จับตาการเปลี่ยนผ่าน “อาณาจักรอมรินทร์ กรุ๊ป” จาก “ตระกูลอุทกะพันธุ์” สู่ภายใต้การบริหาร “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” รุกธุรกิจสื่อ-คอนเทนต์ครบวงจร

  • 127
  •  
  •  
  •  
  •  

AMARIN Group

เชื่อว่าเมื่อเอ่ยถึงหนึ่งในอาณาจักรธุรกิจสื่อ และคอนเทนต์รายใหญ่และอยู่มายาวนานในไทย หลายคนต้องนึกถึง “อมรินทร์ กรุ๊ป” (AMARIN Group) ที่ก่อตั้งโดย “คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ในปี 2519 และอยู่ในการบริหารของ “ตระกูลอุทกะพันธุ์” มาตลอด 47 ปี

แต่แล้วหลังจากที่ “ตระกูลอุทกะพันธุ์” ขายหุ้นให้กับ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด และ “บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด” บริษัทของ “คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี” และ “คุณปณต สิริวัฒนภักดี” สองทายาทเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ล่าสุด บมจ.อมรินทร์ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงการลาออกของ “ตระกูลอุทกะพันธุ์” ในตำแหน่งกรรมการ, กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และเลขานุการบริษัท พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งที่ว่างลง

นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ “อาณาจักรอมรินทร์” จากภายใต้การบริหารของตระกูลอุทกะพันธุ์ มากว่า 4 ทศวรรษ เปลี่ยนสู่ “กลุ่มสิริวัฒนภักดี” อย่างเต็มรูปแบบ โดยน่าจับตามมองว่าการรุกธุรกิจแพลตฟอร์มสื่อ และคอนเทนต์ของเครืออมรินทร์นับจากนี้ ภายใต้การถือหุ้นใหญ่ของสองพี่น้องตระกูลสิริวัฒนภักดี จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ถูกนำมาใช้ Synergy กับธุรกิจต่างๆ ในเครือทีซีซี กรุ๊ป (TCC Group)

 

ย้อนรอย “อมรินทร์” จากจุดเริ่มต้น “บ้านและสวน” สู่ “อาณาจักรสื่อ – คอนเทนต์ – อีเวนต์ครบวงจร”

“อมรินทร์” ก่อตั้งโดย “คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์” ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกและพนักงานจำนวนเพียงไม่กี่คน ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดวารสารบ้านและสวน เพื่อผลิตนิตยสาร “บ้านและสวน” ฉบับแรกออกวางจำหน่ายในเดือนกันยายน ปี 2519 โดยช่วงแรกยังต้องใช้โรงพิมพ์ภายนอก

จากนั้นได้ก่อตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในชื่อ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด อมรินทร์การพิมพ์” เพื่อจัดพิมพ์นิตยสารเอง ขณะเดียวกันก็รับจ้างงานพิมพ์อื่นด้วย

ต่อมากิจการของอมรินทร์ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นต้องระดมทุนและแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2536 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)”

ในปีเดียวกันนี้เอง ได้ก่อตั้ง “บริษัท อมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด” เพื่อดูแลการจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ทั้งหมด รวมถึงการจัดตั้งร้านค้าปลีกขึ้น ในชื่อ ร้านนายอินทร์

หลังจากนั้นอมรินทร์ เริ่มขยายธุรกิจนิตยสารให้ครอบคลุมผู้อ่านกลุ่มต่างๆ เช่น นิตยสารแนวผู้หญิง “แพรว” และ “สุดสัปดาห์” รวมทั้งนิตยสารอื่นๆ ตามมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาได้ขยาย

AMARIN Group_founder
คุณชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งอมรินทร์ กรุ๊ป (Photo Credit: รายงานข้อมูลประจำปี อมรินทร์ กรุ๊ป)

จากจุดเริ่มต้นในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ถึงวันนี้ “อมรินทร์ กรุ๊ป” (AMARIN Group) เติบโตเป็น “อาณาจักรธุรกิจสื่อ – คอนเทนต์ – อีเวนต์ครบวงจร” พร้อมเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็น “บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)”

เพื่อตอกย้ำการเป็นธุรกิจที่มากกว่าพริ้นติ้ง หรือพับลิชชิ่ง ภายใต้กลยุทธ์ Omni Media – Omni Channel ผสานทั้ง On Print, Online, On Ground, On Air และ On Shop เข้าด้วยกัน ประกอบด้วย 5 กลุ่มธุรกิจหลัก และ 2 ธุรกิจที่ร่วมทุน ประกอบด้วย

