สถาบันด้านการบริหารธุรกิจระดับโลก เอ็มไอที สโลน เชื่อมั่นศักยภาพประเทศไทย เตรียมเปิดสถาบันนานาชาติแห่งที่ 2 ในกรุงเทพฯ ตุลาคมนี้

  • 14
  •  
  •  
  •  
  •  

 

สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน (MIT Sloan School of Management) เตรียมเปิดตัวสถาบันด้านการบริหารธุรกิจนานาชาติ ภายใต้ชื่อ “สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MIT Sloan Office for Southeast Asian Nations – MSAO)” เป็นแห่งที่ 2 นอกประเทศสหรัฐอเมริกา ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ในเดือนตุลาคม 2567 นี้ เพื่อส่งเสริมโอกาสในการขยายขอบเขตการศึกษา การเรียนรู้เชิงปฏิบัติ และการประชุมสุดยอดอาเซียนในอนาคต

 

นางจอร์เจีย เปรากิส รักษาการคณบดี จอห์น ซี. เฮด ที่ 3 แห่งสถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน

 

นางจอร์เจีย เปรากิส รักษาการคณบดี จอห์น ซี. เฮด ที่ 3 แห่งสถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน กล่าวว่า “การขยายขอบเขตการดำเนินงานของสถาบันธุรกิจเอ็มไอที สโลน มายังภูมิภาคอาเซียนในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพด้านการเรียนรู้เชิงปฏิบัติให้กับนักศึกษาในปัจจุบัน แต่ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขยายขอบเขตการศึกษาในหัวข้ออื่นๆ ที่สำคัญ เช่น ด้านสภาพภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาแนวคิดผู้ประกอบการ และการศึกษารูปแบบการทำงานแห่งอนาคต ซึ่งจะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างทั้งในระดับประเทศและระดับโลก”

สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน ในกรุงเทพฯ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางเชิงกลยุทธ์ในการขยายขอบเขตการดำเนินงานของสถาบันทั่วภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเติบโตและความแข็งแกร่งของเครือข่าย
ศิษย์เก่าเอ็มไอทีที่ดีเยี่ยม มีศักยภาพและโอกาสสำหรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย บริษัทชั้นนำ และหน่วยงานรัฐบาล เพื่อร่วมกันจัดสัมมนา และการประชุมประจำปีในภูมิภาค นอกเหนือจากโครงการวิจัยที่ได้ดำเนินการในปัจจุบันที่มุ่งเน้นในหัวข้อความพร้อมรับมือต่อการขยายตัวของเมือง (urbanization and resiliency) ความท้าทายด้านสถานการณ์น้ำต่อภาคเกษตรกรรม (water and agricultural challenges) และความพร้อมของวัคซีนและการติดตามผล (vaccine availability and tracking)

นางแคธริน ฮอว์กส์ รองคณบดีอาวุโสฝ่ายพันธมิตรระหว่างองค์กรแห่งสถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน กล่าวเพิ่มเติมว่า “เอ็มไอที มีศิษย์เก่ากว่า 1,900 คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจำนวนนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เมื่อพิจารณาจากความสนใจของคณาจารย์และนักศึกษาที่มีต่อโอกาสในการวิจัยและความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยการก่อตั้งสถาบันนานาชาติในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยผนึกกำลังของสมาชิกเอ็มไอที สโลน และภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างผลลัพธ์เชิงบวกผ่านงานวิจัยที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงแผนงานพัฒนาโปรแกรมการศึกษา การวิจัย และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โครงการ MIT Sloan Action Learning ได้เปิดให้นักศึกษาจำนวนกว่า 700 คน ได้มีโอกาสเข้าร่วมการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ในหลากหลายหัวข้อ อาทิ ฟินเทค เศรษฐกิจสูงวัย (aging and the economy) และอีกมากมาย ผ่าน 200 โครงการครอบคลุม 5 ระดับหลักสูตรการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นโดย 96 บริษัทในประเทศกัมพูชา มาเลเซีย ฟิลลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

“การเปิดสถาบันนานาชาติแห่งที่ 2 นอกประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อจากสถาบัน เอ็มไอที สโลน ที่เมืองซันติอาโก ประเทศชิลี เพื่อตอบวัตถุประสงค์ในการมอบการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วภูมิภาคละตินอเมริกา ถือเป็นช่วงเวลาอันน่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเราหวังว่าการเปิดสถาบันในครั้งนี้ จะช่วยก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้บริหารและผู้ประกอบการชั้นนำในภูมิภาค พร้อมเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายศิษย์เก่าและพันธมิตรที่จะขยายการเติบโตต่อไป” นายเดวิด คาโพดิลูโป ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโปรแกรมระดับโลกของสถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน กล่าวเสริม

สถาบันบริหารธุรกิจ เอ็มไอที สโลน แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MSAO) จะช่วยเสริมศักยภาพและร่วมกำหนดกรอบการทำงาน รวมถึงปรับรูปแบบความเป็นผู้นำให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาค ผ่านการต่อยอดกิจกรรมต่างๆ ในโครงการ Global Programs ซึ่งรวมถึง MIT Regional Entrepreneurship Acceleration Program  ที่มุ่งเสริมการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในภูมิภาค ผ่านการนำเสนอผลงานวิจัยและแนวทางจากคณาจารย์ชื่อดังระดับโลก Innovation Dynamic Education and Action for Sustainability โครงการฝึกอบรมผู้นำเพื่อพัฒนาทักษะด้านการจัดการความยั่งยืน และ Visiting Fellows โครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาและศิษย์เก่าของสถาบันได้กำหนดรูปแบบการศึกษาจากสถาบันวิจัยชั้นนำของโลกด้วยตนเอง เพื่อนำไปพัฒนาทักษะที่จำเป็นในเวลาอันรวดเร็ว

MSAO มีเป้าหมายที่จะดำเนินงานร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างใกล้ชิด ยกตัวอย่างเช่น Asia School of Business ณ เมืองกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกลางประเทศมาเลเซีย โดยมีการนำเสนอหลักสูตรปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจ (MBA) ปริญญาโทบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร (EMBA) และปริญญาโทด้านการธนาคารกลาง (Master’s degree in Central Banking programs) ให้กับเหล่าผู้เรียน

ธนาคารกรุงเทพ ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมสนับสนุน พร้อมร่วมงานกับเอ็มไอที สโลนในภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดย นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และศิษย์เก่าเอ็มไอที รุ่น SM ’83 และ SM ’84 กล่าวว่า “สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน มีความโดดเด่นในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านคณาจารย์และหลักสูตรระดับโลก ผมมองว่าการเปิดตัว MSAO ในครั้งนี้จะช่วยผสานพลังความร่วมมือที่มีอยู่ พร้อมทั้งเปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้”

นอกจาก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมให้การสนับสนุนในครั้งนี้แล้ว สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MSAO) ยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรชั้นนำของประเทศไทยหลายแห่งในการสมทบทุนก่อตั้งสถาบัน ได้แก่ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เป็นต้น

ทั้งนี้ สถาบันบริหารธุรกิจเอ็มไอที สโลน แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MSAO) เตรียมพร้อมที่จะจัดงานเปิดสถาบันใหม่อย่างเป็นทางการ พร้อมกับเชิญศิษย์เก่ามาร่วมงานเสวนาในหัวข้อ Beyond Years: The Future of Longevity” ซึ่งนำทีมโดยผู้เชี่ยวชาญจากเอ็มไอทีและผู้ทรงคุณวุฒิในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อร่วมพูดคุยเกี่ยวกับผลกระทบต่อความยั่งยืนซึ่งเกิดจากการมีอายุขัยยืนยาว ในเดือนตุลาคม 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้


  • 14
  •  
  •  
  •  
  •