เทียบชัดๆ WEB 2.0 และ WEB 3.0  กับข้อดีของการท่องเว็บแบบ Decentralized

  • 25
  •  
  •  
  •  
  •  

ระบบ WEB ในโลกอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งที่เราคงจะคุ้นเคยกันดี และนับเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกการสื่อสารทั้งระหว่างผู้คนและองค์กรต่างๆไปแบบขนานใหญ่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และแน่นอนว่า WEB ก็มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆนับตั้งแต่ยุคของ WEB1.0 ที่เป็นสื่อกลางในการส่งผ่านข้อมูลไปยังผู้คน เปลี่ยนผ่านมาสู่ยุค WEB 2.0 ในปัจจุบันที่กลายเป็นแพลทฟอร์มในการสร้างสรรค์ แบ่งปัน Content มากขึ้น User มีปฏิสัมพันธ์กับผู้สร้าง Content รวมถึงกลายเป็นผู้สร้าง Content ได้ด้วยตัวเอง และอนาคตที่กำลังจะมาถึงนั่นคือ WEB 3.0 ที่ Server แบบรวมศูนย์จะกลายเป็นเรื่อง “ล้าสมัย” กลายเป็นระบบที่ขับเคลื่อนด้วย Blockchain ขณะที่ Data ที่เกิดขึ้นจากการใช้งาน User ผู้เป็นเจ้าของจะสามารถควบคุมได้เองทั้งหมด

 

การเปลี่ยนผ่านจาก WEB 1.0 ถึง WEB 2.0

การเปลี่ยนผ่านจาก WEB 1.0 ไปสู่การเป็น WEB 2.0 ในปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของโลกยุคปัจจุบัน จาก WEB 1.0 ที่ทำได้เพียงการค้นหาและอ่านข้อมูลต่างๆ โดยมีปฏิสัมพันธ์กับ User น้อย เช่นเดียวกับ  Content ที่น้อยกว่า ดังนั้น WEB 1.0 จึงเหมือนกับเป็นแหล่งเก็บข้อมูลที่เข้าถึงได้จากทุกที่ แต่ไม่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมากนัก

แต่สำหรับ WEB 2.0 นับเป็นการปฏิวัติวงการธุรกิจในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ก็ว่าได้ จากความเร็วในการส่งผ่านข้อมูลที่มากขึ้นทำให้ผู้ใช้งานสามารถสร้างเนื้อหาขึ้นเองได้ เกิดแพลทฟอร์มใหม่ขึ้นไมว่าจะเป็น Facebook, Twitter, YouTube, WordPress มีความยืดหยุ่นในการเข้าถึงข้อมูล, มีการการตอบโต้กันมากขึ้น, มีการสื่อสารได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมมากขึ้น นอกจากนี้การมาถึงของโดเมน .com ที่ได้รับความนิยมในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 นั้นนับได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านของ World Wide Web ไปสู่ยุคใหม่ที่พัฒนาขึ้นอย่างแท้จริง

การก้าวเขาสู่ยุค WEB 2.0 มาพร้อมกับจำนวนผู้ใช้งาน Internet ทั่วโลกที่เพิ่มมากขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติ ประมาณการณ์ไว้ว่ามีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 738 ล้านราย ไปถึง 3,200 ล้านรายในช่วงระหว่างปี 2000-2015  กลายเป็นยุคที่อินเตอร์เน็ตเป็นวิธีการสื่อสารที่ประสบความสำเร็จสำหรับชุมชนต่างๆ และความสำเร็จของ WEB 2.0 ก็กลายเป็นยุคของการมีส่วนรวมของ User ที่สามารถสื่อสารได้อย่างเสรีโดยไม่เกี่ยงว่าจะมีฐานะอย่างไรด้วย

 

เหตุผลที่ Web 2.0 ต้องพัฒนาไปสู่ Web 3.0

ดูแล้ว WEB 2.0 จะเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกการสื่อสารที่ประสบความสำเร็จด้วยดีแล้วทำไมเราจะต้องเปลี่ยนไปสู่การเป็น WEB 3.0 ด้วย ดังนั้นจึงต้องพูดถึงข้อเสียของ WEB 2.0 ที่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาไปสู่เทคโนโลยีใหม่ที่จะมาแก้ไขปัญหา หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “ข้อมูลที่มีจำนวนมากเกินไป” ด้วยผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากขึ้นข้อมูลต่างๆถูก Upload สู่ระบบทุกวินาทีจาก Creator จำนวนมากที่มีแนวคิดแตกต่างกัน สร้างความสับสนให้กับ User เพราะ Content จำนวนมากก็ขาดความน่าเชื่อถือ ขณะที่ในปัจจุบันก็เกิด บัญชีปลอม, Spam, มิจฉาชีพและแฮกเกอร์ที่ก่ออาชญากรรมไซเบอร์จำนวนมาก

 

โครงสร้างแบบ Centralized คือปัญหา

WEB 2.0 ไม่ได้มีปัญหาแต่เฉพาะเนื้อหาเท่านั้น แต่ด้วยโครงสร้างของ WEB 2.0 ที่จำเป็นต้องมี Server เก็บข้อมูลรวมศูนย์เอาไว้ที่เดียวกันที่นอกจากจะใช้ต้นทุนสูงแล้ว ยังส่งผลให้ข้อมูลต่างๆตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นการเกิดปัญหาเชิงเทคนิกเช่นพื้นที่เต็ม หรือถูกโจมตีทางไซเบอร์ที่ทำให้เว็บไซต์หรือบริการต่างๆบน Web เกิดล่ม ไม่สามารถใช้งานได้นอกจากนีัยังมีความเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนตัว เกิดการล็อกไฟล์เรียกค่าไถ่ ไล่ไปถึงการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงการถูกเซ็นเซอร์โดยภาครัฐ ซึ่งระบบ WEB 3.0 จะเข้ามาแก้ปัญหานี้ เนื่องจากข้อมูลถูกเข้ารหัสและกระจายออกไปในเครือข่าย Blockchain ทั้งหมด

การรวมศูนย์ของ WEB 2.0 ยังมีปัญหาในเรื่องของข้อมูลจำนวนมากที่บางครั้งการค้นหาทำให้ไม่พบสิ่งที่ต้องการ นั่นจึงนำไปสู่เทคโนโลยีที่เรียกว่า Semantic Web ที่เป็นส่วนหนึ่งของทิศทางการพัฒนาเทคโลโลยี WEB 3.0 ด้วย เป็นระบบที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้เป็นการช่วยให้ User สามารถมีส่วนสร้างข้อมูลในแบบที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจ ประมวลผลและแลกเปลี่ยนข้อมูลเหล่านั้นได้ หรือพูดง่ายๆว่าระบบ WEB จะมีความฉลาดมากขึ้นนั่นเอง

 

เข้าใจการทำงานของ WEB 3.0

นอกจากการประมวลผลและเข้ารหัสและยืนยันข้อมูลต่างๆในระบบ Blockchain ที่เป็นจุดเด่นแล้วความเป็น Semantic Web ก็เป็นอีกความสามารถของ WEB 3.0 ที่จะทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นด้วย ยกตัวอย่างแบบเปรียบเทียบให้เห็นภาพของความเป็น Semantic Web แห่งอนาคตแบบง่ายๆ เช่นหากเราใส่ข้อความค้นหาว่า “ไปเที่ยวในวันหยุดที่ไหนดีที่อากาศไม่ร้อนด้วยงบประมาณ 10,000 บาท ผมมีลูกอายุ 7 ขวบไปด้วย 1 คน”

ในปัจจุบันยุค WEB 2.0 นั้นเราอาจจะต้องใช้เวลาค้นหาผ่านเว็บไซต์ต่างๆและเปรียบเทียบข้อมูลไม่ว่าจะเป็นเที่ยวบิน โรงแรม การเช้ารถ และอื่นๆ เป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อที่จะหาที่เที่ยวตามความต้องการและเงื่อนไขที่มี แต่หากเป็นระบบ WEB 3.0 แล้วเปรียบเทียบก็จะเหมือนกับระบบอินเตอร์เน็ตแบบ 3 มิติที่จะแสดงผลแพคเกจท่องเที่ยวที่ตรงความต้องการเหมือนกับข้อมูลถูกจัดเรียงมาให้โดยเจ้าหน้าที่จากบริษัทท่องเที่ยวเลยก็ว่าได้

 

ฉายภาพอนาคต WEB 2.0 สู่ WEB 3.0

แม้ว่าเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานจากระบบ Blockchain อย่างระบบสกุลเงินดิจิทัลหรือ Crypto-currency หลายๆสกุลเงินที่เรารู้จักกันดีที่มีระบบผลิตเงิน ระบบธุรกรรมและกระเป๋าเงินที่รวมศูนย์อยู่บน Blockchain เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม WEB 3.0 เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆหนึ่งในนั้นเพราะ WEB 2.0 ยังคงใช้งานได้ง่ายมากกว่า แต่เวลานี้ก็เริ่มมีผู้เล่นที่กระโดดเข้าไปในสนาม WEB 3.0 แล้วในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น Web Browser อย่าง Brave ที่จะมาแทนที่ Google Chrome พื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์อย่าง Storj หรือ IPFS ที่จะมาแทนที่ Dropbox หรือ Google Drive ระบบปฏิบัติการอย่าง Essentia.one หรือ EOS ที่อาจมาแทนที่ iOS หรือ Andriod แอปพลิเคชั่นส่งข้อความที่อาจแทนที่ด้วยแอปบน WEB 3.0 อย่าง Status รวมไปถึง Facebook ที่อาจจะถูกแทนที่ด้วย Steemit เป็นต้น

