จับตาอาณาจักรอสังหาฯ ของ “นักช้อปตัวยง” เจริญ สิริวัฒนภักดี … (EP 2)

  • 3.7K
  •  
  •  
  •  
  •  

จับตาอาณาจักรอสังหาฯ ของ "นักช้อปตัวยง" เจริญ สิริวัฒนภักดี
จับตาอาณาจักรอสังหาฯ ของ “นักช้อปตัวยง” เจริญ สิริวัฒนภักดี

หลายคนอาจเคยได้ยินกิตติศัพท์ความเป็น “ราชาที่ดิน” ของเสี่ยเจริญ ผ่านเรื่องเล่าชวนขำที่เล่าต่อกันมาว่า… ครั้งหนึ่ง คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี ไปพบที่ดินแปลงสวยแล้วถามลูกน้องว่าที่ดินแปลงนี้ของใคร? ลูกน้องตอบว่า ที่ดินแปลงนี้ก็เป็นของคุณหญิงไงครับ!!! 

ธุรกิจอสังหาฯ อีก “บ่อเงินบ่อทอง” ของเสี่ยเจริญ

การสะสมที่ดินของเสี่ยเจริญเริ่มต้นตั้งแต่กว่า 30 ปีก่อน โดยเหตุผลแรกเริ่ม คือเพื่อเป็นที่ดินสำหรับระบายของเสียจากโรงเหล้าในจังหวัดต่างๆ กระทั่งช่วงปี 2530 ที่เศรษฐกิจไทยเริ่มบูม บวกกับมีเงินสดจากธุรกิจน้ำเมาเข้ามามาก เสี่ยเจริญจึงกว้านซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนได้รับฉายา “นักเลงที่ดิน” ซึ่งฉายานี้เองที่ดึงดูดให้อดีตเจ้าขุนมูลนายและนักการเมืองผู้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงงาม หลายคนเวลาขัดสนทางการเงิน ก็มักนำที่ดินไปเสนอเสี่ยเจริญ

มีการเปิดเผยตัวเลขผ่านสื่อต่างๆ ว่า ปัจจุบัน ที่ดินภายใต้การครอบครองของเจ้าสัวเจริญน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 6.3แสนไร่ โดยมีจาก “หัวหอก” สำคัญอย่าง TCC Land Group เป็นจุดเริ่มต้นอาณาจักรในธุรกิจอสังหาฯ  

จากเว็ปไซต์ TCC Group อาจกล่าวได้ว่า จุดเริ่มต้นสำคัญในกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ของ TCC Group เกิดขึ้นในปี 2532 จากการเทคโอเวอร์กิจการ พันทิพย์พลาซ่า ของตระกูลบุนนาค ที่ติดจำนองกับธนาคารไทยทนุ และ บงล.ภัทรธนกิจ เป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท โดยยังได้ที่ดินผืนงามอีก 5 แปลง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ที่ดินตรงข้ามโกดังอี๊สต์เอเชียติ๊ก ถนนเจริญกรุง อันเป็นที่ตั้งของ “เอเชียทีค” ในปัจจุบัน นั่นเอง

ต่อมาในปี 2534 เจ้าสัวเจริญเริ่มรุกสู่ธุรกิจโรงแรมเป็นครั้งแรก ด้วยการซื้อกิจการ โรงแรมแม่ปิง ย่านไนท์บาร์ซา จ.เชียงใหม่ แต่ดีลที่ถือเป็นจุดกำเนิดธุรกิจโรงแรมของเสี่ยเจริญจริงๆ เรียกว่าเกิดขึ้นในปี 2537 จากการซื้อกิจการ โรงแรมอิมพีเรียล แห่งของคุณอากร ฮุนตระกูล ตามด้วยการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้กลยุทธ์หลักคือ “การซื้อ” และ “เทคโอเวอร์” เหมือนเช่นกลุ่มธุรกิจอื่น

ขณะที่สยายปีกสู่ธุรกิจโรงแรม TCC Group ยังได้บุกเบิกธุรกิจบริหารศูนย์การประชุมแห่งแรกไทย ภายใต้บริษัท NCC Management and Development โดยบริหาร ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มาแล้วกว่า 2 ทศวรรษ และยังได้รับสิทธิ์บริหารต่ออีก 50ปี ​นอกจากนี้กลุ่ม TCC ยังได้ลงทุนในกิจการของ สโมสรราชพฤกษ์ สนามกอล์ฟและสโมสรกีฬาหรู ซึ่งปัจจุบัน มีกงานบริหารสนามกอล์ฟรวม 5 สนาม

jewel
โครงการ Jewel Changi Airport ที่กำลังดัง …ก็เป็นหนึ่งในผลงานของกลุ่ม CapitaLand พันธมิตรสำคัญของกลุ่ม TCC Land (Photo Credit : CapitaLand.com

ก้าวสำคัญที่สะท้อนความจริงจังในธุรกิจอสังหาฯ ของเสี่ยเจริญ เกิดขึ้นในปี 2546 กับการร่วมทุนกับกลุ่ม CapitaLand บริษัทอสังหาฯ จากสิงคโปร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย จัดตั้งบริษัทร่วมทุนคือ TCC Capital Land ด้วยทุนจดทะเบียนแรกเริ่ม 2,000ล้านบาท เพื่อลงทุนพัฒนาและบริหารโครงการที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าในประเทศไทย  

ก้าวสำคัญต่อมาคือการเข้าซื้อหุ้น บมจ.Univentures (​​UV) จากนั้นก็ใช้ UV ถือหุ้น 100% ใน Grand Unity และถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ Golden Land (GOLD) ส่วน GOLD ก็เข้าถือหุ้น 100% ใน บมจ.กรุงเทพนบ้านและที่ดิน ซึ่งถือเป็นจุดต่อขยายอาณาจักร TCC Land เข้าสู่ธุรกิจบ้านจัดสรร

อีกก้าวสำคัญที่ส่งเสริมธุรกิจอสังหาฯ​ ของเสี่ยเจริญให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การซื้อกิจการ F&N ของไทยเบฟฯ​ ที่นอกจากธุรกิจเครื่องดื่ม ยังพ่วงโอกาสในความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ของ Fraser ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายในการลงทุน โดยเฉพาะการพัฒนาอสังหาฯ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวและธุรกิจด้านลอจิสติกส์ ทำให้ Fraser Property (Thailand) กลายเป็น “หัวหอก” ในการรุกธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและคลังสินค้า

นอกจากนี้ ยังมีอีกก้าวสำคัญต่อการเติบโตของกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ นั่นคือ วิสัยทัศน์ของเสี่ยเจริญในการนำโครงการอสังหาฯ ที่ทำรายได้จากการเช่าและขายห้องพักค่อนข้างดี มารวมกันเพื่อจัดตั้งเป็น กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาฯ (REIT) ขายให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันเป็นหนทางในการทำกำไรและหาเม็ดเงินที่ง่ายๆ และรวดเร็ว ทำให้เจ้าสัวเจริญมีเงินหมุนเวียนไปซื้อหรือประมูลที่ดินแปลงที่ปรารถนาได้ตลอดเวลา 

ท้ายสุด แต่ไม่ใช่ก้าวสุดท้าย คือ การจัดโครงสร้างบริษัทในกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ เพื่อเตรียมปลุกปั้น บมจ.  Asset World Corporation เข้าสู่ตลาดหุ้นไทย  … ซึ่งถือเป็นก้าวใหญ่ก้าวต่อไปของ TCC Group ที่น่าจับตา 

AWC “เรือธง” ที่เสี่ยเจริญเตรียมปั้นเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย

awc

จากขนบที่เสี่ยเจริญนิยมทำมาตลอดในตลาดหุ้นไทย นั่นคือ การซื้อหุ้นของกิจการในตลาดเพื่อเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้นทางอ้อม หรือ Backdoor Listing ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า Asset World Corporation (AWC) น่าจะเป็นไม่กี่บริษัทที่เจ้าสัวปลุกปั้นขึ้นมาเพื่อนำพาเข้าตลาดหุ้นไทย

เว็ปไซต์ Asset World Corporation ระบุว่า TCC Land Group ซึ่งปัจจุบันก็คือ บมจ. Asset World Corporation (AWC) มีเป้าหมายเพื่อเป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ครบวงจร พร้อมกับมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและรุดหน้ามากที่สุดในเอเชียแปซิฟิค อันเป็นวิสัยทัศน์ของเสี่ยเจริญและคุณหญิงวรรณา 

AWC ถือเป็นกลุ่มธุรกิจในเครือ TCC Group ที่มีหน้าที่สานต่อความตั้งใจของเสี่ยเจริญที่ต้องการก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำที่โดดเด่นในวงการอสังหาฯ​ ด้วยความหลากหลายของโครงการบนแนวคิด Building a Better Futureโดยประกอบด้วย Asset World Leisure มีหน้าที่พัฒนาธุรกิจและขยายการลงทุนในธุรกิจโรงแรมอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันมีโรงแรมและรีสอร์ทภายใต้การบริหาร 19 แห่ง รวมห้องพักราว 5,500 ห้อง อาทิ โรงแรม ดิโอกุระ เพรสทีจ, โรงแรม แอทธินี กรุงเทพฯ, เลอเมอริเดียน กรุงเทพฯ, บันยันทรี สมุย เป็นต้น

ขณะที่ Asset World Retailเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่พัฒนาและบริหารโครงการศูนย์การค้าที่มีความเฉพาะตัวในแต่ละแบรนด์ โดยมีหลายแบรนด์ดังเป็นที่รู้จัก เช่น “พันธุ์ทิพย์ พลาซ่า” “เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์” “เกตเวย์ (Gateway)” รวมถึง “ตะวันนา” “ลาซาล อเวนิว” และล่าสุด “ตลาดต่อยอด” ทั้งนี้ ปัจจุบัน AWC มีโครงการศูนย์การค้าในพอร์ต12 แห่ง และกำลังจะมีอีก 12 โครงการในอนาคตอันใกล้

ส่วน TCC Land Commercialเป็นบริษัททำธุรกิจอาคารสำนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีอาคารสำนักงานภายใต้การบริหารจัดการ 4 โครงการ รวมพื้นที่กว่า 6 แสนตารางเมตร ประกอบด้วย Empire Tower, Athenee Tower, InterLink Tower และ 208 Wireless Road Building ซึ่งล้วนแต่อยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร (CBD)

นอกจากนี้ TCC  Group ยังมีอีกหลายแบรนด์ดังในกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ อาทิ อาคาร Park Ventures Ecoplex พัฒนาโดย Univentures, อาคาร FYI Center พัฒนาโดย Golden Land,โรงแรม Modena โดยกลุ่ม Fraser, โรงแรม Ascott และ W Hotel บนถนนสาทร โดย Golden Land รวมถึง โครงการ Center Point of Siam Square และ โครงการคอมมูนิตี้มอลล์แนวใหม่ Box Space ฯลฯ  ​… เรียกได้ว่า คุ้นหูคุ้นตาเกือบทุกแบรนด์

awc-port
แบรนด์อสังหาฯ ในกลุ่ม AWC ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนของกลุ่ม TCC Land Group

อภิมหาโปรเจคใหญ่ในมือเสี่ยเจริญที่จะเห็นได้เร็วๆ นี้

นอกจากฉายา “ราชาที่ดิน” เสี่ยเจริญยังมีสมญานามย่อยที่เพิ่งถูกตั้งขึ้นมาไม่กี่ปีมานี้ ได้แก่ “เจ้าสัวพระราม 4” เนื่องจากกลุ่ม TCC Group กำลังจะมีโครงการใหญ่ยึดหัวหาดบนถนนพระราม 4 ผุดขึ้นถึง 3 โครงการ

เริ่มจาก สามย่านมิตรทาวน์ บนเนื้อที่13 ไร่ เป็นโครงการ Mixed-use มูลค่าลงทุน8,500 ล้านบาท พื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 2.2 แสน ตร.ม. ตั้งอยู่มุมถนนพญาไท-พระราม 4 ติด MRT สถานีสามย่าน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในไตรมาส 3-4 ปีนี้ โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง Golden Land ถือหุ้น 49% และ TCC Asset ถือหุ้น 59% อีกหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ครบวงจรในเครือธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ

ขยับความใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย คือ The PARQ โครงการ Mixed-use เนื้อที่ 24 ไร่ มูลค่าลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท บนถนนพระราม 4 ติดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อาคาร FYI Center สวนเบญจกิติ และติดกับสถานี MRT คลองเตย และ MRT ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คาดว่าจะสร้างเสร็จช่วงปลายปีนี้ โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง TCC Asset ถือหุ้น 80.1% กับ Fraser Property Holdings Thailand หรือ FPHT ถือหุ้น 19.9%

ตามมาด้วยอภิมหาโปรเจคอย่าง One Bangkok โครงการ Mixed-use ค่อนข้างหรู บนเนื้อที่ 104 ไร่ ตั้งอยู่หัวมุมถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม 4 ติดกับสวนลุมพินี (สวนลุมไนท์บาร์ซาเดิม) มูลค่าลงทุนสูงถึงกว่า 1.2 แสนล้านบาท ปัจจุบันถือเป็นโครงการพัฒนาอสังหาฯ โดยภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง TCC Asset ถือหุ้น 80.1% กับ FPHT ถือหุ้น 19.9% โดยคาดว่าเฟสแรกจะเปิดให้บริการได้ในปี 2564  และทั้งโครงการจะเสร็จสมบูรณ์ราวปี 2568

คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี

ไม่เพียงโครงการ Mixed-use ขนาดใหญ่ทั้ง 3 โครงการ Oops ได้ลองรวบรวมโครงการต่างๆ ในกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ของเจ้าสัวเจริญที่มีแผนเปิดตัวในช่วง 1-2  ปีนี้ พบว่ามีหลากหลายโครงการ อาทิ ศูนย์การค้าตะวันนาฯ 3 ทำเล รวมมูลค่าลงทุน 5,500 ล้านบาท โครงการ เอเชียทีคฯ ที่เชียงใหม่ และพัทยา รวมมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้แบรนด์ Grand Unity อีก 6 โครงการ รวมมูลค่า 9,600 ล้านบาท และ Golden Land อีก 25 โครงการ รวมมูลค่า 28,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีที่ดินอีกหลายแปลงที่กำลังรอการพัฒนาในเวลาอันใกล้ เช่น ที่ดินตรงเวิ้งนาครเขษม ที่ดินบนถนนประเสริฐมนูกิจ ที่ดินนอร์ธปาร์ค ที่ดินย่านเกษตรนวมินทร์ ที่ดินในจังหวัดเพชรบุรีกว่า 1.5 หมื่นไร่ ที่ดินบนทำเลระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประมูลโดย TICON ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Fraser Property (Thailand) และที่ดินของ AQ (ที่ดินกฤษดามหานคร) ที่กลุ่มเจ้าสัวเจริญร่วมลงขันกับกลุ่มตระกูลโสภณพนิช และกลุ่มเจ้าของสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ประมูลมาด้วยเงินกว่า 8,900 ล้านบาท เป็นต้น

