“Hyper-Convenience” สปอยล์ผู้บริโภคด้วย “ความสะดวกอีกขั้น” กรณีศึกษา Quick Commerce – Food Delivery

  • 267
  •  
  •  
  •  
  •  

Hyper-Convenience

“ความสะดวกสบายและรวดเร็ว” (Convenience) เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของสินค้าและบริการที่ต้องมีไปแล้ว ยิ่งทุกวันนี้ผู้บริโภคใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์ และมีความคาดหวังต่อแบรนด์สูงขึ้น ก็ยิ่งต้องการความสะดวกสบาย และรวดเร็วทันใจมากขึ้น

ดังนั้นแบรนด์ที่อยากครองใจผู้บริโภค และสร้าง Loyal Customer การนำเสนอความสะดวกขั้นพื้นฐานคงไม่เพียงพอ แต่ต้องอัพเกรดเป็น Hyper-Convenience หรือ “ความสะดวกอีกขั้น” ทั้งสินค้าครบวงจร หลากหลาย รวดเร็ว ตอบโจทย์ความต้องการใช้แบบทันทีทันใด

ตัวอย่างที่ชัดเจนของ “Hyper-Convenience” คือ On Demand Delivery

Quick Commerce กำลังเป็นอีกหนึ่งสมรภูมิการแข่งขันของบรรดา Super App ส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้ออาหารสดและของใช้ในบ้าน-ในชีวิตประจำวันที่ไม่ได้เยอะมาก และต้องการใช้ทันที เช่น ไข่ไก่, ผักสด, หมูบด, ชุดตรวจ ATK ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (Online Grocery)

Food Deliveryแม้เวลานี้คนจะออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติแล้ว และบริการ Dine-in กลับมาคึกคัก แต่จัดส่งอาหารก็ยังคงเติบโต เพราะตอบโจทย์ความสะดวกในบางวัน – บางช่วงเวลา หรือบางโมเมนต์ที่ไม่อยากออกนอกบ้าน หรือออกจากออฟฟิศ เพื่อไปหาร้านรับประทานอาหาร

Hyper-Convenience_On Demand Delivery

 

3 ปัจจัยกระตุ้นให้เกิด “Hyper-Convenience

ปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้เกิด Hyper-Convenienceแบรนด์ต้องส่งมอบประสบการณ์ความสะดวกสุดๆ ให้กับผู้บริโภคมาจาก

1. ไลฟ์สไตล์ดิจิทัล คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับ 7 ของโลก

ข้อมูล Digital 2022: Thailand จัดทำโดย We Are Social รายงานสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย

– การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทย อยู่ที่ 54.50 ล้านคน คิดเป็น 77.8% ของประชากรไทย

– คนไทยใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ 9.06 ชั่วโมง ถือเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยระยะเวลาใช้งานอินเตอร์เน็ตเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 6.58 ชั่วโมง

– เมื่อแบ่งอุปกรณ์การใช้อินเทอร์เน็ต ส่วนใหญ่คนไทยเข้าผ่าน “สมาร์ทโฟน” โดยเฉลี่ย 5.28 ชั่วโมง สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก ตามมาด้วย “คอมพิวเตอร์”  3.38 ชั่วโมง

2. เกิดพฤติกรรม “NOWISM” หรือ “Now Consumer” ผู้บริโภคใจร้อนมากขึ้น มีความอดทนน้อยลง ภารกิจในชีวิตประจำวันเร่งรีบและรัดตัว จึงต้องการความสะดวกมากขึ้น และคาดหวังต่อแบรนด์สูงขึ้น

เวทีเสวนาหัวข้อ “Thailand’s Lastest Digital Trends 2022” ในงาน DAAT Day 2022 โดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ชี้ว่า ดิจิทัลกลายเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตประจำวัน ส่งผลให้ Mindset และพฤติกรรมของคนใจร้อนขึ้น มีความอดทนน้อยลง ในขณะที่ความคาดหวังสูงขึ้นเรื่อยๆ