1. ธุรกิจมีเดียแอนด์อีเวนต์

ธุรกิจที่ประสานกับสื่อ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ไปจนถึงธุรกิจจัดงานแฟร์และอีเวนต์ ที่จะช่วยให้ลูกค้าลงโฆษณาของอมรินทร์ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการแบ่งประเภท ภายใต้แบรนด์ต่างๆ ได้แก่

– กลุ่มลิฟวิ่ง: แบรนด์บ้านและสวน, room, my home, Living ASEAN

– กลุ่มความรู้และสิ่งแวดล้อม: National Geographic

– กลุ่มแฟชั่น: แบรนด์แพรว, แพรวเวดดิ้ง, สุดสัปดาห์, a Cuisine, Good Life Update, Secret

– กลุ่มแม่และเด็ก: Amarin Baby & Kids

2. ธุรกิจสำนักพิมพ์

เป้าหมายเพิ่มจำนวนการผลิตหนังสือเล่มประมาณ 500 ปก และหนังสือดิจิทัลประมาณ 770 เรื่องต่อปี พร้อมทั้งเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า โดยสามารถเลือกรูปแบบการอ่าน ทั้งการอ่านหนังสือ อ่านแบบดิจิทัล หรือจะออดิโอ Multi-platform และมุ่งขยายความหลากหลายของคอนเทนต์เพื่อเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย สร้างสังคมแห่งการอ่านให้ประเทศไทย

ปัจจุบันสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ ประกอบด้วย

– แพรวสำนักพิมพ์ วรรณกรรมไทยและวรรณกรรม แปลจากทั่วโลก

– สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน วรรณกรรมเยาวชนทั้งไทย และแปลจากทั่วโลก

– สำนักพิมพ์พิคโคโล นิยายแนวอบอุ่นหลากหลายรสชาติจากทั่วโลก

– สำนักพิมพ์สปริงบุ๊คส์ หนังสือความเรียงและจิตวิทยา

– สำนักพิมพ์อมรินทร์ฮาวทู หนังสือแปลแนวจิตวิทยาพัฒนาตนเอง

– สำนักพิมพ์ชอร์ตคัต หนังสือแนวพัฒนาตนเอง

– สำนักพิมพ์โซเฟีย หนังสือสาระความรู้ วิชาการที่น่าสนใจ

– สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ หนังสือดูแลสุขภาพ ทั้งกายและใจ

– สำนักพิมพ์อมรินทร์คิดส์ หนังสือสำหรับเด็ก และคู่มือพ่อแม่

– สำนักพิมพ์อรุณ นวนิยายรักโรแมนติกทั้งจีนและไทย

– สำนักพิมพ์โรส นิยายวายไทยและนิยายวายแปล

– สำนักพิมพ์เลวอน นิยายแฟนตาซีเกาหลี

– สำนักพิมพ์พีโอนี นิยายแปลรายตอนจากเกาหลี

– สำนักพิมพ์ไพน์ นิยายแปลรายตอนแนว กำลังภายใน สืบสวน ระทึกขวัญ ผจญภัย และแฟนตาซี

– สำนักพิมพ์คาเมลเลีย นิยายรักรายตอนแปลร้อนๆ จากจีน

– สำนักพิมพ์ไลแลค นิยายวายแปลรายตอนจากจีน และเกาหลี

AMARIN Group
Photo Credit: รายงานข้อมูลประจำปี อมรินทร์ กรุ๊ป

3. ธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์

ธุรกิจการพิมพ์ที่ให้บริการได้ตั้งแต่การพิมพ์หนังสือเล่มเดียว ไปจนถึงหลักล้านเล่ม นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาไปที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมภายใต้สัญลักษณ์ AM GREEN ประกอบด้วย

– Creaprint ให้บริการผลิต สิ่งพิมพ์คุณภาพ

– Creapack ธุรกิจบรรจุภัณฑ์

– The Creatia บริการจัดทำ คอนเทนต์ครบวงจร

– NERAMIT ให้บริการงานพิมพ์ระบบดิจิทัลแบบ Print on Demand

4. ธุรกิจจัดจำหน่ายสื่อสิ่งพิมพ์ และ Digital Content

โดยบริษัทอมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด ที่มีเครือข่ายร้านพันธมิตรมากกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ และธุรกิจค้าปลีกอย่างร้านนายอินทร์ ซึ่งมี 114 สาขา (ข้อมูล ณ 31 ธันวาคม 2565) และแพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้งแอปพลิเคชัน Naiin และช่องทางเว็บไซต์ naiin.com ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 26 ล้านรายต่อปี รวมทั้งมีแพลตฟอร์มใหม่อย่าง Mareads ที่สามารถอ่านนิยายเป็นตอนๆ มาให้บริการ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ช่วยในการขยายฐานการอ่านและรองรับกลุ่มลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. ธุรกิจทีวีดิจิทัล

โดยบริษัทอมรินทร์เทเลวิชั่น จำกัด ช่อง AMARIN TV 34HD เป็นสื่อทีวีดิจิทัลที่ยังรักษาความนิยมของผู้ชมทั่วประเทศอยู่ใน TOP 7 ที่มีครบทุกแพลตฟอร์ม มีรายการที่มีคุณภาพครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายและเข้าถึงผู้ชมทั่วประเทศ ด้วยการเชื่อมต่อประสบการณ์อันหลากหลายผ่านทั้งช่องทาง On Air และ Online ในทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงผ่าน 34HD App ที่จะสามารถรับชมรายการผ่านอุปกรณ์ หรือ Device ต่างๆ ได้เข้าถึงง่าย

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 บริษัทที่อมรินทร์ถือหุ้นร่วม คือ บริษัท คาโดคาวะ อมรินทร์ จำกัด เป็นผู้นำในเรื่องของ Light NOVEL และ MANGA และ บริษัท เด็กดี อินเตอร์ แอคทีฟ จำกัด ผู้นำตลาดนิยายและ Education Platform

AMARIN Group
Photo Credit: รายงานข้อมูลประจำปี อมรินทร์ กรุ๊ป

สำหรับผลการดำเนินงานของ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) อยู่สถานะกำไร

– ปี 2562: รายได้รวม 3,268.46 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 167.72 ล้านบาท

– ปี 2563: รายได้รวม 2,937.11 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 170.67 ล้านบาท

– ปี 2564: รายได้รวม 2,960.61 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 313.11 ล้านบาท

– ปี 2565: รายได้รวม 4,274.45 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 474.37 ล้านบาท

– ปี 2566 งบ 6 เดือนแรกของปี (30 มิถุนายน 2566): รายได้รวม 1,982.58  ล้านบาท / กำไรสุทธิ 128.48 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้ตั้งตั้งงบลงทุนกว่า 2,100 ล้านบาท สำหรับปี 2566 – 2568 แบ่งเป็น

– 800 ล้านบาท โอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ และจากการร่วมมือกับคู่ค้า

– 600 ล้านบาท คอนเทนต์หนังสือ, ดิจิทัล, โทรทัศน์ ทั้งรูปแบบการซื้อลิขสิทธิ์ต่างประเทศ และสร้าง Local Content เพื่อพัฒนา Soft Power ให้กับประเทศไทย

– 250 ล้านบาท Infrastructure เช่น การสร้างสตูดิโอใหม่, การพัฒนาพื้นที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์

– 250 ล้านบาท Technology เช่น AI, ML เพื่อต่อยอดธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ

– 250 ล้านบาท Packaging เครื่องจักรและเทคโนโลยีการพิมพ์รองรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์

AMARIN Group
คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์

 

เปิดทาง “กลุ่มสิริวัฒนภักดี” เข้าถือหุ้นใหญ่ คุมอาณาจักรอมรินทร์ กรุ๊ป

ในปี 2559 ถือเป็น Turning Point ครั้งใหญ่ของอาณาจักรอมรินทร์ กรุ๊ป เพราะได้ขายหุ้นเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้นให้กับ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด ของ “คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี” และ “คุณปณต สิริวัฒนภักดี” สองทายาทเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี รวมมูลค่า 850 ล้านบาท ทำให้บริษัท วัฒนภักดี เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 47.62% ก่อนจะเพิ่มเป็นสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 60.35% ในปัจจุบัน เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของ บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์

ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2566 บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับซื้อขายหุ้นของบริษัทฯ จำนวน 138,387,052 หุ้น คิดเป็น 13.86% ที่ถือโดย “คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์” ขายให้กับ “บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด” ซึ่งเป็นอีกบริษัทของ “คุณฐาปน คุณปณต สิริวัฒนภักดี” นั่งเป็นกรรมการและผู้มีอำนาจลงนาม

ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุด น่าจะทำให้ใครหลายคนใจหายไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่มีความผูกพันกับเครืออมรินทร์ เมื่อ บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึง การลาออกของ “ตระกูลอุทกะพันธุ์” จากคณะผู้บริหาร ประกอบด้วยคุณเมตตา อุทกะพันธุ์, คุณระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ และ คุณโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์

โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป และในระหว่างนี้บริษัทฯ ได้แต่งตั้ง คุณศิริ บุญพิทักษ์เกศ ดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ พร้อมทั้งกำลังพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งที่ว่างลง

การลาออกของ “ตระกูลอุทกะพันธุ์” ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง นับเป็นการปิดฉากบทบาทตระกูลอุทกะพันธุ์ ที่บริหารเครืออมรินทร์มายาวนาน 47 ปี และได้เปลี่ยนสู่ยุคการบริหารของ “ตระกูลสิริวัฒนภักดี” ผู้ถือหุ้นใหญ่อาณาจักรอมรินทร์ กรุ๊ป ซึ่งปัจจุบันในบอร์ดบริหาร “คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี” ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร

Thapana - Panote Sirivadhanabhakdi
คุณฐาปน – คุณปณต สิริวัฒนภักดี (Photo Credit: ไทยเบฟ, วัน แบงค็อก)

เป็นที่ทราบกันดีว่า “กลุ่มสิริวัฒนภักดี” เป็นกลุ่มทุนใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจแบบ Conglomerate ภายใต้กลุ่มบริษัทไทยเจริญคอมเมอร์เชียล หรือ TCC Group ที่แตกออกเป็นบริษัทต่างๆ ในเครือ ภายใต้ 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่

กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม: บมจ.ไทยเบฟ, บมจ.เสริมสุข, บมจ.โออิชิ กรุ๊ป, F&N

กลุ่มอุตสาหกรรมและการค้า: บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC), บมจ.บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น (BRC), บริษัท เอเชียบุ๊คส จำกัด (Asia Books)

กลุ่มประกันและการเงิน: ดำเนินธุรกิจภายใต้ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ประกอบด้วย บมจ.อาคเนย์ประกันชีวิต, บมจ.อินทรประกันภัย, บริษัท อาคเนย์แคปปิตอล จำกัด, บริษัท อาคเนย์ มันนี่ จำกัด และบริษัท อาคเนย์ มันนี่ รีเทล จำกัด, บริษัท มี อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด, บริษัท เซ็นทริคส์ คอนซัลติ้ง จำกัด และ บริษัท เอส โซฟิน จำกัด

กลุ่มธุรกิจอสังหาริทรัพย์: บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC), ทีซีซี แลนด์, บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย), บมจ.ยูนิเวนเจอร์

กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร: บริษัท พรรณธิอร จำกัด, บริษัท เทอราโกรเฟอร์ติไลเซอร์ จำกัด, บมจ.อาหารสยาม จำกัด, กลุ่มบริษัท คริสตอลลา จำกัด

เพราะฉะนั้นการที่บริษัทของสองทายาทตระกูลสิริวัฒนภักดี เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และคุมการบริหาร “อมรินทร์ กรุ๊ป” เชื่อว่าได้เล็งเห็นศักยภาพของเครืออมรินทร์ ที่ดำเนินธุรกิจรูปแบบ Omni Media – Omni Channel ที่ผสานทั้ง On Print, Online, On Ground, On Air และ On Shop

โดยเฉพาะประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในธุรกิจสื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ แพลตฟอร์มดิจิทัล สื่อทีวี ตลอดจนด้านคอนเทนต์ การจัดอีเวนต์ และแต่ละแบรนด์ในเครืออมริมทร์ ก็มีฐานสมาชิก และฐานแฟนคลับจำนวนมาก สามารถนำไปต่อยอด และใช้พลัง synergy กับธุรกิจต่างๆ ในเครือ TCC ได้อีกมากมาย 

น่าจับตามองต่อไปจากนี้ว่าอาณาจักร “อมรินทร์ กรุ๊ป” ภายใต้การบริหารของกลุ่มสิริวัฒนภักดี จะขับเคลื่อนไปในทิศทางใด และจะยังคงรักษา Legacy ที่สั่งสมมากว่า 4 ทศวรรษ ควบคู่กับการเดินหน้าขยายอาณาจักรแห่งนี้ให้เติบโตแข็งแกร่งยิ่งขึ้นอย่างไร

 

 

Source: ประวัติอมรินทร์ กรุ๊ป


  • 127
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