★เสริมสุข★ เผยกลยุทธ์ และ ปัจจัย ที่จะผลักดันแบรนด์ให้พุ่งชนความสำเร็จต่อเนื่อง หลังมีกำไรเพิ่มขึ้น 226% ใน 1 ปี

  • 39
  •  
  •  
  •  
  •  

เสริมสุข บริษัทแถวหน้าในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มของประเทศไทย ที่ปัจจุบันมีแบรนด์อยู่ในมือ 7 แบรนด์ ได้แก่ เอส, คริสตัล, โออิชิ, จับใจ, 100พลัส, พาวเวอร์พลัส และ แรงเยอร์  เสริมสุขมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานอุตสาหกรรมน้ำอดลมในบ้านเรามากว่า 6 ทศวรรษ  ก่อนจะขยายมาเล่นในกลุ่มเครื่องดื่มแบบไม่อัดลมในเวลาต่อมา

cover sermsuk

อย่างที่เราพอทราบกันถึงเคสเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดระหว่าง ‘เสริมสุข กับ เป๊ปซี่’ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ เป็นเคสที่ได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง ก่อนที่เสริมสุขจะปล่อยหมัดหนักด้วยการเปิดตัว ‘เอสโคล่า’ ลงสู้ในสนามน้ำอัดลม ด้วยประสบการณ์ที่เก๋าเกม บวกกับ resources ที่แข็งแกร่ง และพันธมิตรเบอร์ใหญ่อย่าง ‘ไทยเบฟเวอเรจ’ จากบ้านสิริวัฒนภักดี ทำให้ เอส ติดตลาดอย่างรวดเร็ว

และหลังจากที่เสริมสุข และ ไทยเบฟเวอเรจ ได้ผนึกกำลังกันสู่ศึกในตลาดเครื่องดื่มตั้งแต่ ปี 2554 มาถึงวันนี้เสริมสุขได้ประกาศความสำเร็จผ่านผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงตัวเลขการเติบโต เฉพาะในไตรมาสแรกของปี 2559 เสริมสุขมียอดขายเพิ่มขึ้น 15% ส่งผลให้มี Market Share ที่แข็งแกร่งขึ้น

โดย เอส ยังคงสามารถครองส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ที่ 10%  ขณะที่ คริสตัล มีส่วนแบ่งตลาด 17.3% และโออิชิมีส่วนแบ่งตลาด 43% มาต่อกันที่กำไร เสริมสุขมีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) อยู่ที่ 87 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วถึง 226%

คุณสมชาย บุญสุข ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) ได้เผยถึงเป้าหมายที่ท้าทายในการพัฒนาเสริมสุขให้แข็งแกร่งรอบด้านทั้งระบบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกลุ่มไทยเบฟ ให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำบริษัทเครื่องดื่มครบวงจรอันดับ 1 ใน 5 ของเอเชีย ตามวิสัยทัศน์ปี 2020

ณ ตอนนี้ เสริมสุข โฟกัสไปที่ 4 แบรนด์หลักคือ เอส, คริสตัล, โออิชิ และน้องใหม่อย่าง ‘100พลัส’ เพราะเป็นกลุ่มที่ลงเล่นในตลาดใหญ่ และมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง คริสตัล และ 100พลัส จะถูกจัดอยู่ในตลาดเครื่องดื่มสุขภาพ เป็นตลาดที่กำลังมาแรง ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์ มีสัดส่วนรายได้รวมกันอยู่ที่ 56% จากรายได้ทั้งหมด และเสริมสุขตั้งเป้าจะดันยอดให้โตแตะ 70% ภายในปี 2564

จุดแข็งของ เสริมสุข คือระบบการผลิตและโลจิสติกที่แข็งแกร่ง ด้วยโรงงานผลิต 7 แห่ง คลังสินค้า 51 แห่ง และเครือข่ายในการจัดจำหน่ายที่เข้าถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ด้วยรถลำเลียงและหน่วยรถขายกว่า 1,000 คน  รวมถึงมี 7 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคกว่า 90%

จะเห็นได้ชัดเจนว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เสริมสุขเปิดตัวผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่เป็น inovation ออกมาอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งรสชาติ และประเภทเครื่องดื่ม นอกจากนี้ยังมีการดึงกลยุทธ์ Sizing มาปรับใช้กับ เอส ให้มีขนาดและระดับราคาที่หลากหลายมากขึ้น ทีนี้เรามาดู 3 กลยุทธ์หลักที่เสริมสุขใช้ขับเคลื่อนองค์กรและแบรนด์ให้ไปสู่ความสำเร็จกัน

กลยุทธ์ที่ 1  ขยายตลาด

เสริมสุขขยายตลาดสินค้าตัวเองให้กว้างขึ้นด้วยการส่งออกสินค้าไปยังตลาด AEC ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม) รวมถึงตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย และยังมีตลาด ‘ยูนาน’ ในประเทศจีน สินค้าที่ส่งออกจะเน้นที่ เอส, 100พลัส, โออิชิ และจะเริ่มปัดฝุ่นพัฒนาแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังอย่าง ‘แรงเยอร์’ ที่เพิ่งซื้อมาได้ประมาณ 2 ปี ไปสู้ในตลาดต่างประเทศ

อีกทั้งเสริมสุขยังลงทุนขยายสายการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะเพิ่มสายการผลิตที่ขอนแก่นภายในปีนี้ และที่สุราษฎร์ธานีในปีหน้า

 

กลยุทธ์ที่ 2 พัฒนาทีมขายและกระบวนการทำงาน

เสริมสุขเน้นการขยายโปรแกรมพรีเซลในพื้นที่กรุงเทพฯ​และหัวเมืองใหญ่ เพื่อเข้าให้ถึงพื้นที่ขายที่มีร้านค้าหนาแน่นและแก้ไขปัญหา traffic เพื่อให้บริการลูกค้าได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

และยังโฟกัสที่ศักยภาพของทีมขาย และการบริหารสต็อกสินค้า ที่น่าสนใจคือเสริมสุขกำลังจะวางระบบ  E-Banking มาอำนวยความสะดวกในการชำระเงินให้ลูกค้าแทนการเก็บเงินสด ระหว่างนี้อยู่ในช่วงศึกษาและพัฒนาระบบ เป็นการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการชำระเงินที่จะสร้างคุณค่าให้แก่เสริมสุขได้ในระยะยาว

 

กลยุทธ์ที่ 3  บริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ

เสริมสุขวางแผนและหา solution ใหม่ๆที่จะมาประหยัดการใช้วัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์ ด้วยการลดการใช้พลาสติกและลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ ลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งสินค้า ปัจจัยภายนอกมีส่วนช่วย เพราะในช่วงที่ผ่านมาน้ำมันมีราคาถูกลง และสุดท้ายที่เสริมสุขให้ความสำคัญคือการบริหารคลังสินค้าให้มีกำไร

our-product

ทั้ง 3 กลยุทธ์เปิดเผยโดย คุณวิเวก ชาห์บรา กรรมการผู้จัดการบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) เป็นแม่ทัพคนใหม่เพิ่งเข้ามากุมบังเหียนเสริมสุข ด้วยประสบการณ์การทำงานในวงการเครื่องดื่มมายาวนานกว่า 20 ปี และนอกจากนี้ คุณวิเวก ยังเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยดริงค์ จำกัด ที่คุมเครื่องดื่ม Non-Alcohol ทั้งหมดของ ไทยเบฟเวอเรจ รวมทั้งเอสด้วย

จากการผนึกกำลังกันของ ไทยเบฟ ไทยดริงค์ และเสริมสุข ทำให้ผู้เล่นกลุ่มนี้เป็นอีกหนึ่งค่ายในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่น่ายำเกรงไม่น้อยเลยทีเดียว


  • 39
  •  
  •  
  •  
  •