Sovereign AI – อธิปไตยปัญญาประดิษฐ์ ทำไมการมีโมเดล AI ของไทยเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดย กสิมะ ธารพิพิธชัย Head of AI Strategy, SCB 10X

  • 138
  •  
  •  
  •  
  •  

ในงาน Techsauce Global Summit 2024 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 – 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในธีม ‘The World of Tomorrow with AI’ หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจจากเวที Corporate Innovation Stage ก็คือ ‘Sovereign AI – Why It’s Imperative to Have Our Own Thai AI Models’ หรือ อธิปไตยปัญญาประดิษฐ์ – ทำไมการมีโมเดล AI ของไทยเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยคุณกสิมะ ธารพิพิธชัย Head of AI Strategy, SCB 10X ซึ่งเราจะมาสรุปให้ฟัง

คุณกสิมะเล่าว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในยุคของ AI ซึ่งทุกวันนี้อยู่รอบตัวเรา ทั้ง Gemini ของ Google, Copilot ของ Microsoft, Chat GPT ของ Open AI และปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะคนที่สนใจเรื่องเทคโนโลยีเท่านั้น แต่เป็นทุกคนที่ใช้ ไม่ว่าจะนักศึกษา คนทำงาน ศิลปิน อีกทั้งความสามารถของมันก็พัฒนาไปทุกวันจนแทบตามไม่ทัน โดยเงิน 10 พันล้านดอลลาร์ทั่วโลกถูกใช้ไปในการพัฒนา AI ทั้งการวางโครงสร้าง และการวิจัย

นี่ไม่ใช่เรื่องของความสะดวกสบาย หรือความทันสมัย แต่ AI สามารถปฏิวัติสิ่งต่างๆ ทั้งการเงิน การศึกษา ภูมิอากาศวิทยา การสำรวจอวกาศ เราอยู่ในช่วงการเข้าสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทอย่างมากในชีวิตของเรา เหมือนกับตอนที่เข้ายุคอินเทอร์เน็ต

คำถามคือ แล้วประเทศไทยยืนอยู่ตรงไหนในโลกอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI

คำถามนี้นำไปสู่การทำให้คุณกสิมะและทีม SCB 10X สร้าง​ Typhoon (ไต้ฝุ่น) ขึ้นมา ซึ่งเป็น Open Source AI ที่เป็นโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่ พัฒนาให้เข้าใจและสื่อสารภาษาไทยโดยเฉพาะ (Large Language Model Optimized For Thai) นอกจากนี้ยังทำ Data, Research และ Tools ซึ่งทั้งหมดเป็นแบบ Open Source

คุณกสิมะบอกว่า คำถามแรกที่ถูกถาม เมื่อบอกใครๆ ว่านี่คือสิ่งที่กำลังทำอยู่ ก็คือ ทำไมประเทศไทยถึงต้องมีโมเดลของตัวเอง? ในเมื่อ Chat GPT 4.0  ก็พูดไทย Gemini ก็พูดไทย Lama ก็พูดไทยได้ประมาณหนึ่ง และโมเดลเหล่านี้ก็ดีขึ้นทุกวัน 

ต่อไปนี้คือคำตอบของคุณกสิมะ

อันดับแรกคือเรื่อง อัตลักษณ์ของเรา หรือส่ิงที่เรียกว่า ‘ความเป็นไทย’ (Thainess) ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและภาษาของบ้านเรา มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ภาษาไทยไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของการสื่อสาร แต่เป็นเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรม ที่มีความซับซ้อนของการออกเสียงและคอนเซ็ปต์ อย่างเช่นคำว่า ‘เกรงใจ’ เป็นต้น นี่คือหัวใจของการสื่อสารด้วยภาษาไทย

แต่ภาษาไทยต้องพบกับความท้าทายสำคัญในโลกของ AI เพราะภาษาไทยเป็น Low-Resource Language เพราะโมเดลภาษาขนาดใหญ่ในตลาดมักมุ่งเน้นพัฒนาภาษาอังกฤษเป็นหลัก เนื่องจากภาษาไทย หรือภาษาอื่นๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีข้อมูลและทรัพยากรสำหรับการพัฒนาโมเดลที่จำกัด ส่งผลให้ประสิทธิภาพการใช้งานและการนำไปพัฒนาต่อยอดทำได้ไม่ดีเท่าโมเดลภาษาอังกฤษ ภาษาไทยมีดาต้าเพียง 1 ต่อ 100 ของภาษาอังกฤษ จึงเข้าใจภาษาไทยแค่เพียงผิวเผิน ไม่มีความเข้าใจเชิงวัฒนธรรม ซึ่งทำให้มีความผิดพลาด

โมเดลเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้เป็นแบบนี้ ทำให้คุณกสิมะยิ่งเชื่อว่า เราในฐานะคนไทย จำเป็นต้องส่งเสียงและมีวิธีการนำเสนอภาษา วัฒนธรรม ความรู้ ในเทคโนโลยีนี้ในแบบของเราเอง นี่เป็นวิธีเดียวที่ ‘ความเป็นไทย’ หรืออัตลักษณ์ของเราจะถูกนำเสนอออกมา

ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การนำเสนอความเป็นไทย แต่เป็นโอกาสในการแข่งขันในระดับที่กว้างขึ้นบนเวทีโลก ทำให้เราไม่ได้เป็นแค่ Consumer หรือเป็นตลาดของ AI แต่เป็น Builder ของ AI เราสามารถมีส่วนร่วมในระดับโกลบอลได้ อนาคตของ AI เป็นเรื่องของ multi-model ecosystem ด้วยแนวทางที่เรียกว่า Agentic Workflow เป็นระบบ AI ทุกโมเดลทำงานร่วมกันเพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ดีขึ้น

สำหรับ Sovereign AI มีความสำคัญเพราะในทุกวันนี้แถวหน้าของการพัฒนา AI ในโลกอยู่ในมือของบริษัทไม่กี่แห่งในฝั่งเวสต์โคสต์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่ได้มีการพัฒนาโดยใช้ use case ของตลาดในประเทศไทย เพราะไม่ได้อยู่ในแผนกลยุทธ์

Sovereign AI คือการที่ AI อยู่ภายใต้การพัฒนาและควบคุมของประเทศนั้นๆ ซึ่งจะเข้ามามีอิทธิพลในชีวิตของเรา นี่เป็นเรื่องสำคัญเพราะว่าเรานำเข้าเทคโนโลยีตลอดเวลา ซึ่ง AI ไม่ใช่แค่เทคโลยีอย่างหนึ่ง แต่เข้ามาเปลี่ยนโฉมเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะการเงิน การบริการดูแลสุขภาพ การศึกษา การปกครอง หรืออาจจะทุกๆ เรื่องในชีวิตของเรา ซึ่งถ้าเราฝากไว้กับโมเดลที่พัฒนาจากที่อื่นมากเกินไป เราก็เสี่ยงที่จะเสียการควบคุม และสูญเสียอัตลักษณ์ความเป็นไทย

ดังนั้น ส่ิงที่เราต้องทำคือ เพิ่มขีดความสามารถของไทยเพื่อมีส่วนร่วมในชุมชนโลก สามารถประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ทำให้เรามีไทยโซลูชั่นสำหรับคนไทย ลองนึกถึงว่าเรามี AI ที่พูดภาษาถิ่นของไทยใช้ในระบบสาธารณสุขหรือการศึกษา นี่คือความสำคัญของ Sovereign AI 

อย่างไรก็ตาม การจะประสบความสำเร็จใน Sovereign AI ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ต้องการการลงทุนในการศึกษา การวิจัย Infrastructure ซึ่งเรียกร้องความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษา ภาครัฐและเอกชน ไปจนถึงนโยบายภาครัฐที่ต้องชูเรื่องนี้ขึ้นมา 

ซึ่งหากเราทำสำเร็จ เราก็จะสามารถควบคุมอนาคตทางเทคโนโลยีของเราได้ และทำให้เรามีตัวตนในเวทีโลก

แล้วเราจะเริ่มทำเรื่องนี้อย่างไร? คุณกสิมะเชื่อว่า ต้องเป็นเรื่องของ Open Source, Data และ Research ซึ่งโมเดล Typhoon ของ SCB 10X มีแนวทางเช่นนี้ และย้ำว่า Open Source เป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนา AI ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาไปด้วยกัน 


  • 138
  •  
  •  
  •  
  •