Ipsos ชี้ 12 ความกังวลคนไทย! ห่วงอนาคต ประเทศเดินผิดทาง – เสี่ยงตกงาน – มนุษย์เงินเดือน เดอะแบกจ่ายภาษี –ต้องการผู้นำที่กล้าปฏิรูป แก้ปัญหาประเทศ

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Ipsos

ผ่านมาแล้วครึ่งปี 2025 จะสังเกตได้ว่าบรรยากาศ อารมณ์ ความรู้สึกของสังคมไทย หลายคนรู้สึกว่าปีนี้เป็นปีที่ท้าทาย และมีเรื่องมากมายที่ต้องกังวลมากกว่าช่วงโควิด สะท้อนได้จากผลสำรวจ Ipsos” (อิปซอสส์) บริษัทวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคในระดับโลก เปิดตัวรายงานชุด What Worries Thailand H1 2025 รายงานที่วิเคราะห์ถึงความกังวลใจของคนไทยในครึ่งปีแรกของปี 2025 โดย คุณอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ และ คุณพิมพ์ทัย สุวรรณศุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด สรุปอินไซต์ความกังวลคนไทยดังนี้

 

1. คนไทยกังวลการเงินคอร์รัปชันการเมืองมากสุด

– การเงินและการทุจริตทางการเมือง 45%

– ความยากจนและความไม่เท่าเทียมทางสังคม 37%

– การว่างงาน 31%

– ภาวะเงินเฟ้อ 24%

– อาชญากรรมและความรุนแรง 22%

เมื่อเทียบกับผลสำรวจความกังวลของคนทั่วโลก พบว่าแตกต่างจากไทย โดยอันดับแรกที่คนทั่วโลกกังวล คือ เงินเฟ้อ ตามมาด้วยอาชญากรรมและความรุนแรงภายในระเทศ, การว่างงาน, ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม และท้ายสุดคือ การเงินและทุจริตทางการเมือง

Ipsos What Worries Thailand - H1 2025

 

2. สังคมไทยอยู่ในขั้นวิกฤต ประเทศอยู่ในภาวะถดถอย

ในด้านสังคม ผลสำรวจนี้ยังชี้ให้เห็นถึงความรู้สึกเปราะบางในสังคมและประเทศ พบว่า

66% ของคนไทยเชื่อว่าสังคมไทยกำลังอยู่ใน “ภาวะวิกฤต”

60% ของคนไทยมองว่าประเทศกำลังอยู่ใน “ภาวะถดถอย”

Ipsos-What Worries Thailand - H1 2025

สะท้อนผ่านดัชนีวัดสังคมวิกฤตของ Ipsos Society is Broken Index ที่สอบถามกลุ่มตัวอย่าง 5 คำถามใน 31 ประเทศ ได้แก่  

– เศรษฐกิจไทยเอื้ออำนวนให้กับคนรวยหรือไม่

– นักการเมืองสนใจประชาขนไหม

– ประเทศไทยต้องการผู้นำที่เข้มแข็งในการบริหารประเทศหรือเปล่า

– ผู้นำที่เข้มแข็งจะช่วยปฏิรูปประเทศไหม

– ผู้เชี่ยวชาญไม่ค่อยเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่

จาก 5 คำถามดังกล่าวพบว่า สัดส่วนของประเทศไทยสูงถึง 77% มาเป็นอันดับ 1 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งอยู่ที่ 61% นั่นหมายความว่าคนไทยมองว่าประเทศไทยค่อนข้างมีปัญหา หรือวิกฤต เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ

Ipsos-What Worries Thailand - H1 2025

 

3. คนไทยเห็นว่าประเทศกำลังเดินมาผิดทาง! – ต้องการผู้นำที่กล้าคิด กล้าทำ กล้าปฏิรูป แก้ปัญหาประเทศ

การสำรวจยังได้สอบถามความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับทิศทางของประเทศ พบว่า

– 56% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย เห็นว่าประเทศไทยกำลังมา “ผิดทาง” ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 13%

นอกจากนี้ยังเห็นถึงความต้องการของประชาชนที่เรียกร้องหา “ผู้นำ” ที่มีความโดดเด่น และมีอำนาจในการจัดการแก้ไขปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง พบว่า

– 79% ของคนไทยเรียกร้องให้มีผู้นำที่กล้าหาญพอที่จะปฏิรูป เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ

– 77% ของคนไทยสนับสนุนผู้นำที่เข้มแข็ง เพื่อทวงคืนประเทศจากกลุ่มคนร่ำรวยและผู้มีอำนาจ

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงและการแก้ไขปัญหาอย่างเด็ดขาดจากผู้นำทางการเมือง

Ipsos-What Worries Thailand - H1 2025

 

4. แนวคิดเศรษฐกิจแบบ “Cakeism” ปรากฏชัดทั่วโลก มนุษย์เงินเดือน “เดอะแบกจ่ายภาษี” แต่ไม่ได้สวัสดิการที่แฟร์!

ผลสำรวจดังกล่าว เผยให้เห็นถึงแนวคิดเศรษฐกิจแบบ “Cakeism” ปรากฏชัดเจนทั่วโลก เป็นคำอธิบายถึงความปรารถนาที่อยากได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หรือลงทุนเพิ่ม เปรียบได้กับความอยากได้เค้ก หรือพายชิ้นใหญ่ โดยไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หรือลงทุนเพิ่ม

ในกรณีนี้คือ ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการจ่ายภาษีเพิ่มให้กับรัฐ เพราะมองว่าเงินภาษีที่จ่ายไปนั้น ไม่ได้ช่วยให้เขามีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกลับมา แต่ขณะเดียวกันรัฐบาล หรือภาครัฐควรต้องมีสวัสดิการและบริการสาธารณะเพิ่ม

สำหรับในประเทศไทย แนวคิด Cakeism ยังคงปรากฏชัดในหมู่คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือน หรือชนชั้นกลางของสังคม พบว่า

– 45% ของคนไทยไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีเพิ่ม เพื่อนำไปใช้ในการสนับสนุนการเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐ

– ในทางตรงกันข้าม 70% ของคนไทยบอกว่าสนับสนุนให้มีการเพิ่มการใช้จ่ายด้านบริการสาธารณะ หรือสวัสดิการต่างๆ

สะท้อนให้เห็นว่าทุกวันนี้ “มนุษย์เงินเดือน” ซึ่งถือเป็นชนชั้นกลาง เป็นกลุ่มหลักที่จ่ายภาษีให้กับประเทศ แต่ในการบริหารจัดการภาษีของรัฐบาลหรือภาครัฐ คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าตัวเขาไม่ได้อะไรกลับคืนมา ทั้งสวัสดิการ หรือบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ตลอดจนปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงไม่ได้รับการแก้ไข อีกทั้งนโยบายรัฐยังเอื้อให้กับกลุ่มประชากรรายได้สูง และกลุ่มฐานรากที่มีรายได้น้อยมากกว่า

เมื่อเกิดความรู้สึกดังกล่าว กลุ่มชนชั้นกลางจึงเกิดคำถามตามมาว่าแล้วทำไมเขาต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อให้รัฐไปใช้จ่าย แต่ฝั่งรัฐเอง ควรสนับสนุนให้มีบริการสาธารณะ หรือสวัสดิการเพิ่มที่ตอบโจทย์กลุ่มชนชั้นกลางมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

Ipsos-What Worries Thailand - H1 2025

 

5. คนไทยชะลอการซื้อ “บ้าน-ถยนต์ของใช้ในบ้านทั่วไปที่ยังไม่จำเป็น”

– 65% ของคนไทยมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันย่ำแย่ลง ซึ่งเพิ่มขึ้น 10%  จากปีที่แล้ว ส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นในทุกกลุ่มรายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ต่ำกว่า 60,000 บาทต่อเดือน

ความเชื่อมั่นที่ลดลง ทำให้คนไทยมีความ “ลังเล” ในการจับจ่ายสินค้ามากขึ้น

– 53% ของคนไทยรู้สึกไม่สบายใจที่จะซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ เช่น บ้าน, รถยนต์ โดยบอกว่าขอรอดูสถานการณ์ก่อน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 6% เทียบจากปีที่แล้ว

– 46% ของคนไทยรู้สึกไม่สบยใจในการซื้อของใช้ในครัวเรือนและของใช้ส่วนบุคคลอื่นๆ (ไม่รวมสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน) เช่น ทีวี, เครื่องปรับอากาศ, พัดลม รวมถึงคอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้น 10% เทียบจากปีที่แล้ว

ทั้งนี้ สถานการณ์ชะลอการใช้จ่ายออกไปในเวลานี้ แตกต่างจากช่วงโควิด ช่วงเวลานั้นคนอั้นการซื้อ แต่เมื่อผ่านพ้นโควิดไปแล้ว ผู้บริโภคไทยกลับมาใช้จ่าย ทั้งซื้อรถยนต์, ที่อยู่อาศัย และของใข้อื่นๆ ในขณะที่เศรษฐกิจปัจจุบัน ผู้บริโภคชะลอการซื้อทั้งของชิ้นใหญ่ และของใช้ที่ยังไม่จำเป็นในชีวิตประจำวันออกไปก่อน เช่น สินค้าแบรนด์เนม รวมทั้งผู้บริโภคไทยมองหาสินค้าที่ราคาเข้าถึงง่ายมากขึ้น

Ipsos-What Worries Thailand - H1 2025

 

6. คนไทยกังวลค่าใช้จ่ายภายในบ้านจะเพิ่มขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า

เมื่อถามถึง “ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน” ในอีก 6 เดือนข้างหน้า คาดว่าค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้น คือ

– 69% ค่าสาธารณูปโภค

– 66% ค่าเชื้อเพลิงรถยนต์

– 66% ค่าใช้จ่ายด้านอาหาร

– 62% ค่าใช้จ่ายในการซื้อของใช้ในบ้านอื่นๆ

– 44% ค่าใช้จ่ายในการสังสรรค์

– 38% ค่าที่อยู่อาศัย

– 34% ค่าสมาชิกต่างๆ

Ipsos-What Worries Thailand - H1 2025

 

7. ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าครองชีพสูง

คนไทยยังระบุถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น พบว่า

– 81% ระดับอัตราดอกเบี้ยในประเทศ

– 81% นโยบายของรัฐบาล

– 81% สภาวะเศรษฐกิจโลก

– 79% แรงงานเรียกร้องค่าตอบแทนที่สูงขึ้น

– 77% ธุรกิจต่างๆ มุ่งทำกำไรมากเกินไป

Ipsos-What Worries Thailand - H1 2025

 

8. คนไทยกังวลใจ “หวั่นตกงาน” ในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงในการจ้างงาน ยังคงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับคนไทย พบว่า

– 59% ของคนไทย หรือเกือบ 6 ใน 10 คน ระบุว่ารู้จักคนที่เพิ่งตกงานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แม้จะลดลง 2% จากปีที่แล้วก็ตาม

– 28% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของคนไทย แสดงความกังวลว่าตนเองอาจประสบปัญหาการตกงานในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงในงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด!

– 48% มีความมั่นใจน้อยลงเกี่ยวกับความมั่นคงในงานของตนเอง ครอบครัว และบุคคลใกล้ชิด ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 12% จากปีที่แล้ว

– 54% ของคนไทยมีความมั่นใจน้อยลงเกี่ยวกับความสามารถในการลงทุนเพื่ออนาคต ไม่ว่าจะเป็นเกษียณอายุ หรือเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน เพิ่มขึ้น 15% จากปีก่อนหน้า

โดยทุกระดับรายได้ มีความกังวลด้านความมั่นคงในงาน โดยเฉพาะ “ชนชั้นกลาง” เป็นกลุ่มที่มีความกังวลมากสุด ทั้งกังวลในหน้าที่การงาน จะยังมีงานทำต่อไปหรือเปล่า, เงินเก็บในอนาคตสำหรับเกษียณ รวมถึงเงินค่าเทอมของลูก สะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นกลาง เป็นเดอะแบกตัวจริงของสังคมไทยในปัจจุบัน

 

9. คนไทยรู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ Recession 

เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างใน 32 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยเกี่ยวกับมุมมองเศรษฐกิจประเทศของคุณเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) หรือยัง พบว่า

อันดับ 1 เกาหลีใต้ 79% บอกว่าเข้าสู่ Recession แล้ว

อันดับ 2 ไทย 72% เพิ่มจากปีที่แล้ว อยู่ที่ 66%

อันดับ 3 ญี่ปุ่น 62%

อันดับ 4 อินโดนีเซีย 56%

อันดับ 5 มาเลเซีย 54%

เมื่อถามต่อว่าคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นภายใน 1 ปีหรือไม่ พบว่า

– 59% ของคนไทยบอกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีต่อจากนี้ แสดงให้เห็นถึง sentiment ของคนไทยเวลานี้มองเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย

Ipsos-What Worries Thailand - H1 2025

 

