[HOW-TO] ใช้ “ดิสคอร์ด” – “Discord” อย่างไรให้ตามคนรุ่นใหม่ทัน

  • 1.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ไฮไลท์
  • ปัจจุบันเติบโตอย่างมหาศาล เป็นมากกว่าแค่แอปพลิเคชันสำหรับกลุ่มเล่นเกม
  • กลุ่มที่ชอบใช้จะมีตั้งแต่ กลุ่มนักเรียนสำหรับ Study group กลุ่มนักพัฒนาโปรแกรม กลุ่มนักเทรดคริปโต กลุ่มโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล (โดยเฉพาะ NFT)
  • เริ่มมีหลายบริษัทและองค์กรระดับโลกนำมาใช้สำหรับ “workplace community” หรือคอมมิวนิตี้สำหรับที่ทำงาน ด้วยฟังค์ชั่นและดีไซน์ที่ดี ที่ไม่เอ่ยไม่ได้คือ “ฟรี” (ของฟรีและดีมีในโลก)
  • เหมาะสำหรับที่ทำงานระบบ Hybrid (ผสม Work from home และเข้าออฟฟิส) เพราะทำงานร่วมเป็นทีมได้รวดเร็วและมีความต่อเนื่อง
  • เป็นที่ชื่นชอบในหมู่ Gen Z ไปจนถึง Millennials ดังนั้นหากอยากตามกลุ่มนี้ให้ทัน ควรรู้จักวิธีใช้ดิสคอร์ดเอาไว้

 

จุดเริ่มต้นจากการสร้างมิตรภาพ

จุดเริ่มต้นของแอปพลิเคชันดิสคอร์ด เกิดขึ้นจากชายสองคนชื่อ Jason และ Stan ที่ชื่นชอบการเล่นเกมส์ออนไลน์เป็นชีวิตจิตใจ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการเล่นเกม…

คือมิตรภาพที่ได้มาระหว่างนั้น

พวกเขาทั้งสองมักจะชอบพูดคุยกันด้วยเสียงเวลาเล่นเกมออนไลน์ ภายหลังพอกลุ่มเริ่มขยายใหญ่ขึ้น ก็เริ่มรู้สึกว่านอกจากการเล่นเกม พวกเขาทั้งกลุ่มอยาก “คาสายโทรทิ้งไว้” จะได้เอาไว้ใช้พูดคุยกันตลอดเวลา ทว่าในอดีตมีเพียงสองโปรแกรมที่สามารถช่วยเหลือพวกเขาได้ คือ TeamSpeak และ Skype แต่ทั้ง Jason และ Stan ไม่เคยชอบสองโปรแกรมนี้เลย เพราะทั้งเชื่อมต่อช้าและใช้งานยุ่งยาก จึงทำให้ทั้งสองคิดว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างกับปัญหาเหล่านั้น

ภายในปี ค.ศ. 2015 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโปรแกรมที่เรียกว่า Discord (ดิสคอร์ด) ตัวโปรแกรมได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าร่วมหลายคอมมิวนิตี้ (หรือภาษาทางการคือ “เซิร์ฟเวอร์”) โดยหัวใจของดิสคอร์ดอยู่ที่การใช้งานแบบเรียบง่าย คือ สามารถกระโดดไปมาระหว่างคอมมิวนิตี้และ “ห้อง” ภายในนั้นได้เลย  อีกทั้งยังสามารถพิมพ์แชทพูดคุย หรือวีดีโอคอลได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และมีคุณภาพ

 

มากกว่าแค่แอปพลิเคชันสำหรับกลุ่มเล่นเกม

ปัจจุบันดิสคอร์ดเติบโตอย่างมหาศาล และยังคงเป็นจุดศูนย์กลางของเหล่าเกมเมอร์ทั่วโลก แต่การเติบโตนี้ก็ยังมีกลุ่มอื่นหลากหลาย หันมาใช้งาน เช่น กลุ่มนักเรียนที่รวมตัวกันเพื่อสร้าง Study group กลุ่มนักพัฒนาโปรแกรม กลุ่มนักเทรดคริปโต โปรเจกต์ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะในด้าน NFT ที่ถึงกับเป็นที่กล่าวขานว่า หากอยากรู้จักโปรเจกต์ NFT หรือการทำโปรเจกต์แล้วต้องการโปรโมต ต้องมาเริ่มต้นจากดิสคอร์ด รวมถึงแบรนด์ดังต่างๆ เข้ามาร่วมเปิดคอมมิวนิตี้ด้วย อย่าง Spotify หรือแบรนด์หรูเช่น Gucci  ก็ขอร่วมแจมด้วยคน

บทความนี้อยากถ่ายทอดวิธีเล่นดิสคอร์ดในเบื้องต้น(โดยเน้นการเล่นบนมือถือเป็นหลัก) เพื่อจะได้สร้างความสนุกสนานและเพลิดเพลินให้แก่ผู้ใช้งาน สร้างประสิทธิภาพให้สำหรับที่ทำงานหรือสร้างคอมมิวนิตี้อันอบอุ่น และท้ายสุดคือ สร้างเส้นแบ่งบางๆ ไม่ให้รู้สึกว่าแอปที่ใช้แชทกันบ่อยๆ กลายเป็นที่เอาไว้ใช้ทั้งสำหรับส่วนตัวและเรื่องงานจนส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน

ทาง Marketing Oops! จึงอยากนำเสนอการเล่นดิสคอร์ดอย่างไรให้สนุกสนาน ผ่าน “คอมมิวนิตี้จำลอง” ในดิสคอร์ดที่สร้างขึ้นมาสำหรับบทความนี้เฉพาะ โดยจะใช้ชื่อว่า “คนน่ารักแห่ง Oops Network”

 

วิธีสมัคร

1. เมื่อดาวน์โหลดแอปลงในมือถือแล้ว (หรือผ่านเว็บหากใช้คอมพิวเตอร์) ให้กด “สมัคร” โดยเลือกใช้เบอร์โทรศัพท์หรืออีเมล์ได้เลยตามใจชอบ (ทางเราเลือกใช้อีเมล)

2. ข้อแรกที่เราอยากแนะนำเพื่อให้เล่น “ตามทันคนรุ่นใหม่” คือ ให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เต็มที่กับชื่อผู้ใช้ (สามารถเปลี่ยนที่หลังได้) พอกดปุ่ม “ถัดไป” จะเจอหน้า วัน เดือน ปี เกิด ให้ใส่ข้อมูลตามความจริง! (ไม่แอ๊บเด็กกันนะ) แล้วจบด้วยปุ่ม “สร้างบัญชีผู้ใช้ใหม่”

3. เมื่อกดแล้ว อาจมีหน้าต่างแบบนี้ขึ้นมา (ทางดิสคอร์ดทำไว้เพื่อป้องกันการสแปมสร้างบัญชี) เมื่อเลือกครบตามคำสั่งแล้ว ให้กด “ตรวจสอบ”

4. หากตรวจสอบผ่านแล้ว จะเจอหน้าเลือกรูปโปรไฟล์ อันนี้ก็แล้วแต่ว่าใครอยากจะใช้อะไร (สามารถเปลี่ยนทีหลังได้) ซึ่งหน้าถัดจากเลือกรูปโปรไฟล์ จะเป็นฟังค์ชั่นที่ช่วยให้ดิสคอร์ดสามารถค้นหาเพื่อนทุกคนผ่านทางอีเมล์หรือเบอร์ที่ใช้สมัคร ทางเราแนะนำว่าให้กดติ๊กออกหากไม่อยากให้ดูวุ่นวายและมีความส่วนตัว

5. ขั้นตอนสุดท้ายของการสมัคร ให้กดที่ “เข้าร่วมเพื่อนบน Discord”

 

 

วิธีการเข้าร่วมคอมมิวนิตี้

1. เมื่อกด “เข้าร่วมเพื่อนบน Discord” แล้ว จะเจอกับหน้านี้ ในกรณีคอมมิวนิตี้ส่วนตัวเฉพาะของบริษัท ต้องให้ผู้สร้างคอมมิวนิตี้ส่ง “ลิ้งค์เชิญ” มาให้เท่านั้น

2. เมื่อใส่ลิ้งค์ลงในช่องและกด “เข้าร่วมเซิฟเวอร์” จะมีข้อความขึ้น ให้กดที่ “ตอบรับการเชิญชวน”

3. หลังจากกดรับแล้ว จะมาอยู่ใน “ห้อง” แรกของคอมมิวนิตี้นั้นๆ โดยปกติแล้วห้องแรกมักจะเป็นห้องที่พูดถึง “กฎระเบียบ” ของคอมมิวนิตี้ (จากที่กล่าวไปข้างต้น ทางเราได้สร้างคอมมิวนิตี้จำลองไว้ก่อนหน้านี้ เพื่อความสะดวกในการอธิบาย)

 

วิธีการเล่น

1. หากกดตรงไอค่อนรูปคนตรงมุมขวาบน จะมีหน้าต่างข้อมูลของสมาชิกภายในคอมมิวนิตี้โผล่ขึ้นมา ซึ่งมีการแบ่งเป็นสองแบบ คือ แบ่งตามใครออนไลน์หรือออฟไลน์ กับแบ่งตาม “บทบาท” ยกตัวอย่างจากในรูป จะเห็นว่าเราแบ่งตามบทบาท คือ “น่ารักสุดใน OOPS!” เป็นบทบาทของสมาชิกที่ใช้ชื่อเล่นว่า ไม่น่ารักแต่รักจิงจิง อาจเป็นตำแหน่งของเจ้าของหรือผู้ดูแลระบบ ที่คุมทุกอย่างๆ ในคอมมิวนิตี้ และอีกบทบาท “WRITER ผู้น่ารัก” เป็นบทบาทของสมาชิกอีกคน ที่ใช้ชื่อเล่นว่า ไม่ชอบปลาทู ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนักเขียนบทความในบริษัท

2. หากวันไหนตื่นมาแล้วรู้สึกอินดี้อยากเปลี่ยนชื่อเล่น ก็สามารถกดเข้าไปที่ชื่อของเรา ตามด้วยกดที่ “แก้ไขโปรไฟล์เซิร์ฟเวอร์” จะปรากฏหน้าข้อความให้เปลี่ยนชื่อเล่นใหม่ (ทางเราไม่แนะนำให้เปลี่ยนบ่อย เพราะอาจสร้างความสับสนให้กับคนอื่นๆ ในคอมมิวนิตี้)

3. ถ้ากดที่ไอค่อนสามขีดตรงมุมซ้ายบน จะเป็นรายชื่อ “ห้อง” ทั้งหมดในคอมมิวนิตี้ ยกตัวอย่างจากในรูป จะแบ่งออกเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่ WELCOME, LETS CHAT, KPI, LETS TALK, ALL FILES นอกจากนี้เราอาจจะสังเกตเห็น 5 ไอค่อนด้านล่าง ได้แก่ ไอค่อนรูปดิสคอร์ด ไอค่อนคนโบกมือ ไอค่อนแว่นขยาย ไอค่อน @ และโปรไฟล์ของเรา
ไอค่อนรูปดิสคอร์ด = เปรียบเสมือน “โฮมเพจ”
ไอค่อนคนโบกมือ = ไว้ดูรายชื่อและแอ้ดเพื่อน ถ้ากดไอค่อนนี้แล้ว ให้สังเกตรูปไอค่อนคนและสัญลักษณ์ + ตรงมุมขวาบน จะโผล่หน้าจอให้สามารถแอ้ดเพื่อนได้โดยการใส่ “ยูสเซอร์เนม” (ชื่อผู้ใช้#เลข)
ไอค่อนแว่นขยาย = ค้นหาช่องหรือข้อความส่วนตัว
ไอค่อน @ = สำหรับเวลามีคนแท็กเราในข้อความ หรือแท็กทุกคน

4. แต่ละหมวดจะแบ่งตามเนื้อหา เช่น WELCOME เอาไว้พูดถึงกฎระเบียบและประกาศบริษัท หรือห้อง LETS CHAT เอาไว้พูดคุย หากสังเกตจะเห็น “ห้อง” ย่อย โดยแบ่งตามแผนกงานในบริษัทหรือตาม “หัวข้อ” ที่กำหนด เช่น #ห้องรวมคนน่ารัก เป็นห้องเอาไว้ทั้งบริษัทคุยเกี่ยวกับงาน ห้อง #marketingoopsผู้น่ารัก เป็นห้องเอาไว้คุยสำหรับพนักงานที่เขียนบทความบน Marketing Oops! ส่วน #ห้องเพ้อเจ้อ เป็นห้องเอาไว้ให้พนักงานมาเม้ามอยอะไรก็ได้ (แต่ตั้งอยู่บนกฎระเบียบ) หมวดหมู่และห้องย่อยต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการครีเอท ก็คงขึ้นอยู่กับคอมมิวนิตี้นั้นๆ อีกทีว่าจะออกมาในรูปแบบไหน

5. หากต้องการตอบกลับข้อความ ให้กดค้างที่ประโยคของสมาชิกที่เราจะตอบ จะเห็นหน้าต่างแบบนี้

ถ้ากด “ตอบกลับ” :

ถ้ากด “สร้างเธรด”: จะเป็นเหมือนการสร้าง “กระทู้” ย่อยเพื่อเอาไว้ใช้พูดคุยต่อจากประเด็นนั้นๆ (แนะนำว่าอย่าสร้างเธรดบ่อย โดยเฉพาะในห้องที่เกี่ยวกับงาน เพราะอาจจะล้นห้องจนดูรก ดังนั้นให้สร้างเฉพาะที่คิดว่าสำคัญจริงๆ)

6. บางคอมมิวนิตี้อาจมีห้องเฉพาะ เอาไว้เน้นแชร์ไฟล์ เช่นตัวอย่างของเรา จะมี #รวมไฟล์สำคัญ ส่วนวิธีการอัพโหลด ให้เลือกไฟล์จากมือถือและแชร์ตรงมาลงที่ห้องได้เลย (หากต้องการอัพโหลดเพียงแค่รูป ให้กดตรงไอค่อน + ตรงซ้ายล่าง)

7. ห้องอีกรูปแบบก็คือ ห้องเฉพาะพูดคุยด้วยเสียงหรือวีดีโอคอล (สามารถเข้ามาในห้องได้เลย) ยกตัวอย่างจากในรูป จะอยู่ในหมวด LETS TALK ซึ่งพอกดแล้วจะมาเจอหน้าให้เราเลือก “เข้าร่วมการใช้เสียง” หรือเลือก “เข้าร่วมแบบปิดเสียง”

8. หลังจากเข้ามาแล้ว จะมีตัวเลือกเป็นไอค่อนสำหรับเปิดหรือปิดกล้อง ไอค่อนเปิดแบบ speaker และไอค่อนเปิดหรือปิดเสียง และไอค่อนวางสาย

 

ประโยชน์ของการใช้ดิสคอร์ด

ทั้งหมดนี้คือการใช้งานดิสคอร์ดขั้นพื้นฐาน ใครที่ยังไม่ชินแน่นอนว่าช่วงแรกอาจมีงงบ้างนิดหน่อย แต่โดยธรรมชาติของดิสคอร์ดนั้นถูกออกแบบมาให้ใช้ง่ายและเรียนรู้ได้ไวอยู่แล้ว ดังนั้นต้องขอบอกเลยว่า หากใช้เป็นเมื่อไหร่ จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะรูปแบบ Hybrid หรือ Work from home จะเป็นแอปที่มีประโยชน์อย่างมาก เพราะสามารถทำงานร่วมกับทีมได้รวดเร็วและมีความต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับรูปแบบการทำงานที่ได้กล่าวไป และที่ดีที่สุด น่าจะเป็นในเรื่องของค่าใช้จ่าย เพราะแทบจะไม่มีเลย นอกจากจะอยากได้สติกเกอร์กวนๆ เอาไว้แชตเล่น (จะต้องซื้อระบบ nitro บนดิสคอร์ด)

นอกจากจะมีประโยชน์อย่างมากต่อที่ทำงานในเชิงคอมมิวนิตี้แล้ว หากใครมาสายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะ NFT จากที่ได้กล่าวไปในช่วงต้นๆ ของบทความ ดิสคอร์ดเป็น “นัมเบอร์ 1” สำหรับโปรเจกต์ที่เกี่ยวกับ NFT ไม่มีใครรู้จริงๆ ว่าเบื้องลึกของการเติบโต NFT และดิสคอร์ดเป็นมาอย่างไร แต่ทุกๆ NFT โปรเจกต์จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าทั้งสองมาคู่กัน อาจจะเป็นเพราะด้วยดีไซน์และฟังค์ชั่นต่างๆ ของดิสคอร์ด และภายในคอมมิวนิตี้ NFT ที่มีผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่ ศิลปิน นักพัฒนาโปรแกรม ไปจนถึง นักลงทุน เลยทำให้ดิสคอร์ดตอบโจทย์คอมมิวนิตี้ที่มาพร้อม NFT

ปัจจุบันในเมืองไทยกระแสของดิสคอร์ดยังคงเป็นคลื่นใต้น้ำที่ไม่ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในมุมของ “workplace community” หรือในเชิงคอมมิวนิตี้สำหรับที่ทำงาน แต่จากที่ได้กล่าวไปนั้น ด้วยดีไซน์และฟังค์ชั่นการใช้งาน ในอนาคตอันใกล้นี้ที่จะมีรูปแบบ Hybrid หรือ Work from home มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากกระแสการเรียกร้องของกลุ่ม Gen Z ไปจนถึง Millennials ดังนั้นการเริ่มทำความคุ้นเคยกับดิสคอร์ดจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่บริษัทหรือองค์กรไม่ควรมองข้าม หากอยากตาม “คนรุ่นใหม่” ให้ทัน

 

อ้างอิง:
Discord.com
Protocol.com
hp.com
Cyberscrilla.com

 


  • 1.5K
  •  
  •  
  •  
  •  
sailwithme
Postera crescam laude