ข้อมูลส่วนบุคคล ของเราไปไหน ถูกซื้อขายอย่างไรบนอินเทอร์เน็ต? #PersonalData

  • 152
  •  
  •  
  •  
  •  

ในโลกที่เราต้องอยู่กับอินเทอร์เน็ต เราเอาข้อมูลของเรา (Personal Data) ไว้บนอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลที่กรอกลงบน Facebook ภาพถ่ายเซลฟี่บน Instagram และข้อมูลการเช็คอินบน Facebook หรือการเปิด Location บอกตำแหน่งของภาพ หรือตำแหน่งที่เราอยู่   ทำให้คนทั่วไปเห็นว่าเรากำลังทำอะไร ที่ไหน อย่างไร   ข้อมูลเหล่านี้ เราใช้เวลากรอก อัพโหลด และจัดเก็บในช่วงเวลาไม่กี่วินาที และอาจจะไม่มีค่าอะไรมากสำหรับเรา  แต่หารู้ไม่ว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่เราแชร์บนโลกออนไลน์เหล่านี้มีค่ามากสำหรับนักวิชาการ นักการตลาด นักกฎหมาย และคนที่หาผลประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลนี้ทั่วโลก เช่น เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค หรือสิบสวนสอบสวนผู้กระทำผิดทางกฎหมายต่าง ๆ

ข้อมูลส่วนบุคคล ของเราไปไหน ถูกซื้อขายอย่างไรบนอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลส่วนบุคคล ของเราไปไหน ถูกซื้อขายอย่างไรบนอินเทอร์เน็ต

“ข้อมูลส่วนบุคคล” มีขอบข่ายแค่ไหน

ก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะบูมในเมืองไทย ข้อมูลส่วนบุคคลได้แก่ เลขบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ข้อมูลทางการแพทย์ ฯลฯ ยังเป็นระบบกระดาษ และมีการเก็บไว้อย่างดีในสถานที่ราชการหรือองค์กรที่ให้คำมั่นว่าจะเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับ

แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป โดยมีอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ข้อมูลของเรา เช่น บัตรประชาชนที่ลงทะเบียน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ กับแอพฯ สำหรับคอนซูมเมอร์ ข้อมูลบัตรเครดิต ข้อมูลการเรียกรถแท้กซี่เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ข้อมูลสุขภาพที่เรากรอกผ่านแอพฯ เหล่านี้ อาจตกอยู่ในมือของบุคคลที่ 3 ได้ง่าย เช่น แฮกเกอร์ บริษัทผู้ให้บริการแอพพลิเคชัน บริษัทขายประกัน หรือบัตรเครดิต หรือแม่แต่บริษัทขายยาต่าง ๆ ได้

 

“ข้อมูลส่วนบุคคล” ของเราซื้อขายกันอย่างไร

ในต่างประเทศ มีบริษัทที่ทำธุรกิจขายข้อมูลส่วนบุคคลของคนจำนวนมากให้กับผู้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว โดยบริษัทที่ขายข้อมูลของคนอื่นเรียกว่า Data Brokers  บริษัทเหล่านี้ ทำการเก็บข้อมูลของกลุ่มบุคคลเป้าหมายจากโลกอินเทอร์เน็ต รวมไปถึง ข้อมูลจากออฟไลน์ให้กับลูกค้าของตัวเองเพื่อเอามาใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเชิงพาณิชย์ หรือเชิงกฎหมาย ฯลฯ

Data Brokers เหล่านี้ อาจซื้อข้อมูลของกลุ่มลูกค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดจากแหล่งอื่นโดยตรง เช่น ซื้อข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยจากคลีนิก ซื้อข้อมูลการใช้รถจากบริษัทขายรถ ฯลฯ ถึงแม้ข้อมูลบางอย่างอาจจะไม่ถูกต้อง 100% ก็ตาม แต่ก็เป็นประโยชน์อย่างมากให้กับนักลงทุน นักการตลาด หรือบริษัทโฆษณาต่าง ๆ

ข้อมูลจาก Data Brokers สามารถสร้างความปวดหัวให้กับเจ้าของข้อมูลได้ไม่น้อย หากตกไปอยู่ในมือของบรรดาบรษัททวงหนี้ มือปืนรับจ้าง และบรรดาผู้ประสงค์ร้ายต่อเจ้าของข้อมูล

ส่วนในเมืองไทยก็พอจะเห็นได้จากการที่ข้อมูลของเราไปอยู่ในมือของบริษัทนักการตลาด บริษัทขายประกัน บริษัทขายบัตรเครดิต ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่า หลายคนดูจะไม่แฮปปี้กับผลที่ตามมาหลังข้อมูลถูกขายออกไป

บางรัฐในสหรัฐอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย และ เวอร์มอนท์ ก่อนหน้านี้ ข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่นสร้างกำไรมหาศาลและเอื้อประโยชน์ให้หลายคนที่หาประโยชน์จากข้อมูลผู้อื่น แต่ทุกวันนี้ กฎหมายเริ่มเข้มงวดขึ้น แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นในบางธุรกิจ เช่น Data Brokers ที่นำข้อมูลของคนอื่นมาใช้ทำเป็น Phone Books ซึ่งช่วยให้ธุรกิจอื่น ๆ ที่ใช้บริการ Phone Books สามารถหาประโยชน์ได้ในแง่ของธุรกิจ และไม่สร้างความเสียหายให้กับทั้งเจ้าของข้อมูลและผู้ซื้อข้อมูลเอง

ยิ่งเทคโนโลยีปัจจุบันไปไกล ข้อมูลส่วนบุคคลของเราก็ยิ่งถูกนำไปใช้ในแง่ที่เกียวกับเทคโนโลยีเหมือนกัน เช่น ถูกเอาไปใช้ในงาน Chat Bot เพื่อให้จดจำรูปแบบการสนทนาที่ซ้ำ ๆ และเมื่อ Chat Bot จับรูปแบบได้ก็จะสามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องตอบคำถามลูกค้า และงานลูกค้าสัมพันธ์ ส่วน AI ก็นำเอาข้อมูลส่วนบุคคลของเราไปใช้เพื่อพัฒนาระบบหุ่นยนตร์ที่มีอยู่เดิมให้ดูมีความสามารถด้านเชาว์ปัญญาที่ดีขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าเราจะโพสต์บทสนทนาใด คอมเมนท์อะไร แช็ตอย่างไร หรือเซลฟี่เรายังไง ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนตร์ทำงานได้มืออาชีพมากขึ้น ทำงานได้ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้น

 

ย้อนหลังดูวิวัฒนาการการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเรา

ช่วง 150 ปีก่อนคริสตกาล ชาวกรีกโบราณประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ชื่อว่า Antikythera เพื่อเก็บข้อมูลการเคลื่อนที่ของดางดาวบนท้องฟ้า เพื่อสร้างแพทเทอร์นทางดาราศาสตร์

ในปี 1880 Herman Hollerith สร้างอุปกรณ์เจาะกระดาษขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมงานเก็บข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐ และในปี 1890 และอุปกรณ์ดังกล่าวนี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องคอมพิเวเตอร์เพื่อธุรกิจหรือ IBM ในปัจจุบัน

ในปี 1960 รัฐบาลสหรัฐได้ใช้เมนเฟรมคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลประชากรของตัวเอง ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาล และบริษัทเอกชนก็ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเก็บข้อมูลและประมวลผลพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย

การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลมีวิวัฒนาการของมันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในยุคของอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรา ทำให้การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเหนือชั้นขึ้น เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และสามารถเก็บได้มากขึ้น ผ่านช่องทาง Online Tracking เช่น

คุ้กกี้ทั่วไป (Traditional Cookies)

คุ้กกี้ชนิดนี้จะเก็บข้อมูลทั่วไปจากเว็บเดียว เมื่อเข้าครั้งแรกก็จะเก็บข้อมูลที่เกี่ยวกับความเป็นตัวตนของผู้ใช้เอาไว้ และเมื่อเรียกใช้อีกครั้ง คุ้กกี้ตัวนี้ก็จะเรียกข้อมูลที่เคยบันทึกไว้ออกมา

 

ซุปเปอร์คุ้กกี้ (Super Cookies)

ซุปเปอร์คุกกี้เป็นคุกกี้ที่ยากจะลบออกจากบราวเซอร์ได้ คดีอื้อฉาวของบริษัทชื่อดังที่ใช้ซุปเปอร์คุกกี้ ได้แก่ Verizon ซึ่งต้องจบลงด้วยการจ่ายค่าปรับถึง 1.35 ล้านดออลาร์สหรัฐให้กับคณะกรรมการกลางกำกับดูแลการสื่อสาร เพราะใช้คุ้กกี้ดังกล่าวหาประโยชน์

 

ฟิงเกอร์ปรินเตอร์

แทรกเกอร์เว็บไซต์ตัวนี้เฝ้าติดตามผู้ใช้โดยการสร้างโปรไฟล์จำเพาะตามอุปกรณ์ผู้ใช้ แทรกเกอร์ชนิดนี้เก็บข้อมูล เช่น หมายเลขไอพีของเครื่องและอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ทุกอย่างที่อยู่บนหน้าจออุปกรณ์ และประเภทของคอมพิวเตอร์ที่ผู้ใช้กำลังใช้อยู่ ฯลฯ

 

แทรกเกอร์เพื่อการยืนยันตัวตน

แทรกเกอร์ตัวนี้ต่างจากคุ๊กกี้มาก เพราะตามติดผู้ใช้ไปทุกหนแห่ง โดยระบุข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อย่างชัดเจน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับอีเมล แทรกเกอร์ตัวนี้ทำงานอย่างได้มีประสิทธิภาพมากเพราะซ่อนตัวอยู่ในหน้าล็อคอิน และคอยเก็บข้อมูลที่มีการพิมพ์ผ่านเว็บล็อคอินทั้งหมด

 

คุ้กกี้ที่ถูกใช้งานเป็นช่วง ๆ

คุกกี้ประเภทนี้เก็บข้อมูลบนเว็บไซต์เดิม ๆ เช่น ข้อมูลการล็อคอินเข้าสู่ระบบ และช่วยจดจำว่า คุณได้ซื้ออะไรบ้าง แม้จะปิดหน้าจอไปแล้ว คุ้กกี้ตัวนี้ก็ยังจดจำได้และไม่มีลบข้อมูลทิ้ง

 

สคริปต์เล่นซ้ำ (Session-replay Scripts)

เครื่องมือที่ชื่อ Session-replay Scripts เรียกได้ว่าเก็บข้อมูลได้ละเอียดและเรียลไทม์มาก เเพราะเก็บข้อมูลของผู้ใช้ได้ตั้งแต่ต้นจนถึงวินาทีสุดท้าย เช่น คุณคลิกอะไร เลือกดูสินค้าอะไร ไปจนถึงพาสเวิร์ดทุกอย่างที่ป้อนผ่านอินเทอร์เน็ต และยังสามารถเจาะข้อมูลย้อนหลังได้อีกด้วย

ปัจจุบัน หลายภาคส่วนพากันกังวลเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคลที่ใครหลาย ๆ คนได้กรอกผ่านหรือให้ไว้กับอุปกรณ์ต่าง ๆ ในรูปของสมาร์ทโฟน หลัง Google เข้าซื้อ DoubleClick ในปี 2008 และในปี 2561 ทาง Google ได้ให้ผู้ใช้งานอนุญาตให้แทรกเกอร์ของเว็บไซต์เก็บข้อมูลได้ทุกอย่างที่ผู้ใช้ป้อนเข้าไป

 

อนาคตของการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล

ปัจจุบัน ข้อมูลส่วนบุคคลส่วนใหญ่เก็บผ่านหน้าจอ ไม่ว่าตอนที่เราจะใช้คอมพิวเตอร์และตอนที่เราใช้สมาร์ทโฟน และต่อไปในอนาคตก็จะได้เห็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้มีการเก็บข้อมูลง่ายขึ้น เช่น สปีกเกอร์อัจฉริยะ เสื้อผ้าที่ติดเซนเซอร์ และเครื่องตรวจเฝ้าระวังสุขภาพที่เราใส่ติดตัวได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่า เราไม่อยากจะใส่อุปกรณ์เหล่านี้ในอนาคต แต่ก็คงเลี่ยงงานเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ เพราะในอนาคตจะมีกล้องที่จับใบหน้ามนุษย์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ติดอยู่ตามท้องถนนเต็มไปหมด

ในอนาคต ข้อมูลของเราจะถูกนำไปใช้ยิ่งกว่าหนัง Sci-Fi เพราะไม่ได้เก็บไว้และนำเอาออกมาใช้โดยมนุษย์อย่างเดียว แต่ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้และวิเคราะห์ที่เหนือชั้นขึ้น ผ่านปัญญาประดิษฐ์ และพฤติกรรมของเราจากข้อมูลต่าง ๆ จะถูกตัดสินไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ปัญญาประดิษฐ์จะบอกเราว่า ใครควรจะดูแลสุขภาพเราในอนาคต และดูแลอย่างไร และผู้กระทำผิดคนใดควรได้รับการประกันตัวโดยไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการหลบนี เหล่านี้ เกิดจากการวิเคราะห์และประมวลผลของปัญญาประดิษฐ์ที่เก็บรวบรวมพฤติกรรมมนุษย์มาทุกรูปแบบทั้งสิ้น

แม้ปัจจุบันจะมีข้อกำหนดมากมายในเรื่องของข้อมูลและความเป็นส่วนบุคคลมากขึ้น แต่บริษัทด้านเทคฯ ยักษ์ใหญ่ เช่น Amazon, Google, Apple และ facebook ก็พยายามผลักดันเพื่อให้มีการใช้ข้อมูลของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพ ยังมีข้อถกเถียงกันว่า หากบริษัทเหล่านี้หรืออื่น ๆ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น อาจจะต้องมีการจ่ายเงินเพื่อซื้อข้อมูลนั้น

แต่ก่อนที่เราไปกังวลเรื่องของข้อมูลของเราที่จะถูกใช้ในอนาคต เราต้องมานั่งทำความเข้าใจก่อนว่า วันนี้ข้อมูลเราไปอยู่ที่ไหน และใครใช้ทำอะไรและยังไงบ้าง ดูอย่างกรณีของข้อมูลบน Cambridge Analytica ไปจนถึง Google Location เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า คนนับล้านคนทั่วโลกยังไม่รู้เลยว่า ข้อมูลตัวเองถูกถ่ายโอน ถูกขาย และถูกเปิดเผยไปนักต่อนักแล้ว

เขียนโดย Louise Matsakis
Source: Wired


  • 152
  •  
  •  
  •  
  •  
Lilly
วณิชชา สุมานัส