แว่วมาว่า เสี่ยเจริญยังสนใจจะเข้าประมูลที่ดินแปลงสำคัญในใจกลางกรุงเทพฯ และตามหัวเมืองในต่างจังหวัดอีกหลายแห่ง เพราะนอกเหนือจากการซื้อกิจการ งานอดิเรกอีกอย่างของเจ้าสัวเจริญ คงหนีไม่พ้นการตระเวนช้อปปิ้งที่ดินทั่วประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครต่อใครจะขนานนามเขาว่าเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่วงการที่ดิน”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของที่ดินที่เจ้าสัวนำมาพัฒนาแล้ว ซึ่งมากพอจะยืนยันได้ว่า ในอนาคตอันใกล้ กลุ่มธุรกิจอสังหาฯ​ น่าจะกลายเป็นอีก “เสาเอก” สำคัญที่ไม่เพียงค้ำยัน แต่ยังจะยกระดับอาณาจักรหลายแสนล้านบาทของเสี่ยเจริญให้เติบโตหลายเท่าทวีคูณ เพราะจะเห็นว่า จริงๆ แล้วการดำเนินธุรกิจอสังหาฯ ของเสี่ยเจริญ อยู่บนพื้นฐานของการนำเอาหลายๆ กิจการที่กว๊านซื้อมา มาต่อยอดบนที่ดินที่กว๊านซื้อมา ทำให้แต่ละกลุ่มธุรกิจออกดอกออกผลยิ่งๆ ขึ้นไป

สองกลุ่มธุรกิจที่อาจไม่ใช่ดาวเด่นวันนี้ แต่จะเป็นดาวรุ่งวันหน้า​

ดังที่กล่าวใน EP 1 ว่า TCC Group ของเจ้าสัวเจริญมีกลุ่มธุรกิจสำคัญอยู่ 5 กลุ่ม โดย 3 กลุ่มแรกที่กล่าวมาแล้ว ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มและอาหาร, กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า ที่กำลังสยายปีกสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มตัว และกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ที่จะเติบโตจนต้องจับตา ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจนี้กล่าวได้ว่า ได้กลายเป็นอาณาจักรย่อยที่กำลังขยายใหญ่อย่างมากและอย่างรวดเร็วในช่วง 5-10 ปีมานี้

ทำให้อีก 2 กลุ่มธุรกิจที่เหลือ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน และกลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ดูเสมือนว่าถูกมองข้ามไป แต่ในความเป็นจริง เสี่ยเจริญก็ซุ่มเดินหน้าลงทุนใน 2 ธุรกิจนี้ เช่นกัน

กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน ว่ากันว่า ในยุคต้นๆ เสี่ยเจริญสนใจลงทุนในหุ้นธนาคาร แต่เป็นการทยอยซื้อหุ้นอย่างเงียบๆ จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญในหลายธนาคาร อาทิ นครหลวงไทย, ศรีนคร, เอเชีย เป็นต้น แต่การเข้าซื้อกิจการอย่างจริงจัง เริ่มขึ้นเมื่อปี 2531 จากการซื้อหุ้นกว่า 30% ใน บริษัท อาคเนย์ประกันภัย ตามมาด้วยการซื้อหุ้นใหญ่ใน บมจ. อินทรประกันภัย เมื่อปี 2537 ต่อมากลุ่ม TCC ได้เข้าบริหารอาคเนย์ และได้มีการจัดกลุ่มอาคเนย์ พร้อมจัดตั้ง “อาคเนย์ แคปปิตอล” เพื่อเป็นรุกสู่ธุรกิจประกันและการเงินอย่างจริงจัง ตามวิสัยทัศน์ของเสี่ยเจริญที่ต้องการเป็นบริษัทประกันและการเงินอันดับหนึ่งในใจของทุกคน

และเมื่อไม่นานมานี้ เสี่ยเจริญได้ส่งดีลเขย่าวงการประกันและการเงิน ด้วยการเข้าซื้อหุ้นเพื่อควบรวมกิจการ บมจ.ไทยประกัน (TIC) ของกลุ่มตระกูลตู้จินดา ว่ากันว่า หนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อผลักดันให้ “เครืออาคเนย์” เข้าตลาดหุ้นทางอ้อม (Backdoor Listing) ภายใต้ชื่อ บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ ซึ่งรับโอนกิจการทั้งหมดของเครืออาคเนย์ โดยเครืออาคเนย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

เจ้าสัวเจริญ

สำหรับ กลุ่มธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร นับเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ TCC Group เริ่มลงทุนมากว่า 30 ปี โดยเริ่มจากการซื้อกิจการ บริษัท ทวีผลการเกษตร และอุตสาหกรรมปลูกปาล์มน้ำมัน เมื่อปี 2530 ในปี 2532 มีการจัดตั้งเป็น “ทีซีซี การเกษตร” จากนั้นก็ทยอยเข้าซื้อกิจการโรงงานน้ำตาล ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในธุรกิจเครื่องดื่ม ปัจจุบันมีกลุ่มบริษัท “พรรณธิอร (เดิมคือ TCC Agro-Industry)” เป็น “เรือธง” กลุ่มนี้แบ่งเป็น 3สายธุรกิจหลัก ได้แก่

กลุ่มเพาะปลูกและแปรรูป ประกอบด้วยพืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ยางพารา สับปะรด ปาล์มน้ำมัน ส้มสายน้ำผึ้ง (แบรนด์ “ดอกแก้ว”) และกาแฟ โดยมีพื้นที่เพาะปลูกและโรงงานแปรรูปทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โครงการร่วมทุนพัฒนาอุตสาหกรรมปาลม์น้ำมันครบวงจรในกัมพูชา และการลงทุนไร่กาแฟขนาดใหญ่บนที่ราบสูงโบโลเวน สปป.ลาว นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้ง บมจ. อาหารสยาม ปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกสับปะรดกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของไทย และมี บริษัท terragro เจ้าของปุ๋ยแบรนด์ “ตรามงกุฎ” และ “ปุ๋ยทิพย์” ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตและค้าปุ๋ยรายใหญ่ติดอันดับ TOP3 ของประเทศ

กลุ่ธุรกิจน้ำตาล ปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมกว่า 144,000 ตันอ้อยต่อวัน ผลิตน้ำตาลภายใต้แบรนด์ “คริสตอลลา (Cristalla)” ขณะที่กากน้ำตาล (Molasses) ส่งให้แก่โรงงานผลิตแอลกอฮอล์และเอทานอล นอกจากนั้น ภายในโรงงานน้ำตาลยังมีการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อใช้ในโรงงานและจำหน่ายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

และกลุ่มสุดท้ายคือ กลุ่มการค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องราคาสินค้าเกษตรผันผวน และสร้างผลกำไรจากการค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร

นอกจาก 5 กลุ่มธุรกิจหลัก ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เสี่ยเจริญยังได้รุกเข้าสู่กลุ่มธุรกิจสื่อ ทั้งการทุ่มเงินกว่า 850 ล้านบาท ถือหุ้นใหญ่ใน อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง” เจ้าของอมรินทร์ทีวีและนิตยสารแถวหน้าต่างๆ และการซื้อหุ้นบริษัท GMM Channel Trading ผู้บริหารช่อง GMM25 รวมถึง A-time Media และบริษัทในเครือ ในสัดส่วน 50% จาก Grammy … นับเป็นการก้าวเข้าสู่ “ดินแดนธุรกิจใหม่” ที่น่าจับตา​  

เส้นทางความสำเร็จ… ที่โรยด้วยการซื้อกิจการนับครั้งไม่ถ้วน​

คุณเจริญ สิริวัฒนภักดี

จะเห็นได้ว่า นับจากปี 2518 ที่เสี่ยเจริญเริ่มสร้างอาณาจักรด้วยการซื้อกิจการ “แสงโสม” นับจากนั้น อาณาจักรช้างสารของเจ้าสัวเจริญและคุณหญิงวรรณา ก็เติบโตมาเรื่อยๆ ด้วยยกลยุทธ์หลักคือ การซื้อกิจการ หรือ “เทคโอเวอร์” ซึ่งเห็นได้บ่อยในทุกกลุ่มธุรกิจ  โดยเฉพาะอย่างย่ิง ในช่วง 10 ปีหลัง ต้องบอกว่า หัวจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ TCC Group เติบโตได้รุดหน้า จนกลายเป็นยิ่งใหญ่และครบวงจรเช่นทุกวันนี้ ก็คือ การซื้อกิจการ ขณะที่หลายๆ คนอาจตีความว่า “อำนาจทุน”

