ยุคดิจิทัลจะดัน FinTech “ไทย” ไปไกลแค่ไหน? เทียบบทเรียน “สิงคโปร์” ประเทศต้นแบบเทคโนโลยี

  • 1.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

FinTech_01

พูดถึงเรื่อง FinTech แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคดิจิทัล แต่ยังคงเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาท ทั้งต่อภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้คน ว่าแต่ FinTech เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างไรบ้าง และสถานการณ์ทางเทคโนโลยีนี้มีแนวโน้มอย่างไร เมื่อเทียบกับประเทศที่มีบทเรียนจากความสำเร็จ และเห็นความเสี่ยง มามากกว่าไทยอย่างสิงคโปร์ เราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้าง…

ประเด็นนี้ ขออ้างอิงจากบทวิเคราะห์ Deloitte FSIReview ฉบับเดือนสิงหาคม ผ่านมุมมองของ ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ดีลอยท์ ประเทศไทย ซึ่งแสดงทัศนะต่อเรื่องดังกล่าวไว้ว่า “Disruptive technology หรือ นวัตกรรมเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ได้สร้างผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อเศรษกิจทั่วโลก ธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบชัดเจนทั้งแง่บวกและลบจาก Disruptive Technology ก็คือธุรกิจการเงินและการธนาคาร นั่นหมายความว่า ยิ่งเป็นโลกดิจิทัลมากขึ้นเท่าไหร่ เรายิ่งจำเป็นต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น”

Dr. Narain

ไม่เพียงแต่ “การเงิน-ธนาคาร” ทุกธุรกิจต้องพร้อมเปลี่ยน!

ผลกระทบจากยุค Disruptive Technology ยังส่งผลต่อธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาใช้งาน ทั้งการเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย นำไปสู่ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทั้งต่อบริษัทและระบบบเครือข่าย เรื่องนี้ทำให้ธุรกิจต้องแบกรับความเสี่ยงที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ตาม โอกาสมักมาพร้อมกับความเสี่ยงที่เราต้องระวัง ประเมิน บริหารจัดการ และป้องกันอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถแบ่งได้หลายระดับ อาทิ

ความเสี่ยงระดับ 1 : ผลกระทบระดับองค์กร

ต้องมีการวิเคราะห์ความซับซ้อนที่เกิดขึ้น ผู้บริหารด้านความเสี่ยง หรือ CRO (Chief Risk Officer) ของสถาบันการเงินจะต้องมีส่วนร่วมในการวางกลยุทธ์กำกับดูแลและควบคุมขององค์กร โดยเฉพาะความเสี่ยงในระดับปฏิบัติการ เช่น การป้องกันการฟอกเงิน และการต่อต้านการจัดหาเงินทุนของการก่อการร้ายความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความเสี่ยงด้านไซเบอร์

ความเสี่ยงระดับ 2:ผลกระทบระดับกลุ่มอุตสาหกรรม

ปัจจุบันองค์กรทางการเงินมีความเสี่ยงสูงที่การบริการทางด้านการเงินแบบเดิมจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Blockchain หรือ P2P lending ตัวอย่างการปรับตัวที่หลายองค์กรกำลังเดินหน้าทำคือ ร่วมมือกับบริษัท Fintech เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาด

FinTech_02

ความเสี่ยงระดับ 3: ผลกระทบระดับบุคคลและสังคม

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงกับการปฏิบัติงานขององค์กร งานพื้นฐานซึ่งไม่ได้มีความซับซ้อนและโอกาสที่จะโดนทดแทนโดยระบบอัตโนมัติ ขณะที่สายงานที่มีความซับซ้อนและต้องการการวิเคราะห์อาจได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น ถือเป็นสัญญานเตือนให้องค์กรเตรียมพร้อมบุคลากรกับการเปลี่ยนแปลงของความรู้ความชำนาญสำหรับการทำงานในอนาคต

ถอดบทเรียนการรับมือ ความเสี่ยง การเปลี่ยนแปลง ของสิงคโปร์

อย่างที่รู้กันว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่โดดเด่นในการขับเคลื่อนและส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีในภูมิภาค ทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมพร้อมกับการควบคุมและระวัง เพื่อเอื้อต่อการพัฒนา การเติบโตของนวัตกรรมอย่างยั่งยืน โดยสิงคโปร์วางนโยบายและแนวปฏิบัติไว้เป็น 3 ข้อหลัก ได้แก่

FinTech_03

1. วิสัยทัศน์ กับการลงทุนระยะยาวในอนาคต

ภายใต้แผนดำเนินงาน Smart Nation Transformation รัฐบาลสิงคโปร์ได้ลงทุนจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ กับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Industry Transformation Programme) และกองทุนงานวิจัย (National Research & National Productivity Funds) เพื่อให้มั่นใจว่า ภาคธุรกิจและวิชาการได้รับแรงจูงใจ และส่งเสริมการลงทุนในการวิจัยเพื่อพัฒนาให้สิงคโปร์เป็นผู้ทำทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี

2. การศึกษา เพื่อบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถให้เป็นผู้นำในอนาคต

รัฐบาลสิงคโปร์ลงทุนกว่า 145 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ผ่านทางสภาเศรษฐกิจในอนาคต (The Future Economy Council : FEC) เพื่อสนับสนุนและเพิ่มทักษะของบุคลากรตนเองโดยใช้โปรแกรมการเรียนรู้ต่างๆ เช่น TechSkills Accelerator (TeSA) และ SkillsFuture for Digital Workplace เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพลเมืองของประเทศมีความพร้อมที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ

FinTech_04

3. นวัตกรรม โดยเฉพาะงานวิจัยที่สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม

เพื่อลดช่องว่างระหว่างงานวิจัยทางวิชาการ (ภาคทฤษฎี) และอุตสาหกรรม(ภาคปฏิบัติ) Agency for Science and Technology Research (A*STAR) ที่มีโครงการต่างๆ เช่น Tech Depot ศูนย์กลางการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชั่นสำหรับองค์กรในท้องถิ่น และ Tech Access ซึ่งช่วยให้องค์กรขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความชำนาญได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังให้ความสำคัญโครงการหุ่นยนต์ เพื่อกระตุ้นการใช้หุ่นยนต์ให้แพร่หลายโดยเฉพาะภาคการก่อสร้างอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าทางด้านอุตสาหกรรมการเงิน นี่อาจเป็นตัวเปลี่ยนเกมสำหรับองค์กรที่จะเพิ่มความสามารถและบริการแบบใหม่ ทั้งยังเป็นวิธีปรับตัวต่อตลาดและเศรษฐกิจที่พัฒนาตามเทคโนโลยี ด้วยการส่งเสริม ความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และความร่วมมือระหว่างองค์กร รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงโดยรวม และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย ซึ่งในระหว่างวันที่ 12-16 พ.ย.นี้ สิงคโปร์ก็จะรับบทเจ้าภาพจัดงาน Singapore FinTech Festival 2018 เวทีสำหรับ FinTech ทั่วโลก รวมถึงงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมด้านดังกล่าว อาทิ FinTech Conference & Exhibition, Global FinTech Hackcelerator Demo Day, AI in Finance Summit เป็นต้น

 


  • 1.8K
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน