สังเกตกันไหมว่าบนหน้าจอมือถือของเรา ติดตั้งแอปพลิเคชันอะไรบ้าง ? ในแต่ละวัน เปิดใช้งานแอปฯ ไหนเป็นประจำบ้าง ? จากข้อมูลพบว่าโดยเฉลี่ยคนเราเปิดใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ อย่างน้อย 9 แอปฯ ต่อวัน และ 30 แอปฯ ต่อเดือน แน่นอนว่าแอปพลิเคชันที่มีการใช้งานมากสุด ส่วนใหญ่เป็นแอปฯ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย, สื่อสาร, บันเทิง, ช้อปปิ้ง, การเงิน, การเดินทาง, ท่องเที่ยว หรือแม้แต่ Super App รวมไปถึงแอปฯ AI ต่างๆ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
นี่จึงทำให้ตลาดแอปพลิเคชันยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดย Grand View Report รายงานมูลค่าตลาดแอปพลิเคชันบนมือถือ ปี 2023 อยู่ที่ 252.89 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 14.3% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2024-2030
ในตลาดแอปพลิเคชัน เทรนด์ที่น่าจับตามองคือ การพัฒนา “Large Scale Application” หรือแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ที่พัฒนาให้สามารถรองรับฐานผู้ใช้งานและการใช้งานพร้อมกันจำนวนมาก มีปริมาณ Data และ Transaction มหาศาล!
การขยายตัวของ Large Scale Application ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก Digital Economy ทำให้ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ ยิ่งปัจจุบันโลกกำลังหมุนเข้าสู่ยุค “AI-driven World” นับวัน AI มีบทบาทแทบจะทุกส่วน ส่งผลให้เกิดปริมาณข้อมูล และการประมวลผลจำนวนมาก หลายอุตสาหกรรมจึงลงทุนพัฒนา Large-Scale Application รองรับทั้งในวันนี้และอนาคต
บทความนี้จะชวนทุกคนไปเจาะลึกนิยามและเทรนด์ “Large-Scale Application” พร้อมค้นคำตอบทำไมแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ถึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเบื้องหลังการพัฒนานั้น ต้องมี Experience Design อย่างไรให้ตอบโจทย์ทั้งฝั่งธุรกิจ และผู้ใช้งาน กับ 2 ผู้บริหารแห่ง Bluebik Group “คุณปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์” ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี และ “คุณสรณัญช์ ชูฉัตร” ประธานเจ้าหน้าที่พัฒนาประสบการณ์ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation ครบวงจร และเชี่ยวชาญในการพัฒนาแอปพลิเคชันขนาดใหญ่
สำรวจปัจจัยหนุนตลาดแอปพลิเคชัน – เศรษฐกิจดิจิทัลไทยโต
ก่อนลงลึกถึง Large-Scale Application เราอยากพาไปสำรวจภาพรวมตลาดแอปพลิเคชันในไทย พบว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นทุกปี นั่นเพราะ
1. ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยเป็น “Mobile First” – จับตา Digital Economy ไทยมีสัดส่วน 11% ของ GDP ในปี 2030
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ Digital Economy เติบโต มาจาก Internet Penetration ที่ผู้คนเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ทั่วถึง ข้อมูล We Are Social ระบุว่าอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทย สูงถึง 91.2% ของประชากรในประเทศ สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 67.9% ของประชากรโลก
ขณะเดียวกัน Bluebik ยังพบว่า 93% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทย เป็น “Mobile First” ยิ่งผลักดันให้ Digital Economy และธุรกิจดิจิทัลโตมากขึ้น ประกอบกับการลงทุนด้านดิจิทัลของภายรัฐ โดยในปี 2023 “Digital Economy” ของไทยมีสัดส่วน 6% ของ GDP ประเทศ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 11% ภายในปี 2030
2. ภาคอุตสาหกรรมทรานส์ฟอร์มสู่ “Industry 4.0”
ด้วยการนำเทคโนโลยี Robot และ IoT ต่างๆ รวมทั้ง Data มาใช้ในกระบวนการผลิตมากขึ้น
3. Digital Infrastructure ไทย รองรับการพัฒนา Large-Scale Application
– Cloud Computing: ปัจจุบันหลายองค์กรในไทยเริ่มย้ายไปยังระบบ Cloud แล้ว ประกอบกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ได้ประกาศลงทุน Data Center และ Cloud Service ในไทยก่อนหน้านี้ เป็นหนี่งในปัจจัยบวกที่ช่วยส่งเสริม Infrastructure ประเทศไทยให้แข็งแรงขึ้น
– บริษัท Telco ในไทยขยายการให้บริการ 5G ให้ครอบคลุมมากขึ้น
– รัฐบาลส่งเสริมด้านดิจิทัลในเชิงนโยบาย เช่น Cloud First Policy, โครงการ Digital Wallet
4. Tech Talent ในไทย
แม้ปัจจุบันจำนวน Tech Talent ของประเทศไทย อาจยังไม่ได้มากเหมือนกับบางประเทศที่มีการเร่งพัฒนาบุคลากรด้านนี้ แต่ในด้านคุณภาพ พบว่า Tech Talent ไทยเป็นที่ยอมรับในด้านทักษะขั้นสูง จะเห็นได้จากบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศที่มาเปิดดำเนินธุรกิจในไทย ได้จ้าง Tech Talent ไทย
สะท้อนให้เห็นว่าทักษะของ Tech Talant ไทยสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ดังนั้นหัวใจสำคัญอยู่ที่การเพิ่มจำนวน Tech Talent และพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
รู้จัก 5 องค์ประกอบการเป็น “Large Scale Application”
จากภาพรวมตลาดแอปพลิเคชันในไทยแล้ว คุณปกรณ์ เจียมสกุลทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้อธิบายหลักเกณฑ์การเป็น Large Scale Application ประกอบด้วย
1. มีการใช้งานจาก User พร้อมกันในปริมาณมหาศาล เช่น อีคอมเมิร์ซรายใหญ่, Mobile Banking
2. มีจำนวนธุรกรรมในระบบจำนวนมาก ซึ่งการนับธุรกรรม หรือ transaction ขึ้นอยู่กับประเภทของแอปพลิเคชัน อย่างแอปฯ Mobile Banking เช่น การโอนเงิน, ถอนเงิน ขณะที่แอปฯ อีคอมเมิร์ซ แค่ผู้ใช้งานเพิ่มสินค้าลงในตะกร้า/รถเข็น ก็ถือเป็น 1 ธุรกรรมแล้ว หรือแอปฯ โรงพยาบาล ผู้ใช้งานจองคิวแพทย์ นับเป็นการทำธุรกรรมเช่นกัน
3. มี Data Volume มหาศาล เช่น แอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซ, Super App, Mobile Banking มี Data ที่เกิดขึ้นต่อวันปริมาณมหาศาลในระดับ Terabyte ขึ้นไป
4. มี Integration Point หรือการเชื่อมต่อกับระบบภายนอกผ่าน API ที่กว้าง อย่างระบบ Core Banking ของธนาคารต่างๆ เป็นระบบใหญ่ที่เชื่อมต่อกับพาร์ทเนอร์ หรือในอนาคต ประเทศไทยจะมี Virtual Bank ก็จะมีการเชื่อมต่อระบบภายนอก
5. รองรับด้านการใช้งานประสิทธิภาพสูง (High Performance) ได้ตลอด 24/7 และความปลอดภัย (Security) มากกว่าแอปพลิเคชันขนาดกลาง และเล็ก ซึ่ง Large-Scale Application ต้องรองรับปริมาณข้อมูล และจำนวนธุรกรรมมหาศาลจากการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน ดังนั้นจะล่มและถูกแฮกไม่ได้ เพราะฉะนั้นการพัฒนา Large-Scale Application จึงต้องตอบโจทย์มิติ Performance และระบบ Security
“Demand การใช้ Large Scale Application มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนใช้งานดิจิทัลเพิ่มขึ้น ดังนั้นระบบต้องรองรับ Data, Transaction และการเชื่อมต่อ ยิ่งปัจจุบันโลกของเรากำลังหมุนเข้าสู่ Ai-driven World ยิ่งทำให้ AI ต้องเรียนรู้ Data เพื่อนำไปประมวลผลและต่อยอด”

เปิด 6 อุตสาหกรรมที่จะลงทุน Large Scale Application มากสุด!