ด้วยเหตุนี้ ตลอเวลาเกือบ 50 ปีในแวดวงนักธุรกิจแถวหน้า เสี่ยเจริญจึงถือเป็นตำนานนักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จที่มาพร้อมกับหลากหลายฉายา ไม่ว่าจะเป็น “นักช้อปตัวยง” “เจ้าพ่อเทคโอเวอร์” “ราชานักซื้อ” ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนสะท้อนถึงความเป็น “นักซื้อที่กล้าได้กล้าเสีย” ที่แท้จริง ของเจริญ สิริวัฒนภักดี  จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายกิจการแม้ต้องแลกมาด้วยเงินลงทุนหลักแสนล้านบาท แต่เจ้าสัวเจริญก็กล้าตัดสินใจ “ซื้อ”

และนี่คือ 3 ดีลที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่ม TCC Group ที่ต้องแลกมาด้วยเงินหลักแสนล้านบาท ดีลแรกคือ การซื้อกิจการ F&N ด้วยมูลค่ากว่า 3.36 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ “ไทยเบฟ” เติบโตอย่างแข็งแกร่ง พร้อมทั้งยังแผ่อานิสงส์มาต่อยอดธุรกิจให้กับกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและการค้า และกลุ่มธุรกิจอสังหาฯ ของ TCC Group ไปพร้อมกันด้วย

ดีลที่สอง ได้แก่ การซื้อหุ้น BIG C Super Center ทั้งหมดจากกลุ่มกาสิโนของฝรั่งเศส และซื้อหุ้น BIG C ที่เหลือจากกลุ่มเซ็นทรัล โดยทั้งหมดต้องแลกมาด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งก็นับเป็นก้าวสำคัญที่ต่อยอดทุกกลุ่มธุรกิจในเครือ TCC Group ทั้งยังเป็นหมากสำคัญที่นำพากลุ่ม TCC เข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกได้อย่างสมเกียรติ

ส่วน ดีลที่สาม คือ การซื้อกิจการ “ไซง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอร์เรจ” หรือ SABECO ผู้ผลิตเบียร์ “เบอร์หนึ่ง” ของเวียดนาม และเป็นเจ้าของแบรนด์ “ไซ่ง่อนเบียร์” และ “เบียร์ 333″ ด้วยเม็ดเงินลงทุนราว 1.6  แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเสมือนการตอกเสาเข็มความเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับภูมิภาค และต่อยอดไปถึงระดับโลก ให้กับ “ไทยเบฟ” โดยมี SABECO เป็นหมากสำคัญในเวทีสากล

จะเห็นได้ว่า นอกเหนือจากความกล้าได้กล้าเสีย อีกสิ่งที่ทำให้เขากล้า “ซื้อ” ในสิ่งที่หลายคนอาจมองว่า “แพง” นั่นเพราะเขามองเห็นโอกาสทางการตลาด และที่สำคัญคือ มองเห็นโอกาสในการต่อยอดกับธุรกิจที่มีอยู่ ที่ใครๆ หลายคนอาจคิดไม่ถึง … จึงแทบไม่มีกิจการไหนที่แพงจนซื้อไม่ได้สำหรับเจ้าสัวเจริญ

EP 1: “เสี่ยเจริญ” ราชาเทคโอเวอร์ จากโรงเหล้าสู่อาณาจักรแสนล้าน


  • 3.7K
  •  
  •  
  •  
  •  
Tummy
เมื่อไหร่ที่หยุดพัฒนาตัวเอง ถึงแม้เราไม่ได้ถอยหลัง แต่โลกก็จะทิ้งเราไว้ข้างหลังและหนีห่างออกไป จนวันหนึ่งเมื่อตื่นมา เราอาจรู้สึกแปลกแยก ... มาเปิดโลกทัศน์ แล้วสนุกกับทุกความเคลื่อนไหวในโลกใบนี้ไปพร้อมกันนะคะ