เนื่องจากดิจิทัล ทำให้การใช้ชีวิต และการแก้ปัญหาต่างๆ ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เช่น แอปพลิเคชันที่ช่วยแก้ Pain Point ผู้บริโภคให้ใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น เพราะฉะนั้นแบรนด์จะสร้างประสบการณ์แบบเดิมๆ ไม่เพียงพอแล้ว ผู้บริโภคคาดหวังความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น และสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้น

อย่างบริการ “Quick Commerce” เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการสินค้าด่วน สั่งซื้อสินค้าเพียงไม่กี่ชิ้น ก็สามารถจัดส่งได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทันต่อความต้องการใช้ โดยบางครั้งผู้บริโภคมก็ไม่ได้มองปัจจัยด้านราคา หรือโปรโมชั่นเป็นหลัก แต่มองเรื่องความต้องการของตัวเอง และความสะดวกสบายเป็นหลั

3. O2O เชื่อมต่อ Online – Offline

ทุกวันนี้โลกไม่มีเส้นแบ่งระหว่าง Offline และ Online แล้ว เช่นเดียวกับพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคก็ต้องการเข้าถึงสินค้าและบริการทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะผ่านช่องทางใดก็ตาม นี่จึงทำให้โมเดล O2Oเชื่อมต่อระหว่าง Online to Offline และ Offline to Online เป็นรูปแบบการส่งมอบประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคในยุคนี้

ยิ่งแบรนด์ไหน หรือธุรกิจใดสามารถสร้างพัฒนาโมเดล O2O เชื่อมต่อได้อย่าง Seamless จะยิ่งสร้างความสะดวกสบาย และความรวดเร็วในการใช้บริการมากขึ้น จนสามารถส่งมอบบริการ “ความสะดวกเหนือไปอีกขั้น” ที่การันตีระยะเวลาการจัดส่งสินค้า หรือบริการภายใน 30 นาที

จากปัจจัยที่ทำให้เกิด Hyper-Convenience เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ยกกรณีศึกษา On Demand Delivery ของทั้งQuick Commerceปัจจุบันบรรดา Super App รุกหนักบริการนี้ เช่นกรณีศึกษาGrabMartและล่าสุดแพลตฟอร์ม Robinhood ได้เริ่มทดลองให้บริการ Robinhood Mart เมื่อไม่นานนี้ จะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่ผลักดันให้แอปฯ Robinhood ต่อยอดสู่การเป็น Super App และบริการ Food Deliveryเช่นกรณีศึกษาของแพลตฟอร์ม1112 Delivery ในเครือไมเนอร์ ฟู้ด

Hyper-Convenience_On Demand Delivery

 

Super App เปิดศึก Quick Commerce: GrabMart” รุกขยายร้านค้าทั่วไทย Robinhood Mart” ชูความหลากหลายหมวดหมู่สินค้า

ในอดีตการซื้อของกินของใช้เข้าบ้าน ไม่ว่าอาหารสด อาหารแห้ง สินค้าอุปโภคต่างๆ ผู้บริโภคต้องไปที่ร้านค้าใกล้บ้าน ตลาดสด ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต ต้องหอบหิ้วสิ่งของสัมภาระหนักๆ หรือถ้าทำอาหารอยู่ แล้ววัตถุดิบบางตัวหมด ก็ต้องรีบออกไปซื้อจากร้านค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน

ต่อมาเมื่ออีคอมเมิร์ซขยายตัวมากขึ้น ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านทางบริการซูเปอร์มาร์เก็ต – ไฮเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์มากขึ้น โดยเป็นการซื้อแบบวางแผนล่วงหน้า และเป็นการซื้อในปริมาณมาก เพื่อตุนไว้ที่บ้าน ดังนั้นรายการสินค้าที่สั่งซื้อ ส่วนใหญ่เป็นของกินของใช้ที่ซื้อเป็นประจำอยู่แล้ว แม้จะสร้างความสะดวกให้กับผู้บริโภคไม่ต้องไปช้อปเองที่สโตร์ แต่ด้วยความที่ยังต้องใช้เวลาจัดส่ง จึงยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้แบบทันทีได้

Grocery Shopping

จะเห็นได้ว่ายังมีช่องว่างของตลาดในโมเมนต์ที่ผู้บริโภคต้องการใช้ด่วน หรือใช้แบบทันทีที่ยังไม่ได้ถูกเติมเต็ม นี่จึงกลายเป็น “โอกาสทางธุรกิจ” มหาศาลของแพลตฟอร์ม Super App ในการต่อยอดจาก On Demand Delivery ประเภทอื่น เช่น Food Delivery, Express Delivery ที่มีไรเดอร์จัดส่งอยู่แล้ว ขยายมาสู่การให้การทำ Quick Commerceเพื่อตอบสนองความต้องการใช้แบบทันที

Quick Commerce คือ การจัดส่งสินค้าภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉลี่ยภายใน 30 ที สินค้าส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคสั่งซื้อเข้ามา จะเป็นกลุ่มของสดและของชำ (Online Grocery) เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการใช้สินค้านั้นๆ แบบทันทีทันใด ซึ่งแพลตฟอร์ม On Demand Delivery ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างร้านค้า ทั้งเชนใหญ่ และร้านค้ารายย่อย เช่น โชห่วย กับผู้บริโภค โดยมีไรเดอร์ ทั้งจักรยานยนต์ และรถยนต์ เป็นผู้จัดส่งสินค้าให้กับผู้ใช้บริการ

เพราะฉะนั้นรูปแบบการให้บริการ Quick Commerce แตกต่างจาก e-Commerce ดังนี้

คุณลักษณะของ Quick Commerce:

– ใช้เวลาจัดส่งน้อยกว่า 1 ชั่วโมง โดยเฉลี่ยอยู่ภายใน 30 นาที

– จุดรับสินค้ามาจากร้านค้า ทั้งเชนใหญ่ และร้านค้าย่อย เช่น โช่ห่วย จึงเป็นลักษณะดาวกระจาย เมื่อผู้ใช้บริการสั่งซื้อสินค้าเข้ามายังแพลตฟอร์ม ทางไรเดอร์กดรับคำสั่งซื้อ จะวิ่งไปรับสินค้าที่ร้านค้า แล้วนำมาส่งให้กับผู้ใช้บริการ

– ความรวดเร็วคือหัวใจสำคัญของ Quick Commerce เพื่อตอบสนองความต้องการใช้แบบทันที

– รถส่งสินค้า มีทั้งไรเดอร์ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์

– สินค้าส่วนใหญ่เป็นของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารสด และสินค้าอุปโภค

ขณะที่คุณลักษณะของ e-Commerce:

– ใช้เวลาจัดส่ง 2 – 3 วัน

– จุดรับของเพื่อไปจัดส่งยังจุดหมายปลายทางต่างๆ คือ คลังสินค้า

– โปรโมชั่น ส่วนลด หรือดีลต่างๆ คือกลยุทธ์สำคัญในการดึงให้คนมาใช้บริการ

– ใช้รถบรรทุกจัดส่งสินค้า

– มีสินค้ามีทุกประเภท

Quick Commerce vs e-Commerce
Credit: Grab Thailand

เหตุผลหลักที่บรรดาแพลตฟอร์ม Super App ที่ให้บริการ On Demand Delivery มาพัฒนา “Quick Commerce” คือ

– ขยาย Ecosystem ของแพลตฟอร์มให้มีความครบวงจร เพื่อผลักดันให้แพลตฟอร์มของตัวเองเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทั้งผู้บริโภคให้มากที่สุด

– ขยายฐานผู้ใช้, ร้านค้าที่มาอยู่บนแพลตฟอร์ม ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ และรายย่อย รวมถึงไรเดอร์

– สร้างรายได้จากบริการใหม่ และ Customer Data เพื่อนำไปใช้ต่อยอดสู่โอกาสธุรกิจใหม่ต่อเนื่องในอนาคต

แม้ปัจจุบันความนิยมของตลาด Quick Commerce ยังไม่สามารถเทียบเท่า e-Commerce แต่ยังมีโอกาสอีกมาก เนื่องจากอัตราการเข้าถึง หรืออัตราการซื้อสินค้าของสด และของชำผ่าน Online Grocery มีสัดส่วนเพียง 2% เมื่อเทียบกับการซื้อผ่านร้านค้า หรือ Offline 98%

