เรียนรู้ Mobility Data ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้เมืองรอง ต้อนรับนักท่องเที่ยว

  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  

Data คือเครื่องมือสำคัญสำหรับการตลาดในยุคดิจิทัล และ Mobility Data ก็เป็นหนึ่งในข้อมูลที่สำคัญในการวางแผนการตลาด ที่จะช่วยให้เห็นการเคลื่อนที่ของผู้คน รวมไปถึงการกระจุกตัวของผู้คน ที่จะช่วยให้ธุรกิจมองเห็นโอกาสในการวางกลยุทธ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของหลายๆ คน โดยเฉพาะในเรื่องการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในรายได้ช่วยสร้างเศรษฐกิจของไทยให้เติบโต

หลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง ธุรกิจการท่องเที่ยวถือเป็นธุรกิจแรกๆ ที่ได้รับอานิสงส์ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการเที่ยวที่อัดอั้นมาถึง 2 ปี และยังมีความไม่มั่นใจในการเดินทางต่างประเทศ ทำให้หลายคนหันมาท่องเที่ยวภายในประเทศไทยมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นหลายคนยังมีแนวคิดการเที่ยวเมืองรอง ซึ่งเป็นหนึ่งในแคมเปญของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

นั่นจึงทำให้หลายเมืองรองเริ่มมีกลยุทธ์ในการดึงนักท่องเที่ยว แต่ก็มีบางจังหวัดที่อยู่ในสถานนะ “เมืองทางผ่าน” แม้จะมีศักยภาพในการท่องเที่ยว แต่เพราะยังไม่เข้าใจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวทำให้จังหวัดเหล่านั้นรวมถึงธุรกิจภายในจังหวัดนั้น วางกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ไม่ตรงจุด ซึ่ง Mobility Data จะช่วยให้จังหวัดและธุรกิจเข้าใจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง dtac-สดช.-สถาปัตย์ จุฬาฯ และ บุญมีแล็บ

 

Mobility Data คืออะไรได้มาอย่างไร

หากแปลตรงตัว Mobility Data คือ ข้อมูลที่บันทึกการเคลื่อนที่ของแต่ละคน โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นการตรวจสอบการเคลื่อนที่ของโทรศัพท์สมาร์ทโฟนผ่านการจับสัญญาณของเสาส่งสัญญาณ (Cell Site) โดยข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเจ้าของเบอร์โทรศัพท์และหมายเลขเบอร์โทรศัพท์ (Anonymous) โดยจะเป็นข้อมูลที่บอกปริมาณความหนาแน่นของการรวมตัวในจุดนั้นๆ และรูปแบบการเดินทาง

โดยความร่วมมือดังกล่าวเกิดจาก 4 หน่วยงานรัฐและเอกชนอย่าง dtac ผู้รวบรวมข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน ขณะที่ทาง สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในการดูแลเรื่องข้อกฎหมายในการใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่วน สถาปัตย์ จุฬาฯ เจ้าภาพโครงการดังกล่าวที่ต้องการนำข้อมูลไปช่วยเหลือจังหวัดและธุรกิจให้เกิดรายได้ และ บุญมีแล็บ ในฐานะ Data Scientist

ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวเน้นไปที่เรื่องของ “ศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility Data” ซึ่งจะช่วยให้เห็นถึงการเดินทางของผู้คน แต่ในความเป็นจริงแล้ว Mobility Data สามารถของอะไรมากมาย เช่น ความต้องการเดินทางของผู้คน โดยดูจากความเร็วในการเคลื่อนที่เพื่อดูว่าผู้คนส่วนใหญ่นิยมเดินทางด้วยเครื่องบินหรือรถยนต์ หรือแม้แต่การวางแผนเพื่อลดมลพิษในจุดที่มีการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึงการรวมตัวของรถยนต์จำนวนมาก เป็นต้น

 

เจาะกลุ่ม Micro-Tourism วันเดียวก็เที่ยวได้

สำหรับโครงการดังกล่าว หลังวิเคราะห์ Mobility Data แล้ว สามารถแบ่งได้ 3 แนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง ประกอบไปด้วย การดึงดูดการท่องเที่ยวระยะใกล้ (Micro-Tourism), การส่งเสริมการค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ และ การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด โดย Mobility Data ระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึงตุลาคม 2564 พบว่า ผู้เดินทางส่วนใหญ่เป็นเพศชายราว 40% เพศหญิงราว 35% และไม่ได้ระบุเพศ 25% โดยส่วนใหญ่มีถิ่นพำนักในกรุงเทพฯ ถึง 54%

ทั้งนี้ นักท่องเที่ยว 47% มีอายุระหว่าง 21-40 ปีหรือเป็นวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มวัยกลางคนหรือกลุ่มอายุ 41-60 ปี มีสัดส่วนอยู่ที่ 35% ส่วนนักท่องเที่ยววัยสูงอายุหรือกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปที่สัดส่วนอยู่ที่ 14% และนักท่องเที่ยวกลุ่มวัยเด็กและเยาวชน ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีมีสัดส่วนอยู่ที่ 4% นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงลักษณะนักท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาด พบว่า มีลักษณะเป็นการเดินทางแบบพักค้างถึง 67% และการเดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับ 33%

โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวแนวทางแรก คือ การส่งเสริม Micro-Tourism หรือ กลุ่มนักท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับในระยะทางไม่เกิน 150 กิโลเมตร หรือใช้เวลาเดินทางราว 1-2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเป็นที่นิยมของกลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยทำงานและกลุ่มวัยเกษียณอายุ สามารถส่งเสริมโดยเน้นกิจกรรมในด้านการเรียนรู้ ช่วยให้รำลึกถึงความทรงจำในอดีต และการสร้างประสบการณ์ใหม่ จังหวักดและธุรกิจจึงต้องมองหาอัตตลักษณ์ที่จะช่วยสร้างการจดจำ และเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการบริโภคสินค้าและบริการในพื้นที่

โดย Mobility Data ชี้ให้เห็นว่า มี 16 จังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพในการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวแบบ Micro-Tourism ประกอบด้วย จังหวัดนครศรีธรรมราช เชียงราย นครพนม ลำพูน นครนายก ระนอง เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน พัทลุง ราชบุรี นครสวรรค์ บุรีรัมย์ มหาสารคราม สุพรรณบุรี และชุมพรตามลำดับ

 

เที่ยวค้างคืนโอกาสการเติบโตของเมืองรอง

นอกจากรูปแบบวันเดียวก็เที่ยวได้แล้ว Mibility Data ยังช่วยให้เห็น การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ (Experience-Based Overnight Tourism) ซึ่งการท่องเที่ยวแบบค้างคืนจะช่วยให้โอกาสที่นักท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น เป้นอีกหนึ่งแนวทางในการกระจายรายได้สู่การท่องเที่ยวเมืองรอง และเป็นการกระจายรายได้ให้กับผู้ประกอบการและชุมชน

สำหรับการท่องเที่ยวแบบค้างคืนส่วนใหญ่จะไปเป็นกลุ่มหรือไปเป็นครอบครัว ที่สำคัญยังนิยมท่องเที่ยวในระยะเวลา 2-3 วัน ยิ่งในช่วงที่มีวันหยุดติดต่อกัน 2 วัน 1 คืน  โดยยังคงเป็นจังหวัดที่มีระยะการเดินทางไม่เกิน 150 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนในช่วงที่พักค้างคืน การเที่ยวแบบพักค้างคืนจะช่วยสร้างโอกาสให้ท้องถิ่นสามารถนำเสนอและมีส่วนร่วมกับนักท่องเที่ยวผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น เทศกาลต่างๆ ของท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรมต่างถิ่น (Cultural Exchange) จากข้อมูลยังพบว่า หากนักท่องเที่ยวที่พักค้างคืนมีประสบการณ์ที่ดีในการท่องเที่ยว โอกาสที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยวซ้ำและจะมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะกลายเป็น Fanbase ของจังหวัดนั้นๆ

ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Mobility Data ทำให้พบว่า มี 21 จังหวัดเมืองรองที่มีศักยภาพสูงในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว ได้แก่ นครศรีธรรมราช เพชรบูรณ์ เชียงราย อุบลราชธานี พิษณุโลก ชุมพร จันทบุรี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ เลย ตราด น่าน นครสวรรค์ อุดรธานี ลำปาง ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคราม สตูล ตรัง และชัยภูมิ ตามลำดับ

 

เชื่อมโยงหลายจังหวัดกับการท่องเที่ยวแบบทริป

นอกจากรูปแบบการท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับและการท่องเที่ยวแบบค้างคืน การท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (Tourism Cluster) หรือถ้าให้เข้าใจง่ายๆ คือการเที่ยวแบบเป็นทริปเที่ยวหลายจัวหวัดในการเดินทาง เป็นหนึ่งในรูปแบบส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบกลุ่มจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันในกลุ่มจังหวัดเมืองรองที่มีแนวโน้มการมาเยือนใน 1 ทริป

