เทคโนโลยี E-Mobility อุตสาหกรรมสำคัญแก้ปัญหา Climate Change กับ 6 โอกาสทางธุรกิจสู่ความยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

เรารู้กันดีว่าเทคโนโลยี E-Mobility หรือการเดินทางขนส่งด้วยพลังงานไฟฟ้านั้นกำลังเติบโตขึ้นไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่รวมถึงระดับภูมิภาคอาเซียน สาเหตุเพราะปัญหา climate change ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นทำให้รัฐบาลต้องเริ่มออกนโยบายต่างๆเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด คำถามก็คือแล้วสถานะของเทคโนโลยี E-Mobility ในไทยรวมถึงในภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างไรและมีโอกาสทางธุรกิจอะไรรออยู่บ้าง

คำตอบที่น่าสนใจอยู่บนเวทีเสวนาที่ชื่อว่า “How E-Mobility Tech Drives Sustainability in Southeast Asia?” ที่จัดขึ้นในงาน Techsauce Global Summit 2023 โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี E-Mobility ในภูมิภาคอาเซียนมาร่วมพูดคุยหลายคนไม่ว่าจะเป็น

    • Hanh Le ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Empacte บริษัทที่ปรึกษาด้านความยั่งยืน
    • Martin Knoss ตัวแทนจาก Bosch Automotive Technologies บริษัทเทคโนโลยีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
    • Willson Khoo ผู้อำนวยการ Co-Pace บริษัทสตาร์ตอัพภายใต้บริษัท Continental บริษัทยางยักษ์ใหญ่ของโลก
    • กฤษดา กฤตยากีรณ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท MUVMI บริการตุ๊กๆไฟฟ้าของไทยร่วมให้ความคิดเห็น

E-Mobility อาวุธหลักต่อสู้ Climate Change

คุณ Hanh Le เล่าถึงสาเหตุที่เทคโนโลยี E-Mobility กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมที่จะใช้ในการสร้างความยั่งยืนไปพร้อมๆกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้เพราะว่า “การคมนาคม” เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคนี้ แต่อุตสาหกรรมคมนาคมและยานยนต์เองก็เป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพราะกว่า 90% ของการคมนาคมนั้นพึ่งพาน้ำมัน และภาคคมนาคมขนส่งจะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปี 2040 นั่นจึงเป็นเหตุผลให้หลายๆรัฐบาลมีนโยบายอุดหนุนอุตสาหกรรมในส่วนนี้กันอย่างจริงจัง

E-Mobility ในอาเซียนแม้มาช้าแต่ก็มาแล้ว

คุณ Martin Knoss ระบุว่าอุตสาหกรรม E-Mobility ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทยนั้นถือว่ายังคงเป็นผู้ตาม โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับผู้นำอย่าง “ยุโรป” หรือ “จีน” ที่พัฒนาไปไกลและเดินหน้าสู่การเป็นภูมิภาคที่ยั่งยืน อย่างไรก็ตาม ในเอเชียตะวันออกเฉียใต้ก็ถือว่าเริ่มต้นได้ดี ในไทยเองมีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าล้วนจดทะเบียนแล้ว 10% ของสัดส่วนรถยนต์ทั้งหมด ในขณะที่สิงคโปร์ มีโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จมากถึง 1 จุดต่อรถไฟฟ้า 1.6 คัน

ในขณะที่คุณ Wilson Khoo ระบุว่าในภูมิภาคโดยเฉพาะสิงคโปร์ หรือมาเลเซียเอง ก็มีความริเริ่มในเรื่องนี้แล้วมากมายเช่นเดียวกับหลายๆประเทศในภูมิภาค และสิ่งสำคัญมากๆที่ได้เห็นก็คือการยกระดับความคิดของคนในภูมิภาคนี้ที่เปลี่ยนไปและเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นโยบายด้านความยั่งยืนต่างๆที่จะมาจากภาครัฐประสบความสำเร็จ

ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน

คุณกฤษดา CEO จาก MUVMI ผู้ให้บริการรถตุ๊กๆไฟฟ้าที่ปัจจุบันมีบริการอยู่ถึง 500 คันให้บริการไปแล้วมากกว่า 6 ล้านเที่ยว มีบริการแชร์เส้นทางร่วมกับคนอื่นๆที่ปัจจุบันมีสัดส่วน 30-40% ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านสำคัญจากเดิมที่ไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนนต์สันดับจากประเทศญี่ปุ่น ไปสู่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน และการเปลี่ยนผ่านนี้จำเป็นต้องได้รับความใส่ใจจากภาครัฐให้เดินไปในเส้นทางที่ถูกต้องนอกจากนี้คุณกฤษดายังเน้นย้ำว่าหากพูดถึง E-Mobility แล้วจะมองเพียงแค่รถยนต์ EV ไม่ได้แต่ต้องมองถึงการคมนาคมสาธารณะที่ใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยที่นอกจากจะช่วยให้อากาศสะอาดขึ้นแล้วยังประหยัดเงินในกระเป๋าผู้คนได้มากกว่า

แหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้าก็ต้องยั่งยืน

คุณ Hanh ชี้ให้เห็นในประเด็นเรื่องของแหล่งที่มาของพลังงานไฟฟ้าที่ก็เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยี E-Mobility นั้นมีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริงจะต้องยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ส่วนพลังงานที่จะนำมาใช้ได้ในภูมิภาคนี้ก็คือพลังงานแสงอาทิตย์ รวมไปถึงพลังงานจาก Biomass และพลังงานลมเป็นต้น

ด้านคุณ Martin Knoss เองชี้ให้เห็นว่าในประเทศไทยพลังงานไฟฟ้า 85% นั้นถูกผลิตขึ้นด้วยพลังงานจากฟอสซิลตัวการสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่หากขับรถไฟฟ้าในอินโดนีเซีย เป็นการขับด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน 100% เลยทีเดียว E-Mobility ลักษณะนี้อาจเรียกได้ว่าการเปลี่ยนการปล่อย Co2 จากท่อไอเสียไปสู่ปล่องโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ก็ยังมีข้อดีที่ช่วยลดมลพิษในเมืองออกไปได้

ด้านคุณกฤษดา มองในมุมที่ว่าแม้ประเทศไทยจะมีพลังงานไฟฟ้า 85% ที่เป็นพลังงานที่ไม่สะอาดแต่การเดินทางด้วยพลังงานไฟฟ้ายังมีข้อดีในเรื่องของการควบคุมมลพิษที่โรงงานไฟฟ้าที่ง่ายกว่าการควบคุมมลพิษจากปลายท่อไอเสียรถยนต์บนท้องถนน และเชื่อว่าในอนาคตพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยจะมาจากพลังงานสะอาดมากขึ้นเรื่อยๆ

โอกาสทางธุรกิจในสาย E-Mobility

จากสถานะของ E-Mobility ในปัจจุบันนับจากนี้จะมีโอกาสทางธุรกิจที่จะทำให้คนที่มองเห็นโอกาสให้สามารถสร้างเป็นสตาร์ทอัพขึ้นมาได้เพื่อรองรับอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในอนาคตซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาได้สรุปถึงโอกาสต่างๆดังต่อไปนี้

  1. “Software” เป็นหนึ่งในโอกาสทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกรูปแบบ เนื่องจากซอฟท์แวร์เป็นสิ่งสำคัญใน Ecosystem ของอุตสาหกรรมนี้ไม่ว่าจะเป็น Charging Software ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านที่จะพัฒนาให้ผู้ใช้งานใช้ได้ง่ายขึ้น
  2. “Digital Twins” เทคโนโลยีที่สามารถนำมาใช้มอนิเตอร์สภาพแบตเตอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการสร้างโมเดลแบตเตอรี่อัพขึ้นสู่คลาวด์ทำงานร่วมกับ AI สร้างขึ้นเป็น digital twin ที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น
  3. “Green Energy” โอกาสทางธุรกิจด้านพลังงานสะอาดที่จะมาสร้างเป็นพลังงานไฟฟ้าป้อนให้กับยานยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่างๆเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างแท้จริง
  4. “Carbon Financing” เป็นโอกาสการสร้างรายได้รูปแบบใหม่สำหรับธุรกิจที่สามารถลดคาร์บอนได้อย่างเป็นรูปธรรมด้วย Carbon Credit ยกตัวอย่างเช่น Tesla ที่สามารถสร้างรายได้จากการลดคาร์บอนได้มากถึง 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในภูมิภาคนี้รวมถึงในไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบและมาาตรฐานขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตามโมเดลธุรกิจเองก็ต้องชัดเจนในตัวเองไม่ใช่สร้างขึ้นมาเพื่อหารายได้จาก Carbon Financing โดยเฉพาะ
  5. “Battery Recycling” หนึ่งในคำถามสำคัญของอุตสาหกรรม E-Mobiltiy ก็คือปัญหาชิ้นส่วนแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพที่จำเป็นต้องมีการรีไซเคิล ด้านคุณกฤษดา มองว่าเรื่องนี้เป็นโอกาสทางธุรกิจเนื่องจากชิ้นส่วนหลายชิ้น รวมไปถึงแร่ต่างๆในแบตเตอรี่นั้นสามารถรีไซเคิลและนำมาใช้ใหม่ได้ และโอกาสที่ว่านี้แสดงให้เห็นผ่านอดีต CTO ของ Tesla ที่ออกไปตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการรีไซเคิลแบตเตอรี่แล้ว
  6. “Public Transport” เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ยานยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าไปทำได้เช่นเดียวกับ MUVMI เนื่องจาก E-Mobility ไม่ได้หมายถึงแค่รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น แต่หมายถึงการคมนาคมขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าด้วยที่จะสามารถช่วยให้อากาศสะอาดและเกิดความยั่งยืนได้

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE