เต็ดตรา แพ้ค เผยพฤติกรรมกลุ่มมิลเลนเนียล เกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Tetra Pak 06-highlight

เต็ดตรา แพ้ค เผยรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวมิลเลนเนียล ที่มีต่ออนาคตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม มีลักษณะของความต้องการที่แฝงอยู่ 6 ประการด้วยกัน ดังนั้น การพัฒนาสูตรผสมผลิตภัณฑ์และคุณลักษณะของบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้ จึงมีเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง

ถึงยุคของมิลเลนเนียลแล้ว

บุคลิกลักษณะของชาวมิลเลนเนียล ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากยุคแห่งความแปรปรวนทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ แม้คำนิยามของคนรุ่นนี้จะมีหลากหลาย แต่เราพอจะจำแนกกลุ่มผู้บริโภคชาวมิลเลนเนียลอย่างกว้างๆ ได้ว่า เป็นผู้ที่เกิดในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 ถึง 2000 ดังนั้น รายงานฉบับนี้จึงขอกล่าวถึงชาวมิลเลนเนียลในฐานะผู้บริโภคที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 35 ปี

คนรุ่นนี้มีความพิเศษเฉพาะตัว โดยนอกจากจะเป็นคนรุ่นแรกที่เติบโตขึ้นท่ามกลางอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีดิจิทัลในยุคโลกาภิวัฒน์อย่างแท้จริงแล้ว ยังถือว่าเป็นคนรุ่นที่ต้องแบกรับผลกระทบอันหนักหน่วงของวิกฤติการทางการเงิน ในระหว่างปี ค.ศ. 2008 – 2012 อีกด้วย

ปัจจุบันชาวมิลเลนเนียลจำนวนมากกำลังพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือ การพิจารณาการมีความสัมพันธ์ระยะยาว ชีวิตแต่งงาน และการมีลูก แม้การมีครอบครัว หรือ การลงหลักปักฐาน ยังเป็นสิ่งที่ชาวมิล-เลนเนียลชะลอไว้ เพราะต้องดิ้นรนกับปัญหาความกังวลเรื่องเศรษฐกิจ การจ้างงานและรายได้ นับตั้งแต่วิกฤติทางการเงินทั่วโลกที่เริ่มขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน รวมถึงความกังวลต่อทัศนคติของสังคมรอบข้าง แต่โดยส่วนตัว ชาวมิลเลนเนียลยังคงมองโลกในเชิงบวก พวกเขาให้ความสำคัญกับครอบครัว ใฝ่ฝันถึงการมีบ้านและหน้าที่การงานที่ดี หลายๆ คนระบุเหมือนกันว่าเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งคือการทำให้พ่อแม่รู้สึกภาคภูมิใจ

เต็ดตรา แพ้ค เล็งเห็นว่า ประสบการณ์ มุมมอง และทัศนคติต่างๆ ของชาวมิลเลนเนียลซึ่งหลอมรวมเป็นลักษณะเฉพาะ ได้ สะท้อนถึงความต้องการ 6 ประการ ที่แบรนด์ต่างๆ ควรตอบสนองหากต้องการเจาะตลาดคนกลุ่มนี้

การมองเห็นและการตอบสนองความต้องการของชาวมิลเลนเนียลอย่างแท้จริง

• โลกาภิวัฒน์

ชาวมิลเลนเนียลเป็นคนรุ่นแรกของยุคโลกาภิวัฒน์ การที่พวกเขาเติบโตขึ้นในโลกที่เทคโนโลยีทำให้ระยะทางสองพันไมล์เสมือนใกล้กันเพียงระยะสองไมล์ ได้เปิดโลกทัศน์ของชาวมิลเลนเนียล พร้อมๆกับเปิดเครือข่ายใหม่ๆ ที่ทำให้ทุกคนสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างทั่วถึง โดยกว่าครึ่งหนึ่งของของชาวมิลเลนเนียลมีเพื่อนที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอื่น และร้อยละ 20 เคยใช้ชีวิตศึกษาหรือทำงานอยู่ในต่างประเทศ .

• ชีวิตที่เชื่อมต่อโลกดิจิทัล

ชาวมิลเลนเนียลเป็นประชากรรุ่นแรกที่เป็นคนยุคดิจิทัลโดยกำเนิด และเป็นผู้ก่อให้เกิดปรากฏการณ์การใช้งานสมาร์ทโฟนอย่างกว้างขวางทั่วโลก พวกเขามีการเชื่อมต่อและพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากกว่าคนรุ่นอื่นใด และส่วนใหญ่จะจดจำเรื่องราวก่อนยุคอินเทอร์เน็ตบนมือถือไม่ได้ ในปัจจุบันชาวมิลเลนเนียลมากกว่าร้อยละ 84% เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน พวกเขาเช็คความเคลื่อนไหวของข่าวสารและข้อมูลออนไลน์มากกว่า 40 ครั้งต่อวัน ชาวมิลเลนเนียลจึงมีความคาดหวังให้แบรนด์ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อออนไลน์ได้อย่างว่องไวและทั่วถึงมากพอๆ กับพวกเขา

• สังคมออนไลน์และออฟไลน์

ชาวมิลเลนเนียลชื่นชอบการเข้าสังคมเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญ พวกเขาจะพึ่งพาคนรุ่นเดียวกันเมื่อต้องการคำแนะนำและข้อเสนอแนะในการตัดสินใจเลือกซื้อสิ่งต่างๆ ชาวมิลเลนเนียลเห็นว่ากิจกรรมทางสังคมออนไลน์มีความสำคัญในการช่วยเติมเต็มชีวิตประจำวัน (โลกออฟไลน์) โดยร้อยละ 54 ของชาวมิลเลนเนียลระบุว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์ช่วยทำให้พวกเขาสร้างสัมพันธ์กับเพื่อนๆ และครอบครัวได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

• โหยหาประสบการณ์ใหม่ๆ

ชาวมิลเลนเนียลได้ชื่อว่าโลดโผนในทางความคิดกว่าคนในรุ่นก่อนๆ โดยพวกเขาจะเสาะหาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ในชีวิตประจำวันที่มีคุณค่า มีความแปลกใหม่และให้ความสนุกสนาน สิ่งบ่งชี้อย่างหนึ่งในเรื่องนี้คือ ชาวมิลเลนเนียลในสหรัฐอเมริการ้อยละ 65 บอกว่าพวกเขาสนใจลองทุกอย่างตั้งแต่ละครโอเปราไปจนถึงกีฬาปีนหน้าผา เมื่อเทียบกับความสนใจแบบเดียวกันของคนรุ่นอื่นๆซึ่งมีเพียงร้อยละ 39 นอกจากนั้น ความสนใจด้านอื่น เช่น การเดินทางท่องโลกยังช่วยเปิดโลกทัศน์ในเรื่องอาหารการกินของพวกเขาให้กว้างขึ้น สิ่งที่น่าสนใจ คือ ชาวมิลเลนเนียลต้องการซื้อหาประสบการณ์จากการบริโภค มากกว่าเพียงแค่คุณค่าของตัวผลิตภัณฑ์เอง

• ซื้อตามอารมณ์

ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งของคนรุ่นนี้คือ การใช้อารมณ์ชั่วขณะประกอบการตัดสินใจซื้อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมื้ออาหารและการซื้ออาหารตามปกติในแต่ละวัน หรือการให้รางวัลตัวเองในโอกาสพิเศษ พฤติกรรมของชาวมิลเลนเนียลในการซื้อตามอารมณ์โดยมิได้วางแผนล่วงหน้ามีแนวโน้มสูงกว่าคนรุ่นก่อนๆ นอกจากนี้พวกเขายังให้ความสำคัญเรื่องความสะดวก โดยจะเสาะหาอาหารและเครื่องดื่มที่ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก เหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตที่นับวันจะยุ่งรัดตัวมากยิ่งขึ้น โดยชาวมิลเลนเนียลร้อยละ 41 พร้อมจะจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ชีวิตของพวกเขาง่ายขึ้น

• ฉลาดซื้อ

ชาวมิลเลนเนียลเป็นผู้ซื้อที่มีความรอบรู้ สามารถแยกแยะความเหมาะสมระหว่างราคาและคุณค่าของสินค้าได้ มีความใส่ใจต่อการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี และต้องการร่วมส่งเสริมการใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรต่อ-สิ่งแวดล้อม โดยชาวมิลเลนเนียลร้อยละ 53 บอกว่าพวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น แต่พวกเขาไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร

ThinkstockPhotos-468068674-highlight

การทำความเข้าใจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของชาวมิลเลนเนียล

ผู้บริโภคชาวมิลเลนเนียลเป็นนักชิมตัวจริง โดยเกือบร้อยละ 58 ทำอาหารเพื่อความเพลิดเพลินอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และใส่ใจในการเลือกซื้ออาหาร โดยพฤติกรรมดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับคุณลักษณะเฉพาะที่นิยมความสะดวกและมักซื้อตามอารมณ์ของพวกเขา

อาหารคือการสร้างประสบการณ์

สำหรับชาวมิลเลนเนียลแล้ว อาหารคือเรื่องของการสร้างประสบการณ์และการสร้างโอกาสในการเข้าสังคม โดยร้อยละ 83 ของคนรุ่นนี้ที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาจะรับประทานอาหารร่วมกันเพื่อเป็นการพบปะสังสรรค์ และร้อยละ 75 ชอบที่จะทดลองอาหารแปลกใหม่ ชาวมิลเลนเนียลชื่นชอบเรื่องอาหารและการทำอาหาร รวมทั้งโปรดปรานการได้ลิ้มลองอาหารใหม่ๆและรสชาติต่างๆ มากกว่าคนในกลุ่มอายุอื่น โดยพวกเขาใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น มือถือและแท็บเล็ต ในการศึกษาหาข้อมูลและเลือกซื้อวัตถุดิบมากขึ้นเรื่อยๆ

กินอย่างใส่ใจต่อสุขภาพคือปัจจัยสำคัญ

แม้ว่าชาวมิลเลนเนียลจะนิยมความสุขในการบริโภค แต่โดยเนื้อแท้แล้วพวกเขาใส่ใจต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง โดยกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 51) หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทฟาสต์ฟูดส์อย่างจริงจัง และร้อยละ 63 เน้นการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ พวกเขาตระหนักถึงความสำคัญของการบริโภคอย่างถูกสุขอนามัย เช่นส่วนประกอบสำคัญต่างๆในอาหาร ความเสี่ยงต่อภาวะการขาดวิตามิน รหัสสารปรุงแต่งอาหารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ และข้อเสียของการไม่ได้รับประทานอาหารตามมื้อปกติเนื่องจากไม่มีเวลาหรือไม่หิว

กิจวัตรการกินแบบยืดหยุ่น

การบริโภคในขณะไปไหนมาไหนนอกบ้านคือวิถีชีวิตด้านหนึ่งของผู้บริโภคชาวมิลเลนเนียล พวกเขามีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารนอกสถานที่หรือในขณะเดินทางมากกว่าคนรุ่นอื่นใด คนหนุ่มสาวมีกิจวัตรการกินที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบมากนัก มีการเว้นอาหารมือหลักอยู่เป็นประจำ เช่นอาหารเช้า โดยในกลุ่มประเทศนอร์ดิกมีเพียงร้อยละ 55 ที่รับประทานอาหารเช้าตามประเพณีที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ และมีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารว่าง ระหว่างมื้อกลางวันกับมื้อเย็นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับจิตสำนึกเรื่องสุขภาพของพวกเขา โดย 1 ใน 5 (ร้อยละ 19) เห็นว่าการรับประทานอาหารว่างเป็นกลวิธีสำคัญในการควบคุมดูแลน้ำหนักของตน รวมถึงการนิยมเลือกรับประทานผลไม้และผักแทนของว่างทั้งประเภทหวานและเค็ม

เราจะเห็นว่า ข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะและพฤติกรรมการบริโภคของชาวมิลเลนเนียลที่กล่าวมา กำลังสร้างโอกาสที่แท้จริงให้กับแบรนด์ต่างๆ ในการวางแผนผลิตและเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่เอื้อความสะดวกในการบริโภค ปรากฎการณ์ที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของตลาดอาหารเช้าแบบเครื่องดื่มเชค อันมาจากการพลิกโฉมรูปแบบให้ผลิตภัณฑ์ให้สามารถพกพาได้และพร้อมรับประทานทุกที่ ทุกเวลา

แบรนด์ต่างๆ ตอบสนองรูปแบบการบริโภคของชาวมิลเลนเนียลอย่างไร?

แนวโน้มที่ชัดเจนในการตอบสนองรูปแบบการบริโภคของชาวมิลเลนเนียล คือ การตอบสนองโดยใช้นวัตกรรม และการสร้างความแตกต่าง โดยเฉพาะการเน้นนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างชนิดสำหรับต่างโอกาส เช่น อาเดส (AdeS) ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมระหว่างนมถั่วเหลืองกับน้ำผลไม้ของยูนิลีเวอร์ ประสบความสำเร็จอย่างมากในละตินอเมริกา โดยครองส่วนแบ่งการตลาดในประเทศบราซิลได้ประมาณร้อยละ 50 ของกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการเติบโตสูงร้อยละ 19 ต่อปี ยูนิลีเวอร์ผลิตอาเดสออกมาในรูปแบบที่หลากหลายทั้งในด้านขนาดและสูตรผสม เพื่อตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกัน และเมื่อไม่นานนี้ได้เปิดตัวเครื่องดื่มในขนาดแบบดื่มครั้งเดียวหมด ซึ่งบรรจุในกล่องรุ่น เต็ดตรา พริสม่า อะเซ็ปติค ดรีมแค็ป (Tetra Prisma Aseptic DreamCap) เพื่อการบริโภคนอกบ้าน โดยมุ่งเจาะกลุ่มวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวโดยเฉพาะ ส่วนงานสนับสนุนด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์มุ่งเน้นที่คุณค่าทางโปรตีนเพื่อคนรุ่นใหม่ที่มีความกระตือรือร้น ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ยูนิลีเวอร์พยายามเข้าถึง

นอกจากนี้ชาวมิลเลนเนียลยังเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬาและเครื่องดื่มให้พลังงาน ดังจะเห็นได้จากการตอบรับของผู้บริโภคต่อ น้ำมะพร้าว ให้เป็นเครื่องดื่มทางเลือกใหม่จากธรรมชาติที่คืนความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าในระหว่างหรือหลังการออกกำลังกาย และกาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาแฟเย็น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้ตอบสนองความต้องการของชาวมิลเลนเนียลในเรื่องความสะดวก ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ จิมมี่ส์ คอฟฟี่ (Jimmy’s Coffee) ในประเทศอังกฤษที่สามารถทำกำไรอย่างงดงามจากการกุมตลาดกาแฟเพื่อการบริโภคแบบพกพา ในขณะที่ในปากีสถาน เนสกาแฟ โคลด์ คอฟฟี่ (Nescafe Cold Coffee) ประสบความสำเร็จกับการสร้างตำแหน่งทางการตลาดในฐานะเครื่องดื่มทางเลือกอันทันสมัย สำหรับการสร้างความสดชื่นในฤดูร้อน รวมถึงเป็นของว่างแสนอร่อยมื้อค่ำในช่วงถือศีลอดรอมฎอนอีกด้วย

แนวโน้มเหล่านี้กำลังสร้างโอกาสใหม่ให้แบรนด์ต่างๆ ได้นำผลิตภัณฑ์แบบเดิมมานำเสนอในรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้องการ และโดนใจชาวมิลเลนเนียล

จับความสำเร็จใส่กล่องกับขนาดบริโภคแบบดื่มครั้งเดียวหมด

ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มาในขนาดบริโภคแบบแบบดื่มครั้งเดียวหมด ผู้บริโภคชาวมิลเลนเนียลจะเสาะหาคุณลักษณะหลักๆ 5 ประการด้วยกัน คือ รูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์เป็นอย่างไร จับถือได้ง่ายหรือไม่ ดื่มจากบรรจุภัณฑ์ได้ง่ายเพียงใด สามารถปิดเก็บไว้บริโภคต่อได้ไหม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด

รูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น คนเม็กซิโกรุ่นใหม่ที่เป็นชาวมิลเลนเนียลล้วนคำนึงถึงรูปร่างลักษณะมากกว่าความปลอดภัย อาทิ ความเหมาะสมในการถือและขนาดที่พอเหมาะ เช่นเดียวกับในประเทศจีน อินโดนีเซีย และบราซิล ที่มีปัจจัยสำคัญสองประการในการเลือกบรรจุภัณฑ์ คือรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ และความเหมาะสมที่จะดื่มจากบรรจุภัณฑ์โดยตรง

