10 เรื่องเบื้องหลังสุดมันส์ ที่คุณอาจยังไม่รู้ ‘ชัยณรงค์อย่ากวนตีน’ หนัง Grabpay Wallet

  • 55
  •  
  •  
  •  
  •  

โฮโมเซเปียนส์ ดูยัง !? 10 ล้านวิวแล้วนะ

โฆษณาสุดปัง ที่ถือเป็นอีกหนึ่งงานขายของที่ดูเพลินมาก เข้าถึง Key message สำคัญแบบไม่อ้อมค้อม แถมยังกระตุ้นทำให้รู้สึกอยากลองใช้ GrabPay Wallet อีกต่างหาก เพราะขนาด Ape ยังใช้งานเป็นเลย แล้ว ‘มนุษย์โฮโมเซเปียนส์’ อย่างเราทำไมจะใช้ไม่ได้ ความกลมกล่อมและสร้างการจดจำได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะวรรคทองที่บอกว่า “ชัยณรงค์อย่ากวนตีน” กลายเป็น Meme ในสถานการณ์ต่างๆ มากมาย แต่เชื่อหรือไม่ประโยคนี้ไม่มีในสตอรี่บอร์ด และไม่มีแม้แต่ในวันถ่ายทำ! แล้วมันมาได้อย่างไร??

 

 

มาฟังจากปากของ 3 ผู้อยู่เบื้องหลังงานไวรัลสุดปังนี้ด้วยตัวเอง ได้แก่ วิชัย มาตกุล Co-Founder and Creative Director, ธนชาติ ศิริภัทราชัย Co-Founder and Director จาก Salmon House และ นพฤทธิ์ ดุษฎีดำเกิง Creative Director จาก Wolf BKK

 

ธนชาติ ศิริภัทราชัย Co-Founder and Director และ วิชัย มาตกุล Co-Founder and Creative Director จาก Salmon House
นพฤทธิ์ ดุษฎีดำเกิง Creative Director จาก Wolf BKK

 

10 เรื่องเบื้องหลังสุดมันส์ ที่คุณอาจจะยังไม่รู้

 

#1 ‘กอริลลา’ เกือบไม่ได้ไปต่อ เพราะ Salmon House เลือกสตอรี่บอร์ดอื่น

บอร์ดเรื่องราว ‘กอริลล่า’ เป็นหนึ่งในบอร์ดที่ทาง Wolf ใส่มาท่ามกลางกว่า 10 บอร์ดที่มี เพราะด้วยความที่ Grab เป็นแบรนด์ที่มีงานโฆษณาดีๆ ออกมาเยอะมาก ทำให้ต้องเค้นไอเดียที่หลากหลายออกมาให้มากที่สุด และเมื่อส่งให้กับทางทีมโปรดักส์ชั่นอย่าง Salmon ช่วยเลือกว่าจะเอาชิ้นไหนไปส่งให้ลูกค้าดี Salmon ก็ไม่ได้เลือกเรื่อง ‘กอริลลา’ ไปเพราะมองว่าเรื่องข้อจำกัดของเวลา อย่างไรก็ตาม ในที่สุดทั้งทีม Salmon และ Wolf ก็เห็นพ้องกันว่ามันก็เป็นทางที่ไชนนิ่งมากทีเดียว ดังนั้น ในนาทีสุดท้ายจึงตัดสินใจรวมบอร์ด ‘กอริลล่า’ ลงไปด้วยจากทั้งหมด 5 บอร์ด ส่งให้ลูกค้าคือ Grab ตัดสินใจ และนั่นก็ทำให้เราได้เห็นงานกอริลลากับชัยณรงค์

“ต้องบอกก่อนว่า บอร์ดกอริลลาที่เราใช้คำว่า กลัว เพราะว่ามันต้องเกี่ยวกับแม็คคานิก เจ้าตัวกอริลล่าตัวนี้ ด้วยเวลาที่แอบกระชั้น คือถ้าเราเลือกบอร์ดนี้มันต้องเผื่อเวลาที่มาสร้างชุดใส่อุปกรณ์ ต้องหาคนใส่ เทคนิกการขยับปากหน้าผากตาจมูก มันมีขั้นตอนเพิ่มมาอีกมาก แต่ว่าก็โชคดีที่เราเจอทีมที่ทำของได้ตามที่เราต้องการ” วิชัย อธิบายให้เราฟัง “ตอนไปดูแม็คคานิกกับเบนซ์ ยังลุ้นอยู่เลย มันจะเวิร์คใช่ไหมวะ เพราะมันยากสุดเลย เหมือนดึงเราออกจากความหยิบหย่ง”

นพฤทธิ์ จาก Wolf กล่าวว่า โจทย์ที่เราได้รับจากลูกค้า อยากให้คนให้มันมาใช้ GrabPay Wallet มากขึ้น เพราะคนจะชินกับการใช้ผ่านเงินสด แต่ปัจจุบันมันง่ายมากเพราะมีแบงก์ที่ผูกกับวอลเล็ตตัวนี้หลายที่ ดังนั้นสิ่งที่เราสื่อสารคือบอกว่ามันง่ายและไม่ยุ่งยาก พร้อมกำหนดกรอบให้ฝ่ายโปรดักชั่นทำงานให้ง่าย ถ่ายทำที่เดียว ใช้ตัวละครน้อย ลดคนให้มากที่สุด เพื่อให้เหมาะสมกับทุกข้อจำกัดโดยเฉพาะช่วงเวลาโควิด

 

#2 ดราฟต์แรกใช้เวลาแค่ 10 นาที หยิบมุกรอบตัวที่เล่นกันในออฟฟิศ

จากข้อจำกัดที่มีทั้งสถานการณ์โควิด บัดเจ็ท และระยะเวลา ทำให้ Wolf วางแพลนหนังตัวนี้ถ่ายแบบ 1 Scene ใช้ตัวละครน้อย เพื่อลดทอนความยุ่งยาก แต่วิธีในการปรุงแต่งหนังให้น่าสนใจมากขึ้นจึงมาตกที่ตัวไดอาล็อกหรือบทสนทนาระหว่างเจ้า “กอริลลา” และ “ชัยณรงค์”

ธนชาติ บอกว่า โชคดีจากบทด้วย ที่วางไว้ให้มีแค่ 2 คนคุยกัน พอทรัพยากรมันน้อย คนในกองมันน้อย ก็เลยจัดการได้มากขึ้น นอกนั้นเราก็ไปให้น้ำหนักกับบทและการสนทนา คือทำให้มันสนุกที่สุด ทำให้มันกวนที่สุด ซึ่งเราใช้เวลาในการเขียนดราฟต์แรกแค่ 10 นาที

“พอมันเป็นบทหนังสนทนา เป็นหนังคุยกัน เราอยากให้บทสนทนาในเรื่องเหมือนคุยเล่นกันในออฟฟิศ คุยเล่นกันในชีวิตประจำวัน ให้มันธรรมชาติที่สุด มีพูดจากวนตีนอะไรอย่างนี้ได้ เพื่อดึงให้คนดูดูจนจบว่า ไอ้ชัยณรงค์ หรือไอ้กอริลลา มันก็เป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งของเขา” ธนชาติเล่า

วิชัย เสริมว่า มุกไอ้เด็กเนิร์ด กับโฮโมเซเปียนส์ เป็นมุกที่เราเล่นกันในออฟฟิศอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่เราเล่นกันเป็นปกติก็เลยเอามาใช้ หรือไอ้คำว่าหยิบหย่ง ก็คือด่ากันในออฟฟิศอยู่แล้ว เลยทำให้ร่างไดอาล็อกออกมารวดเร็ว

 

#3 ชัยณรงค์ ไม่มีตัวตนจริง แต่ไม่ได้ผุดมามั่วๆ

อีกตัวละครสำคัญในเรื่องนอกจากกอริลลาที่เราเห็นแล้ว ก็คือตัวปั่นอย่าง “ชัยณรงค์” ที่วิชัยบอกว่า มันต้องมีชื่อเรียก และไม่ใช่ชื่อดาษๆ แบบที่คนอื่นตั้ง แต่ต้องเป็นชื่อที่ทำให้เรารีมายด์ถึงวัยเด็กเพื่อนมัธยมได้ด้วย

“จริงๆ บทตัวนี้ คิดแต่ต้นแล้วว่า ไอ้มนุษย์คนนี้มันต้องมีชื่อนะ ลิงต้องเรียกชื่อ แล้วชื่อก็ไม่ใช่ ชื่อเล่นแบบฝรั่ง อย่างแม็ก หรือชื่อภาษาอังกฤษอะไรอย่างนั้น  แต่มันควรจะเป็นชื่อไทย ชื่อเหมือนเพื่อนเราตอนมัธยม คือไม่ได้คิดอะไรมากแต่มันต้องมีชื่อ และชื่อมันต้องไทยๆ ก็เลยตั้งว่า “ชัยณรงค์” ละกัน” วิชัยบอก

แล้วก็ย้ำว่า แต่ไม่ได้มาจากไอเดียมั่วๆ มาเป็นชื่อ “ชัยณรงค์” แต่ต้องทำให้คนดูรู้สึกคุ้นเคย เพราะเรากำลังส่งเรื่องใหม่ออกไปให้คนดูเชื่อตาม ดังนั้นเราต้องทำให้เรื่องรอบๆ นั้นมันรู้สึกคุ้นเคยมากที่สุด ก็คือการเรียกชื่อจริงออกไป พอมันเริ่มคุ้นเคยกับไดอาล็อกแล้ว ดังนั้นเวลาที่เราจะเริ่มขายของคนดูก็จะเปิดใจรับมากขึ้น

 

#4 “พี่ผมปวดฉี่” คำพูดศักดิ์สิทธิ์ ที่อยู่ในกอง

นอกจากกฎหมายเรื่องจำนวนคนออกกองไม่ให้มากเกินไป เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค อีกสิ่งที่ท้าทายมากก็คือเรื่องของสภาพอากาศหน้าร้อนแบบเมืองไทย ที่ท้าทายทีมงานมาก โดยเฉพาะนักแสดงที่อยู่ในชุดกอริลลา ซึ่งกลายเป็นนักแสดงที่ระดับ “เบนซ์ ธนชาติ” ผู้กำกับ ต้องรู้สึกเกรงใจที่สุด แต่เรื่องนี้ตัววิชัยเป็นคนเล่าให้เราฟัว

จำนวนคนไม่น่าห่วงเท่านักแสดงที่อยู่ในชุดลิง คือชุดลิงนี่คือร้อนมาก (ถ่ายทำเดือนมิถุนายน) คือผมยังล้อเล่นอยู่เลยว่า คำพูดที่ศักดิ์สิทธ์ของกองในวันนั้นก็คือว่า คำที่นักแสดงคนนั้นบอกว่า “พี่ผมปวดฉี่” คือเขาต้องอยู่ในนั้นตลอดแล้วต้องใส่เข้าใส่ออก ดังนั้น เบนซ์ก็จะแบบเกรงใจมากๆ วันนั้นต้องถ่ายทำให้รอบคอบที่สุด สั่งคัทให้น้อยที่สุด แล้วต้องเปิดชุดเพื่อเอาท่อแอร์ใส่ให้เขาด้วย” วิชัยเล่า

ธนชาติเสริมว่า จริงๆ ครับมันร้อนมาก แล้วปกติเวลาผมกำกับ ถ้าเขาเล่นกันแบบพูดไม่ชัด หรือเล่นตรงนี้ยังไม่คม เราก็จะสั่งขออีกรอบ ขออีกรอบ แต่กับกอริลลา เราจะรู้สึกว่าเราเกรงใจเขาตลอดเวลาเลย เพราะมันร้อนจริงๆ เรากลัวเขาเป็นลม แล้วเขาเองก็ไม่ใช่คนที่ใส่มาสค็อตเป็นมืออาชีพด้วย เราอยากได้แอคติ้งคนที่ค่อนข้างเรียลหน่อย ก็เลยเอานักแสดงละครเวทีมาใส่ พอเขาไม่มีประสบการณ์กับความร้อนขนาดนั้น เราก็กลัวเขาตายมากเลย

“ถ่าย 10 นาที พัก 20 นาที ใช้คนเดียวเลยครับ เกือบตาย” คำยืนยันจากผู้กำกับ

 

#5 การบังคับใบหน้ากอริลลา ใช้คนบังคับอย่างน้อย 3 คน แม้แต่ “รูจมูก”

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เทคนิคในการบังคับใบหน้ากอริลลาไม่ธรรมดาเลย เพราะต้องใช้คนบังคับพร้อมๆ กันถึง 3 คน และทุกอย่างต้องสัมพันธ์กันไปตามท่าทาง และผู้แสดงร่วม

วิชัยเล่าว่า คิดภาพแบบนี้ครับ คือคนใส่ชุดลิง เขาจะขยับร่างกายต่างๆ ตามปกติ  แต่การบังคับบนใบหน้า มีคนบังคับคิ้ว 1 คน, บังคับลูกตา 1 คน บังคับ “ปาก” 1 คน แม้แต่ “รูจมูก” ก็ต้องมีคนบังคับด้วย เพราะเราอยากให้มันละเอียดที่สุด อยากให้ดูแล้วไม่กลายเป็นมาสค็อตที่ดูแข็งๆ อยากให้ดูแล้วเป็นธรรมชาติที่สุด เป็นลิงมากที่สุด เพราะฉะนั้นบนหน้ามันยากมาก พวกวงจรต่างๆ รวมไปถึงการกี่ต้องกำกับตัวนักแสดงให้เล่นออกมาได้ตามเนื้อเรื่องด้วย คือก็ต้องมาดูด้วยว่าทั้งหมดนี้มันซิงก์กันหรือเปล่า

“ก่อนถ่ายเราก็จะให้ทีมกอริลลาไปซ้อมก่อนว่า เราต้องการใบหน้าแบบไหน ตามไดอาล็อก เวลาถ่ายจะได้เล่นได้เลย ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกันนะกว่าจะเล่นให้ได้ตรงจังหวะ พอได้หน้าตา ได้ขยับปากเสร็จแล้ว เราก็จะไปทำ CG เพิ่มเพื่อให้มันขยับหน้าได้สมูทมากขึ้น ให้มันดูเนียนมากขึ้น”  

 

#6 ในโฆษณาบอกให้แยกระหว่าง “ลิง” กับ Ape แต่ทั้งกองก็เรียก “ลิงๆๆ”

อีกเรื่องที่ต้องบอกว่าฮาจริง วิชัยเล่าว่า ในขณะที่เราพยายามจะบอกว่ากับผู้ชมคนดูของเราว่า “กอริลลา” ไม่ใช่ลิงนะ แต่ปรากฏว่าระหว่างการถ่ายทำตลอดทั้งวันเราเรียกสิ่งนี้ว่า “ลิง” ตลอดเวลา

“ก็ถ้าจะมีเรื่องเล่าคือ ตลอดเวลาที่เราถ่าย บอกว่าให้เข้าใจว่า ลิงกับ Ape ไม่เหมือนกันนะ แต่ตลอดการถ่ายทำเราเรียกสิ่งนั้นว่า “ลิงๆๆ”  ทุกคำ เราเรียกว่า “ลิง” ตลอดทั้งเรื่องเลย”

 

#7 คำว่า “ชัยณรงคอย่ากวนตีน” ไม่มีในบอร์ดหรือการถ่ายทำ มานาทีสุดท้าย

อาจเรียกได้ว่าเป็น Magic Moment ของการถ่ายทำ กับวลีที่บอกว่า “ชัยณรงค์อย่ากวนตีน”  ซึ่งถือว่าเป็นวรรคทองของหนัง ที่ทำให้หลายคนจดจำได้ และบางคนก็หลงรักโฆษณาตัวนี้จากประโยคนี้เอง แต่เชื่อหรือไม่ว่าประโยคนี้จริงๆ ไม่มีในสคริปต์แม้แต่น้อย ผุดขึ้นมาสดๆ ระหว่างบันทึกเสียง

วิชัย เล่าไปขำไปว่า ความมหัศจรรย์คือคำว่า “ชัยณรงค์อย่ากวนตีน” คือไม่มีในบท มันมาวันลงเสียงเลย เราลองลงคำนี้ลงไป แต่ไม่เคยมีคำนี้อยู่ในสคริปต์ เกิดขึ้นมาเป็นวินาทีท้ายๆ เลย

นพฤทธิ์ จาก Wolf เสริมว่า แต่อันนี้ต้องยกเครดิตให้ความกล้าของลูกค้าอย่าง Grab ด้วย เพราะอันนี้ไม่มีในบอร์ดหรือสคริปต์ คือถ้าเป็นลูกค้ารายอื่นเจอเซอร์ไพรส์แบบนี้ก็คงปัดตกแน่ๆ แต่พอเป็น Grab ที่เข้าใจอารมณ์ของหนังดี ก็กล้าที่จะเล่นไปกับเราด้วย

 

#8 “กอริลลา” ที่แสนสุภาพ แต่ทำไมถึงที่หลุดคำว่า “กู”

ธนชาติเล่าถึงการวางคาแรคเตอร์ “กอริลลา” ที่แสนจะสุภาพในหนังว่า ปกติเราจะเห็นกอริลลาต้องมีพลัง ต้องโวยวายโหวกเหวก แต่กอริลลาตัวนี้เราวางคาแรคเตอร์ให้เป็น กอริลลาเนิร์ด กอริลลาที่ถูกเพื่อนบี้ ซึ่งยังไม่เคยมี เราเลยสร้างให้คนดูเห็นว่ากอริลลาตัวนี้มันอยู่ข้างคนดูนะ แล้วทำให้ตัว “ชัยณรงค์” เป็นมนุษย์ที่ขี้เกียจ คอยบุลลี่เพื่อน เป็นมนุษย์ที่คนดูไม่อยากเป็น ซึ่งเมื่อปูทางตรงนี้ไว้แล้วก็นำมาสู่การขายของได้โดยง่าย เพราะคนจะยอมฟังมากขึ้น

“เราทำให้ชัยณรงค์เป็นตัวร้าย แต่กอริลลาพยายามอธิบายอยู่นะ แกก็ยังไปกวนตีนเขาอีก กอริลลาเป็นตัวที่ใจเย็น ให้คนดูเอาใจช่วย ให้กอริลลาเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นตัวที่ถูก Bully แล้วพอพูดชื่อสินค้ามา คนก็จะเออเชื่อตาม เพราะคนนี้พูดสิ่งที่ถูกต้องมาตลอดทั้งเรื่อง ถ้าคนที่มีปัญญาที่สุดในเรื่องแนะนำว่า เราใช้ Grabpay Wallet ได้ เราก็น่าจะใช้ได้ แล้วหนังทั้งเรื่องมันบิวด์มาเพื่อประโยคนี้ประโยคเดียว กอริลลามันใช้ Grabpay Wallet ได้ แล้วก็บิวด์ๆ มาจบที่ “ดูนิ้วกูนี่” แล้วจบ แบบเหลืออดแล้วนะ เพราะกูโดนกวนตีนมาตลอด”

ธนชาติ เล่าเสิรมต่อว่า แต่อันที่จริงก็ถ่ายหลายเวอร์ชั่นไว้ด้วยเผื่อมันไม่สุภาพหรือหลุดคาแรคเตอร์ อย่าง “ดูนิ้วเรานี่” แต่นาทีนั้นมันไม่ได้จริงๆ จังหวะมันต้อง “กู” วะเท่านั้น

 

#9 สูตรการทำงานใหม่ยุคโควิด โรยด้วย “ผงหยิบหย่ง” ความลงตัวแสนอร่อย

ด้วยสถานการณ์ที่บีบรัดของโควิดก็ดี ไทม์ไลน์ และบัดเจ็ทที่จำกัด นพฤทธิ์ จาก Wolf บอกว่า ทุกอย่างต้องรวมสิ่งเหล่านั้นไว้ตั้งแต่วิธีคิด คือไม่ได้คิดเรื่อยเปื่อยแล้วโปรดักชั่นไม่ได้จริง สุดท้ายงานนั้นมันก็จะไม่เกิดขึ้น เราต้องแพลนสิ่งนี้ไว้ในหัวเลย ภาพมันต้องชัดเจนทั้งเรื่องโควิด เวลา และบัดเจ็ท รวมไปถึงการเลือกโปรดักส์ชันเฮาส์ที่มาร่วมงาน

นพฤทธิ์ เล่าต่อว่า ด้วยสตอรี่บอร์ดที่เป็นแบบบทสนทนาลักษณะนี้ ทาง Salmon เป็นหนึ่งในตองอู เรามองว่า Salmon มีสไตล์ที่วัยรุ่นชอบ และมีความสามารถในการใส่ไดอาล็อกที่มันตลกขึ้นมาได้

“ผมขอเรียกมันว่า โรยผงหยิบหย่ง เติมความแซ่บไปให้ พอเขาโรยผง หยิบหย่งลงไป แล้วก็ใส่ความกวนเข้าไป มันเลยเหมือนกับว่า มันเติมรสชาติให้เรื่องมันสนุกขึ้นมาเลย ก็เลยเล็งตั้งแต่แรกแล้วว่าต้อง Salmon งานแบบนี้ที่มันแสบๆ กวนๆ ไม่เครียด น่าดู พอบอร์ดแบบนั้นก็น่าจะเหมาะกับ Salmon ที่สุด แล้วก็ไม่ได้เช็คที่อื่นเลยด้วย”

 

#10 Grabpay Wallet หนังขายของที่ถูกที่ถูกจังหวะเวลา

 

ประเด็นเรื่องจังหวะการเข้าของแบรนด์หรือโลโก้ลูกค้า น่าจะเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมานานในวงการโฆษณา ซึ่งเรามองว่างานชิ้นนี้คือบทพิสูจน์อีกชิ้นหนึ่งขอากรขายของตรงๆ ผ่านไทมมิ่งที่ใช่! ซึ่งทำให้คนดูยอมรับ

“ผมรู้สึกว่ายุคนี้เป็นยุคโฆษณาที่ เมื่อก่อนเราจะคุยกันว่าเราจะขายของอย่างไร แต่ผมรู้สึกว่า ยุคนี้คือยุคที่ตอนไหนที่เราไม่ควรขาย เราก็ต้องไม่ขาย ผมคิดว่าตรงนี้สำคัญมาก แล้วถ้ามันมาแบบถูกที่ถูกเวลา คนมันจะจำแบรนด์ได้เอง ไม่เกี่ยวว่าแบรนด์หรือสินค้าคุณจะออกมานาทีที่เท่าไหร่ของหนัง ถ้าหนังทั้งเรื่องมันส่งมาเพื่อช้อตนั้นช้อตเดียวคนก็จะจำได้ ไอ้ทฤษฎีที่ว่าสินค้าออกเร็วๆ คือดี มันก็ไม่ได้เสมอ” วิชัย กล่าว

นพฤทธิ์ เสริมว่า เราทำอาชีพโฆษณาแค่นับศูนย์ยังไม่ต้องนับหนึ่ง เราก็เป็น “ศัตรู” กับคนดูแล้ว คือยังไม่เริ่มอะไรเลย คนก็พร้อมจะสคริปต์อยู่แล้ว เพราะตั้งแต่เริ่มมาเราก็เป็นผู้ร้ายแล้ว “เขารู้แหละว่าอันนี้โฆษณา แต่ทำอย่างไรให้เขาอยากจะดู สำหรับผมก็คือทำให้เขาอยากดูที่สุด ให้เหมาะกับทาร์เก็ตที่สุด แล้วไอ้ความเป็น meme แล้วความเป็นไวรัล คือถ้ามันถูกใจคน เดี๋ยวเขาหยิบไปใช้เอง”

 

บทสรุป

สิ่งที่ได้จากการพูดคุยของฝั่งสร้างสรรค์งาน ที่ประกอบไปด้วย ทีมเอเจนซี่ผู้ที่ครีเอทอากาศให้เกิดเรื่องราว และทีมโปรดักส์ชั่นที่ถ่ายทอดภาพจากในบอร์ดให้จับต้องได้สู่ ทั้ง 2 ทีมพูดตรงกันว่า งานจะสำเร็จและออกมาดีได้ต้องเกิดจากความร่วมมือของ 3 ฝ่าย ได้แก่ เอเจนซี่ โปรดักส์ชั่นเฮาส์ และลูกค้า และเมื่อทั้งสามฝ่ายเห็นพ้องกัน ลงมือทำบนความคิดที่จะทำให้งานออกมาดีที่สุดไม่ใช่แย้งเพื่อชนะ หรือไม่ใช่ยอมเพื่อให้จบ แต่เป็นการเปิดใจทำงานร่วมกันอย่างจริงใจ

“งานไปได้ไกลเสมอ” คำพูดทิ้งท้ายของ วิชัย แห่ง Salmon House


  • 55
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!