โคคา-โคลา แบรนด์ที่ส่งเสริมศักยภาพผู้หญิงและสังคม ในรูปแบบคุณค่าร่วมกัน

  • 84.6K
  •  
  •  
  •  
  •  

หลายคนอาจเห็นภาพของ “โคคา-โคลา” ในฐานะแบรนด์ที่มอบความสดชื่นให้แก่ผู้บริโภค แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีอีกมุมหนึ่งที่โคคา-โคลาให้ความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นก็คือ การพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยได้ร่วมมือกับ พันธมิตรทางธุรกิจและภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง ผ่านหลากหลายโครงการ หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจที่เพิ่งเปิดตัวไปก็คือ “โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย” ที่ออกแบบมาเพื่อผู้หญิง ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อสังคมและเศรษฐกิจ โดยที่หลายคนอาจมองข้ามไป

01

“โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา” เป็นโครงการด้านความยั่งยืนระดับโลก 5by20 ของ โคคา-โคลา ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าหรือแวลูเชน ได้แก่ ร้านค้าปลีก ผู้ผลิตวัตถุดิบ ซัพพลายเออร์ผู้แทนจำหน่าย คนเก็บบรรจุภัณฑ์ เพื่อนำไปรีไซเคิล และช่างฝีมือที่ใช้วัสดุจากผลิตภัณฑ์ จำนวน 5 ล้านคนในกว่า 100 ประเทศทั่วโลกภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ซึ่งจากรายงานขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ พบว่า ผู้หญิงทั่วโลกคิดเป็นสัดส่วนแรงงานกว่า 66% แต่กลับมีรายได้น้อยกว่าความเป็นจริงคือ มีเพียง 10% ของรายได้รวมทั่วโลกเท่านั้น โดยในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงนำรายได้กว่าร้อยละ 90 ไปใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งมูลค่าการใช้จ่ายทั่วโลกที่เกิดจากผู้หญิงนั้นสูงกว่า 20 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น การเพิ่มศักยภาพของผู้หญิงให้สามารถเพิ่มรายได้จึงถือเป็นการพัฒนาความเป็นอยู่ของสังคมในภาพรวม

02

สำหรับในไทย กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ประเทศไทย ได้เปิดตัว “โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา” โดยเน้นการเพิ่มรายได้ให้กับเจ้าของร้านค้าปลีกหญิงที่อยู่ในห่วงโซ่คุณค่าหรือแวลูเชนของโคคา-โคลา ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ

ล่าสุดได้ขยายโครงการฯ ไปสู่เกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย โดยร่วมมือกับพันธมิตร คือ กลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลยี่ห้อ “ลิน” และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย พร้อมได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ในโครงการนำร่อง 1 ปี ตั้งเป้ายกระดับคุณภาพชีวิตชาวไร่อ้อยผู้หญิง 600 คน

จากการสำรวจกลุ่มเกษตรกรสตรีในพื้นที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ และ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี พบว่ายังขาดองค์ความรู้ในการวางแผนบริหารจัดการการเงิน รวมถึงความรู้ ความเข้าใจ ในการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน

03

ดังนั้น โครงการนี้ จึงมุ่งเน้นการพัฒนาชาวไร่อ้อยใน 2 หลักสูตรที่ออกแบบจากการรับฟังความต้องการของเกษตรกรชาวไร่อ้อย กล่าวคือ หลักสูตร “การบริหารจัดการการเงิน” เน้นพัฒนาความรู้ด้านการเงิน รวมถึงการทำบัญชีครัวเรือนอย่างมีประสิทธิภาพ และหลักสูตร “การทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน” เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ยั่งยืนและมีคุณภาพ หลังฝึกอบรมแล้ว ภายใน 1 ปี เกษตรกรสตรีที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีความรู้เรื่องการบริหารจัดการการเงิน เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 และมีระดับความตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการการเงินเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 อีกทั้งผลการทดสอบระดับความรู้เรื่องการทำเกษตรอย่างยั่งยืน เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20

04

โครงการธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา ไม่เพียงสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยในการประกอบอาชีพและดูแลครอบครัวเท่านั้น แต่ยังสร้างคุณค่าร่วมให้ทุกฝ่ายที่ทำงานในโครงการฯ กล่าวคือ เป็นการส่งเสริมพันธกิจพัฒนาศักยภาพเกษตรกรชาวไร่อ้อยของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, ส่งเสริมการผลิตน้ำตาลและจัดหาวัตถุดิบที่ได้คุณภาพของน้ำตาลไทยรุ่งเรือง และประการสุดท้าย ส่งเสริมแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยองค์ความรู้ของสถาบันคีนันแห่งเอเซีย และ สอดคล้องกับพันธกิจการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน (Sustainable Sourcing) ของโคคา-โคลา…สิ่งนี้เรียกว่า การสร้าง “คุณค่าร่วม” และการทำธุรกิจแบบรับผิดชอบต่อสังคม


  • 84.6K
  •  
  •  
  •  
  •