เมื่อ “Podcast” มีพลังมากกว่า “เสียง” และกำลังจะกลายเป็น “โอกาส” โฆษณาของแบรนด์

  • 361
  •  
  •  
  •  
  •  

podcast-trend-and-why-brand-need-itบางคนอาจมองว่า “Podcast” เป็นหนึ่งมีเดีย เป็นเอนเตอร์เทนเมนต์ เป็นคอนเทนต์แพลตฟอร์ม หรือเป็นเพียงออดิโอคอนเทนต์ แต่ในปัจจุบัน Podcast เริ่มมีบทบาทสำหรับ “แบรนด์” มากขึ้น ในงาน iCreator Conference 2020 ก็มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพูดคุยกับมุมมอง “การมาของ Podcast ทำไมแบรนด์ถึงควรลงทุน” โดย 3 กูรูในโลกแห่งเสียงอย่าง ชินทัต พรหมโชติ จาก KooHoo Podcast, นทธัญ แสงไชย จาก Salmon Podcast และ พลสัน นกน่วม จาก GetTalks Podcast ซึ่งทั้ง 3 คนได้ร่วมกันพูดคุยและแสดงความเห็นถึงประเด็นต่าง ๆ กับทิศทางของ Podcast ว่า…

สถานการณ์ “Podcast” กับ “สังคมดิจิทัล”

พลสัน เล่าว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือจำนวนผู้ฟัง Podcast ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับจำนวนผู้ผลิต เมื่อเทียบกับ 3 ปีก่อนที่ Podcast ยังเป็นเพียงคอนเทนต์หน้าใหม่ไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งคอนเทนต์ที่ส่วนตัวสนใจ คือแนว Stand-up Comedy ซึ่งต้องใช้ศาสตร์การเล่าเรื่องตลกกับการเล่าสไตล์ Podcast เข้าด้วยกัน

นทธัญ เสริมว่า ไม่ใช่แค่คนฟังหรือคนทำ Podcast แต่ปัจจุบันแบรนด์ก็เริ่มให้ความสนใจกับวงการนี้มากขึ้น คอนเทนต์มีมีความสนุกและมีหลากหลายมาก มุมมองการทำ Podcast จึงมีเรื่องที่คิดไม่ถึงมากขึ้น เช่น การทำรายการท่องเที่ยว ASMR หรือแม้แต่ละครวิทยุ ก็มีให้เห็น แต่ก็ทำให้เกิดกลุ่มผู้ฟังที่หลากหลายขึ้นด้วยเช่นกัน

“คนส่วนใหญ่จะคิดว่า COVID-19 ทำให้คนฟัง Podcast มากขึ้นแน่ ๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือลดลง เพราะพฤติกรรมการฟัง Podcast ส่วนใหญ่คือตอนทำกิจกรรมระหว่างวัน เช่น ออกกำลังกาย เดินทาง หรือตอนทำงาน”

นทธัญ แสงไชย จาก Salmon Podcast

เช่นเดียวกับ ชินทัต ที่บอกว่า บางเจนเนอเรชั่นอาจเข้าใจ รู้จักมากขึ้นแล้ว แต่ก็มีบางเจนที่ยังต้องทำความเข้าใจ เพราะ Podcast ไม่จำเป็นต้องเป็นคอนเทนต์สาระอย่างเดียว แต่เอนเตอร์เทนเมนต์ก็ทำได้ ภาพรวมของ Podcast ในไทยตอนนี้จึงเป็นการเพิ่มจำนวนดาวน์โหลด เพิ่มระยะเวลาการฟังให้มากขึ้น

ความท้าทายของ Podcast กับการทำโฆษณาของแบรนด์ อยู่ที่…?

ชินทัต : ส่วนตัว ในอดีตมีข้อจำกัดอยู่ที่การนำเสนอไอเดียรายการ แต่ก็พยายามให้ความสำคัญกับการตอบโจทย์ ทั้งเรื่องสัญชาตญาณของตนเองและในเชิงธุรกิจ ซึ่งพอเริ่มทำและมีประสบการณ์ก็ทำให้แนวคิดเริ่มง่ายขึ้น เข้าใจแนวทางและการวางแผนคอนเทนต์ได้ดีขึ้น สำหรับการใช้ Podcast ของแบรนด์ มองว่าโจทย์หลักคือการตอบโจทย์ตัวเองให้ได้ ว่าอยากใช้ประโยชน์เพื่อทำอะไร สร้างการรับรู้ในแบรนด์ สินค้าบริการ หรือเป็นช่องทางโฆษณา หรือทำให้เกิดโอกาสกับสินค้า

“Podcast ทำได้หลายรูปแบบ เราเคยคิดว่ามันคือคอนเทนต์สำหรับฟังอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้ว Podcast สามารถอยู่บน YouTube หรือ TikTok ก็ได้ ไม่ใช่แค่เสียงอย่างเดียว”

ชินทัต พรหมโชติ จาก KooHoo Podcast

พลสัน : ในอดีต ความยากคือการที่คนไม่รู้จัก Podcast แต่ตอนนี้คือการทำให้เข้าใจว่าสามารถทำโฆษณาบน Podcast ได้แล้ว เป็นพื้นที่เป็นโอกาสใหม่ของแบรนด์ เพราะวันนี้ Podcast สามารถขึ้นไปอยู่ได้ทุกแพลตฟอร์มไม่ว่าจะ TikTok หรือ YouTube แถมยังมียอดวิวดีกว่าที่คิด ซึ่งในตอนนี้แบรนด์เองก็เริ่มเข้าใจและเปิดใจกับการทำโฆษณาบน Podcast มากขึ้นแล้ว แต่โจทย์ใหญ่คือการทำให้แบรนด์รู้ว่าเราตอบโจทย์เขาได้อย่างไรบ้างบน Podcast

นทธัญ : การที่ผู้ฟังเข้าใจ Podcast ถือเป็นเรื่องดี แต่ในส่วนของแบรนด์อาจยังนึกไม่ภาพการลงโฆษณาไม่ออก ตอนนี้ Podcast จึงเน้นที่การสร้างความรู้กับแบรนด์มากกว่า ว่าสามารถทำโฆษณาด้วยภาพและเสียงแบบ Podcast ได้อย่างไรบ้าง ยิ่งมี YouTube Premium ยิ่งทำให้คนฟัง Podcast มากขึ้น แต่ไม่ใช่ฟังอย่างเดียวในแพลตฟอร์มเดิม ยกตัวอย่าง Salmon Podcast ที่เราสามารถขายงานลูกค้าได้แบบครบวงจร สามารถเลือกได้เป็นแพกเก็จว่าจะเป็นแบบมีเดีย คอนเทนต์ หรือเน้นโฆษณา เน้นที่ Podcast เพราะภาพในวันนี้สามารถเป็นได้ทั้งมีเดียและอินฟลูเอนเซอร์

เทรนด์ Podcast ที่คนไทยชอบฟัง

ชินทัต : อาจต้องคอยอัพเดทเทรนด์การจัดอันดับ แต่ส่วนใหญ่คนไทยจะชอบเรื่องลี้ลับและธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีคอนเทนต์หลากหลายแทบทุกประเภทที่คิดไม่ถึงก็มี

พลสัน นกน่วม จาก GetTalks Podcast

นทธัญ : คอนเทนต์ที่ใหม่ สด อร่อย เป็นธีมของ Salmon Podcast ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นเรื่องดี เทรนด์ที่คนชอบฟังน่าจะมีความหลากหลายแล้วแต่ความต้องการ แต่ต้องยอมรับว่าคอนเทนต์ที่พูดคุยเกี่ยวกับคดีฆาตกรรม ทฤษฎีสมคบคิด เอเลี่ยน ข่าว ล้วนได้รับความนิยม แต่สิ่งที่สำคัญพอกับคอนเทนต์ คือ เรื่องเวลา ที่เราต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าคอนเทนต์มีความเหมาะสม คนฟังอาจรู้สึกว่ารายการยาวได้ แต่ไม่ควรทำให้เขารู้สึกว่านานเพราะนั่นหมายถึงความน่าเบื่อ

พลสัน : เราเห็นเทรนด์รายการแนวพัฒนาตนเอง ทั้งด้านจิตใจ การเงิน และภาษา รวมถึงรายการข่าวและความบันเทิงต่าง ๆ โดยเฉพาะรายการในรูปแบบรายวัน เน้นความถี่ในการนำเสนอ กับความยาว 18-20 นาที ก็กำลังเป็นเทรนด์ที่คนฟังให้ความสนใจ เพราะสามารถฟังได้บ่อยและใช้เวลาไม่นานในการฟัง


  • 361
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน