Facebook ไม่โอ! ขอพื้นที่ชี้แจง 7 ด้านที่สารคดี ‘The Social Dilemma’ บิดเบือนและไม่อัพเดท

  • 347
  •  
  •  
  •  
  •  

Credit: Netflix/medium.com

 

ตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ Netflix ปล่อยตัวสารคดีด้านมืดของสื่อโซเชียลอย่างเรื่อง ‘The Social Dilemma’ ผ่านการสัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในวงการพวกนี้มาก่อน ดูเหมือนว่ากระแส talk of the town ทั้งการวิเคราะห์โจมตี เห็นด้วย ชวนให้คิดต่างๆ นานา ก็คลุกฟุ้งอยู่เต็มไปหมดในช่วงนี้

และกระแสยิ่งโหมกระหน่ำมากขึ้นไปอีก หลังจากที่ ‘Facebook’ เปิดฉากขอพื้นที่ชี้แจง 7 ด้านที่มองว่า เนื้อหาของเรื่องนี้บิดเบือนจากความเป็นจริง และไม่แสดงถึงความพยายามของ Facebook ที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่อัพเดทเนื้อหาตามความเป็นจริง หรือไม่มีข้อมูลเชิงลึกมากพอเกี่ยวกับระบบการทำงานของ Facebook ในปัจจุบัน

 

 

ทั้งนี้ 7 ด้านที่เจ้าพ่อสื่อโซเชียล ‘Facebook’ ได้ให้ข้อมูลเพื่ออธิบายต่อสาธารณะ สรุปได้ดังนี้

 

ADDICTION Facebook

ภาวะเสพติด Facebook ของผู้คน ที่ต้องปฏิเสธเสียงแข็งเพราะว่า ในปัจจุบัน Facebook ได้พยายามปรับการแสดงผลโดยลดเนื้อหาประเภทไวรัลวิดีโอลง ตั้งแต่ปี 2018 อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนการจัดอันดับสำหรับ News Feed ตามความสำคัญและที่มีประโยชน์มากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ก็คือ การใช้งาน Facebook ของคนทั้งโลกลดลงถึง 50 ล้านชั่วโมงต่อวัน ซึ่งในเนื้อเรื่อง The Social Dilemma ไม่เคยหยิบยกขึ้นมาพูด

นอกจากนี้ Facebook ยังทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหลายองค์กร ขณะที่ทีมวิจัยของ Facebook ได้อุทิศเวลาเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจผลกระทบจากสื่อโซเชียลต่อผู้ใช้

 

YOU ARE NOT THE PRODUCT

อีกหนึ่งประเด็นจากสารคดีเรื่องนี้ที่ถูกหยิบมาพูดบ่อยมาก คือ ‘ผู้ใช้สื่อโซเชียล = สินค้า’ ซึ่งทาง Facebook ได้ยืนยันว่า ผู้ใช้งานไม่ใช่สินค้า และไม่มีการขายข้อมูลแต่อย่างใด และสำหรับการขายโฆษณาผ่านแพลตฟอร์ม Facebook เป็นกระบวนการที่ทำให้ผู้คนใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

Facebook ยืนยันว่า โมเดลนี้จะช่วยธุรกิจขนาดเล็กให้เติบโต และสามารถแข่งขันได้กับธุรกิจขนาดใหญ่ ช่วยในการหาลูกค้าใหม่มากขึ้น ง่ายขึ้น “แม้ว่าคุณจะซื้อ Ads ของเราแต่จะไม่มีวันเปิดเผยข้อมูล หรือตัวตนของคุณ เว้นแต่คุณจะอนุญาต”

 

ALGORITHMS

ความบ้าคลั่งของอัลกอริทึมที่เราเห็นในเนื้อเรื่องดังกล่าว เป็นการเปรียบเปรยที่เกินจริง Facebook ใช้อัลกอริทึมเพื่อปรับปรุงประสบการณ์สำหรับผู้ที่ใช้เท่านั้น เช่นเดียวกับโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น Dating app, Amazon, Uber หรือแม้แต่ Netflix เองก็ใช้อัลกอริทึม เพื่อเช็คดูว่ามีแนวโน้มที่ผู้ใช้จะดูสารคดีเรื่อง The Social Dilemma หรือไม่ แล้วกลุ่มลูกค้าแบบไหนที่ควรดูสารคดีเรื่องนี้ เป็นต้น

“สิ่งนี้เกิดขึ้นกับทุกบริการทุกบริษัท อัลกอริทึม และพวก machine learning เป็นเครื่องมือช่วยปรับปรุงบริการของเรา”

 

DATA

จากกระแสที่เปรียบเทียบผู้ใช้เป็น ‘สินค้า’ การใช้ข้อมูลในเชิงผลประโยชน์ทางพาณิชย์ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนที่พูดถึงอยู่มากเหมือนกัน โดย Facebook ยืนยันว่า บริษัทได้ปรับปรุงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มากกว่าเดิม และในปี 2019 facebook ได้ทำข้อตกลงร่วมกับ คณะกรรมการการค้าแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Trade Commission – FTC) เพื่อสร้างการป้องกันข้อมูลของผู้ใช้ไม่ให้รั่วไหลออกไป

ที่ผ่านมา Facebook ได้มีนโยบายห้ามใช้ Facebook ในการส่งข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เช่น ข้อมูลสุขภาพ, หมายเลขประกันสังคม แม้แต่ในแพลตฟอร์ม Facebook Pixel และ SDK เองก็ด้วย

 

POLARIZATION

สำหรับประเด็นเรื่อง ‘Polarization’ หรือ การเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว (ในสารคดีพูดว่า ข้อมูลของแต่ละคนที่เห็นบน Feed ไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดความสับสน และการแบ่งขั้วขึ้น) โดยทาง Facebook ยืนยันว่า ได้ปรับระบบมาสักพักแล้ว เช่น การลดเนื้อหาที่มีความรุนแรง คำพูดรุนแรง เป็นต้น

แต่สถานการณ์การแบ่งพรรคแบ่งขั้วเกิดขึ้นมานานแล้ว ก่อนที่จะมี Facebook เสียอีก ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนเนื้อหาที่แสดงบนแพลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็น เรื่องราวรายวัน เพื่อนและครอบครัว ไม่ใช่การแบ่งขั้ว หรือการเมือง

 

ELECTIONS

จากความพลั้งพลาดของ Facebook เมื่อ 4 ปีก่อนจนทำให้ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ชนะการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกา แต่ครั้งนี้ Facebook ยืนยันว่า จะไม่มีการใช้แพลตฟอร์มหรือข้อมูลผู้ใช้เพื่อไปแทรกแซงการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยจะสมบูรณ์ผ่านประชาชนแน่นอน โดยพวกเขาได้ปรับและพัฒนาระบบความปลอดภัย รวมถึง ข้อบังคับต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงเพื่อการแทรกแซง

โดยมั่นใจว่า ระบบของ Facebook มีความซับซ้อนที่สุดในโลกเพื่อป้องกันการแฮกข้อมูล  นอกจากนี้ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา Facebook ได้ลบเครือข่ายกว่า 100 เครือข่ายทั่วโลกที่มีพฤติกรรมไม่น่าเชื่อถือ และเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ได้เปิดตัว ‘Ad Library’เพื่อให้การโฆษณาโปร่งใสมากที่สุด โดยผู้ใช้จะมองเห็นโฆษณาทั้งหมดบน Facebook แม้ว่าคุณจะไม่เคยเห็นโฆษณาบางตัวบนหน้า Feed ของคุณเองก็ตาม

 

MISINFORMATION

Fake news เป็นพาร์ทที่ถูกพูดถึงบ่อยมากในสารคดีเรื่องนี้ โดยกล่าวหาว่า ความปลุกปั่น เกลียดชัง ประท้วง ความรุนแรงทั้งหมด มาจากธุรกิจ fake news ที่หาผลประโยชน์จากความรุนแรง การบิดเบือนข้อมูลเพียงเล็กน้อยเพื่อกำไรที่มหาศาลกว่า ซึ่ง Facebook ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาแก้ไขและกำจัด fake news เป็นล้านๆ มาแล้ว เพื่อให้ผู้ใช้รับสารที่เป็นความจริงเท่านั้น

ดังนั้น สำหรับ Facebook ข้อกล่าวหานี้ถือว่าบิดเบือนความเป็นจริงเกี่ยวกับระบบหลังบ้านที่รุนแรง Facebook เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพียงแห่งเดียวที่มีเครือข่ายพันธมิตร ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงกว่า 70 รายทั่วโลก เราจะช่วยกันตรวจสอบเนื้อหาในภาษาต่างๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ในไตรมาส 2/2020 Facebook ได้จัดการกับ #hate speech กว่า 22 ล้านชิ้น หรือราวๆ 94% ดังนั้น สารคดีเรื่องนี้ค่อนข้าง ‘ไม่อัพเดท’ กับข้อมูลใหม่ของ Facebook และถือเป็นการกล่าวอ้างสื่อโซเชียลแบบไม่เป็นกลาง

 

อ่านเพิ่มเติม

สารคดีแห่งปี! ‘The Social Dilemma’ ที่ทุกคนต้องดูในยุคนี้ เผย ‘New Business Model’ ที่ใช้ Social Media เล่นกับด้านมืดของมนุษย์

 

ในฐานะที่เป็นคนที่ใช้ทั้งสื่อโซเชียลรวมทั้ง Facebook และก็เป็นคนที่ดูสารคดีเรื่องนี้จบแล้ว สิ่งที่รู้สึกและผุดอยู่ในหัวตลอดเวลาก็คือ ‘เหรียญมันมี 2 ด้านอยู่แล้ว’ ถ้าเราแบ่งแยกเนื้อหาที่ hardcore ได้ หรือพิจารณาว่าเป็น fake news ก่อนที่จะปักใจเชื่อ รวมทั้งจัดสรรเวลาใช้งานสื่อโซเชียลในแต่ละวันได้ดี มันจะไม่มีคำว่า ‘เห็นด้วย หรือ โต้แย้งในใจ’ เพราะการรู้เท่าทันสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็น the best choice สำหรับเรื่องนี้

 

Credit: Netflix

 

 

 

ที่มา: Facebook, vulture


  • 347
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม
CLOSE
CLOSE