5 สกิลที่องค์กรยังต้องการในอนาคต และมีโอกาสพิจารณารับเข้างานก่อน

  • 67
  •  
  •  
  •  
  •  

5 สกิลที่องค์กรยังต้องการในอนาคต และมีโอกาสพิจารณารับเข้างานก่อน

 

ก่อนอื่นอยากจะเริ่มต้นบทความด้วยคำพูดแง่คิดดีๆ ของ Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba Group ที่มักจะพูดเสมอว่า “คุณสามารถทำงานเพื่อคนอื่นได้ 8 ชั่วโมง ดังนั้นคุณต้องทำเพื่อตัวเองได้เหมือนกัน 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ”

คำพูดนี้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าโลกจะหมุนไปมากแค่ไหน เราก็ยังเป็นเรา และการพัฒนา การหาความรู้ให้ตัวเองจะไม่หยุดนิ่งเช่นเดียวกัน

มีรายงานของ World Economic Forum ในปี 2020 ในหัวข้อ “The Future of Jobs Report” ได้ระบุด้วยว่า มีถึง 44% ของธุรกิจทั่วโลก (ประมาณ 17 ประเทศ) ที่คาดหวังจะเห็นประสิทธิภาพของพนักงาน และไม่ใช่แค่ในเชิงวิชาการ (academic skills) แต่รวมไปถึง soft skills ที่จำเป็นมากๆ ต่อการเติบโตขององค์กรในภาพรวม

โดยการศึกษาจากบริษัทชั้นนำของโลกจำนวนมากใน 17 ประเทศ ได้ระบุถึงบาง soft skills ที่พวกเขามองว่ายังสำคัญในอีกหลายปีข้างหน้า หรือในปี 2025 แม้ว่าดิจิทัลอาจจะเข้ามามีบทบาทมากกว่าเดิม หรือความเสถียรภาพของเทคโนโลยีบางอย่าง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), โรบอต, IoT, คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ฯลฯ จะเพิ่มประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน

หนึ่งในนั้นก็คือ ภาวะการตัดสินใจที่ดี หรือ สกิลการเป็นผู้นำ ซึ่งหลายบริษัท (เช่น Amazon) มองว่า การที่พนักงานมีทักษะนี้จะทำให้การทำงานเป็นทีม หรือระหว่างบุคคลเกิดขึ้นได้เร็ว การทำงานมัน flow มากขึ้น และสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์กรหลายแห่งที่เคารพการตัดสินใจของพนักงานและให้ความเชื่อมั่น

ทั้งนี้ ผลการศึกษาของ GetSmarter ในหัวข้อ The Future of Work Is Here มีหลายๆ อย่างที่คล้ายคลึงกับผลการศึกษาของ WEF โดยเฉพาะ soft skills ที่บริษัทให้ความสำคัญมากขึ้น และมองว่าเป็นใบเบิกทางที่ดีในการรับเข้าทำงานก่อนทักษะอื่น

 

ทักษะความรู้ด้านดิจิทัล (Digital literacy)

ความรู้ที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงการเป็น expert ในด้านนั้นๆ หากเราไม่ได้สมัครในตำแหน่งที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่อย่างน้อยๆ โลกที่หมุนไปเรื่อยๆ และรับเอาอิทธิพลของเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาผสมผสานกับการทำงานของคนมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่ต้องรู้โดยพื้นฐาน เช่น ศักยภาพของแอปพลิเคชั่น, บล็อกเชน, IoT หรือ การวิเคราะห์ข้อมูลและใช้ซอฟต์แวร์ในชีวิตประจำวัน เช่น ชุดเครื่องมือของ Google Workspace, Slack, Zoom, Asana, Facebook Workplace เป็นต้น

 

การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical and critical thinking)

ผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมถึงระดับผู้บริหารมองว่า การคิดเชิงวิเคราะห์หรือเชิงวิพากษ์ถือว่าเป็นทักษะที่มีค่าที่สุดอีกทักษะหนึ่ง และเป็นที่ต้องการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

เหตุผลก็เพราะว่า เราอาศัยอยู่ในโลกที่ข้อมูลท่วมท้น ดังนั้น กลุ่มคนทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงจำเป็นต้องเข้าใจ หรือใช้ประโชน์จากข้อมูลเหล่านี้ในระดับพื้นฐานได้ ด้วยการใช้ตรรกะเหตุผลในการวิเคราะห์ ตีความ ประเมิน และหาความน่าจะเป็นทั้งข้อดี-ข้อเสียจากข้อมูลเหล่านั้นได้

