Nielsen เผยผู้บริโภคชาวไทยมั่นใจเศรษฐกิจฟื้น

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

logo_NielsenNielsen เผยผลการสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าค่าเฉลี่ยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5 จุดจากการสำรวจในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากระดับที่ 77 ไปยังระดับที่ 82 ในไตรมาสที่สอง ซึ่งผลการสำรวจนี้ชี้ให้เห็นถึงระดับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากความมั่นใจของผู้บริโภคและการดีดตัวขึ้นของตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศ BRIC ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดียและประเทศจีน รวมถึงประเทศหลักๆ ที่สำคัญในแถบเอเชีย

ผู้บริโภคชาวไทยก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกับผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ โดยจะเห็นได้จากจำนวนของผู้บริโภคที่คิดว่าเศรษฐกิจในประเทศของตนอยู่ในสภาวะถดถอยสูงถึง 91% ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ลดลงมาสู่ระดับ 84% ในไตรมาสที่สองนี้ นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยจำนวน 28% ยังเชื่อมั่นว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะสิ้นสุดภายในหนึ่งปี โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 24% ที่มีความคิดดังกล่าวในการสำรวจเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา – นายแอรอน ครอส กรรมการผู้จัดการ The Nielsen Company ประเทศไทย

กลุ่มประเทศ BRIC และประเทศต่างๆในแถบเอเชียมีความเชื่อมั่นสูงขึ้นจากการสำรวจเมื่อสามเดือนที่ผ่านมาอย่างมาก โดยจะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอินเดีย (+13) ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง อินโดนีเซีย (+9) ไต้หวัน บราซิล (+8) สิงคโปร์ ตุรกี รัสเซีย ฟิลิปปินส์ อังกฤษ (+7) และประเทศไทย (+5) ส่วนประเทศที่ไม่พบการเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาสที่สองได้แก่ สหรัฐอเมริกา และนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่าเยอรมนีเป็นเพียงประเทศเดียวจากการสำรวจที่มีระดับความเชื่อมั่นลดลงหนึ่งจุด

ผู้บริโภคชาวไทยยังมีความหวังที่สดใสเกี่ยวกับโอกาสในด้านการงานมากขึ้น โดยแสดงให้เห็นจากอัตราความมั่นใจที่เพิ่มมากของผู้บริโภคชาวไทยที่แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า “ดี” และ “ดีมาก” เพิ่มขึ้นจาก 15% จากการสำรวจในเดือนมีนาคม เป็น 27% จากการสำรวจครั้งล่าสุด

ผู้บริโภคชาวไทยยังคงนิยมการออมมากที่สุด

Nielsen ถามผู้บริโภคว่าหากมีเงินเหลือหลังจากใช้จ่ายสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตแล้ว พวกเขาอยากใช้จ่ายกับอะไร ผู้บริโภคชาวไทยกว่าครึ่ง ( 53%) ยังคงประสงค์ที่จะเก็บเงินในส่วนที่เหลือเพื่อเก็บออม นอกจากความตั้งใจที่จะออมเงินแล้ว การใช้จ่ายทางด้านการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจ ยังคงเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคชาวไทยนิยม (43%) มากเป็นลำดับที่สอง ลำดับที่สามคือ ซื้อกองทุนเพื่อการเกษียณ ( 27%)

หากถามถึงความกังวลใจมากที่สุดในอีก 6 เดือนข้างหน้าพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยยังคงวิตกกังวลกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจมากที่สุด (49%) ลำดับรองลงมาคือ ความมั่นคงในด้านการงาน ( 26%) ปัญหาหนี้สิน (20%) และการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ( 19%) ตามลำดับ

Nielsen ยังเผยผลสำรวจเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวกับการซื้อของและการดำเนินชีวิตของพวกเขาใน 6 เดือนที่ผ่านมา โดยทำการสำรวจในผู้บริโภคจำนวน 2,000 คนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

สินค้าใดที่ผู้บริโภคซื้อน้อยลง และสินค้าประเภทใดที่ซื้อเพิ่มขึ้น

Nielsen พบว่าผู้บริโภคในปัจจุบันกำลังลำดับความสำคัญกับรายการซื้อของใหม่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวนี้ นั่นก็คือพวกเขากำลังตัดสินค้าที่ไม่จำเป็น เช่นอาหารแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเช่น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเสื้อผ้า ออกจากรายการ แต่ในขณะที่ผู้บริโภคกำลังระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยนั้น ผลการวิจัยของ Nielsen พบโอกาสที่ดีภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต รวมถึงเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ของใช้ส่วนตัว และสินค้าที่เกี่ยวกับโทรคมนาคม

วิถีชีวิตของคนไทยก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน โดยผู้บริโภคลดการใช้จ่ายในด้านกิจกรรมด้านบันเทิง รวมถึงการเที่ยวกลางคืน การช็อปปิ้ง และการเดินทางท่องเที่ยว ในขณะที่การอยู่บ้านเริ่มที่จะเป็นเทรนด์ใหม่ ผู้บริโภคชาวไทยก็หันมาทำกับข้าวทานเองมากขึ้นเพื่อลดรายจ่ายด้านการทานอาหารนอกบ้าน

ซื้อของบ่อยน้อยลง แต่ซื้อมากขึ้นในแต่ละครั้ง

ความนิยมในการอยู่บ้านมากขึ้นยังส่งผลกระทบกับความถี่ของการซื้อของของผู้บริโภค จากข้อมูลของชอปเปอร์เทรนด์ ในปี 2552 พบว่า คนไทยไปซื้อของที่ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด และซูเปอร์มาร์เก็ตน้อยครั้งลง แต่ความถี่ที่ไปซื้อของที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงเหมือนเดิม

จากข้อมูลของ Nielsen Homescan พบว่าค่าเฉลี่ยของความถี่ในการช็อปปิ้งของครัวเรือนลดลงจาก 79.7 ครั้งในปี 2550 มาเป็น 79.2 ครั้งในปี 2551 ส่งผลให้ซื้อของมากขึ้นในแต่ละครั้งที่ไปช็อปปิ้งถึง 3.9% ในปี 2551 เมื่อเทียบกับปี 2550 

Source:  ฐานเศรษฐกิจ


  •  
  •  
  •  
  •  
  •