เพราะฉะนั้นโจทย์สำคัญจึงอยู่ที่การสร้างพฤติกรรมผู้บริโภคให้คุ้นเคยกับการสั่งซื้ออาหารสด และของใช้ในบ้านต่างๆ ผ่านบริการ Quick Commerce มากขึ้น เหมือนเช่นในตลาด Food Delivery ที่ทุกวันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันผู้คนไปแล้ว

โดย 3 ปัจจัยหลักที่จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการ Quick Commerce คือ

– สินค้ามีความหลากหลาย

– การจัดส่งรวดเร็ว

– ความคุ้มค่าคุ้มราคา ทั้งราคาสินค้า และค่าจัดส่งที่เข้าถึงได้

Hyper-Convenience_On Demand Delivery

อย่างหนึ่งใน Super App รายใหญ่ “Grab” เข้าสู่ตลาด Quick Commerce ด้วยการเปิด “GrabMart” เริ่มทดลองให้บริการครั้งแรกในปี 2019 ที่สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยนำซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านของชำมาอยู่บนแพลตฟอร์ม Grab ถึงวันนี้เปิดให้บริการใน 7 ประเทศคือ สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ไทย, ฟิลิปปินส์ และเมียนมาร์

สำหรับประเทศไทย เริ่มให้บริการ GrabMart ในปี 2020 โดยสถานการณ์ COVID-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ On Demand Delivery เติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้างพฤติกรรมผู้บริโภคในการใช้บริการ On Demand ประเภทต่างๆ

ปัจจุบันมีร้านค้าอยู่บน GrabMat มากกว่า 15,000 ร้านค้า ทั้งรายใหญ่ และรายเล็ก มีสินค้ากว่า 180,000 SKU ใน 15 ประเภทสินค้า ให้บริการครอบคลุม 68 เมืองทั่วไทย และใช้เวลาจัดส่งโดยเฉลี่ยภายใน 25 นาที

Quick Commerce เน้นตอบโจทย์พฤติกรรมและความต้องการผู้บริโภคในด้านความเร็ว ความสะดวกสบายเป็นหลัก เพราะฉะนั้นสินค้าที่ขายอยู่บนแพลตฟอร์ม จึงเป็นของกินของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยใช้ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านโชห่วย เป็นเหมือน satellite หรือดาวกระจายที่ไรเดอร์จะมารับสินค้าจากร้านค้านั้นๆ แล้วจัดส่งถึงมือผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับบริการ Food Delivery ในส่วนบริการ GrabMart ไม่ได้มีความถี่เหมือนกับจัดส่งอาหาร เนื่องจากคนไทยรับประทานอาหารโดยเฉลี่ย 7 ครั้งต่อวัน ในขณะที่ความถี่การใช้ GrabMart โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 – 3 ครั้งต่อเดือน

เพราะฉะนั้นการเติบโตของ GrabMart เน้นการโตจากฐานผู้ใช้ และสร้างพฤติกรรมให้ติดกับการใช้แอปฯ Grab มากกว่าความถี่ในการใช้บริการ คุณจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด-พันธมิตรทางธุรกิจ และธุรกิจแกร็บมาร์ท, แกร็บ ประเทศไทย ขยายความเพิ่มเติม

GrabMart

เพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการ GrabMart มากขึ้น ได้เปิดตัวกลยุทธ์ “คุ้ม ครบ คูล” ประกอบด้วย

– คุ้ม (Affordability) นำเสนอความคุ้มค่าให้กับผู้ใช้บริการผ่านแคมเปญการตลาด และส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรร้านค้า และสินค้าอุปโภคบริโภค

– ครบ (Wide Selection) เพิ่มหมวดหมู่สินค้าให้ครอบคลุมและหลากหลาย ตั้งแต่ของสดของชำ สินค้าสุขภาพและความงาม สินค้าสำหรับแม่และเด็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง

– คูล (User Experience) พัฒนาเทคโนโลยี แอปพลิเคชนน ระบบการให้บรารและมาตรฐานการจัดส่ง เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้ผู้ใช้บริการ

รวมทั้งขยายพันธมิตร และเข้าถึงกลุ่มร้านค้าขนาดเล็กมากขึ้น เช่น โชห่วย, ร้านขายของชำในชุมชน โดยเฉพาะต่างจังหวัด

GrabMart

ขณะที่ล่าสุดแพลตฟอร์ม On Demand Service สัญชาติไทยอย่าง “Robinhood” เริ่มทดลองให้บริการ “Robinhood Mart” แล้วเช่นกัน อีกหนึ่งจิ๊กซอว์เติมเต็มความครบวงจรของแอปฯ เพื่อยกระดับสู่การเป็น “Super App” พร้อมทั้งสร้างรายได้เข้ามาสู่ธุรกิจ และเติบโตเป็น Regional Player  

Robinhood Mart” เป็นบริการสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้า เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการขายให้กับผู้ประกอบการ และเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้ประกอบการและลูกค้า Robinhood ได้มาเจอกัน

บริการ Robinhood Mart ชูจุดเด่นด้านความหลากหลายของสินค้าและร้านค้า ครอบคลุมตั้งแต่อาหารสด เช่น เนื้อสัตว์, อาหารทะเล, เครื่องดื่ม, ผลิตภัณฑ์นม, อาหารแปรรูป, ผักและผลไม้, เบเกอรี่, สินค้าสุขภาพและความงาม, ของใช้ส่วนตัว, ผลิตภัณฑ์คุณแม่และเด็ก, เครื่องครัวและอุปกรณ์ทำอาหาร, เครื่องใช้ไฟฟ้า, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, อุปกรณ์สำนักงาน, หนังสือและสื่อบันเทิง, ร้านแว่นตา, เกมส์ ไปจนถึงหมวดดอกไม้และต้นไม้

นอกจากนี้ในช่วงแรกของการให้บริการ Mart Service ได้จัดโปรโมชั่นส่งฟรีในระยะทาง 5 กิโลเมตรแรก โดยไม่ต้องกรอกโค้ด ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 15 ตุลาคมนี้ เพื่อสร้างการรับรู้บริการใหม่ และดึงให้คนมาทดลองใช้บริการ

การเปิด Robinhood Mart เป็นไปตามโรดแมปธุรกิจเดินหน้าขยายบริการใหม่ต่อเนื่อง หลังจากเริ่มต้นให้บริการ Food Delivery ในปี 2020 ด้วยโมเดลไม่คิดค่าธรรมเนียมใดๆ กับร้านค้า โดยเน้นร้านค้าขนาดเล็ก ต่อมาขยายสู่บริการ Robinhood Travel ขณะที่ปลายปี 2022 เตรียมทดลองให้บริการ Robinhood Ride

Robinhood Mart

 

Food Delivery: การแข่งขันบน 4 ปัจจัย “ส่งเร็ว คุ้มค่าคุ้มราคา คุณภาพอาหารและบริการ ความหลากหลาย”

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดการณ์มูลค่าตลาด Food Delivery ปีนี้ อยู่ที่ 79,000 ล้านบาท เติบโต 5% เทียบกับปีที่แล้ว แม้จะไม่ได้ขยายตัวแบบก้าวกระโดดเหมือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ภาพรวมตลาด Food Delivery อยู่ในทิศทาง Stabilize นั่นคือ จากนี้ตลาดจะค่อยๆ โตต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ในอัตราที่ไม่สูงเท่ากับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจาก

– ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคไทยหันมาใช้บริการ Food Delivery มากขึ้น สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายมากขึ้น

– Penetration ของตลาด Food Delivery ครอบคลุมทุกจังหวัดในไทย จากในยุคแรกกระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ก่อนจะขยายไปยังหัวเมืองใหญ่ ขณะที่ปัจจุบันกระจายทั่วประเทศไทย

