นอกจากเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือเป็นสตาร์ทอัพใช้ไอเดียเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ ก็เห็นจะมี “ฟรีแลนซ์” เป็นอีกอาชีพที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝัน อยากสร้างเนื้อสร้างตัวจากอาชีพเหล่านี้ แถมปัจจุบันยังกลายเป็นอาชีพยอดฮิต ที่มีชาวฟรีแลนซ์จำนวนไม่น้อยกระจายอยู่ในหลากหลายสายอาชีพอีกด้วย
ว่าแต่…สายอาชีพใดของมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำรายได้สูงสุด แล้ว…ต้องทำอย่างไรจึงจะมีโอกาสเข้าสู่สายงานทองคำทำเงินแบบนั้นบ้าง?
เรื่องนี้มีข้อมูลน่าสนใจจาก EIC หรือ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่สำรวจเกี่ยวกับสายงานฟรีแลนซ์ของคนไทย อาทิ พนักงานขาย อาจารย์ นักวิจัย นักแสดง นักวาด นักเขียน ล่าม เทรนเนอร์ ช่างแต่งหน้า และบริการขับรถรับส่งผู้โดยสาร รวมถึงอาชีพที่คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นงานประจำเท่านั้น เช่น แพทย์ พยาบาล นักกฎหมาย นักบัญชี หรือแม้แต่ที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน ซึ่งผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ระบุว่า ทำงานรับจ้างทั่วไป (34%) รองลงมาคือ งานสอนและงานวิจัย (11%) พนักงานขาย (10%) งานสายครีเอทีฟ (10%) และขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (9%)
สายอาชีพไหน…ทำรายได้มหาศาล !!!
ก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยว่า ฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่มีรายรับต่อเดือนน้อยกว่าสายงานอื่น แต่มีชาวฟรีแลนซ์ราว ๆ 5% ระบุว่า “มีรายได้สูงกว่า 100,000 บาทต่อเดือน” แถมอายุเฉลี่ยของชาวฟรีแลนซ์รายได้สูงเหล่านี้ก็อยู่เพียง 44 ปีเท่านั้น เปรียบเทียบกับมนุษย์เงินเดือนเกิน 100,000 บาท ซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 46 ปี
อยากเป็นฟรีแลนซ์ “เงินเดือนเรือนแสน” ต้องทำงานแบบไหน
สำหรับสายงานที่ฟรีแลนซ์ระบุว่าทำแล้วได้ผลตอบแทนหลักแสนนั้น ได้แก่…
- แพทย์
- ตัวแทนขายประกันชีวิต / ที่ดิน
- ผู้ตรวจสอบบัญชี
- นักกฎหมายและทนายความอิสระ
- งานครีเอทีฟ
- ที่ปรึกษาด้านการเงินการลงทุน
- พนักงานขาย
- วิทยากร
- งานสอนและงานวิจัย
เส้นทางสู่ฝัน “ฟรีแลนซ์” ผลตอบแทนสูง
ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่ใฝ่ฝันจะยึดอาชีพฟรีแลนซ์ไว้ใช้เลี้ยงตัว ดูแลตนเองและครอบครัว หรือเพิ่งอ่านข้อมูลด้านบนแล้วเกิดสนใจเข้าสู่สนามอาชีพของฟรีแลนซ์ อยากรู้แล้วใช่มั้ยว่าต้องทำอย่างไร
เรียนสูง + มากประสบการณ์ ยิ่งมีโอกาสจับเงินแสน
หลายคนอาจคิดว่ารายได้ของชาวฟรีแลนซ์ขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวหรือความขยันในการทำงานเป็นหลัก แต่ความจริงแล้วระดับการศึกษามีผลกับรายได้ของชาวฟรีแลนซ์มากกว่าที่เราคิด โดยผลสำรวจบอกว่า ชาวฟรีแลนซ์ที่จบการศึกษาสูงมีโอกาสสร้างรายได้ที่สูงกว่า โดย 13% ของชาวฟรีแลนซ์ที่จบปริญญาโทขึ้นไปตอบว่ามีรายรับต่อเดือนเกินแสน ในขณะที่ฟรีแลนซ์ซึ่งจบปริญญาตรีมีสัดส่วนตรงนี้เพียง 4% หรือมีโอกาสน้อยกว่าราว 3 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกันแล้ว…ระดับการศึกษามีผลกับระดับเงินเดือนของงานประจำมากกว่า โดยมนุษย์เงินเดือนที่จบสูงกว่าปริญญาโทมีสัดส่วนคนที่ได้เงินเดือนเกินแสนมากกว่ามนุษย์เงินเดือนที่จบปริญญาตรีถึง 6 เท่า ตรงนี้อาจตีความได้ว่าระดับการศึกษามีส่วนสำคัญในวงการฟรีแลนซ์ก็จริง แต่ไม่มากเท่ากับในวงการมนุษย์เงินเดือน
แต่นอกจากระดับการศึกษา ประสบการณ์การทำงานก็มีส่วนช่วยให้รายรับจากงานฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะสายงานที่ยิ่งมีความรู้รอบตัวและประสบการณ์มากก็ยิ่งได้เปรียบ เช่น อาชีพพนักงานขาย ที่ต้องอาศัยความรอบรู้เกี่ยวกับสินค้าและบริการที่รับเป็นตัวแทนไปจนถึงวิธีการเข้าหาและรับมือกับลูกค้า หรืออาชีพที่ปรึกษาทางการเงินการลงทุน ที่ยิ่งคร่ำหวอดในวงการมานานก็ยิ่งได้เปรียบในเรื่องความเชื่อมั่นจากลูกค้า ซึ่งคำว่า “ประสบการณ์การทำงาน” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงประสบการณ์การเป็นฟรีแลนซ์เพียงอย่างเดียว ในบางสายอาชีพ…ประสบการณ์จากงานประจำก็มีส่วนช่วยทั้งในเรื่องของฐานลูกค้า คอนเนคชั่น และความเชื่อมั่นในคุณภาพของงาน จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่บางคนก็เลือกที่จะทำงานประจำก่อนเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก่อนที่จะลาออกมาทำงานฟรีแลนซ์อย่างเต็มตัว
Work Smarter, Not Harder
แม้หลายคนอาจมีคติประจำใจว่า Work hard, Play hard แต่ความจริงแล้วทำงานให้สุดอาจจะไม่หยุดที่เงินเพิ่มขึ้นเสมอไป จากผลสำรวจของ EIC พบว่า ฟรีแลนซ์ชาวไทยส่วนใหญ่ทำงานประมาณ 3-8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ระยะเวลาการทำงานไม่ได้ส่งผลกับระดับรายได้เสมอไป เมื่อลองเทียบระดับรายได้ตามระยะเวลาที่ใช้ทำงานจะเห็นว่าชาวฟรีแลนซ์ที่ทำงานน้อยกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันมีสัดส่วนกลุ่มคนรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน สูงที่สุดคือ 26% แซงหน้าชาวฟรีแลนซ์อีกสองกลุ่มที่มีระยะเวลาการทำงานมากกว่า ตีความง่าย ๆ คือถึงจะใช้เวลาทำงานน้อยกว่าแต่ก็มีโอกาสได้รายได้สูงพอกัน หรือในบางกรณีก็อาจจะได้สูงกว่าด้วยซ้ำ
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าการโหมทำงานมาก ๆ ก็ไม่ได้ทำให้รายรับมากขึ้นเสมอไป เพราะคุณภาพของงานบางครั้งก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำ! แต่ขึ้นอยู่กับทักษะ ความรู้ ประสบการณ์ หรือศักยภาพในการบริหารเวลาทำงานมากกว่า เช่นเดียวกับกรณีนี้ ที่ชาวฟรีแลนซ์ 26% ถึงจะทำงานน้อยแต่กลับมีรายรับสูง ล้วนแต่เป็นคนที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปและครึ่งหนึ่งก็มีประสบการณ์ทำงานฟรีแลนซ์มาเกิน 5 ปี นอกจากนั้น การโหมงานอดหลับอดนอนติดต่อกันหลาย ๆ วันก็คงไม่ได้ทำให้คุณภาพงานของเราดีขึ้น แต่ยิ่งจะทำให้โรคถามหามากกว่า
ต้อง “สร้าง” และ “รักษา” คอนเนคชั่น
สิ่งที่ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี คือ ชาวฟรีแลนซ์เกินครึ่งหางานผ่านคอนเนคชั่นทางสังคมกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อด้วยตัวเองโดยตรง ผ่านการแนะนำจากคนรู้จัก หรือผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ดังนั้น การมีสังคมกว้างขวางย่อมหมายถึงโอกาสงานมากขึ้น แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือชาวฟรีแลนซ์ที่มีรายได้สูง ๆ มักเลือกหางานผ่านคอนเนคชั่นส่วนตัวมากกว่าเว็บไซต์หางาน
โดยผลสำรวจของ EIC ระบุว่ายิ่งมีระดับรายได้สูงขึ้น ชาวฟรีแลนซ์จะเลือกหางานจากเว็บไซต์หางานน้อยลง แต่หางานผ่านคอนเนคชั่นมากขึ้น โดยชาวฟรีแลนซ์ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 9,000 บาทมีสัดส่วนคนที่ตอบว่าหางานผ่านเว็บไซต์หางาน 39% และหาผ่านคอนเนคชั่นทางสังคม 54% ขณะที่ ฟรีแลนซ์รายได้ต่อเดือนสูงกว่า 100,000 บาท ตอบว่าหางานผ่านเว็บไซต์เพียง 16% แต่หาผ่านคอนเนคชั่นสูงถึง 62% ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะงานฟรีแลนซ์ที่ได้จากเว็บไซต์นั้นให้ค่าจ้างต่ำกว่า เพราะการแข่งขันที่สูงทำให้คนจ้างสามารถต่อรองราคาลงได้ โดยเฉพาะงานที่ไม่ได้ต้องการทักษะสูงมากหรือมีจำนวนชาวฟรีแลนซ์ในตลาดรองรับเยอะ หรือหากมองอีกแง่หนึ่งอาจเป็นไปได้ว่าชาวฟรีแลนซ์รายได้สูง ๆ มักมีทักษะความเชี่ยวชาญที่โดดเด่น หรือเป็นที่รู้จักในวงการอาชีพนั้น ๆ จนสามารถหางานได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งเว็บไซต์เลยก็เป็นได้ ยกตัวอย่างฟรีแลนซ์สายครีเอทีฟที่มีรายรับเกินแสนทุกคน…ในผลสำรวจก็ตอบว่าหางานผ่านคอนเนคชั่นทางสังคมเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องพึ่งเว็บไซต์หรือเอเยนซี่