รู้หรือไม่ ‘แอปฯ ลดน้ำหนัก’ ทำอะไรกับ Consumer data มากกว่าที่คิด และ(อาจ) แชร์ข้อมูลให้ 3rd Party Data

  • 627
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เข้าใจว่าหลายธุรกิจในปัจจุบันมีการใช้ข้อมูลจากบุคคลที่ 3 (3rd Party Data) บ้างอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าพักหลังๆ จะเห็นว่าธุรกิจพยายามอย่างหนักที่จะปรับแนวทางใช้ข้อมูลมาเป็นข้อมูลจากบุคคลที่ 1 (1st Party Data) หรือข้อมูลโดยตรงของบริษัท ก่อนที่ Google จะปรับระบบ Google Chrome โดยจะไม่รองรับ 3rd Party Data อีกต่อไปในปี 2023

แต่อาจมีคนนึกไม่ถึงว่า แอปพลิเคชั่นลดน้ำหนัก (Diet applications) ก็เป็นอีกหนึ่งประเภทแอปฯ ที่มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้อย่างละเอียดเช่นกัน อีกทั้งยังมีงานวิจัยของต่างประเทศด้วยว่า มีหลายแอปฯ ในปัจจุบันทำการแชร์ข้อมูลผู้ใช้ให้กับบุคคลอื่น ซึ่งก็คือ 3rd Party Data นั่นเอง

รายงานของ Privacy International องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหราชอาณาจักร (UK) ชี้ว่า ผลสำรวจพบว่าแอปฯ ลดน้ำหนักบางตัวใช้ข้อมูลของผู้ใช้ที่มากเกินจำเป็น และลงรายละเอียดมากเกินไป โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการแพทย์ อีกทั้งยังมีการแชร์ข้อมูลให้กับบุคคลที่ 3 อีกด้วย

ถ้าใครเคยใช้แอปฯ เพื่อลดน้ำหนัก ควบคุมการทาน หรือหาเทรนเนอร์ออกกำลังกายจากในบางแอปฯ เหล่านี้ อาจจะเคยกรอกข้อมูลจำเป็นบางอย่างก่อนใช้บริการ เช่น ประเภทร่างกาย, น้ำหนัก, ส่วนสูง, อายุ, นิสัยการทาน, วิธีการออกกำลังกาย ฯลฯ รวมไปถึงข้อมูลทางการแพทย์ เช่น คุณเป็นเบาหวานหรือไม่? เป็นต้น

 

 

 

สมมุติฐาน การทดลองใน 3 แอปฯ ยอดนิยม

รู้หรือไม่ว่า จากการทดลองของทีมวิจัย Privacy International ใน 3 แอปฯ ที่เป็นที่นิยมใน UK และในอีกหลายประเทศ ได้แก่ Noom, BetterMe และ VShred ด้วยการป้อนข้อมูลพื้นฐานในการใช้แอปฯ ที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะน้ำหนัก, ส่วนสูง, วิธีการทาน หรือ ข้อมูลการแพทย์บางอย่าง

สิ่งที่ได้จากการทดสอบนี้ คือ “ผลลัพธ์ที่ออกมาแทบจะเหมือนกันทุกครั้ง!

ตัวอย่างเช่น นักวิจัยลองป้อนข้อมูลในแอปฯ BetterMe ทั้งน้ำหนักเริ่มต้น – น้ำหนักเป้าหมาย และอื่นๆ โดยข้อมูลเหล่านี้จะแตกต่างกันในการทดลอง 5 ครั้ง โดยพบว่า แผนแนะนำแทบไม่ต่างกัน โดยระบุว่าใน 1 สัปดาห์แรกหลังทำตามคำแนะนำน้ำหนักสามารถลดลงได้ประมาณ 4 kg (ไม่ว่าการทดสอบแต่ละครั้งจะมีการกรอกข้อมูลที่แตกต่างกัน เช่น คนที่ชอบทานเนื้อสัตว์ กับคนที่ทานมังสวิรัติ)

คล้ายๆ กับอีก 2 แอปฯ Noom กับ VShred ที่ทดลองแล้วผลลัพธ์แทบไม่ต่างกันในแต่ละครั้ง ไม่ว่าเราจะกรอกข้อมูลแตกต่างกันยังไง ขณะที่แผนแนะนำที่มีจากนักโภชนาการประจำแอปฯ ก็คล้ายคลึงกับในวิดีโอ หรือหนังสือที่ให้คำแนะนำด้านฟิตเนส โดยที่แหล่งข้อมูลเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องกรอกข้อมูลส่วนบุคคลแต่อย่างใด (บทวิเคราะห์จากทีมวิจัย Privacy International)

ยิ่งกว่านั้น Noom เป็นแอปฯ ที่มีการถามคำถามมากที่สุดประมาณ 50 ข้อ เมื่อเทียบกับอีก 2 แอปฯ โดยเป็นรายละเอียดที่ลงลึกขึ้น เช่น สุขภาพจิต, สุขภาพกาย, นิสัยหลังออกกำลังกาย, ประวัติทางการแพทย์เชิงลึก (หรือสามารถระบุชื่อยาที่ทานทุกวันลงในแอปฯ ได้) ซึ่งคำถามเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากในการตอบคำถามทางออนไลน์ เพราะข้อมูลของเราจะถูกเก็บอยู่ในคลาวด์ และใครๆ ก็สามารถดึงไปใช้ได้

 

 

เกิดอะไรขึ้นกับ data ที่เราใช้บริการ 3 แอปฯ

จากทีมวิจัย Privacy International ที่ได้ทดลองใน 3 แอปฯ ลดน้ำหนัก เช่น VShred สามารถค้นหาข้อมูลผู้ใช้ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง Google Analytics, Facebook และ Yandex ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้บุคคลหรือธุรกิจไหนก็ได้มาใช้ข้อมูล

ส่วน BetterMe อาจจะไม่ได้เปิดเผยข้อมูลผู้ใช้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยๆ เราจะเห็นข้อมูลเบื้องต้น เช่น เพศ, อายุ ในแพลตฟอร์มที่เป็น URL ขณะที่ Noom ยอมรับว่ามีการแบ่งปันข้อมูลผู้ใช้ให้กับบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล (Fullstory) เท่านั้น เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ นักวิจัยยังพูดว่า นอกจากที่ข้อมูลเหล่านี้ปรากฏใน URL หลายแห่ง สิ่งที่น่ากังวก็คือ บริษัทผู้ผลิตแอปฯ เหล่านี้ยังยืนยันว่า “การแชร์ข้อมูลอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่สอดคล้องกับข้อกฎหมาย และสิทธิส่วนบุคคล เป็นการเน้นไปที่การพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าเป็นสำคัญเท่านั้น” ซึ่งกรอบความคิดแบบนี้ทำให้การตีความเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง ขณะที่ผู้บริโภคเองไม่ได้รับรู้ว่าข้อมูลของตนถูกแชร์ไปยังพื้นที่แหล่งข้อมูลบุคคลที่ 3 มากน้อยแค่ไหน

จึงไม่แปลกใจหากเราจะเห็นในสื่อโซเชียล หรือแพลตฟอร์มอื่น เช่น e-Marketplace ว่าทุกครั้งที่เราค้นหา หรือให้ข้อมูลบางอย่างไป การยิงแอดโฆษณาจะโชว์ถี่ขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ เป็นไปได้ในฐานะผู้บริโภคก็คงดีใจที่ 3rd Party Data จะถูกยกเลิกไป แต่ในส่วนของธุรกิจคงต้องพยายามให้หนักขึ้นเพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอในการวิเคราะห์เชิงธุรกิจและการตลาด

 

 

 

ที่มา: fast company, privacy international


  • 627
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม
CLOSE
CLOSE