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะมีการลงทุนพัฒนา Large Scale Application มากขึ้นนั้น คุณปกรณ์ ฉายภาพว่า
1. Banking & Financial Services
เป็นอุตสาหกรรมที่แต่ละธนาคารมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน Mobile Banking หลักสิบล้านรายต่อปี โดยเฉพาะการเติบโตของระบบ QR Payment และ PromptPay ทำให้การทำธุรกรรมดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอีกไม่นานนี้จะมี Virtual Bank เป็นอีกปัจจัยที่เพิ่ม traffic ธุรกรรมดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้ธนาคารต้องปรับปรุงระบบ Architecture ของแอปพลิเคชัน เพื่อรองรับธุรกรรมดิจิทัลที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้น Banking & Financial Services จึงเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่จะลงทุนใน Large Scale Application มากที่สุด
2. Retail & E-Commerce
ทุกวันนี้อีคอมเมิร์ซไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริการออนไลน์อื่นๆ เช่น On-demand App, Delivery App ซึ่งในอุตสาหกรรม Retail & E-Commerce ลงทุนระบบแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ ที่ครอบคลุมถึงการลงทุนระบบ CRM, CDP (Customer Data Platform), ระบบบริหารสินค้าคงคลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและการให้บริการลูกค้า
3. Insurance & Healthcare
ทั้งอุตสาหกรรมประกันและ Healthcare มีการพัฒนาดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง และเป็น Data Incentive Business
– ธุรกิจประกัน: ใช้ Data จากหลายแหล่ง นำมาวิเคราะห์ เพื่อใช้ในการกำหนดค่าเบี้ยประกัน และประเมินความเสี่ยง
– ธุรกิจ Healthcare: จัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย ประวัติการรักษา เพื่อการวินิจฉัยและการติดตามผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4. Telecom
ด้วยลักษณะธุรกิจเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมออนไลน์จำนวนมาก และมีฐาน Data มหาศาล รวมทั้งยังมีบริการ Value added ต่างๆ ดังนั้นผู้ให้บริการ Telco จึงต้องลงทุนพัฒนาระบบ Large Scale Application ที่สามารถรองรับการใช้งานได้อย่างเสถียรภาพ และมีประสิทธิภาพ
5. Government & Public Sector
การเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Economy ทำให้ภาครัฐต้องมีนโยบายและการดำเนินงานในทิศทาง Digital Transformation เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และยกระดับการให้บริการภาคประชาชนผ่าน E-Service Portal ต่างๆ
6. Manufacturing & Logistics
ภาคการผลิตและโลจิสติกส์ ได้นำเทคโนโลยี AI และ IoT เข้ามาใช้มากขึ้น ส่งผลให้เกิด Data หลั่งไหลเข้ามามหาศาล เช่น การผลิตสินค้าการเกษตร ต้องเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ผลผลิต และปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตต่างๆ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประมวลผล เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิตที่แม่นยำยิ่งขึ้น ดังนั้นจะเห็นการลงทุนใน Large Scale Application ของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง
“การสร้าง Large Scale Application แตกต่างจากการสร้างแอปพลิเคชันขนาดเล็ก ตรงที่ความซับซ้อนในการสร้าง ก่อนเริ่มสร้างแอปพลิเคชันต้องมี Blueprint การพัฒนาอย่างชัดเจน มี Architect Design ที่เหมาะสม เพื่อให้โครงสร้างพื้นฐานสามารถรองรับได้ ทั้งระบบออนไลน์-ออฟไลน์ การเชื่อมต่อข้อมูล–ระบบต่างๆ การป้องกันการล่ม และหากเกิดปัญหาใดก็ตาม ต้องสามารตรวจสอบและระบุจุดบกพร่องได้อย่างรวดเร็ว
ขณะที่ทีมสร้าง Large Scale Application เปรียบได้กับบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของทีมผู้พัฒนาแต่ละส่วน และมีกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ” คุณปกรณ์ ขยายความเพิ่มเติม
ทั่วโลกลงทุนใน “Experience Design” คาดมูลค่าแตะ 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
การสร้าง Large Scale Application ต้องมาพร้อมกับ “Experience Design” หรือ “UX / UI” อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการพัฒนา ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบอย่างทีม Experience Design ต้องเข้าใจองค์รวม ตั้งแต่ความเป็นองค์กรธุรกิจนั้นๆ ผู้ใช้งาน จิตวิทยาการทำงานของสมองมนุษย์ การออกแบบให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ง่าย สมูธ ไม่สะดุด เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดี
“ในอดีตแอปพลิเคชันหน้าตาคล้ายกัน ต่างกันที่สีของแบรนด์ เพราะเดิมทีบริษัทต่างๆ ไม่ได้เริ่มลงทุนการทำ UX / UI เลยเหมือนกับการใช้ template ออกแบบให้ใช้งานได้ แต่สิ่งที่หายไป คือ กลิ่นอายของบริษัทนั้นๆ แต่วันนี้ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ ดังนั้นนอกจากใช้งานได้แล้ว ต้อง “ใช้ดี” ด้วย ซึ่งการใช้ดี คือ การลงทุนใน Experience Design” คุณสรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่พัฒนาประสบการณ์ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เล่าถึงความสำคัญของ Experience Design

ข้อมูลจาก Fortune business insight ระบุในปี 2023 มูลค่าการลงทุน User Experience Design ทั่วโลกอยู่ที่ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าปี 2030 จะเพิ่มขึ้นเป็น 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ปัจจุบันทุกคนทำแอปฯ ดีอยู่แล้ว ไม่ล่ม ไม่พัง แต่มากไปกว่านั้น แอปฯ ต้องใช้งานได้ดี ใช้งานง่าย ลื่น สมูธ เข้าใจผู้ใช้งาน ทุกวันนี้ผู้บริโภคไม่ได้เปรียบเทียบประสบการณ์ในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น แต่เปรียบเทียบข้ามอุตสาหกรรม เช่น เปรียบเทียบประสบการณ์การใช้บริการแบงก์ กับร้านอาหาร เพราะฉะนั้นการแข่งขันสร้างประสบการณ์ ไม่ได้จำกัดเฉพาะในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น แต่จะข้ามอุตสาหกรรม ทำให้ทุกอุตสาหกรรมจะเกิดการลงทุนด้าน Experience Design อย่างมาก”
ตั้งเป้าเป็น “ผู้นำ Experience Design” ที่เป็นมากกว่าการออกแบบแอปฯ
Bluebik ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทีม Experience Design เพื่อรองรับการเติบโตด้านนี้ โดยตั้งเป้าหมายเป็นอันดับ 1 ด้าน Experience Design การพัฒนาแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ภายใน 2-3 ปีนับจากนี้
การจะเป็นผู้นำด้าน Experience Design “Bluebik” มองว่าต้องไม่ใช่แค่ออกแบบแอปพลิเคชัน แต่ต้อง beyond มากกว่าการออกแบบ ซึ่งปัจจุบันเทรนด์ Global Experience Design ประกอบด้วย 3 แกนหลัก และ Bluebik มุ่งไปในทิศทางดังกล่าว
1. Science-led Design: เป็นนักออกแบบสายวิทย์ ด้วยการผสานระหว่างหลักวิทยาศาสตร์ เข้าใจจิตวิทยาของระบบประสาทของมนุษย์ มีกระบวนการทดลอง ตั้งสมมติฐาน วิเคราะห์ผล และนำไปใช้ ทำให้ทุกกระบวนการสร้าง Large Scale Application เหมือนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่ A/B Testing เอาไปทดสอบกับผู้ใช้งาน แล้วดูว่าผู้ใช้งานชอบอันไหน
2. Universal Design For All: การสร้างแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ ที่มีผู้ใช้งานหลักสิบล้านคนขึ้นไป หรือร้อยล้านคน ต้องออกแบบให้ Inclusive มากที่สุด โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อทุกคนใช้งานได้ง่าย
3. Enterprise Design System: การวางระบบการออกแบบ Large Scale Application ให้มีความต่อเนื่องและรองรับการเติบโต เช่น Layout ของแอปฯ, การออกแบบปุ่มกด, ความลื่นไหลในการใช้งานได้ไม่สะดุด เนื่องจากแอปพลิเคชันขนาดใหญ่มีหลายฟังก์ชัน และต้องสามารถ integrate เข้ากับพาร์ทเนอร์ข้างนอกได้
“เราเชื่อว่าการออกแบบ Experience Design ไม่ใช่ One Size Fit All อีกต่อไปแล้ว เราไม่เอาดีไซน์ของลูกค้า (องค์กร) รายหนึ่ง ไปปรับให้กับลูกค้าอีกราย ผมบอกกับทีมเสมอว่าเราห้ามทำงานแบบนั้น เพราะเราเหมือนช่างตัดสูท ไม่ใช่ร้านขายสูท เราต้องรู้ความต้องการของลูกค้าแต่ละราย เพราะฉะนั้นการเข้าใจลูกค้า แล้วสร้างอัตลักษณ์ให้กับลูกค้า คือ สิ่งที่ผู้นำด้าน Experience Design ต้องให้ความสำคัญ”
ดังนั้น Experience Design ของแอปพลิเคชันที่ Bluebik พัฒนาขึ้นต้องอยู่บน 3 แกนคือ