10. คนไทยยังมีความหวัง! สถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ตามแม้คนไทยจะมีความกังวลเกี่ยวกับประเทศ เศรษฐกิจ และการเมืองที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ การงาน และอนาคต แต่ในอีกมุมหนึ่ง คนไทยยังมีความหวังว่าสถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะดีขึ้นภายใน 6 เดือนข้างหน้า พบว่า

– 37% ของคนไทยคาดการณ์ว่าสถานะทางการเงินส่วนบุคคลจะแข็งแกร่งขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า

 

11. คนไทยนิยมเสพ “โซเชียลมีเดีย” มากกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ขณะที่พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของคนไทย เมื่อถามถึงช่องทางหลักที่คนไทยเลือกใช้ในการติดตามข่าวสาร พบว่า

  1. โซเชียลมีเดีย (Social media): 86%
  2. โทรทัศน์ (TV news): 57%
  3. ข่าวจากเว็บไซต์ (News websites): 52%
  4. เพื่อนและครอบครัว (Friends/family): 36%
  5. พอดแคสต์ (Podcasts): 18%
  6. หนังสือพิมพ์ (Newspapers): 17%
  7. วิทยุ (Radio): 11%
  8. อื่นๆ: 2%
  9. ไม่ตอบ: 2%

โซเชียลมีเดียยังคงเป็นช่องทางหลักที่คนไทยส่วนใหญ่เลือกใช้ในการเสพข่าวสาร และสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งอยู่ที่ 54% ทิ้งห่างช่องทางอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของแพลตฟอร์มดิจิทัลในชีวิตประจำวันของคนไทย อย่างไรก็ตามยังเป็นดาบสองคม นั่นคือ โซเชียลมีเดียทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย รวดเร็ว และทั่วถึง แต่ในเวลาเดียวกันต้องกลั่นกรองและระมัดระวังว่าข้อมูลข่าวสานไหนเป็น Fake News หรือข่าวจริง

Ipsos-What Worries Thailand - H1 2025

 

12. ความเท่าเทียมทางเพศ มีผลต่อการสนับสนุนธุรกิจ

ผลสำรวจพบว่า คนไทยให้การสนับสนุนธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ

– 44% ของคนไทยยังเชื่อว่านโยบายที่ธุรกิจนำมาใช้เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศนั้นมีผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมโดยรวม

– 71% ของคนไทยเชื่อว่าการบรรลุความเท่าเทียมเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะมีความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างความคิดเห็นของผู้ชาย (69%) และผู้หญิง (73%)

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยยังคงเผชิญกับความตึงเครียดทางสังคมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้ง 3 ช่องว่างหลักคือ

– ระหว่างคนรวยกับคนจน (84%)

– ระหว่างคนต่างช่วงวัย (76%)

– ระหว่างผู้ที่มีแนวคิดเสรีนิยมทางสังคมกับผู้ที่มีค่านิยมดั้งเดิม (73%)

Ipsos-What Worries Thailand - H1 2025

 

แนะแบรนด์ธุรกิจปรับตัว อย่ามองแต่ผลกำไร ให้สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และความเชื่อมั่น

Ipsos แนะกลยุทธ์แบรนด์และธุรกิจปรับตัวรับมือความกังวลผู้บริโภคที่กระทบพฤติกรรมการใช้จ่าย ท่ามกลางสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมที่กำลังเกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นใน 2 ประเด็นหลักดังนี้:

การคืนกำไรสู่สังคมและสร้างผลกระทบเชิงบวก: เมื่อผู้บริโภคเห็นว่าบริษัทสนับสนุนสาเหตุที่พวกเขาสนใจ จะสามารถสร้างความรู้สึกเชิงบวกและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับแบรนด์ นำไปสู่ Loyalty (ความจงรักภักดีที่ลูกค้ามีให้ต่อแบรนด์) และการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้น

สร้างความเชื่อมั่นผ่านความโปร่งใส: การดำเนินธุรกิจด้วยธรรมาภิบาลที่ดีจะส่งเสริมประสบการณ์เชิงบวกให้กับลูกค้า ด้วยการส่งเสริมความเป็นธรรม กระบวนการที่มี     ประสิทธิภาพ และการสื่อสารที่ชัดเจน

Ipsos_Usana
คุณอุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด
Ipsos_Pimtai
คุณพิมพ์ทัย สุวรรณศุข ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