สิ่งที่บ่งบอกว่าชาวมิลเลนเนียลให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและน่าสนใจ คงจะไม่มีกรณีใดชัดเจนไปกว่าเรื่องราวความสำเร็จล่าสุดของ โคคา-โคลา (Coca-Cola) และ นูเทลลา (Nutella) จากการนำเสนอบรรจุภัณฑ์ในแบบเฉพาะเจาะจง (Personalised Packaging) ที่สร้างการมีส่วนร่วมของชาวมิลเลนเนียลได้ในระดับสูงสุด

สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อให้พกพาติดตัวไปนอกบ้าน แน่นอนว่าความสะดวกคือปัจจัยหลักอย่างหนึ่งในการเลือกผลิตภัณฑ์ของชาวมิลเลนเนียล สิ่งที่คนรุ่นนี้คาดหวังจากบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์คือ พกพาสะดวก ง่ายต่อการดื่ม และปิดเก็บเพื่อบริโภคได้ต่อ

– ชาวมิลเลนเนียลเสาะหาบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดพอเหมาะ ให้ความสะดวก สามารถพกพาติดตัวและบริโภคในขณะเดินทางได้ง่าย
– พวกเขาคุ้นเคยกับการดื่มจากบรรจุภัณฑ์โดยตรง ดังนั้น “การดื่มจากบรรจุภัณฑ์ได้ง่าย” จึงเป็นคุณสมบัติหลักที่พวกเขาต้องการ
– ในตลาดของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ทั่วโลก บรรจุภัณฑ์ที่มีฝาปิดเพื่อช่วยเก็บอาหารและเครื่องดื่มไว้บริโภคในครั้งต่อได้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความต้องการสูงมากกว่าการดื่มด้วยหลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่(ซึ่งเหมาะแก่การบริโภคหลายครั้ง)

ประการสุดท้าย ชาวมิลเลนเนียลทั่วโลกหันมาเลือกและยินดีจ่ายแพงกว่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พวกเขาศึกษาหาข้อมูลเพื่อยืนยันว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และคาดหวังให้แบรนด์ต่างๆ ช่วยให้พวกเขาบริโภคอย่างชาญฉลาด โดยใช้บรรจุภัณฑ์น้อยลง เหลือทิ้งน้อยลง และนำกลับมารีไซเคิลได้มากยิ่งขึ้น

ก้าวสู่ความเป็นผลิตภัณฑ์ในใจผู้บริโภคชาวมิลเลนเนียล

ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดคือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค โดยในส่วนของผู้บริโภคชาวมิลเลนเนียล เราจะเห็นได้ถึงความต้องการที่น่าสนใจและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ตั้งแต่การให้ความสนใจต่อประสบการณ์ที่ผลิตภัณฑ์จะมอบให้ ตลอดไปจนถึงแง่มุมที่ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกมีส่วนร่วมกับโลกที่เสมือนว่านับวันจะเล็กเรื่อยๆ ได้อย่างไร ทัศนคติที่ชาวมิลเลนเนียลมีต่อรูปแบบการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม เช่น การรับประทานอาหารเช้าที่เปลี่ยนแปลงไป หรือการรับประทานอาหารนอกบ้าน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งสิ้น แม้ว่าแบรนด์ต่างๆ ในหลายตลาดและหลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์จะประสบความสำเร็จมาแล้วกับอาหารเช้าในรูปแบบเครื่องดื่ม โดยเป็นการสร้างรูปแบบใหม่ให้กับผลิตภัณฑ์แบบยกกลุ่ม

ท้ายที่สุดแล้ว ตัวบรรจุภัณฑ์เองก็เป็นสิ่งที่มิอาจละเลยได้ โดยชาวมิลเลนเนียลต้องการบรรจุภัณฑ์ที่ดูดี ใช้ง่าย และเหมาะกับรูปแบบการใช้ชีวิตของพวกเขา การนำปัจจัยเหล่านี้มาใช้อย่างเหมาะสมจึงถือเป็นสิ่งสำคัญในการก้าวสู่ความสำเร็จกับผลิตภัณฑ์ที่มุ่งเจาะตลาดชาวมิลเลนเนียล

 


  •  
  •  
  •  
  •  
  •