ทำไม Data-Driven Business จึงไม่ใช่บริษัทที่มีเทคโนโลยีที่ดีที่สุด?

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

บริษัทที่ลงทุนทั้งเงิน ทั้งเวลา ไปกับกลยุทธ์เกี่ยวกับการจัดการข้อมูล แต่ยังมีไม่มีกี่บริษัทที่รู้ว่าทำไมจึงต้องจัดการกับข้อมูล มีประโยชน์อะไรกับตัวพนักงานและบริษัท? ถ้าอยากให้ธุรกิจประสบความสำเร็จจริงๆ นอกจากเทคโนโลยี เราควรมีข้อมูลที่มีคุณภาพ รู้ว่าจะหาเงินจากข้อมูลที่มีได้อย่างไร รู้จักความสามารถของคนในบริษัท และมาตรการลดความเสี่ยงในการจัดการข้อมูล

1. ข้อมูลที่มีคุณภาพ (Quality Data)

หากขาดข้อมูลที่มีคุณภาพ ต้นทุนและความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจจะตามมา หลายองค์กรมีข้อมูลกระจัดกระจายไปตามแต่ละแผนก แล้วแต่ละแผนกปรกติก็ไม่ได้สื่อสารและเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ข้อมูลที่รวบรวมนั้นขาดคุณภาพ เวลาเอาไปป้อนใน Machine Learning หรือเทคโนโลยีตัวไหนๆก็ได้ผลลัพธ์ที่ขาดคุณภาพ เอาไปใช้ตัดสินใจทางธุรกิจไม่ได้ 

ข้อมูลที่มีจึงต้องเข้าใจง่าย รวมรวมได้ไม่ยากเย็น มีนิยาม คำอธิบายชัดเจน เชื่อถือได้ 

2. วิธีหาเงินจากข้อมูล (Mean to monetize)

โมเดลธุรกิจเป็นแบบไหน? หาเงินจากการขายข้อมูลให้กับบริษัทอื่นตรงๆ เอาข้อมูลไปพัฒนาเป็นสินค้าหรือบริการ เอาข้อมูลไปทำเป็นระบบวิเคราะห์เพื่อใช้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ อยากให้คิดต่อว่าจะเอาข้อมูลที่มีทำให้บริษัทหรือธุรกิจได้เปรียบกว่าคู่แข่งอื่นๆได้อย่างไร? 

ถ้าเราไม่ชัดเจนในโมเดลธุรกิจแต่แรก งานคนในบริษัทจะไม่มีทิศทางและเสียเวลาเปล่า ต่อให้มีข้อมูลที่มีคุณภาพอยู่ในมือก็ตาม คนในบริษัทจะไม่รู้ว่างานที่ทำอยู่เกี่ยวกับข้อมูล มันมีประโยชน์กับตัวเองและบริษัทอย่างไร

3. ความสามารถขององค์กร (Organizational Capability)

อย่างที่เกริ่นไปว่าหลายองค์กรมีปัญหาเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างแผนก ส่วนหนึ่งเพราะว่าแต่ละแผนกในบริษัทแยกกันอย่างชัดเจน คือพวกใครพวกมัน หรือที่เรียกว่า Organization Silo ปัญหาในเรื่องของข้อมูลที่ขาดคุณภาพ 

ปัญหาพวกนี้จำเป็นต้องใช้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาจัดการ จัดการในที่นี้หมายถึง

  • จัดการกระบวกการในธุรกิจให้สมเหตุสมผล 
  • พัฒนาโมเดลทำนายผลลัพธ์ 
  • สามารถรวมเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ากับเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังใช้อยู่ได้
  • รู้ว่าข้อมูลอะไรที่สำคัญที่สุดสำหรับบริษัทและสำคัญมากน้อยแค่ไหน
  • รู้ว่าจะทำเงินจากข้อมูลที่บริษัทมีได้อย่างไร
  • รู้ว่าข้อมูลอะไรที่เรามีสิทธิ์เข้าถึงและเป็นเข้าของ

หากมีคนในบริษัทสามารถจัดการเรื่องที่ว่าได้ วัฒนธรรมและโครงสร้างในบริษัทก็พร้อมสำหรับการเป็น Data-driven Organization

4. เทคโนโลยีที่ช่วยให้บริษัทเติบโตอย่างมีประสิทธิผล (Technology)

ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้เก็บ ประมวลผล วิเคราะห์ และสื่อสารข้อมูล แน่นอนว่าถ้าอยากเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จเรื่องของการใช้ประโยชน์จากข้อมูล เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้บริษัทเติบโต 

แต่อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบเล็กๆของความสำเร็จที่ว่า ซึ่งเราควรจะให้ความสำคัญกับคน วัฒนธรรมและโครงสร้างของบริษัทอย่างที่อธิบายไปมากกว่า  

tech-for-data

5. มาตรการการป้องกันและลดความเสี่ยง (Defense)

เช่นการทำตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการเก็บและใช้ข้อมูลที่บริษัทได้มา การให้ความคัญในการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของข้อมูล  การรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า การอัพเดทข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งของบริษัท 

หากละเลยมาตรการที่ว่า บริษัทอาจต้องตามแก้ไขข้อผิดพลาดทีหลังหากมีการละเมิดกฎหมายว่าด้วยการเก็บการใช้ข้อมูล และสิทธิส่วนบุคคล

ฉะนั้นก่อนที่จะคิดถึงเรื่องของข้อมูลและเทคโนโลยีที่ดีที่สุด อยากให้คิดถึงตัวพนักงานก่อน ต้องให้พนักงานเข้าใจว่าข้อมูลที่มีคุณภาพสำคัญอย่างไร แล้วจะได้ข้อมูลที่มีคุณภาพได้อย่างไร ซึ่งเรื่องแบบนี้ต้องอาศัยความร่วมมือของพนักกงานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างแผนก การทำความเข้าใจเทคโนโลยีที่จะรับเข้ามาใช้ในบริษัท และมาทำงานร่วมกับคนและเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังใช้ 

พอมองแบบนี้แล้ว เรื่องของการเตรียมคนให้พร้อมนั้น สำคัญกว่าเทคโนโลยีที่บริษัทจะเอามาใช้จัดการกับข้อมูลเสียอีก

แหล่งอ้างอิง: The Five Essential Elements for Succeeding with Data โดย Thomas C. Redman จาก Harvard Business Review: Strategic Analytics


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
Sarunjade
แชร์มุมมองเกี่ยวกับ Digital Marketing, Digital Business และ Technology เท่าที่รู้ สามารถติชมหรืออยากให้เจาะลึกเรื่องไหนเป็นพิเศษ ส่งเมลมาเลยที่ contact@oopsnetwork.co.th