เปิด 3 กลยุทธ์ใหม่ ‘โอ บอง แปง’ (Au Bon Pain)เพื่อฝ่าวิกฤตธุรกิจร้านอาหารกับการเปิดตัวโมบายล์ แอพพลิเคชั่น ABP Thailand เพื่อเข้าถึงลูกค้าแบบทุกที่ทุกเวลา , การแตก sub brand ‘อุโบล์วพรรณ’ ตอบโจทย์พฤติกรรมลูกค้าไทย และการเดินหน้าเปิดสาขาใน ‘ปั๊มน้ำมัน’ โลเคชั่นใหม่ แก้โจทย์สาขาในห้างถูกปิด
จากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรงต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักให้กับธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านที่มีสาขาอยู่ในห้างที่ต้องปิดให้บริการ แม้ตอนนี้จะเริ่มผ่อนคลายให้สามารถเปิดให้บริการเดลิเวอรี่ได้เท่านั้น แต่ดูเหมือนว่า สถานการณ์ของธุรกิจนี้ยังเห็นสัญญาณฟื้นตัวไม่ชัดเจนนัก
“สถานการณ์ของธุรกิจร้านอาหารตอนนี้ถือว่าหนัก บรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารต่าง ๆ ต้องพยายามปรับตัวและมองหากลยุทธ์ใหม่เข้ามาเพื่อสร้างทางรอดให้กับตัวเอง นอกจากรสชาติและคุณภาพของอาหาร หลัก ๆ ต้องตอบพฤติกรรมผู้บริโภคที่ออกจากบ้านน้อยลงและหันมาทานข้าวที่บ้านมากขึ้น” ชนินทร์ นาคะรัตนากร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ของ โอ บอง แปง
วาง 3 กลยุทธ์ฝ่าวิกฤต
สำหรับโอ บอง แปงในด้านของการตลาด ต้องการเข้าถึงลูกค้าในทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งจะดำเนินการผ่าน 3 กลยุทธ์ใหม่ ได้แก่
– กลยุทธ์แรก เข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านแอปฯ ABP Thailand
– กลยุทธ์ที่ 2 การแตก sub brand ใหม่ ‘อุโบล์วพรรณ’ การขยายไลน์เมนูข้าวเป็นครั้งแรกของโอ บอง แปง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าในปัจจุบัน
– กลยุทธ์ที่ 3 การเดินหน้าหาโลเคชั่นใหม่สำหรับขยายสาขานอกเหนือจากในห้างหรือศูนย์การค้า
กลยุทธ์แรก เข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านแอปฯ ABP Thailand ซึ่งแอปฯดังกล่าวพยายามรวบรวมจุดเด่นของแอปฯต่าง ๆ ของร้านอาหารเข้าด้วย นั่นคือ
– Au Bon Pain in your hand เปรียบเสมือนกับมีร้าน โอ บอง แปง อยู่ในมือ ด้วยการสร้างฟีเจอร์ต่างๆขึ้นมาอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในทุกรูปแบบ ตั้งแต่การเลือกดูเมนูสินค้า การชำระเงิน กระทั่งอัพเดตข่าวสารและโปรโมชั่นกับลูกค้า
– Au Bon Pain Rewards สามารถสะสมคะแนน โดยทุกการใช้จ่าย 25 บาท จะเทียบเท่ากับ 1 เบเกิล พอยต์ สามารถนำมาแลกของรางวัล รวมถึงการแสดงสถานะของสมาชิกทั้งระดับ เบเกิล และระดับเบเกิล คิง
– Au Bon Pain Wallet ตอบโจทย์สังคมไร้เงินสดและการใช้จ่ายแบบลดการสัมผัส โดยลูกค้สามารถจ่ายเงินผ่านการสแกน QR Code ที่ผูกไว้กับบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตของลูกค้าได้
-Au Bon Pain Order and Delivery กดเลือกให้มาส่งที่บ้าน หรือสั่งไว้ก่อนแล้วมารับได้เองแบบไม่ต้องรอคิวก็ทำได้!
กลยุทธ์ที่ 2 การแตก sub brand ใหม่ ‘อุโบล์วพรรณ’ การขยายไลน์เมนูข้าวเป็นครั้งแรกของโอ บอง แปง
การแตก sub brand ใหม่นี้ เป็นการเพิ่มวาไรตี้ของสินค้าให้มากขึ้น นอกเหนือจาก ‘เบเกอรี่และกาแฟ’ สินค้าขึ้นชื่อของโอ บอง แปง เพื่อการตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าในปัจจุบัน และขยายฐานลูกค้าที่ไม่เคยจับมาก่อน โดย sub brand แรกที่พัฒนาออกมา ได้แก่ ‘อุโบล์วพรรณ’ ด้วยการนำเมนูข้าวสตรีทฟู้ดสของไทยที่ลูกค้าคุ้นเคยมาพัฒนาในรูปแบบใหม่ Rice Bowl
ช่วงแรกมีด้วยกัน 3 เมนู ได้แก่ ข้าวกล้องควินัวไก่กระเทียมพริกไทยดำ , ข้าวกล้องควินัวเนื้อย่างจิ้มแจ่ว และข้าวกล้องควินัวไก่ซอสเบซิล ราคาเริ่มต้น 129 บาท และมีแผนจะขยายเมนูเพิ่มเติมในอนาคต
“อุโบล์วพรรณ เป็นการนำชื่ออุบลพรรณมาเปลี่ยนให้เข้ากับรูปแบบของสินค้า ซึ่งเป็นการทำเมนูข้าวครั้งแรกของเราที่ยังคงคาแรกเตอร์ของแบรนด์โอ บอง แปง ทั้งเรื่องคุณภาพและสุขภาพดี เช่น แทนจะใช้ข้าวธรรมดา เราใช้ข้าวกล้องควินัว เนื้อก็เน้นคัดพิเศษ”
กลยุทธ์ที่ 3 การเดินหน้าหาโลเคชั่นใหม่สำหรับขยายสาขานอกห้างให้มากขึ้นกว่าเดิม
ปัจจุบันโอ บอง แปง มีสาขาอยู่ประมาณ 68 สาขา ทั้งสาขาตามอาคารสำนักงาน , โรงพยาบาลต่าง ๆ และสาขาภายในห้างหรือศูนย์การค้าต่าง ๆ ซึ่งสาขาในห้างก็ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์
ดังนั้น ทิศทางการหาขยายสาขาต่อจากนี้ของโอ บอง แปง พยายามมองหาโลเคชั่นใหม่ ๆ ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้นกว่าเดิมนอกเหนือจากห้างหรือศูนย์การค้า โดยจะเน้นแหล่งชุมชน และพื้นที่ที่ลดข้อจำกัดในการถูกสั่งปิด อาทิเช่น ปั๊มน้ำมัน ซึ่งประมาณช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคม 2564 จะเห็นสาขาแรกในปั๊มน้ำมันของโอ บอง แปง รวมถึงมีแผนขยายคลาว์คิทเช่นให้มากขึ้น เพื่อรองรับบริการเดลิเวอรี่และเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด โอ บอง แปง ทิ้งท้ายว่า ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด-19 บวกกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคถือเป็นโจทย์สำคัญให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารต้องเร่งปรับตัวและวางกลยุทธ์อย่างรวดเร็วให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง
เพราะ ‘จากอะไรที่เคยคิดว่าใช่ ตอนนี้อาจจะไม่ใช่อีกต่อไป’ ยกตัวอย่างเช่น การเปิดสาขาภายในห้าง ที่ก่อนหน้านี้ใครๆต่างคิดว่า เป็นทำเลทอง แต่หลังจากโควิด-19 มา ก็ทำให้ภาพนี้เปลี่ยนไปแล้ว เป็นต้น