– Accessibility-first: ตั้งเป้าว่า 95% ของคนทั้งประเทศใช้งานแอปพลิเคชันได้
– Localization-ready: เนื่องจาก Bluebik มีสำนักงานในหลายประเทศ ในการออกแบบแอปพลิเคชันขนาดใหญ่จึงต้องทำความเข้าใจคน Local
– Continuous evolution: การออกแบบต้องสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องเสมอ
“การสร้างแอปพลิเคชันก็เหมือน canvas อันหนึ่ง สิ่งที่เราใส่เข้าไปคือ Experience is the art ด้วยการมองเห็นภาพรวมว่าแอปฯ ที่เราพัฒนาขึ้น เชื่อมต่อกับอะไรมากมาย และเข้าใจความเชื่อมโยงของภาพรวมทั้งหมด (Think Ecosystem Intelligence) ดังนั้นดีไซเนอร์ นอกจากออกแบบสวยแล้ว ต้องมีความเข้าใจด้านธุรกิจ การเงิน ผู้บริโภคหรือผู้ใช้งาน
ขณะเดียวกันการออกแบบแอปพลิเคชันต้องมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้เร็ว (Adapt Resilient Architecture) เช่น โลกเปลี่ยนไปข้ามคืน พรุ่งนี้เราต้องไปรอตรงจุดนั้นแล้ว และต้องสร้าง Feel Emotional Engineering คือการประสบการณ์แต่ละจุด แม้แต่ในจุดเล็กๆ ที่อาจไม่มีใครรู้ หรือเห็น แต่เมื่อวันหนึ่งที่เขาเห็น จะรู้สึกว้าว หรือประทับใจยิ่งขึ้น เช่น เปิดแอปฯ เห็นข้อความทักทาย เป็นการสร้าง Emotional feeling กับผู้ใช้แอปฯ”
จับตาอนาคต “Large Scale Application”
ในช่วงท้ายของการพูดคุยครั้งนี้ คุณปกรณ์ ได้ฉายภาพถึงอนาคตของ Large Scale Application ไว้อย่างน่าสนใจในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ระดับโลก จะเห็นการเกิดขึ้นของแอปพลิเคชันขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจต่างๆ ทรานส์ฟอร์มจาก Brick-and-mortar มาสู่ออนไลน์ ขณะเดียวกันบริการต่างๆ จะอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งการคัดสรรบริการ การสั่งงานบางอย่างได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ อีกมากมายบนโลกดิจิทัล
อีกหนึ่งเทรนด์ที่ทำให้ Large Scale Application ต้องพัฒนา คือ การเพิ่มขึ้นของ Smart Devices ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนที่ปัจจุบันถือว่าเป็น Personal computer พกพาไปไหน, Smart ring หรือ intelligence ring, อุปกรณ์ AR – VR จะเป็น Consumer gadget ที่ราคาถูกลงเรื่อยๆ ทำให้แอปพลิเคชันต้องเชื่อมต่อ และดึง Data จากอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้แอปพลิเคชันต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับปริมาณ Data และ Transaction จำนวนมหาศาล
นอกจากนี้แอปพลิเคชันจะผสานเข้ากับ AI ที่จะมีบทบาทในการจัดสรร Data และการจัดการ Transaction นั่นหมายความว่าการพัฒนาแอปพลิเคชันก็ต้องออกแบบให้สามารถรองรับ AI เช่นกัน
รวมทั้งด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การออกแบบระบบ เพื่อป้องกันภัยทางไซเบอร์ เป็นอีกปัจจัยในการพัฒนา Large Scale Application ต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ด้าน Experience Design ต้องสามารถสร้างประสบการณ์และความสนใจเฉพาะบุคคลได้ เนื่องจากทุกวันนี้เป็นยุค Segment of One ผู้บริโภคยุคนี้ต้องการบริการเฉพาะของตัวเอง ดังนั้นการออกแบบประสบการณ์การใช้งานแอปพลิเคชัน จึงต้องยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนตามความสนใจ หรือการใช้งานของแต่ละคน
ไม่เพียงเท่านี้ในฝั่งภาคการผลิต Industry 4.0 และการพัฒนาสู่ Smart City เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดแอปพลิคเคชันขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น
“ต่อไปแอปพลิเคชันขนาดใหญ่จะขยายให้ใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันแอปพลิเคชันขนาดเล็ก ก็จะพัฒนากลายแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ เพื่อรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ทำให้ Large Scale Application มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับบริการดิจิทัล และในช่วง 1-2 ปีนี้เราจะเห็นการนำ AI มาผสานเข้ากับ Large Scale Application มากขึ้น” คุณปกรณ์ สรุปทิ้งท้ายถึงแนวโน้มการพัฒนา Large Scale Application
Source: Grand View Research, TechCrunch