โดย Mobility Data ชี้ว่า นักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้จะใช้เวลาการเที่ยวอยู่ที่ 2.5 วันหรือเที่ยวแบบ 3 วัน 2 คืน ซึ่งการเพิ่มการใช้เวลาในการท่องเที่ยวแต่ละจังหวัดต้องมีการพัฒนากิจกรรมบนเส้นทางร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดรองภายใต้การสร้างเรื่องราว (Storytelling) เชื่อมโยงสถานที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด หรือการจัดโปรโมชั่นร่วมกันในกลุ่มจังหวัดรองสำหรับส่วนลดที่พักและร้านอาหาร การสะสมแต้มผ่านสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่สามารถใช้ในแต่ละกลุ่มจังหวัด เป็นต้น

ผลจากการวิเคราะห์ Mobility Data สามารถแบ่งกลุ่มจังหวัดการท่องเที่ยวออกเป็น 4 ประเภทหลัก ทั้งประเภทเมืองรองแฝงอยู่ในกลุ่มเมืองหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดบุรีรัมย์-นครราชสีมา-สระบุรี ประเภทกลุ่มเมืองรองล้อมเมืองหลัก เช่น กลุ่มจังหวัดนครสวรรค์-ชัยนาท-สิงห์บุรี-อ่างทอง-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี ประเภทเพื่อนเมืองรองหรือกลุ่มจังหวัดที่เป็นเมืองรองทั้งหมด เช่น กลุ่มจังหวัดลำปาง-ตาก-กำแพงเพชร-นครสรรค์ และประเภทเมืองฝาแฝดหรือการเที่ยวที่ต้องเที่ยวแบบจับคู่เพียง 2 จังหวัด เช่น จังหวัดปราจีนบุรี-ฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ Mobility Data ยังชี้ให้เห็นถึงจังหวัดทางผ่าน 10 จังหวัดที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกที่จะผ่านหรือท่องเที่ยว แต่ไม่ต้องการพักค้างคืน ประกอบไปด้วย จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม ชัยนาท ลำพูน ลพบุรี พัทลุง ปราจีนบุรี ปัตตานี และราชบุรี ตามลำดับ แต่ก็เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพการท่องเที่ยว ซึ่งหากมีกิจกรรมที่ช่วยดึงดูดและสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ จะช่วยให้นักท่องเที่ยวใช้เวลากับเมืองทางผ่านมากขึ้น

 

ความร่วมมือสู่การพัฒนา Mobility Data

โดย คุณชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ชี้ว่า โครงการวิจัยศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองจาก Mobility data นี้ เป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และเอกชนในการนำร่องใช้ Mobility data เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยโจทย์ของการวิจัยในครั้งนี้มุ่งเน้นที่การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ซึ่ง Mobility Data สามารถช่วยประเมินสถานการณ์การเดินทางและการกระจุกตัวของผู้คนได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

คุณชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค

ด้าน คุณภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลฯ เห็นว่า รัฐบาลตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของข้อมูลที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจดิจิทัลและเปลี่ยนผ่านโครงสร้างประเทศสู่ Digital Nation ข้อมูลที่เรียลไทม์จะช่วยให้ภาครัฐสามารถบริหารจัดการปัญหาต่างๆ ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การบริหารจัดการน้ำ การรับมือกับภัยพิบัติ เป็นต้น เพื่อประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด

ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า แม้ว่าการท่องเที่ยวจะทำรายได้ให้กับประเทศ แต่การท่องเที่ยวกลับกระจุกตัวอยู่เพียงเมืองท่องเที่ยวหลัก จึงถือเป็นโอกาสที่จะสร้าง “สมดุล” ในการกระจายนักท่องเที่ยวไปสู่จังหวัดเมืองรองด้านการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่น

ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Mobility Data จะช่วยให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจรูปแบบการเดินทางและการกระจุกตัวของนักท่องเที่ยว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการวางแผนและนโยบายการท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัด นอกจากนี้ยังสามารถนำเอาข้อมูล Mobility Data ไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะและการแก้ไขปัญหาสังคม ภายใต้หลักจริยธรรมและการปกป้องความเป็นส่วนตัวอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมโรคระบาด การย้ายถิ่นฐานแบบบังคับ ภาวะโลกร้อน การรับมือกับภัยธรรมชาติ เป็นต้น

สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเชิงลึกและเบื้องหลังการทำงานเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ สามารถศึกษาเพิ่มเติมจากซีรีส์บทความได้ที่ https://www.dtac.co.th/mobility-data


  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา
CLOSE
CLOSE