ครีเอทีฟยังไง ครีเอทีฟอย่างไร ทำไมต้องเริ่มด้วย DIY Culture

  • 35
  •  
  •  
  •  
  •  

หลายคนคงลืมไปแล้วว่าประเทศไทยเราก็มีวันนักประดิษฐ์แห่งชาติ

วันนักประดิษฐ์ จะตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงประดิษฐ์ “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอยน้ำ” หรือ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” และทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536

นอกจากเป็นการเทิดพระเกียรติแล้ว ยังเป็นวันที่ระลึกถึงวันประวัติศาสตร์ของการจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงคิดค้นสิ่งที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ปัญหาและรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นแบบฉบับให้นักประดิษฐ์ไทยได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท สร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

ความจริงแล้ว ในอดีต บ้านเราก็มีการจัดงานในลักษณะโชว์ผลงานของนักประดิษฐ์ทั้งหลาย เช่นงาน Inventor Day หรืองานวันนักประดิษฐ์ นัยยะก็ไม่แตกต่างจาก Maker Faire เท่าไหร่นัก แต่การโปรโมทงานในอดีต อาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง และแวดวงนักประดิษฐ์ก็ยังเป็นคนกลุ่มจำกัด

Maker culture หรือวัฒนธรมผู้สร้างงาน เริ่มก่อเป็นรูปเป็นร่างในเมืองไทยชัดเจนช่วงระยะ 2-3 ปีมานี้ ผ่านการจัดงาน Mini Maker Faire Bangkok ที่เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2016 ส่วน Thailand Inventors’ Day 2018 หรือวันนักประดิษฐ์ 2561 นี้ จะมีจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 ก.พ.2561 ที่ไบเทค

ในปัจจุบันเมคเกอร์ดูจะใกล้ชิดและมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจ และผู้คนทั่วไปมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้น อำนวยความสะดวกให้ผู้คนเข้าถึงเครื่องมือเครื่องใช้ได้ง่ายขึ้น แอพพลิเคชั่นระบบเปิดที่ให้ใช้ฟรีมีมากมาย เมคเกอร์จึงไม่ได้จำกัดวงเฉพาะผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิศวกรรม หรือคนที่มีความเข้าใจในเทคโนโลยีเท่านั้น

แต่เมคเกอร์ได้ขยายตัวครอบคลุมถึงบุคคลทั่วไป ที่มีความสนใจและสนุกในการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง เปลี่ยนผ่านความคิดไปสู่ชิ้นงาน ผลงานของเหล่าเมคเกอร์จึงมีความหลากหลาย ตั้งแต่อุปกรณ์Gadget อย่างเครื่องพิมพ์สามมิติ โดรน ชิ้นงานจากพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ และโลหะ ตลอดจนถึงการใช้วัสดุธรรมดาๆ  เช่น กระดาษ เซรามิก ไม้ ผ้า หรือแม้แต่อาหาร

การประดิษฐ์ผลงานเหล่านี้ล้วนมีนัยยะของ Creativity แทรกอยู่ทุกอณูของผลงาน

20180121_173102

ความแพร่หลายของเทคโนโลยี ราคาอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่ถูกลง โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่าง Internet มีให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ ในราคาที่ผู้คนทั่วไปสามารถรับได้

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เปิดโอกาสให้ชาวเมคเกอร์รุ่นใหม่ สามารถสร้างงานด้วยเทคโนโลยีที่ดีขึ้น แลกเปลี่ยนความคิด มีความร่วมมือกันมากขึ้น เกิดเป็น Community และมีความหลากหลายในเนื้องานมากขึ้น

เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้วงการเมคเกอร์เติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว นำไปสู่ความเคลื่อนไหวของชุมชนเมคเกอร์ดังที่เห็นในปัจจุบัน งาน Maker Faire จึงนับเป็นการช่วยต่อยอดแนวคิด สร้างการเติบโตให้กับวงการ และสร้างเป็น Maker Culture ขึ้นมา

Maker Faire จึงเป็นนิทรรศการงานประดิษฐ์และนวัตกรรมของเหล่าเมคเกอร์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองซาน เมติโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2006 และได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก และนำไปสู่การกำเนิดของ Mini Maker Faire ซึ่งเป็นนิทรรศการขนาดเล็ก แต่ทุกอนูของงานนั้นน่าสนใจ เทียบเท่ากับงานใหญ่ๆ ที่จัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

ในประเทศไทยงานประจำปีของเหล่าเมคเกอร์ที่รู้จักกันในชื่อ “Maker Faire Bangkok 2018” จัดโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ซึ่งยกระดับจาก Mini Maker Faire เมื่อปีที่แล้ว

ไม่เพียงเป็นการเวทีแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ ของเหล่าเมคเกอร์รุ่นเยาว์ไปจนถึงรุ่นเก๋า ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่ยังจุดประกายความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเด็กๆ และผู้ชมนิทรรศการ ได้ทดลองสร้างสรรค์งานของตนเองผ่านกิจกรรมเวิร์คช็อปต่างๆ

ดูจากแนวโน้มที่ผ่านมาแล้ว หลายผลงานของเหล่าเมคเกอร์ แม้จะมีจุดเริ่มต้นจากความชอบส่วนตัว สร้างชิ้นงานเป็นงานอดิเรก แต่ก็สามารถพัฒนาต่อยอดไปเป็นธุรกิจสร้างรายได้และอาชีพได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย

20180121_160435-e1517574539898

ค้นหาเศรษฐกิจแนวสร้างสรรค์ด้วย DIY Culture   

สิ่งสำคัญของเมคเกอร์อีกอย่างหนึ่งคือ การคิดต่อยอด Creative นั้นๆ จากผลงานเดิม มีฟังก์ชั่นที่พัฒนาเพิ่มขึ้น ทำงานได้ดีขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในบ้านเราเช่น การพัฒนาหุ่นยนต์ จากหุ่นยนต์หน้าตาเครื่องกล มีข้อจำกัดในการทำงาน แต่ปัจจุบันเหล่าเมกเกอร์ได้พัฒนาสร้างสรรค์ให้หุ่นยนต์ มีหน้าตาเป็นธรรมชาติมากขึ้น มีประโยชน์ใช้สอยมากขึ้น เช่น ดูแลผู้ป่วยได้ กล่าวต้อนรับผู้คนได้ หรือเต้นท่าทางต่างๆ ได้ด้วย ฯลฯ

นอกจากนี้อุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้าน กระทั่ง Smart Home ต่างก็ได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้งานบนพื้นฐานของเทคโนโลยี Internet of Things (IoTs) อำนวยความสะดวกในชีวิตจริงมากขึ้น

สำหรับในปีนี้ เราน่าจะได้เห็นผลงานจากเหล่าเมกเกอร์ไทย Transform ไปเป็นสินค้า วางจำหน่ายตามร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ได้ไม่ยาก

วัฒนธรรมของบ้านเราอาจจะไม่คุ้นกับเรื่องดีไอวายมากนักไม่เหมือนต่างประเทศ D.I.Y หรือ Do it yourself ซึ่งมีความหมายว่า ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ข้าวของเครื่องใช้ สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ คนไทยอาจจะคิดว่าทำไม ต้องมานั่งประดิษฐ์ของด้วยตัวเอง แต่การประดิษฐ์สิ่งของด้วยตัวเอง ข้อดีคือ การนำไปสู่เรื่องราวของ Creative Economy ซึ่งกว้างไกลมาก การเริ่มต้นด้วย DIY Culture ในวงแคบอาจจะ Connect สู่ Creative Industry ในท้ายที่สุดก็ได้ใครจะรู้


  • 35
  •  
  •  
  •  
  •