 

การจัดการด้วยตัวเอง (Self-management)

การสำรวจของ Gartner เมื่อเร็วๆ นี้บอกว่า กว่า 82% ของระดับผู้บริหารวางแผนจะให้พนักงานทำงานระยะไกลต่อไปอีกในอนาคต แม้ว่าการแพร่ระบาดจะจบลง ดังนั้น สกิลการจัดการด้วยตัวเอง รวมไปถึงภาวะการตัดสินใจที่ดีและเด็ดขาด แม่นยำ จำเป็นมากเหมือนกันในอนาคตของการทำงาน

ทั้งนี้ สกิลการจัดการด้วยตัวเองยังหมายถึง วินัย แรงจูงใจ และความรับผิดชอบที่สูงขึ้น หากเราต้องทำงานอยู่นอกโครงสร้างองค์กรที่ปกติต้องทำงานในออฟฟิศเท่านั้น รวมไปถึง การเรียนรู้เชิงรุก ความยืดหยุ่นในการปรับตัว และความอดทนต่อความเครียดที่เป็นปัจจัยภายนอก ซึ่งทั้งหมดนี้จะกลายเป็นความสามารถในการพัฒนาตัวเอง เพื่อการเติบโตขององค์กรที่เป็นที่ต้องการมากขึ้น

 

ความฉลาดทางสังคมและอารมณ์ (Social and emotional intelligence)

กลายเป็นความฉลาดทางอารมณ์อย่างเดียวไม่พอแล้ว สำหรับการพัฒนาตัวเอง และการสร้างความโดดเด่นในคู่แข่งการสมัครงานในอนาคต เพราะว่าความฉลาดทางสังคม กำลังกลายเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาขององค์กรด้วย

ดังนั้น การควบคุมอารมณ์ของตัวเองให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมกับสถานการณ์ บวกกับความเข้าใจว่าสิ่งที่ถูกต้องและควรทำเวลาที่อยู่ร่วมกับผู้อื่น ทำงาน หรือกิจกรรมบางอย่างควรเป็นอย่างไร การเข้าใจจุดแข็ง-จุดอ่อน, บุคคลิกที่หลากหลายของตัวเองจำเป็นมาก

 

ความเป็นผู้นำ (Leadership)

หากเทียบกับรูปแบบการทำงานในวัฒนธรรมองค์กรแบบเก่า จะเห็นว่าศูนย์รวมอำนาจจะอยู่ที่ใดที่หนึ่ง นั่นก็คืออยู่ที่หัวหน้างาน แต่ในอนาคตรูปแบบการทำงานจะเปลี่ยนไป เพราะองค์กรต้องการคนที่มีทักษะความเป็นผู้นำมากขึ้น พูดง่ายๆ ก็คล้ายกับทักษะการจัดการด้วยตัวเอง โดยตำแหน่งหัวหน้าจะโยกย้ายมาเป็น ‘คนให้คำปรึกษา’ ในเชิงการทำงานจริงมากกว่า

ผลการศึกษาของ GetSmarter ยังพบว่า คนรุ่นใหม่ทั้งกลุ่มคนมิลเลนเนียลส์ และ Gen Z เติบโตค่อนข้างเร็วและอยู่ในระดับหัวหน้างาน (การบริหารจัดการ) มากขึ้น โดยมิลเลนเนียลส์ 43% และ Gen Z ที่ 27% ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีและอีกหลายๆ สกิลที่จำเป็นมีส่วนอย่างมากในการกระตุ้นเส้นทางความสำเร็จของพวกเขา

 

ทั้งนี้ Bill McDermott, CEO ServiceNow บริษัทซอฟต์แวร์ของสหรัฐอเมริกา ได้พูดไว้ว่า “โลกที่มีทั้งเทคโนโลยีและผู้คนก็ยังสำคัญ การเชื่อมโยงใดๆ ที่ไม่พึ่งพามนุษย์จะถือว่าไม่มีการเติบโตเลย เพราะอย่างน้อยๆ อัลกอริทึม (Algorithm) ของหุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีอื่นก็ไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ เพียงแต่เราต้องพัฒนาตัวเองในสิ่งที่เทคโนโลยีเหล่านั้นทำไม่ได้”

 

 

 

ที่มา: getsmarter

 

 

 

 

 


  • 67
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม
CLOSE
CLOSE