– ทั้ง Dine-in กับ Delivery ส่งเสริมกัน เพราะความต้องการใช้บริการระหว่าง Dine-in กับ Delivery แตกต่างกัน ผู้บริโภคที่ใช้บริการ Dine-in ต้องการสัมผัสประสบการณ์รูปแบบหนึ่ง และหากต้องการความสะดวกสบาย อยู่บ้าน หรือออฟฟิศ ไม่อยากเดินทางไปไหน จะสั่งบริการ Delivery

สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจากบริการ Food Delivery ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก

1. Speed: ส่งเร็ว

2. Value: ความคุ้มค่าคุ้มราคาของทั้งราคาอาหาร และค่าส่ง

3. Quality: คุณภาพอาหารที่มาส่งแล้วเหมือน หรือใกล้เคียงกับการรับประทานที่ร้าน และคุณภาพด้านบริการ

4. Variety: ความหลากหลายของร้านอาหาร และประเภทอาหาร

Hyper-Convenience_On Demand Delivery

กรณีศึกษาของหนึ่งในผู้ให้บริการ “Food Delivery” คือ เครือไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ถือเป็นรายแรกๆ ที่บุกเบิกตลาด Food Delivery ในไทย และการันตีระยะเวลาจัดส่งภายใน 30 นาที

นับตั้งแต่ปี 2001 ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป เปิดตัวแบรนด์ “The Pizza Company” มาพร้อมกับบริการ Delivery ซึ่งในยุคแรกยังเป็นบริการ Call Center

ต่อมาปี 2010 ได้เพิ่มช่องทางการสั่งอาหารผ่านทางเว็บไซต์ จากนั้นปี 2019 ได้เปิดตัวแอปพลิเคชัน “1112 Delivery” พร้อมทั้งรวบรวมแบรนด์ร้านอาหารในเครือไมเนอร์ ฟู้ดมาอยู่บนแพลตฟอร์ม และได้สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านอาหารอื่น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของแบรนด์​ และประเภทอาหารบนแพลตฟอร์ม

ปัจจุบันแพลตฟอร์ม “1112 Delivery”  ให้บริการครอบคลุม 75 จังหวัด มียอดผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน จำนวน 2.5 ล้านราย โดยเป็น Active User 60% ซึ่งธุรกิจ Delivery ยิ่งยอดดาวน์โหลดแอปฯ มาก ยิ่งเพิ่มโอกาสการเติบโตของยอดขาย มีจำนวนไรเดอร์ 5,000 คน แบ่งเป็น 50% ของไมเนอร์ ฟู้ด และ 50% ไรเดอร์ของพาร์ทเนอร์

ขณะที่ระยะเวลาการจัดส่งอาหารถึงมือลูกค้า โดยเฉลี่ยสามารถทำได้ภายใน 25 นาที และมั่นใจว่าอนาคตอันใกล้จะสามารถทำเวลาการให้บริการได้เร็วขึ้นกว่านี้

Minor Food Group-1112 Delivery

“พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เราจะเห็นว่าผู้บริโภคต้องการความสะดวกมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เป็น “Super Convenience” แล้ว และไม่ใช่แค่เฉพาะอาหารอย่างเดียว แม้แต่ร้านสะดวกซื้อ – ซูเปอร์มาร์เก็ต ยังมีบริการ Delivery นี่เป็น New Norm ของผู้บริโภค

เพราะฉะนั้นมี demand อยู่แล้วว่าต้องการความรวดเร็ว สะดวกสบาย บางทีไม่อยากออกจากบ้าน บางทีไม่อยากลงมาข้างล่างตึก” คุณธันยเชษฐ์​ เอกเวชวิท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฉายภาพความต้องการด้านความสะดวกของผู้บริโภค

จากกรณีศึกษาของตลาด Quick Commerce และ Food Delivery ตอกย้ำให้เห็นว่าความสะดวกพื้นฐานทั่วไปคงไม่เพียงพอแล้ว แต่ต้องยกระดับให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น Hyper-Convenience ความสะดวกและเร็วเหนือขึ้นไปอีกขั้น เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์มากขึ้น

Hyper-Convenience_On Demand Delivery

 


  • 267
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