SCG ย้ำจุดยืนองค์กรต้นแบบด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน – ส่งโฆษณา “จดหมาย” สะท้อนการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Letter5

ไม่ว่ายุคสมัยจะผันผ่านไปนานสักเพียงใด ประเทศไทยก็ยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเกษตร ชุบเสกทรัพยากรในผืนดินให้งอกเงยเป็นความมั่งคั่ง ความอยู่ดีกินดี และผลกำไรทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อดิน “ป่วย” ไม่สามารถเพาะปลูกงอกเงยได้ดังใจ ชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็เริ่มลำบากยากแค้นขึ้นตามลำดับ

ด้วยตระหนักดีว่าทางแก้ปัญหาไม่ใช่การอพยพเข้าเมืองหลวงเพื่อแก่งแย่งหางานเสมอไป SCG ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมพัฒนาที่ดิน และชุมชน พลิกฟื้นผืนดินเค็มในภาคอีสาน ที่แห้งแล้งมานานนับหลายสิบปีให้กลับกลายเป็น “ขุมทอง” อันอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง และนำเสนอตอกย้ำความมุ่งมั่นในการร่วมพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยภาพยนตร์โฆษณาซึ้งกินใจชุด “จดหมาย” ผ่านจดหมายของลูกสาวที่เขียนถึงพ่อที่ต้องจากบ้านไปทำงานในกรุงเทพฯ เพราะไม่สามารถทำมาหากิน สร้างรายได้จากพื้นดินบ้านเกิด

Letter1 Letter2 

ภาพยนตร์โฆษณา “จดหมาย” คือแคมเปญที่สะท้อนความสำเร็จของโครงการผ่านจดหมายของลูกสาวที่เขียนถึงพ่อผู้จากบ้านไปทำงานในกรุงเทพฯ เพราะไม่สามารถทำมาหากิน สร้างรายได้จากพื้นดินบ้านเกิดเนื่องจากปัญหาดินเค็ม ทำให้ลูกสาวต้องอยู่กับคุณปู่และคุณย่าเพียงสามคน

นอกจากจะสะท้อนภาพสังคมในแถบอีสานได้อย่างแยบคายแล้ว ตัวโฆษณายังสามารถสอดแทรกรายละเอียดวิธีการฟื้นฟู พัฒนา และอนุรักษ์ดินด้วยนวัตกรรมทันสมัย เช่น  การไถกลบต่อซังเพื่อกลับหน้าดินหลังการเก็บเกี่ยว ปลูกต้นไม้ใหญ่ เพื่อป้องกันเกลือขึ้นบนผิวดิน การทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อฟื้นฟูดินเค็ม  ฯลฯ ได้อย่างกลมกลืน ถือเป็นกลยุทธ์ย้อมน้ำตาลยาขมให้ทานง่ายดื่มด่ำง่าย

ทั้งนี้ SCG สวทช. กรมพัฒนาที่ดิน และชุมชน ร่วมมือกันดำเนินโครงการ “นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็ม” มาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็มให้สามารถเพาะปลูกได้ดี รวมทั้งส่งเสริมกระบวนการเปลี่ยนกรอบความคิด ทำให้เกิดความหลากหลายในการแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายแร่เกลือใต้ดินที่คนไทยต้องใช้บริโภคไปอีกหลายชั่วอายุคน

โดยได้น้อมนำหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมหลักการฟื้นฟู พัฒนา และอนุรักษ์ดินเข้ามาช่วยให้ความรู้ พร้อมทั้งสอนวิธีการปรับปรุงดินเค็มด้วยนวัตกรรมต่างๆ อาทิ การไถกลบต่อซังเพื่อกลับหน้าดินหลังการเก็บเกี่ยว ปลูกต้นไม้ใหญ่ อาทิ ต้นยูคาลิปตัส เพื่อป้องกันเกลือขึ้นบนผิวดิน การทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพเพื่อฟื้นฟูดิน ฯลฯ

ผลสำเร็จปัจจุบัน SCG สามารถฟื้นฟูพื้นที่ดินเค็มในภาคอีสาน เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ดี และยังมีโครงการเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ครัวเรือนด้วยการประกอบอาชีพเสริม เช่น การเพาะเห็ด การขายมูลสัตว์เพื่อทำปุ๋ย การปลูกผัก เป็นต้น ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ในโครงการสามารถปลดหนี้และมีเงินออมเก็บ แต่เท่านั้นยังไม่เพียงพอ SCG ได้สานต่อโครงการ “สถานีปลูกคิดปันสุข” ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เป็นต้นแบบการส่งเสริมชุมชนถอดบทเรียนการฟื้นฟูดินเค็มและพัฒนาชุมชน เน้นเปลี่ยนวิธีคิด สนับสนุนการพึ่งพาตนเอง พร้อมแบ่งปันความรู้เพื่อขยายผลชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้หมู่บ้านอื่นๆ ต่อไป

Letter4 Letter6

“ปัจจุบันพื้นที่บ้านเตยแทบจะไม่มีพื้นที่ดินเค็ม เดิมเราเคยมีปัญหาดินเค็ม ทำนาได้ผลผลิตไม่ดี แต่เมื่อ SCG กรมพัฒนาที่ดิน และ ดร. เฉลิมพล เกิดมณี นักวิชาการจาก สวทช. เข้ามาช่วยให้ความรู้และนำนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล ทุ่งนาที่เคยแห้งก็กลับมาเขียวขจี ทำเกษตรได้อย่างคุ้มค่า มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”  แม่เดือนเพ็ญ ทิศรักษ์ หัวหน้ากลุ่มปุ๋ยอินทรีย์บ้านเตย กล่าวว่า ตอนนี้เกษตรกรในพื้นที่พร้อมจะนำประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจให้คนที่สนใจมาเรียนรู้ ใช้ปัญญาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตผ่านสถานีปลูกคิดปันสุขแห่งนี้

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของเกษตรกรคนอื่นๆ ที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ สามารถปลดหนี้และมีเงินออม ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ ตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถแบ่งปันความรู้และต่อยอดสู่ชุมชนอื่นได้ เช่น ลุงบุญเชิด สีเขียว เคยทำนาอย่างเดียว วันนี้หันมาทำเกษตรผสมผสาน เพิ่มรายได้ แม่สวัสดิ์ สีหาผล เรียนรู้การทำบัญชีครัวเรือน และหาอาชีพอื่นเสริมรายได้ เช่น เลี้ยงหมู และแจ่วบอง

Letter7

 


  •  
  •  
  •  
  •  
  •