เปิด “Insights for Brands” ปี 2020 พฤติกรรมการ “Search” ของคนไทย บอกอะไรได้บ้าง ?

  • 696
  •  
  •  
  •  
  •  

insights-for-brand-2020

นอกจากเราจะรู้กันว่า… คนไทยจะใช้โซเชียลมีเดียและใช้ออนไลน์แทบทุกกิจวัตรในการดำเนินชีวิต แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในแง่ของ “แบรนด์” ว่าจะสามารถเข้าถึงประโยชน์และเรียนรู้อะไรจาก “วิถีออนไลน์” ของผู้คนบ้าง

Google ประเทศไทย จึงรวบรวม 5 เทรนด์จากพฤติกรรมการ “เสิร์ช” ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยระหว่างปี 2018-2019 และสรุปเป็น Year in Search Thailand: Insights for Brands 2020 Report” เพื่อให้ภาคธุรกิจและแบรนด์เข้าใจความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

สำหรับ 5 เทรนด์ ที่ Google ประเทศไทย สรุปออกมาเป็น Insights for Brands 2020 Report” ดังนี้…

  • Beyond the Metro : การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้อยู่แค่ในหัวเมือง

  • On-demand Economy : ผู้คนนิยมบริการที่ตอบโจทย์ได้ทันทีทันใด

  • Omnichannel Experience : ออฟไลน์และออนไลน์ต้องผสานเข้าด้วยกัน

  • Going Cashless : ก้าวสู่สังคมไร้เงินสด

  • Conscious Consumption : พฤติกรรมใช้จ่ายอย่างมีจิตสำนึก

อีก 5 ปี “คนต่างจังหวัด” ใช้จ่ายผ่านออนไลน์ สูงขึ้น 4 เท่า!

เทรนด์แรกกับเรื่อง Beyond the Metro มาจากการใช้จ่ายบนอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มีแค่ในกลุ่มหัวเมืองใหญ่อีกต่อไปแล้ว แต่พฤติกรรมการใช้ออนไลน์และอินเตอร์เน็ตของคนในต่างจังหวัดก็แพร่หลาย และยังมีแนวโน้ม “มากกว่าคนเมือง” อีกด้วย จากสถิติใน SEA (Southeast Asia) พบว่าสัดส่วนประชากรในเมืองมักมีจำนวน 15% ของประชากรทั้งหมด และอีก 85% เป็นประชากรในต่างจังหวัด แต่สัดส่วนของ Internet Economy จะสลับกัน ยกตัวอย่างในปี 2019 ที่กว่า 52% มาจากคนในกลุ่มหัวเมือง และอีก 48% มาจากพื้นที่อื่น ซึ่งแนวโน้มในประเทศไทยก็สอดคล้องกับสถิติดังกล่าว

หากเปรียบเทียบการใช้จ่ายของประชากรกลุ่มหัวเมือง จะพบว่ามากกว่าประชากรในพื้นที่อื่นถึง 6 เท่าตัว โดยค่าเฉลี่ยของ SEA อยู่ที่ 598 เหรียญสหรัฐ ต่อ 98 เหรียญสหรัฐ ส่วนไทยจะเป็น 550 เหรียญสหรัฐ ต่อ 150 เหรียญสหรัฐ แตกต่างกันประมาณ 3.5 เท่าตัว ซึ่งจะเห็นว่า “มีความแตกต่าง น้อยกว่า ค่าเฉลี่ยในระดับภูมิภาค”

Insights for Brands 2020 Report-01

อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 พฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านออนไลน์ของคนไทยในพื้นที่ต่างจังหวัดจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันถึง 4 เท่าตัว! ทั้งจากการซื้อสินค้าและบริการทางออนไลน์ ขณะที่ พฤติกรรมคนในกรุงเทพฯ ก็ยังคงมีการใช้จ่ายผ่านออนไลน์อย่างต่อเนื่อง แต่จะ “เติบโต” จากการขยายตัวของสินค้าและบริการที่พัฒนารูปแบบการให้บริการสู่ออนไลน์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

ทั้งนี้ ยังพบว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในต่างจังหวัด นิยมค้นหาข้อมูลผ่านออนไลน์ “มากกว่า” คนกรุงเทพฯ ประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าบางหมวดหมู่ เช่นคำว่า “ราคา รถ” ซึ่งการเสิร์ชถึง 80% มาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดลำพูน ฉะเชิงเทรา สระบุรี ระยอง และชัยนาท หรือคำว่า “มาร์คหน้า” ซึ่งการเสิร์ช 75% มาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ มหาสารคาม สงขลา ปทุมธานี และนครศรีธรรมราช เช่นเดียวกับคำว่า Tooth whitening” ที่การเสิร์ชมาจากจังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา อุดรธานี และขอนแก่น

Insights for Brands 2020 Report-02

“ถูกใจความสะดวก” ดันธุรกิจ On-demand โตไว!

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจประเภท On-demand เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ “บริการเรียกรถ” (Ride-sharing) ที่เติบโตขึ้นถึง 127% และ “บริการส่งสินค้า” (Delivery) ที่เติบโตกว่า 85% แน่นอนว่าปัจจัยหลักที่ทำให้บริการประเภทนี้ได้รับความนิยมและเติบโตสูงเป็นเพราะ “ความสะดวกสบาย” ที่ผู้บริโภคได้รับ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมการเสิร์ช Delivery Promo” ระหว่างปี 2018-2019 จึงสูงขึ้น 254% แต่พฤติกรรมการเสิร์ชของผู้บริโภคยุคนี้ยัง “เปลี่ยนแปลง” ไปด้วย เพราะผู้คนมีประสบการณ์และชำนาญในการค้นหามากขึ้น จึงทำให้ “การค้นหาแบบเจาะจง” ได้รับความนิยม และเมื่อการค้นหาเช่นนั้นทำให้พวกเขาได้ผลลัพธ์ที่ดี การกลับมาใช้งานครั้งต่อ ๆ ไปจึงกลายเป็นรูปแบบดังกล่าวและมากขึ้นเรื่อย ๆ

ยกตัวอย่างคำว่า “คอนโด” ซึ่งจำนวนการค้นหาเพิ่มขึ้นเพียง 15% แต่การค้นหาแบบเจาะจง เช่นคำว่า “คอนโด ตลาดพลู” กลับเพิ่มขึ้นถึง 245%, “เช่าคอนโด 5000” เพิ่มขึ้น 213%, “คอนโด ใกล้ BTS” เพิ่มขึ้น 133% หรือคำว่า “รองเท้า” ที่ยอดการค้นหาเพิ่มขึ้นแค่ 1% แต่การค้นหาแบบเจาะจงกลับเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่นคำว่า “รองเท้าวิ่ง ผู้ชาย” เพิ่มขึ้นถึง 127%, “รองเท้าแตะ ผู้หญิง” เพิ่มขึ้น 37%, “รองเท้า รัดส้น” เพิ่มขึ้น 45% เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ ทำให้คนทำธุรกิจควรจัดเตรียมข้อมูลให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองพฤติกรรมการค้นหาของผู้บริโภค เพราะพวกเขาเกิดการเรียนรู้แล้วว่าการเสิร์ชแบบเจาะจงอาจให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

Insights for Brands 2020 Report-03

นักการตลาดยุคใหม่ไม่ควรแยก “ออฟไลน์ – ออนไลน์”

การสร้างประสบการณ์แบบ Omnichannel คือ การผสานรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน นั่นยิ่งทำให้ “นักการตลาดยุคใหม่” ไม่ควร “แยก” มุมมองออฟไลน์และออนไลน์ออกจากกัน เรื่องนี้สอดคล้องกับพฤติกรรมการค้นหาของผู้คนในปัจจุบัน ที่เลือกค้นหา “ใกล้ฉัน” (Near Me) มากขึ้นถึง 105% ถือเป็นการค้นหาออนไลน์เพื่อไปใช้บริการออฟไลน์ตามสไตล์ Omnichannel อย่างแท้จริง โดยปัจจุบันสนับสนุนเทรนด์ดังกล่าวมาจาก…การที่ผู้คนใช้สมาร์ทโฟนกันอย่างแพร่หลาย และความต้องการสินค้า ข บริการที่สามารถตอบโจทย์ได้รวดเร็วและสะดวกสบาย

ซึ่งสินค้าและบริการที่คนไทยนิยมค้นหาโดยระบุว่า “ใกล้ฉัน” มีทั้งสิ้น 4 หมวด ได้แก่…

อาหาร : “หมูกระทะ ใกล้ฉัน” มีการเสิร์ชเพิ่มขึ้นถึง 203% และ “บุฟเฟ่ต์ ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 170%

การเงิน : “ธนาคาร ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 203% และ ATM ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 170%

ความช่วยเหลือ : “ปั๊มน้ำมัน ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 156% และ “ปะยาง ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 138%

ความงาม – สุขภาพ : “ร้านทำผม ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 376% และ “หมอฟัน ใกล้ฉัน” เพิ่มขึ้น 355%

นอกจากนี้ มีข้อมูลระบุว่าผู้บริโภคนิยมค้นหาข้อมูลทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ เฉลี่ย 8 ครั้งก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ซึ่ง 6 ครั้ง เป็นการเสิร์ชหรือศึกษาจากรีวิวผ่านออนไลน์

– รีวิวสินค้าที่ถูกค้นหาผ่าน YouTube มากที่สุดในปี 2019 คือ รถยนต์ บ้าน กล้องถ่ายรูป มือถือ และลิปสติก

– เชื่อหรือไม่ ? ว่า 1 ใน 5 ของผู้บริโภคชาวไทยใช้ Google เพื่อค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อ แม้จะอยู่ในร้านค้าแล้ว

ถามว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับนักการตลาดยุคใหม่อย่างไร ? คำตอบก็คือ…ควรเลิกพฤติกรรมแบ่งแยกมุมมอง “ออฟไลน์” และ “ออนไลน์” ออกจากกัน เนื่องจากทั้ง 2 แพลตฟอร์มนั้นอยู่คู่กัน และตอนนี้ได้กลายเป็น “โลกเดียวกัน” ไปแล้ว ทำให้นักการตลาดควรรวมทั้ง 2 มุมมองเป็นเรื่องเดียวกันให้ได้ และมองให้รอบด้านแบบ 360 องศา

Insights for Brands 2020 Report-04

Insights for Brands 2020 Report-05

ไทย “Going Cashless” ไวสุดใน SEA

ต้องบอกว่า “สังคมไร้เงินสด” เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศ จากเทรนด์การทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคเกิดการเรียนรู้ในเรื่อง Cashless มากขึ้น โดยเราสามารถแบ่งพฤติกรรมการทำธุรกรรมของคนไทยได้เป็น 3 ระดับ คือ Banked คนที่ใช้บริการแบบไร้เงินสดและดิจิทัลแบงก์กิ้งทุกประเภท, Underbanked ใช้บริการไร้เงินสดหรือดิจิทัลแบงก์กิ้งบ้างเนื่องจากมีบัญชีธนาคาร และ Unbanked ไม่ได้ใช้บริการไร้เงินสดและดิจิทัลแบงก์กิ้งเลย หรือไม่มีแม้กระทั่งบัญชีธนาคาร

ซึ่งคนไทยมีสัดส่วนการใช้งานสูงกว่าในภูมิภาค SEA ทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่ม Banked ซึ่งคนไทยใช้งานอยู่ที่ 36% ส่วนค่าเฉลี่ยของภูมิภาคอยู่ที่ 24% หรือกลุ่ม Underbanked ไทยอยู่ที่ 46% ส่วนภูมิภาคอยู่ที่ 25% และกลุ่ม Unbanked คนไทยอยู่ที่ 18% ส่วนภูมิภาคอยู่ที่ 51% นอกจากนี้ยังมีเทรนด์การค้นหาของคนไทยเกี่ยวกับสังคมไร้เงินสด อาทิ เครดิตการ์ด เดบิตการ์ด แอปพลิเคชันธนาคาร และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกัน ยังมีการเสิร์ชแบบ “ถามคำถาม” และ “ขอความช่วยเหลือแก้ปัญหาการใช้งาน” เช่น เปลี่ยนเบอร์มือถือต้องทำอย่างไร, วิธีโอนเงิน, ลืม PIN ต้องทำอย่างไร เป็นต้น ซึ่งตัวเลขและเรื่องราวเหล่านี้ถือเป็นการสะท้อน “ความต้องการ” และ “ความพร้อม” ของคนไทยในการเข้าสู่ยุค Cashless และดิจิทัลเซอร์วิส เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายจากการใช้จ่ายอย่างชัดเจน

จากเรื่องนี้ ชัดเจนแล้วว่าภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญกับบริษัทกลุ่มไฟแนนซ์ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้บริโภคและนำพาผู้บริโภคในกลุ่ม Unbanked ไปสู่อีก 2 กลุ่มให้มากขึ้น

Insights for Brands 2020 Report-06

เคยค้นข้อมูลแล้วจะไม่หาซ้ำ! แต่เสิร์ชอีกครั้งตอน “ซื้อ”

เรื่องของ Conscious Consumption หรือพฤติกรรมใช้จ่ายอย่างมีจิตสำนึกของคนไทยนั้น เกิดจากปัญหาสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น ทั้ง PM 2.5, สภาพอากาศ, การลดใช้พลาสติก เป็นต้น ทำให้คนไทยหันมาใส่ใจเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม เห็นได้จากการค้นหาคำว่า PM 2.5” และ “หน้ากาก N95” ที่เพิ่มขึ้น 100 เท่า หรือการค้นหา “รถยนต์ไฟฟ้า” และ “สกูตเตอร์ไฟฟ้า” ที่เพิ่มขึ้น 250% รวมถึงการค้นหาเกี่ยวกับ “ประหยัดไฟ” ที่เพิ่มขึ้น 163%

หากวิเคราะห์การเทรนด์การค้นหาในประเด็นนี้ จะพบว่าคนไทยมีความสนใจที่จะศึกษาข้อมูลและเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ – การใช้ชีวิตมากขึ้น แต่เนื่องจากหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2018 – ปลายปี 2019 ทำให้การค้นหาข้อมูลเพื่อเตรียมรับมือนั้นมีไม่มากเท่าเดิม แต่การค้นหาที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่มีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้นซ้ำ เช่น เรื่องฝุ่นพิษ ก็จะเห็นการค้นหาในสัดส่วนสูงขึ้นอีกครั้งเพื่อประกอบการตัดสินใจ “ซื้อ”


  • 696
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน