เมื่อคนที่มีทักษะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์อาจทำให้เราไม่มีงานทำ

  • 443
  •  
  •  
  •  
  •  

หลายคนกำลังพูดถึงความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่หลายอย่างที่ทำได้ดีกว่าคน สาเหตุหลักเป็นเพราะความสามารถที่จำกัดของสมองเช่น ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่สมองไม่สามารถวิเคราะห์ประมวลผลได้ทั้งหมด หรือการทำงานเป็นระยะเวลานาน (เช่นขับรถ) ที่สมองอาจเกิดอาการเหนื่อยล้าและทำได้ไม่นานเท่าหุ่นยนต์ ทำให้เกิดความกังวลว่า AI อาจจะมาทำงานหลายๆอย่างแทนที่คนในอนาคต

แต่ความจริงคือยังมีงานอีกหลายๆอย่างที่หุ่นยนต์ทำแทนคนไม่ได้ เช่นงานบริการที่ต้องการใช้ความเห็นอกเห็นใจที่เป็นความรู้สึกจริงๆ ซึ่งลูกค้าก็ยังต้องการสิ่งนี้จากคนอยู่ ประเด็นคือจริงๆแล้วในอนาคตหุ่นยนต์ไม่ได้มาแทนที่คน แต่จะมาช่วยคนทำงาน (และคนก็จะมาช่วยหุ่นยนต์ทำงานด้วย) ทำให้ผลลัพธ์ในการทำธุรกิจเพิ่มขึ้นจากการร่วมมือกันทำงานระหว่างคนกับ AI

เพราะคนที่มีทักษะทำงานกับหุ่นยนต์อาจทำให้คนที่ไม่มีทักษะนี้กลายเป็นคนไม่มีงานทำ ไม่ใช่กังวลว่าหุ่นยนต์จะทำงานแทนคน

 

Deep Tech Startup

 

คนจะมาช่วยหุ่นยนต์ทำงานได้อย่างไร?

 

1. คนจะมาช่วยฝึกอบรมหุ่นยนต์เครื่องจักรให้ทำงานตามที่คนต้องการ

เช่นการแปลภาษา คนอาจจะต้องมาสอนหุ่นยนต์แปลให้ถูกต้อง โดยเฉพาะสำนวนต่างๆ การสอน AI ที่อยู่ในแอปพลิเคชั่นทางการแพทย์ให้ตรวจจับและระบุโรคได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ส่งเสริมให้ AI ได้ตัดสินใจและให้คำแนะนำในงานด้านการเงินการลงทุน การฝึกให้เครื่องจักรได้แสดงออกพฤติกรรมและบุคลิคต่างๆเพื่อตอบสองกับคนให้เป็น แม้แต่การเห็นอกเห็นใจ (ซึ่งถึงแม้คนอาจทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่า แต่เมื่อถึงเวลาขาดกำลังคน หุ่นยนต์อาจเข้ามาเสริมกำลังคนได้)

 

2. คนจะมาช่วยอธิบายผลลัพธ์ของงานที่หุ่นยนต์ทำให้กับคนที่ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ (อย่างเรา) ฟัง

เพราะไม่ใช่ทุกคนที่เข้าใจเหตุผลและกระบวนการทำงานของหุ่นยนต์ทำ เช่นการที่รถยนต์อัตโนมัติก่ออุบัติเหตุชนคนบาดเจ็บ คนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมถึงไม่หยุดเวลาเจอคน ซึ่งตรงนี้คนจะมาอธิบายว่าหุ่นยนต์ตัดสินใจก่ออุบัติเหตุเพราะอะไร (อธิบายว่าทำไมหุ่นยนต์ไม่ตัดสินใจเลี่ยงอุบัติเหตุ) ซึ่งหน้าที่ที่ต้องอธิบายตรงนี้มีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นได้จากกฎหมายว่าด้วยการปกป้องข้อมูลพื้นฐาน (General Data Protection Regulation) บังคับให้การตัดสินใจด้วยอัลกอริธึ่มต้องมีการอธิบายทุกครั้ง ซึ่งหน้าที่ตรงนี้ต้องเป็นคนที่ทำ (คงไม่ใช่ให้หุ่นยนต์อธิบายในสิ่งที่หุ่นยนต์ทำด้วยกัน)

 

3. คนจะมารับผิดชอบการใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรทำงาน

จะต้องมีคนมาการันตีว่าหุ่นยนต์เครื่องจักรทำงานได้ดีไม่มีปัญหา มีคนคอยรักษาความปลอดภัย หาก AI ทำงานที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับคนและทรัพย์สิน เช่นในกรณ๊ที่รถยนต์ไร้คนขับทำคนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ จะต้องมีคนรับผิดชอบและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ข้อดีของคนคือคนรู้เรื่องจริยธรรมมากกว่าหุ่นยนต์ หากหุ่นยนต์เกิดทำงานผิดพลาด (เช่นสแกนหน้าคนผิวคล้ำแล้วตีความว่าเป็นกอริลล่า) คนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหุ่นยนต์อาจต้องออกมารับผิดชอบ (ซึ่งก็เหมือนกับข้อที่แล้ว คือคงไม่ใช่ให้หุ่นยนต์มารับผิดชอบหุ่นยนต์ด้วยกันเอง)

 

3

 

แล้วหุ่นยนต์จะมาช่วยคนทำงานได้อย่างไร?

1. หุ่นยนต์จะเพิ่มความสามารถในการคิดวิเคราะห์ให้กับคน

อย่างที่เกริ่นไปว่าสมองของคนมีขีดจำกัด ทำให้ไม่สามารถรับมือกับข้อมูลที่มากเกินไปได้ ซึ่ง AI จะมาช่วยให้ข้อมูลที่คนต้องการ ในเวลาที่ต้องการได้ ไม่ใช่แค่เรื่องของการวิเคราะห์เหตุผล แต่เรื่องงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หุ่นยนต์ก็ช่วยได้ คนอาจจะตั้งกฎเกณฑ์ในการหางานออกแบบ แล้วให้ AI ไปค้นหางานที่ว่าตามกฎที่ตั้ง คนก็สามารถเอาข้อมูลที่ AI รวบรวมให้ไปสร้างสรรค์งานต่อได้

 

2. หุ่นยนต์จะช่วยงานในด้านการมีปฏิสัมพันธ์กันลูกค้า

นอกจากหุ่นยนต์สามารถถูกพัฒนาให้เข้าใจคำพูดของคน หุ่นยนต์อาจทำงานเบื้องหลังในการบริการลูกค้าได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นในงานบริการสายการบิน หากมีผู้โดยสารมีปัญหาเรื่องกระเป๋าที่ไมได้รับหลังจากลงจากเครื่องบินเข้ามาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังคุย ขอโทษและทำความเข้าใจผู้โดยสาร ก็อาจจะให้ AI หาทางที่จะนำกระเป๋ามาให้ผู้โดยสารได้เร็วที่สุด เพราะคงไม่มีผู้โดยสารคนไหนอยากได้แต่คำขอโทษ แต่ไม่มีทางแก้ไข หรือมีแต่ทางแก้ไขโดยไม่มีการพูดคุยทำความเข้าใจเลย การมีทั้งคนทั้ง AI จะทำให้ลูกค้าพอใจมากขึ้น

 

3. หุ่นยนต์จะเพิ่มขีดสมรรถนะทางกายภาพให้กับคน

เมื่อ AI ถูกพัฒนาระบบตรวจจับ รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งของและอะไรเป็นคน ก็ทำงานกับคนได้ มันอาจจะช่วยยกของหนักๆที่ลังพังคนทำไม่ได้ หรือของที่เป็นอันตรายกับคน เช่นสารเคมี ก็อาจให้เครื่องจักรรับหน้าที่แทน

 

AI

 

ฉะนั้นหากอนาคต เป็นอนาคตที่คนทำงานกับหุ่นยนต์ บริษัทหรือองค์กรต่างๆก็อาจต้องหันมาปรับระบบการทำงานใหม่ ต้องดูว่างานตรงไหนของระบบที่ปรับปรุงได้ หรืองานไหนที่ตัดออกไปได้ถ้าคนกับหุ่นยนต์ทำงานทำงานร่วมกัน บริษัทไหนที่ไม่รองรับการทำงานระหว่าคนกับหุ่นยนต์ ก็อาจจะไม่รอดในอนาคต

ซึ่งรวมถึงคนในองค์กรนั้นด้วย

 

แหล่งอ้างอิง: Human and AI Are Joining Forces โดย H. James Wilson และ Paul R. Daugherty จาก Harvard Business Review เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2018


  • 443
  •  
  •  
  •  
  •  
Sarunjade
แชร์มุมมองเกี่ยวกับ Digital Marketing, Digital Business และ Technology เท่าที่รู้ สามารถติชมหรืออยากให้เจาะลึกเรื่องไหนเป็นพิเศษ ส่งเมลมาเลยที่ contact@oopsnetwork.co.th