“หนี้หรือความสุข” แคมเปญกระตุ้นสังคมให้มองพฤติกรรมก่อหนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ชวนคิดให้ดีก่อนสร้างหนี้

  • 863
  •  
  •  
  •  
  •  

Ngerntidlor

จากตัวเลขที่รัฐบาลเปิดเผยมาเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า หนี้ครัวเรือนมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้จากข้อมูลการเป็นหนี้ยังพบว่า เด็กรุ่นใหม่พร้อมสร้างหนี้แบบเกินตัว ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันตรายของเศรษฐกิจประเทศไทยจนผู้หลักผู้ใหญ่อย่างผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกโรงเตือน แต่ถึงกระนั้นสัดส่วนการเป็นหนี้ก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เงินติดล้อ ผู้นำบริการสินเชื่อทะเบียนรถ มีการสำรวจจนพบว่าพฤติกรรมในการเป็นหนี้ของหลายๆ คน เกิดขึ้นจาก 4 ปัจจัยหลักด้วยกัน ทั้ง Social Media ที่ทำให้ผู้คนในสังคมเชื่อมถึงกันง่ายขึ้น โดยปัจจัยเรื่องของ Social Media จะมีเรื่องของ Smartphone เข้ามาเกี่ยวข้องในการเป็นตัวช่วยเข้าถึง ทำให้โพสต์ง่ายแชร์ไว แต่พฤติกรรมการโพสต์และการแชร์ที่อาจทำโดยไม่รู้ตัว อย่างการโชว์สินค้าใหม่ที่เพิ่งซื้อมา หรือการถ่ายรูปสวยๆ เวลาที่ไปเที่ยวต่างประเทศ กลับส่งผลให้เพื่อนหรือผู้ที่พบเห็นโพสต์ดังกล่าว เกิดการกดดันจากสังคม จนทำให้ผู้คนรู้สึกต้องการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยมากขึ้น

ขณะที่เรื่องของ e-Commerce ร้านค้าออนไลน์ที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนารูปแบบเพื่อสร้างประสบการณ์ซื้อขายผ่านออนไลน์ที่ดีมีเพียงแค่อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนก็เข้าถึงการซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้การจับจ่ายใช้เงินเป็นเรื่องง่าย

Ngerntidlor

อีกหนึ่งปัจจัยอย่าง Delivery ก็ช่วยให้การจัดส่งทั้งสินค้าและอาหารสะดวกมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ของอร่อยอยู่ไกลขี้เกียจเดินทางก็ช่วยประหยัดการใช้เงิน แต่ปัจจุบันของอร่อยไกลแค่ไหนก็สามารถส่งถึงหน้าประตูบ้านได้ แม้ดึกดื่นค่ำคืนเพียงใดก็ตาม ยิ่งสะดวกในการเสียเงินมากขึ้นไปอีก

และสุดท้ายคือ บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด ที่มีโปรโมชั่นผ่อน 0% ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจในการซื้อที่มากขึ้นด้วยการหยิบจับเงินในอนาคตของตัวเองมาใช้ได้อย่างง่ายดาย จนเกิดเป็นความเคยชินกับการเป็นหนี้ และคิดว่าเป็นเรื่องปกติกับการนำเงินในอนาคตของตัวเองมาใช้อย่างไม่ระมัดระวัง

Ngerntidlor

นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ชี้ว่า การเป็นหนี้สิน หากมีความจำเป็นจริงๆ ก็สามารถทำได้ หากแต่พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้โดยไม่ได้คิดถึงเรื่องฉุกเฉินในอนาคต เช่น การเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ โดยเฉพาะเรื่องของการวางแผนเกษียณอายุในอนาคต ซึ่งปัจจัยสุดท้ายของการก่อหนี้คือโอกาสในการเข้าถึง บัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด ง่ายพร้อมด้วยโปรโมชั่นต่างๆ แต้มสะสม สิทธิพิเศษ ที่ช่วยให้การเป็นหนี้ง่ายมากขึ้น

ซึ่งในมุมมองของคุณปิยะศักดิ์มองว่า ในเรื่องนี้ไม่มีใครผิดเพราะทั้งหมดคือธุรกิจ และธุรกิจมีหน้าที่ในการแสวงหาผลกำไร หากแต่สิ่งที่สำคัญคือแนวความคิดในเรื่องของการใช้จ่ายและการบริโภค ซึ่งหากมีแนวความคิดที่ถูกต้องแม้จะมีแผนกลยุทธ์ทางการตลาดมากเพียงใดก็ตาม ก็จะมองเห็นภาพรวมของการจับจ่ายใช้สอย และมีการวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างแม่นยำ โดยไม่ก่อให้เกิดหนี้สินล้นพ้นตัว

Ngerntidlor

พร้อมกันนี้คุณปิยะศักดิ์ ยังชี้ให้เห็นว่าทำไมการใช้จ่ายเงินเกินตัวเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เพราะพฤติกรรมของกลุ่มคนเหล่านี้จะใช้วิธีกู้เงินสินเชื่อเพื่อมาปิดหนี้ และเมื่อไม่มีเงินในอนาคตให้ใช้ สุดท้ายคนกลุ่มนี้จะหันไปเลือกใช้บริการเงินกู้นอกระบบ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิดอย่างร้ายแรง และอาจนำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินตามที่เป็นข่าวกันอยู่เรื่อยๆ

Ngerntidlor

เงินติดล้อมองเห็นความเสี่ยงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานบริษัทเอกชนหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “มนุษย์เงินเดือน” เพราะตัวเลือกทางการเงินของคนกลุ่มนี้มีมากมาย และเงินเดือนส่วนใหญ่หมดไปกับการตามกระแสสังคม

Ngerntidlor

นั่นจึงทำให้เงินติดล้อเปิดตัวแคมเปญ “หนี้หรือความสุข” ที่จะช่วยชี้ให้เห็นว่าการเป็นหนี้ช่วยให้มีความสุขได้จริงหรือไม่ นั่นเป็นเพราะความกังวลใจของเงินติดล้อต่อกลุ่มมนุษย์เงินเดือน และอยากจะกระตุ้นเตือนสังคมและกลุ่มมนุษย์เงินเดือน เพื่อให้เห็นถึงความเสี่ยงของการสร้างหนี้เพื่อบริโภคแบบไม่มีการวางแผนที่ดี พร้อมเปิดตัวหนังสือ “25 วิธีคิดให้ชีวิตชิบหาย” และเมื่อพลิกกลับด้านหนังสือเล่มนี้ จะเป็นเรื่อง “25 วิธีคิดให้ชีวิตสบายๆ”

Ngerntidlor

หนังสือเล่มนี้ นำเสนอ 25 ทัศนคติที่มองเห็นการสร้างหนี้สิน เพื่อมุ่งตอบโจทย์ความต้องการของตัวเอง ทั้งที่เกิดจากอารมณ์และความอิจฉาตาร้อน และจะนำไปสู่จุดจบตามชื่อหนังสือ ขณะที่อีกด้านจะเป็น 25 ทัศนคติที่ใช้หลักการและเหตุผลในการคิด เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างความมั่นคงทางการเงิน ด้วยรูปแบบการนำเสนอเหมือนความคิดดีและความคิดร้ายมาถกให้เห็นกันต่อหน้าผ่านตัวหนังสือ ซึ่งเราสามารถหามาอ่านได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป

นอกจากนี้ในแคมเปญ “หนี้หรือความสุข” ยังได้ส่งวิดีโอชุด “หนี้นรก” ที่สะท้อนภาพการเป็นหนี้ของมนุษย์เงินเดือนแบบสุดขีด ทั้งการซื้อของด้วยแนวความคิดที่ว่า “ของมันต้องมี” หรือความรู้สึกอิจฉาที่คนอื่นมี ทำไมเราอยากมี ด้วยแผนการอันแยบยลจนเป็นหนี้ และความคิดที่ว่ามีเงินก้อนเท่ากับคนรวย หรือความคิดที่มักจะเป็นไม้ตายคือการใช้เงินเท่าที่มีจนไม่เหลือเก็บ

Ngerntidlor

และสุดท้ายเมื่อหนี้สินเต็มทุกช่องทาง ก็ต้องหันไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ ซึ่งผลสุดท้ายกลับไม่สวยหรูอย่างที่คาดหวัง โดยวิดีโอชุดนี้อาจเรียกว่าเป็นวิดีโอสายดาร์กสุดๆ ของเงินติดล้อ ชนิดติดเรต Violence เป็นตลกร้ายที่ไม่ใช่เรื่องเกินจริงในปัจจุบัน สะท้อนถึงคำพูดที่ว่า “ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา” ออกมาได้อย่างโดนใจ ติดตามวิดีโอชุดดังกล่าวได้จากช่องทาง YouTube, Twitter และ Facebook

คุณปิยะศักดิ์ยังบอกด้วยว่า แม้เงินติดล้อจะเป็นธุรกิจปล่อยสินเชื่อ แต่ความตั้งใจของเงินติดล้อคือการสร้างหนี้เพื่อต่อยอดธุรกิจ หรือนำหนี้ไปลงทุนเพื่อให้เกิดรายได้ โดยไม่ได้หวังให้นำหนี้ไปใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย นั่นจึงทำให้เงินติดต้องมีแคมเปญ “ชีวิตใหม่” ที่เปิดตัวมาในปี 2560 โดยเงินติดล้อหวังให้นำเงินที่กู้ไปสร้างรายได้ เมื่อสร้างรายได้แล้วเงินติดล้อไม่อยากให้คนเหล่านั้นกลับมาหาเราอีก


  • 863
  •  
  •  
  •  
  •