีนี้อินเด็กซ์ฯ ก็ไม่พลาดที่จะปักหมุดความสำเร็จไปกับ Trade Fair ครั้งนี้จัดยิ่งใหญ่ถึง 8 งาน 5 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย เกาหลี กัมพูชา เมียนมาร์ และเวียดนาม
1. Thailand International Mega Fair 2025 (3rd edition)
2. K-Beauty Expo 2025
3. Cambodia Foodplus Expo 2025 (4th edition)
4. Cambodia Health & Beauty Expo (5th edition)
5. Myanmar Foodbev 2025 (7th edition)
6. Myanmar Retail Sourcing Expo 2025 (5th edition)
7. K-MED Expo Vietnam 2025
8. Saigon Beauty Show 2025 (6th edition)
“มหกรรม Trade Fair ระดับนานาชาติเหล่านี้ เป็นบทพิสูจน์ว่า อินเด็กซ์ฯ มีศักยภาพพาอุตสาหกรรมไทยไปไกลกว่าที่เคย เรานับว่าเป็นแพลตฟอร์มสื่อกลางที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ให้ไปเติบโตและขยายธุรกิจในต่างประเทศ เพื่อนำรายได้เข้าประเทศ สนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่เรามีทำอยู่แล้ว ทั้งเมียนมาร์ ซาอุดีอาระเบีย กัมพูชา โดยในปีนี้เราขยายไปยังเกาหลีและเวียดนาม ซึ่งก็ยังมีแพลนที่จะขยายไปประเทศอื่น ๆ อีก ในอนาคต” คุณเกรียงไกร ขยายความเพิ่มเติม
นอกจากนี้ อินเด็กซ์ฯ เล็งเห็นศักยภาพของธุรกิจอีเวนต์ที่สามารถกระโดดไปได้ไกลกว่าที่เป็น จากการที่ตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์สุดหรู Luxury Brand หันมาเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานอีเวนต์ระดับโลกมากมาย อาทิ Cartier, Bvlgari, MIDO, Astan Martin เป็นต้น ล่าสุดอินเด็กซ์ฯ เดินหน้าเข้าสู่ตลาด Healthcare และ Cosmetic Brand หลาย ๆ เจ้าเป็นที่เรียบร้อย พร้อมตั้งเป้าสร้างสรรค์งานอีเวนต์ทุกรูปแบบในทุกวงการ