Insight ทำไมแบรนด์ไม่ควรมองข้ามการทำโฆษณาผ่าน Sport และ E-Sport

  • 289
  •  
  •  
  •  
  •  

 

สำหรับคนที่ติดตาม วอลเลย์บอลหญิงเนชั่นส์ลีก (FIVB Volleyball Women’s Nations League) ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ ที่ประเทศอิตาลี รู้หรือไม่ว่าตามสถิติแล้วมีคนไทยจำนวนไม่น้อยเลยที่เป็นคอกีฬาวอลเลย์บอลหญิง แค่แมชต์ทีมชาติไทย-อิตาลีที่เป็นเจ้าภาพ ก็เล่นทำยอดเรตติ้งรายการที่กำลังถ่ายทอดสดทำได้ถึง 5.3 ทีเดียว ซึ่งถือว่าเรตติ้งสูงอยู่พอสมควร

จากสถิติดังกล่าว ข้อมูลของ นีลเส็น แฟน อินไซต์ (Nielsen Fan Insights) ยังมีอีกหลายข้อมูลที่น่าสนใจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจและแบรนด์ต่างๆ ที่ไม่ควรมองข้ามกับพฤติกรรมแฟนคลับกีฬาเลยแม้แต่น้อย

หากย้อนไป 12 เดือนที่ผ่านมาคนไทยที่ติดตามกีฬายังมีอยู่สูง แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 จะเบรกบรรยากาศการถ่ายทำมาสักพักใหญ่ก็ตาม แต่มีคนไทยถึง 43 ล้านคนที่ดูรายการกีฬา หรือประมาณ 84% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุด และก็มีถึง 40% (ประมาณ 20 ล้านคน) ที่ได้ไปร่วมชมการแข่งขันกีฬาแบบติดขอบสนาม

 

Credit: nielsen

 

ส่วนช่องทางการรับชมของแฟนคลับคอกีฬา 2 ช่องทางหลักๆ ที่ใช้ก็คือ Free TV และ โซเชียลมีเดีย ที่น่าสนใจก็คือ อินไซต์จากนีลเส็นยังได้ยกตัวอย่างแบรนด์ที่สามารถทำการโฆษณาระหว่างที่มีการถ่ายทอดสด เรียกว่าประสบความสำเร็จในแง่การสร้างการรับรู้ได้ดี เช่น

  • MITSUBISHI (ถ่ายทอดสด AFC U-23 Championship Thailand) ยอดเข้าถึง 9 ล้านคน
  • Coc-Cola (ถ่ายทอดสด Thai Fight) ยอดเข้าถึง 8 ล้านคน
  • Leo Soda (ถ่ายทอดสด TOYOTA Thai League) ยอดเข้าถึง 1 ล้านคน
  • Nescafe (ถ่ายทอดสด FIVB Volleyball Women’s Nations League) ยอดเข้าถึง 5 ล้านคน

 

ทั้งนี้ ในการสำรวจของ นีลเส็น ยังระบุได้ด้วยว่า คนไทยที่เป็นคอเชียร์กีฬา กีฬาประเภทไหนกันแน่ที่พวกเขาชอบดูมากที่สุด ซึ่งข้อมูลตรงนี้แบรนด์ หรือธุรกิจสามารถอัพเดทได้ เพื่อนำไปทำการตลาดหรือการทำโฆษณาครั้งต่อไปได้ โดยมีอยู่ 4 ประเภทหลักที่ดูมากที่สุด

  • ฟุตบอล 61%
  • วอลเลย์บอล 53%
  • แบตมินตัน 42%
  • มวยไทย 41%

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ทางนีลเส็นได้บอกกับเราก็คือ โดยเฉลี่ยแล้วแฟนคลับกีฬาคนไทยที่ส่วนใหญ่เป็น ‘ผู้ชาย’ พบว่า จัดอยู่ในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง (upper-income) โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล ซึ่งกีฬาที่มองว่าเป็นกลุ่มดังกล่าวนี้ชื่นชอบ คือ ฟุตบอล, วอลเลย์บอล และ แบตมินตัน

ขณะที่ Top3 ของช่องทางที่จะติดตามข่าวกีฬา หรือความเคลื่อนไหวต่างๆ ของแฟนชาวไทย ยังคงเป็น โซเชียลมีเดีย(1), รายการโทรทัศน์(2), แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่ง(3) โดยสื่อโซเชียลที่ following มากที่สุด Top5 ก็คือ

  • Facebook 93%
  • YouTube 92%
  • Instagram 66%
  • Twitter 61%
  • TikTok 55%
Credit: nielsen

 

ขณะที่หากเทียบกับกีฬาอีสปอร์ต ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในไทยด้วยเช่นกัน ที่น่าสนใจคือ กลุ่มฟนคลับอีสปอร์ตยังมีอายุเฉลี่ยเพียง 27 ปี แต่สำหรับรายได้ถือว่าเป็นกลุ่ม upper-income เช่นเดียวกัน โดยเฉลี่ยแล้วฐานรายได้จะอยู่ที่เดือนละ 45,188 บาททีเดียว (ผลสำรวจจากผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น)

การสำรวจยังพบว่า แฟนคลับอีสฟอร์ต ชอบที่จะใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์หลักเพื่อเล่นเกม และรับชมการแข่งขันมากถึง 88% ขณะที่ 1 ใน 2 นิยมเล่นเกมบน PC และมีเพียง 45% ที่ใช้เกมคอนโซล

ความบ้าคลั่งของแฟนคลับอีสปอร์ต จะเห็นได้จากระยะเวลาที่ใช้กับการเล่นเกม หรือเชียร์กีฬาอีสปอร์ต โดยพวกเขาจะใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมง/สัปดาห์ในการเล่นเกม และประมาณ 5 ชั่วโมง/สัปดาห์ในการรับชมการแข่งขันอีสปอร์ต

 

Credit: nielsen

 

ในเมื่อการเติบโตของแฟนคลับกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จะมีช่องทางไหนบ้างที่แบรนด์ หรือธุรกิจสามารถเข้าถึงพวกเข้าได้ ข้อมูลของนีลเส็น ได้สรุปช่องทางที่พวกเข้าใช้มากที่สุดไว้ที่นี่

  • YouTube 77%
  • Twitch 48%
  • Facebook 16%
  • Mmixer 12%
  • Garena 11%

 

Credit: nielsen

 

ไม่ว่าจะเป็นแฟนคลับคอกีฬาแบบอีสปอร์ต หรือกีฬาทั่วไป พูดได้เลยว่า มี 2 สิ่งที่เหมือนกันมากๆ ก็คือ พวกเขามีกำลังซื้อ และพวกเขามีมุมมองที่เป็นบวกต่อแบรนด์ที่เป็นสปอร์เซอร์กีฬา

โดยมีผู้ชมกีฬามากกว่า 60% สามารถจดจำแบรนด์ผู้สนับสนุนได้ดีขึ้น มีมุมมองเชิงบวกต่อแบรนด์ และ 65% ของผู้ชมเห็นด้วยว่าแบรนด์ผู้สนับสนุนกีฬาได้รับความสนใจจากผู้ชมมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของรายการกีฬานั้นสร้างโอกาสให้กับแบรนด์ได้ ทั้งในแง่ของการเข้าถึงและความมีส่วนร่วมกับแบรนด์ (engagement)

ทั้งนี้ นีลเส็น ยังได้สอบถามผู้ที่เป็นคอกีฬาด้วยว่า หากให้นึกถึงแบรนด์ที่มักจะเข้ามาซัพพอทการแข่งขัน เช่น กีฬาโอลิมปิก ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือน ก.ค. ที่ประเทศญี่ปุ่น มี 5 แบรนด์ที่พวกเขานึกถึงอันดับแรกๆ ก็คือ

  • Samsung 48%
  • Coca-Cola 48%
  • TOYOTA 44%
  • VISA 43%
  • Panasonic 38%

ส่วน Top 5 ของแบรนด์ที่มักจะเห็นเป็นสปอนเซอร์ในการแข่งขัน E-Sport ก็คือ

  • Samsung 56%
  • Nike 52%
  • Adidas 48%
  • Pepsi 44%
  • TOYOTA 43%

 

จากข้อมูลทั้งหมดที่หยิบมาบอกต่อกัน ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงลึกจาก นีลเส็น พูดได้เลยว่า คอเชียร์กีฬาไม่เคยหายไปไหน แม้ว่าสถานการณ์จะไม่เอื้อกับเราในบางครั้ง แต่ทุกๆ ครั้งที่กลับมาฟื้นตัวได้พวกเขาเหล่านี้ก็จะกลับมาเสมอ ดังนั้น ทั้งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในการซื้อสูง, มีความคิดเชิงบวกต่อแบรนด์ และพร้อมสนับสนุนแบรนด์เหล่านั้น

ในฐานะแบรนด์ หรือธุรกิจเองก็ตาม เราไม่ควรมองข้ามปัจจัยเหล่านี้เลย เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการเติบโตทางธุรกิจก็คือ ลูกค้าต้องจดจำเราในแง่มุมที่เป็นบวก ก่อนที่จะเกิดความภักดีต่อแบรนด์ ซึ่งในอนาคตการ advertising ผ่านกิจกรรมกีฬา หรือ อีสปอร์ตมาแรงแน่ๆ

 

 

 

ข้อมูลโดย นีลเส็น (nielsen)


  • 289
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม