ในช่วง1-2 ปีมานี้ ธุรกิจหลายแห่งมักบ่นว่าเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ส่งผลให้ผลการดำเนินธุรกิจไม่ค่อยเติบโต หรือเติบโตลดลง ขณะที่บางแห่งถึงกับขาดสภาพคล่องในการขยายธุรกิจ แต่ไม่ใช่สำหรับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะบริษัทในเครือ TCC Group ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” และเครือซีพีของเจ้าสัวธนินท์ ที่ช่วงที่ผ่านมา มีการขยายธุรกิจอมากในเวลาอันรวดเร็ว
จนถึงขนาดกับมีคำกล่าวสนุก ๆ ที่ว่า ในอนาคต (อันใกล้) ธุรกิจในประเทศไทยน่าจะมีแต่ “เจริญ เจริญ” คือ ถ้าไม่ใช่ของ “เสี่ยเจริญ” ก็อาจจะเป็นของ “เจ้าสัวกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์”
วันนี้ Marketing Oops! เลยอยากชวนมาเปิดพอร์ตของเจ้าสัวเจริญ ว่าครอบคลุมธุรกิจอะไรบ้าง และที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างรวดเร็วขนาดไหน
เริ่มต้นด้วยการเทคฯ โรงเหล้าเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน
จากอภิมหาอาณาจักรของเจ้าสัวเจริญที่สาธารณชนรับรู้ว่ามีขนาดหลายแสนล้านบาท ทำให้หลายคนอาจไม่เชื่อว่า จุดเริ่มต้นของเจริญมาจากกิจการขายหอยทอดที่ส่งเสียให้เขาเรียนจนจบ ป.4จากโรงเรียนเผยอิง จากนั้นจึงเริ่มออกมาทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทแห่งหนึ่งซึ่งทำธุรกิจจัดส่งสินค้าให้กับโรงงานสุราบางยี่ขัน
ที่นี่เองที่ทำให้เขารู้จักกับ จุล กาญจนลักษณ์ผู้เชี่ยวชาญการปรุงสุราและเป็นผู้กุมสูตร “แม่โขง” และ เถลิง เหล่าจินดา หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทสุรามหาคุณ ซึ่งเจริญได้รับความไว้วางใจจากเถลิงอย่างมาก จนนำมาสู่การจัดตั้งกิจการ TCC ในปี 2503 ว่ากันว่า ย่อมาจากชื่อของทั้ง 3 คน (เถลิง-เจริญ-จุล) แต่ปัจจุบัน รู้จักกันในชื่อ“กลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (TCC Group)”
ต่อมา เจริญได้เข้าไปร่วมงานกับเถลิงที่บริษัทสุรา ซึ่งที่นี่เองเขาได้รับการถ่ายทอดกลยุทธ์และเคล็ดลับในการทำธุรกิจสุราจากเถลิงอย่างมาก รวมถึงสะสมสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ กระทั่งปี 2518 เจริญและเถลิงจึงได้เข้าซื้อกิจการบริษัท ธารน้ำทิพย์ ผู้ผลิต “ธาราวิสกี้” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นบริษัท แสงโสม เพื่อผลิตเหล้าแสงโสม ถือเป็นก้าวแรกในการเข้าสู่วงการ “เจ้าสัวน้ำเมา” เต็มตัวของเจริญ แล้วก็ทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไป
จากนั้น เจริญชนะการประมูลสัมปทานในการสร้างและประกอบการโรงงานสุรา 12 แห่งในประเทศไทย ส่งผลให้มีแบรนด์สุราใหม่ ๆ เช่น หงส์ทอง และสุราทิพย์ ฯลฯ ต่อมาก็สามารถเทคโอเวอร์ธุรกิจสุราของกลุ่มสุรามหาราษฎร อดีตคู่ปรับในธุรกิจสุรา ส่งผลให้ “แม่โขง” เข้ามาเป็นอีกแบรนด์ “เรือธง” ในพอร์ตเหล้า
กระทั่งยุคที่รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน เริ่มนโยบายเปิดเสรีเหล้าเบียร์ เจริญจึงได้ตั้งบริษัท คอสมอส บริวเวอรี่ (ประเทศไทย) ในปี 2536 เพื่อผลิตเบียร์ และมีเบียร์ช้างออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี 2538 พร้อมกับกลยุทธ์การตลาด “ขายเหล้าพ่วงเบียร์ ” ซึ่งทำให้เบียร์ช้างก้าวเป็นผู้นำตลาดในปี 2541
ยิ่งเมื่อบวกแผนเดินหน้าซื้อกิจการโรงงานสุราอีกหลายแห่ง จนรวม ๆ แล้วน่าจะมีมากถึง 30 แบรนด์ในมือ “ไทยเบฟฯ” จนเรียกได้ว่า แบรนด์เหล้าไทยที่เป็นรู้จักแทบจะเป็นของเขาหมด จึงไม่แปลกที่ “กลุ่มทีซีซี คอร์ปอเรชั่น” จะถูกมองว่าเป็นบริษัทที่ผูกขาดในตลาดสุรา
ทั้งหมดนี้ก็คือ ปฐมบทของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดความยิ่งใหญ่ของ TCC Groupและอาณาจักรแสนล้านของเสี่ยเจริญ
เปิด “อาณาจักรหลายแสนล้าน” ของกลุ่ม TCC
จากเว็ปไซต์ของTCC Group ระบุว่าTCC Group เริ่มจากกิจการขนาดเล็ก จนมีการขยายตัวและพัฒนาจนเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ กำเนิดจากความตั้งใจของคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ในฐานะประธานกรรมการ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ในฐานะรองประธานกรรมการ ที่ต้องการเห็นธุรกิจคนไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปัจจุบันมี 5 กลุ่มธุรกิจสำคัญ ได้แก่กลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มโดยมี ไทยเบฟฯ, โออิชิ, F&N และเสริมสุข เป็นเรือธง กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยมี TCC Land, TCC Capital Land, Univentures, Grand U, Golden Land,Imperial Queen Park และAsset World Corporation เป็นหัวหอกสำคัญ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้าโดยมี “เบอร์ลี่ ยุคเกอร์”ซึ่งประกอบด้วย TGI, Big C, Rubia Industries Limited และAsia Booksนอกจากนี้ยังมี TCC Technology เป็นหัวหอกกลุ่มธุรกิจประกันและการเงินโดยมีกลุ่มอาคเนย์ และ บมจ. อินทรประกันภัย เป็นเรือธง และ กลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรโดยมีกลุ่มพรรณธิอร ประกอบกด้วยกลุ่มเพาะปลูกและแปรรูป กลุ่มธุรกิจน้ำตาล และกลุ่มการค้าโภคภัณฑ์ รวมถึง บมจ.อาหารสยาม เป็นหัวหอก
ไม่เพียง 5 กลุ่มธุรกิจดังกล่าว กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี โดยบริษัท วัฒนภักดี จำกัด ยังเป็นหัวหอกในการลงทุนในธุรกิจสื่อ ซึ่งประกอบด้วยการถือหุ้น 60% ใน บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง และ 50% ในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ด้วยเงินทุนร่วม 1 พันล้านบาท
ข้อมูลจาก Forbes ณ วันที่ 30 พ.ค. 2562 ระบุว่า เสี่ยเจริญรวมที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย ด้วยมูลค่าความมั่งคั่งที่ 1.53 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 4.9 แสนล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 32 บาทต่อดอลลาร์)
ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เสาหลักความมั่งคั่งของเสี่ยเจริญ
ไทยเบฟฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2546 เพื่อรวมกิจการธุรกิจเบียร์และสุราในมือเข้ามาเป็นกลุ่มบริษัท และเพื่อเตรียมตัวเข้าตลาดหุ้นไทยในปี 2548 แต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากมีคนไทยกลุ่มใหญ่มองว่าธุรกิจของมึนเมาไม่ควรนำเข้าตลาดหุ้นเพราะจะเป็นการสนับสนุนให้คนไทยผิดศีลมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้ไทยเบฟฯ ต้องจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ เมื่อปี 2549 ซึ่งถือเป็น “สปริงบอร์ด” ให้อาณาจักรของเสี่ยเจริญเติบโตก้าวกระโดด
การจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ โดยตามมาด้วยการซื้อกิจการ รวมสิทธิ์บริหารร้านอาหารอีกหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่เข้าตลาดแค่ไม่กี่เดือน ไทยเบฟฯก็ซื้อกิจการโรงกลั่นในสกอตแลนด์ ทำให้ไทยเบฟฯ ขยายไปสู่ตลาดสก็อตวิสกี้ พร้อมกันนั้นยังขยายกิจการและนำสุราแม่โขงและเบียร์ช้าง ไปจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ กว่า 80 ประเทศทั่วโลก ผ่านบริษัทย่อย International Beverage Holdings Limited (“IBHL”)
ตามมาด้วยการซื้อกิจการสุราในจีน และล่าสุดคือ การเข้าซื้อหุ้น 75% ในบริษัทผลิตวิสกี้แบรนด์ Grand Royal ซึ่งถือเป็นรายใหญ่ในเมียนมา ด้วยมูลค่า 2.4 หมื่นล้านบาท ในปี 2560 ถัดมาไม่กี่เดือน ก็เข้าซื้อหุ้น 54% ใน SABECO ผู้ผลิตเบียร์ Saigon Beer และ 333 ซึ่งเป็นแบรนด์ดังของเวียดนาม ด้วยมูลค่า 1.6 แสนล้านบาท ส่งผลให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เติบโตอย่างมาก
นอกจากนี้ ไทยเบฟฯ ยังขยายขอบเขตธุรกิจไปสู่ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และอาหาร โดยเริ่มจากการซื้อกิจการ “โออิชิ กรุ๊ป” จากคุณตัน ภาสกรนที ในปี 2549 โดยได้มาทั้งชาเขียว อาหาร และร้านอาหาร อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น โออิชิ บุฟเฟต์, ชาบูชิ, โออิชิ ราเมน เป็นต้น ตามด้วยการเข้าซื้อกิจการเครื่องดื่มชูกำลังแรงเยอร์ในปี2551 และเข้าซื้อหุ้นใหญ่ในเสริมสุขในปี 2554 จึงทำให้พอร์ตเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวอย่างมาก โดยมีทั้งเครื่องดื่มโคล่า (เอส และซาสี่) น้ำดื่ม โซดา และเครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ
หนึ่งปีจากนั้นก็ซื้อหุ้นร่วมทุนกับบริษัท Fraser & Neave (F&N) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องดื่ม โดยมีทั้งเบียร์ นม สิ่งพิมพ์ และอสังหาฯ ว่ากันว่า ดีลนี้ใหญ่ถึงขนาด 3.36 แสนล้านบาท เลยทีเดียว เพราะต้องเปิดศึกแย่งชิงกับ “ไฮเนเก้น” โดยสุดท้ายท้าย ไฮเนเก้นได้ธุรกิจเบียร์ของ F&N ใน 14 ประเทศในเอเชียไป ส่วนไทยเบฟฯ ได้ครองธุรกิจเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอสังหาฯ ของ F&N
ขณะที่รุกซื้อกิจการเหล้าเบียร์ ในปี 2560 ไทยเบฟฯ ก็เร่งเครื่องขยายธุรกิจร้านอาหารควบคู่ไป จนได้ซื้อสิทธิ์บริหารร้านสาขาของ KFC จากกลุ่ม Yum Restaurants (ประเทศไทย) ด้วยมูลค่าราว 1.13 หมื่นล้านบาท ตามมาด้วยการซื้อกิจการของSpice of Asia เจ้าของร้านอาหารไทยร่วม 10 แบรนด์ อาทิ Café Chilli, Pot Ministry, Food Street, So asean ฯลฯ รวมถึงร้านอาหาร “บ้านสุริยาศัย” ของตระกูลบุนนาค ซึ่งเป็นร้านแบบ Fine-Dining ส่งผลให้ไทยเบฟฯ มีแบรนด์ร้านอาหารตั้งแต่ระดับฟาส์ตฟู้ดไปจนถึงร้านหรู
ปี 2562 เป็นอีกปีที่ไทยเบฟฯ รุกหนักในธุรกิจอาหร โดยได้ซื้อบริษัทอาหารญี่ปุ่น Genki Sushi ตามมาด้วยการซื้อสิทธิ์บริหารร้านสตาร์บัคส์ ประเทศไทย ผ่านบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทจากฮ่องกง กับ F&N Retail Connection (FNRC) ซึ่งอยู่ภายใต้ไทยเบฟฯ ซึ่งดีลสตาร์บัคส์ คาดกันว่าน่าจะสูงกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เลยทีเดียว
ทำไม …ไทยเบฟฯ ต้องมีสตาร์บัคส์ในพอร์ต
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจาก Vision 2020(2557-2563) ที่เจ้าสัวน้อย “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่แห่งไทยเบฟฯ เคยประกาศ เป็นแนวทางและเป้าหมายการทำงานของบริษัท ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.เป็นบริษัทที่เติบโตและมีกำไรสูงที่สุดในอาเซียน 2.มีสินค้าที่หลากหลายโดยจะเน้นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ พร้อมธุรกิจอาหารและสินค้าไลฟ์สไตล์ 3.เป็นผู้นำแบรนด์ในทุกผลิตภัณฑ์4.การขายและการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง เข้าถึงผู้บริโภค และ 5.บริหารงานอย่างมืออาชีพ
แน่นอนว่า สตาร์บัคส์เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเป็น “ผู้นำ” ในธุรกิจร้านกาแฟในประเทศไทย และมีโอกาสโตได้อีกมาก โดยปี 2561 มีรายได้ประมาณ 7.67พันล้านบาท กำไร 1.08 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 21.8% จากปีก่อนหน้า อีกทั้งยังเป็นแบรนด์ที่ภาพลักษณ์ดี และเป็นที่ยอมรับเรื่องคุณภาพบริการ จึงมีฐานลูกค้าประจำค่อนข้างมาก
สตาร์บัคส์จึงไม่เพียงตอบโจทย์ตาม Vision2020 แต่ยังมีโอกาสสูงที่จะนำพาไทยเบฟฯ ไปถึงเป้าหมายตามที่ประกาศไว้ว่า “ไทยเบฟ…อยู่คู่กับคุณทุกช่วงเวลา” มากกว่าหลายๆ ผลิตภัณฑ์อื่น หรือแบรนด์ร้านอาหารอื่น เนื่องจากกาแฟเป็นเครื่องดื่มที่สามารถดื่มได้ทุกวัน (สำหรับหลายคนยังสามารถดื่มได้ทุกเวลา) และร้านกาแฟก็เป็นสถานที่ที่ลูกค้ามีโอกาสเข้าไปใช้บริการเป็นประจำทุกวัน มากกว่าร้านอาหารประเภทอื่น
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ สตาร์บัคส์ยังสามารถต่อยอดบริษัทอื่นในเครือ รวมถึงกลุ่มธุรกิจอื่นของตระกูลได้อย่างลงตัว เริ่มตั้งแต่ “กิจการต้นน้ำ” ของ TCC Group นั่นคือ กลุ่มธุรกิจเกษตร ซึ่งหนึ่งในผลผลิตของกลุ่มนี้ ได้แก่ กาแฟ โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว เสี่ยเจริญเพิ่งเทคโอเว่อร์กจิการร้านกาแฟ “วาวี” ผ่านบริษัทBJC โดยได้มาทั้งแบรนด์ ตัวร้าน และโรงคั่วบดกาแฟ ดังนั้น ร้านสตาร์บัคส์เข้ามา จึงเป็นช่องทางปลายน้ำที่แข็งแกร่งให้กับธุรกิจเมล็ดกาแฟ เป็นการต่อยอดกลุ่มธุรกิจเกษตรและกลุ่มธุรกิจการค้าในเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้ ไทยเบฟฯ ยังมี F&N ซึ่งเป็นผู้นำในการผลิตผลิตกลุ่มสินค้านมข้นหวาน นมข้นจืด นมสเตอริไลส์ ตลอดจนไอศกรีม อีกทั้งยังมีแบรนด์ร้านเบเกอรี่ mx อยู่ในกลุ่ม ดังนั้น โอกาสที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะเข้าไปเป็นวัตถุดิบ หรือเป็นเมนูใหม่ในร้านสตาร์บัคส์ ก็เป็นไปได้ ขณะเดียวกัน เจ้าสัวเจริญยังมีธุรกิจศูนย์การค้าและอาคารสำนักงาน ซึ่งสามารถนำสตาร์บัคส์ไปเปิดเป็น Magnet และยกระดับภาพลักษณ์ของศูนย์การค้าหรืออาคารสำนักงานนั้น ๆ ได้ด้วย
ยิ่งกว่านั้น ร้านสตาร์บัคส์ยังเป็น Touch Point ที่ดีในการเก็บข้อมูล (Data) เพื่อนำไปใช้เป็นฐานข้อมูล (Big Data) ในการวิเคราะห์พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต
สรุปคือ สตาร์บัคส์ถือเป็นอีกหนึ่งใน “จิ๊กซอว์” หลาย ๆ ตัวของไทยเบฟฯ ที่จะขับเคลื่อนให้ Vision 2020 เป็นจริง ทั้งในแง่เป้าหมายแง่สัดส่วนรายได้ ที่เคยตั้งไว้ว่ามาจากกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เทียบกับกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และกลุ่มอาหารรวมกัน ต้องมีสัดส่วนใกล้เคียง 50:50 และเป้าในแง่ของรายได้รวมต่อปีที่ฐาปนเคยลั่นไว้ที่รายได้ปีละ3 แสนล้านบาทในปี 2020
ปัจจุบัน รายได้รวมต่อปีของไทยเบฟฯ อยู่ที่กว่า 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึงกว่า 20% ซึ่งเป้า 3 แสนล้านบาท แม้ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย แต่ก็มีโอกาสเป็นจริงได้ แต่เพื่อด้านสัดส่วนรายได้ การจะบรรลุเป้าคงกดดันให้ไทยเบฟฯ ต้องเทคโอเวอร์กิจการในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์อีกหลายดีล
กลุ่ม BJC ฐานกำลังเครือข่ายค้าปลีกของเสี่ยเจริญ
อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า เพิ่งเริ่มต้นเมื่อเสี่ยเจริญเข้าซื้อกิจการ บมจ. เบอร์ลี่ยุคเกอร์ (BJC) ในปี 2544 หลังจากประสบความสำเร็จในธุรกิจน้ำเมา กลุ่มTCC จึงหันไปเทคโอเวอร์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อย่าง BJC เพื่อซื้อกิจการบริษัทอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้ว (TGI) สำหรับป้อนธุรกิจเบียร์และเหล้าของกลุ่มได้เต็มที่
การซื้อ BJCนับเป็นอีกจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ TCC Group เพราะสามารถผลักดันให้ธุรกิจของกลุ่มก้าวไปไกลได้ยิ่งขึ้น จากความเชี่ยวชาญด้านการจัดจำหน่าย การทำการตลาด ระบบโลจิสติกส์ บริการทางอุตสาหกรรม อุปโภค บริโภค เทคนิค เวชภัณฑ์ การผลิตและรับจ้างผลิตบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ
BJC มีผลิตภัณฑ์ที่หลายคนคุ้นเคย เช่น เทสโต้ ปาร์ตี้ แคมปัส โดโซะ ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต นมเปรี้ยว ฯลฯ รวมถึงสบู่และครีมอาบน้ำ “นกแก้ว” และ กระดาษเซลล็อกซ์ เป็นต้น โดย BJCยังเดินหน้าขยายธุรกิจกลุ่มนี้ด้วยการเทคโอเวอร์และร่วมทุนกิจการผลิตสินค้า โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน
จากฐานการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เจ้าสัวเจริญมองถึงศักยภาพของ BJC ในการเป็นหัวหอกรุกสู่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของBJC ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น … คล้ายกับโมเดลของ CP ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ TCC Group
แต่เสี่ยเจริญไม่ได้จะสร้างเครือข่ายแค่ในประเทศไทย แต่ยังมองไปถึงการสร้างเครือข่ายธุรกิจเชื่อมโยงไปถึงระดับภูมิภาค ซึ่งวิสัยทัศน์ดังกล่าว จึงนำไปสู่การตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น บิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์ ในปี 2559