 

Data คือทรัพย์สินของ User

อีกเรื่องที่เป็นจุดเด่นแบบสุดๆของ WEB 3.0 ก็คือ Data ที่เป็นเหมือนกับทรัพย์สินที่ User เป็นเจ้าของจะไม่ถูกควบคุมโดยบริษัทรวมศูนย์หรือเจ้าของแพลทฟอร์มต่างๆ เช่น Google, Facebook หรือ Apple อีกต่อไป เนื่องจาก “ตัวกลาง” หรือ Server ของแพลทฟอร์มต่างๆจะถูกตัดออกจากสมการ และระบบ Blockchain ที่มีระบบการยืนยันข้อมูลแบบ peer to peer จะเข้ามารับหน้าที่ในการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ไม่สามารถละเมิดได้ รวมไปถึง Data ต่างๆที่จะถูกเข้ารหัสอย่างแน่นหนา นั่นส่งผลให้ไม่ว่าจะรัฐบาล หรือบริษัทต่างๆจะไม่สามารถลบเว็บไซต์หรือบริการต่างออกจากระบบได้ และที่สำคัญ จะไม่มีใครคนใดคนหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งสามารถควบคุม Data พฤติกรรมหรือตัวตนของคนใดคนหนึ่งได้อีกต่อไป นั่นหมายความว่า แพลทฟอร์มต่างๆ หรือบริษัทต่างๆที่ต้องการนำ Data ของ User ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ชอบ รายได้ ความสนใจ ข้อมูลเครดิตการ์ด และอื่นๆ บนระบบ WEB 3.0 ไปใช้ประโยชน์เช่นการยิงโฆษณา จะต้องให้อะไรตอบแทนกับ User หรือเจ้าของ Data โดยตรงนับเป็นการ Empower ให้กับ User ในยุคนี้

 

WEB 3.0 ลดปัญหาการ Hack ข้อมูล

ประโยชน์ของ WEB 3.0 อีกเรื่องคือจะช่วยให้การ Hack ข้อมูลหรือการเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบนั้นจะลดลงเนื่องจากข้อมูลใน แพลทฟอร์ม Website บน Blockchain นั้นจะไม่ได้ถูกรวมศูนย์อยู่ใน Server ที่ใดที่หนึ่งอีกต่อไปแต่จะถูกกระจายไปในเครือข่ายทั้งหมด ดังนั้น Hacker ที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลของ User ใน Blockchain จะต้องจัดการกับระบบ Blockchain ที่เป็นห่วงโซ่ของแต่ละ Block ทั้งหมด รวมไปถึงต้องปิดระบบเครือขายลงซึ่งเป็นสิ่ที่เกือบจะเป็นไปไม่ได้ เปรียบเทียบกับระบบ WEB 2.0 ในปัจจุบันที่เกิดการ Hack ข้อมูลขึ้นแทบจะทุกวัน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ข้อมูลของบุคคลทั่วไปตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ยังส่งผลกระทบกับความมั่นคงระดับชาติด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิทัลที่ Data มีค่ามากกว่าทองคำดังนั้นการ Hack ข้อมูลนั้นจึงส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจระดับโลกคิดเป็นมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ทุกๆปี โดยผลการศึกษาจาก Jumiper Research ระบุว่าในปี 2020 ที่ผ่านมาการเจาะข้อมูลในโลกดิจิทัลนั้นสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจมากถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 92 ล้านล้านบาท

 

นั่นคือรายละเอียดโดยสรุปของเส้นทางการพัฒนาจาก WEB 2.0 ไปสู่อนาคตอย่าง WEB 3.0 ที่นอกจากจะช่วยลดปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับ WEB 2.0 แล้วยังเป็นการ Empower ผู้ใช้งานที่เป็นเจ้าของ Data ให้มีสถานะในความเป็นเจ้าของ Data ต่างๆได้อย่างแท้จริง ยิ่งกว่านั้นระบบ Semantic Web ของระบบ WEB 3.0 จะช่วยให้ประสบการณ์การใช้งานอินเตอร์เน็ตของเราง่ายขึ้นไปอีกขั้น เรียกได้ว่าเป็นอนาคตที่น่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนี้อย่างแน่นอน

 


  • 25
  •  
  •  
  •  
  •