เฉพาะดีลนี้เสี่ยเจริญต้องทุ่มเงินถึง2 แสนล้านบาท เพื่อแลกกับการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบิ๊กซีส่งผลให้ขนาดสินทรัพย์และรายได้ของ BJC โตก้าวกระโดด และทำให้ BJC กลายเป็น 1 ใน 3 ผู้ให้บริการธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่อีกสิ่งที่เสี่ยให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การมีแหล่งเก็บข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึกของผู้บริโภคที่มากขึ้น
ก่อนหน้าดีล Big C กลุ่ม TCC เคยชิมลางธุรกิจปลายน้ำมาบ้างแล้วจากการซื้อ “เมโทรแคช แอนด์ แครี่” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น MM Mega Marketธุรกิจค้าส่งของเยอรมัน 19แห่งในเวียดนาม และร้านสะดวกซื้อB-Smart ที่มีสาขากว่า 170 แห่ง พร้อมกับมีแผนขยายและเข้าซื้อกิจการค้าปลีกไปในประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายปลายน้ำของTCC Group ให้สมบูรณ์ พร้อมเป็นช่องทาง “ปล่อยของ” และ “เก็บฐานข้อมูลตลาด” ให้กับทั้งกลุ่ม
ไม่เพียงร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภค เสี่ยเจริญยังได้ซื้อกิจการร้านขายหน้งสือ Asia Book และร้านขายยาและสินค้าสุขภาพ Ogenki เข้ามาอยู่ในเครือข่าย พร้อมกับรุกช่องทางร้านค้าออนไลน์(e-Commerce) และล่าสุด ปีที่ผ่านมา เจ้าสัวเจริญยังได้ควักเงินกว่า3.2 พันล้านบาท ซื้อกิจการ “ไวท์กรุ๊ป” ของกลุ่มโอสถสภา เข้ามาเป็นอีกกลุ่มสินค้าในพอร์ตของ BJC
นอกจากรุกสู่ธุรกิจค้าปลีก เจ้าสัวเจริญยังเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีและการเก็บฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจมาตั้งนานแล้ว จึงได้ก่อตั้ง บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (TCC Technology) ขึ้นในปี 2544โดยอีกบทบาทของบริษัทคือ การเป็นผู้ให้บริการ Data Center แก่ลูกค้า ขณะที่ลูกชายทั้งสองของเจริญก็เห็นความสำคัญ จึงได้สานต่อวิสัยทัศน์พ่อ ด้วยการจัดตั้ง “ไทคอน เทคโนโลยี (TICON Technology)” เพื่อร่วมทุนกับ “บริษัท เอสทีที ไทยแลนด์ จีดีซีจำกัด” (STT GDC Thailand) รุกธุรกิจบริการด้าน Data Center ในไทยอย่างจริงจัง
การไล่ซื้อกิจการทั้งต้นน้ำและปลายน้ำเข้ามาไว้ในพอร์ตของกลุ่ม BJC ทำให้สินทรัพย์โตก้าวกระโดดไปถึงกว่า 3 แสนล้านบาท พร้อมกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า2 แสนล้านบาท … แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เจ้าสัวหยุดแผนการวางโครงข่ายขุมกำลังธุรกิจปลายน้ำให้กับกลุ่ม TCC Group ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ในอนาคต ธุรกิจค้าปลีกจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนธุรกิจให้กลุ่ม TCCเติบโตก้าวกระโดด
นี่เป็นเพียง 2 อาณาจักรย่อยใน “อาณาจักรช้างสาร” ของเจ้าสัวเจริญ … ใน EP ต่อไป Oops! จะชวนไปเปิดพอร์ตในอีก 3 กลุ่มธุรกิจ พร้อมกับบทสรุปที่มาที่ไปของ “เจ้าพ่อเทคโอเว่อร์” นักช้อปกิจการรายใหญ่ที่ชื่อ เจริญ สิริวัฒนภักดี
EP 2: จับตาอาณาจักรอสังหาฯ ของ “นักช้อปตัวยง” เจริญ สิริวัฒนภักดี