Token กับ Coin ต่างกันอย่างไร? ในอุตสาหกรรม bitcoin

  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

สำหรับนักลงทุนที่เพิ่งเริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล  หลายๆคนเมื่อเริ่มศึกษาลึกไปถึงรายละเอียดของเหรียญแต่ละเหรียญที่เปิดขายอยู่ในกระดานต่างๆ  หลายท่านอาจเริ่มสังเกตว่ามีบางโปรเจคที่สกุลเงินนั้นถูกเรียกว่า “เหรียญ” แต่บางโปรเจคกลับเรียก “โทเค็น” สำหรับที่สงสัยว่าสองอย่างนี้ต่างกันอย่างไร?  ค้นหาคำตอบได้ในบทความนี้ได้เลย

ก่อนอื่นต้องบอกทางผู้อ่านก่อนว่า นิยามของ Token กับ Coins ในนั้น นอกจากเราจะต้องพูดถึงในแง่ของสิ่งที่คนทั่วโลกโดยทั่วไปเข้าใจ กับ นิยามในแบบของ พรก.สินทรัพย์ดิจิทัลไทย ซึ่งการจำแนกทั้ง 2 แบบนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง! เรามาดูที่วิธีการจำแนกโดยทั่วๆ ไปกันก่อน

จำแนกเหรียญทั้ง 2 ประเภทง่ายๆ ด้วยความแตกต่างใหญ่ๆ ดังนี้

1. Coin พวกสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกเรียกว่า “เหรียญ” หรือ “Coins” นั้นจะเป็นพวกโปรเจคที่มีการพัฒนาระบบบล็อคเชนเป็นของตัวเอง

2. Token มักจะถูกเรียกพวกเหรียญเล็กๆ ที่ไม่ได้พัฒนาบล็อคเชนเป็นของตนเองโดยตรง โดยมีลักษณะที่แตกต่างกันอยู่ 2 ลักษณะ  ได้แก่

    • (1) เหรียญประเภทหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อคุณสมบัติที่เฉพาะเจาะจง เช่น ใช้เป็นแต้มหรือคะแนนสำหรับใช้บริการ, ใช้เป็นเชื้อเพลิงในระบบนิเวศน์หนึ่งๆ (บางที่ใช้จ่ายเป็นค่าทำธุรกรรม), เป็นเสมือนดอกเบี้ยอย่างหนึ่งที่ได้รับหากถือ “coins” บางประเภทไว้ตามเงื่อนไข, ไว้ใช้เป็นคูปองหรือบริการ, ปันผล
    • (2) เป็นโปรเจคที่ไม่ได้มีการพัฒนาบล็อคเชนเป็นของตัวเองโดยตรง แต่เป็นการ “พัฒนาขึ้นมาจากบล็อคเชนของเหรียญอื่นๆ ที่มีบล็อคเชนของตนเองอยู่แล้วในระบบ” โดยมักชูจุดเด่นเรื่องการเป็นหนึ่งใน เครื่องมือที่ช่วยให้การทำงานในลักษณะที่เฉพาะเจาะจงนั้นเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น CELER (CELR) เป็นโปรเจคที่พัฒนาขึ้นจากบล็อคเชนของ Ethereum ขึ้นมาเพื่อการสร้างระบบการชำระเงินบนบล็อคเชนที่มีความเสถียรและรวดเร็วอย่างมาก  ด้วยแนวคิดที่คำนวนการทำธุรกรรมที่จะถูกแยกออกมาเฉพาะแต่ยังทำงานอยู่บน ETH (ซึ่งแน่นอน สร้างรับชำระด้วยเหรียญต่างๆ ใน ERC-20 ได้) สำหรับใครที่อยากนำบล็อคเชนและ Smart contract ของ ETH มาใช้แต่กังวลเรื่องความรวดเร็วของการทำธุรกรรม โปรเจคตัวนี้ถือว่าเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ โดยเงื่อนไขหรือค่าใช้จ่ายในการนำระบบตัวนี้มาใช้คือการจ่ายด้วยโทเคนของ Celer

Token ดังข้อ (2) จึงมักถูกเรียกว่าเป็นโปรเจค Side chain นั่นเอง (ส่วนมากในการแลกเปลี่ยนหรือใช้บริการมักต้องใช้ Token สกุลนั้นๆ เป็นเชื้อเพลิง  แต่บางครั้งก็ใช้เหรียญหลักของChain ที่นำมาพัฒนาในการจ่ายตรงส่วนนี้แทน)

นอกจากนี้ Token ยังถูกแยกย่อยไปได้อีก!

สำหรับตัวเหรียญ Token เองก็ยังถูกแบ่งย่อยลงไปได้อีก 2 ประเภทด้วยกัน ดังนี้

1. Utility Token เปรียบเสมือนแต้มหรือคะแนนที่เอาไว้สำหรับใช้งานระบบหรือบริการต่างๆ

  • ใช้สำหรับแลกสินค้าบริการในระบบนิเวศน์ต่างๆ
  • บางโปรเจคหรือบางแอพลิเคชั่นจำเป็นต้องใช้โทเค่นตามที่กำหนดในการแลกสินค้าบริการ (หรือที่ทางผู้อ่านอาจเคยได้ยินผ่านตากันมาบ้าง เช่น โทเค็นตัวนี้คือน้ำมันหรือเชื้อเพลิงสำหรับขับเคลื่อนระบบนั่นเอง)
  • เป็นเสมือนปันผลของผลกำไรจากร้านค้าหรือบริการต่างๆ เช่น Gas จากเหรียญ NEO

2. Security Token

  • เปรียบเสมือนหุ้นหรือหลักทรัพย์ คล้ายกับเวลาเราถือหุ้นในบริษัทแห่งหนึ่งจริงๆ
  • ให้เป็นเหมือนแต้มคะแนนสำหรับการโหวตต่างๆ เช่น ใช้ในการเลือกตั้งประธานนักเรียน โดยแต้มโทเค็น 1 แต้มจะเปรียบเสมือนคะแนนของแต่ละคน
  • เป็นชื่อเรียกของเหรียญที่เกิดขึ้นจากการ Tokenized ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหุ้นตัวหนึ่งที่ถูกแปลงออกมาจากมูลค่าของที่ดินผืนหนึ่ง หรือห้องๆ หนึ่ง

เรียกได้ว่าค่อนข้างน่าสนใจทีเดียวสำหรับความยืดหยุ่นของระบบเหรียญเหล่านี้จะสามารถถูกปรับนำไปใช้กับระบบต่างๆ ได้ในอนาคต

นึกภาพว่าคนอีกซีกโลกหนึ่งจะสามารถถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินในประเทศๆ หนึ่งได้  โดยที่ไม่จำเป็นต้องเคยเดินทางมายังประเทศที่มีการประกาศขายเหรียญ Tokenized รูปแบบนี้เสียด้วยซ้ำ

โดยมากจะเป็นในรูปแบบของบริษัทธรรมดาทั่วไปในประเทศนั้นๆ เปิดตัวเป็นบริษัทแนว Real Estate ที่ถือครองที่ดินหรือที่อยู่อาศัยไว้ในมือจำนวนมาก โดยการแจงว่า “เงินที่ซื้อสินทรัพย์เหล่านี้มาจากนักลงทุนต่างประเทศ” แล้วสร้างโฉนดเฉพาะเจาะจงขึ้นมาผูกกับเหรียญที่ Tokenized สถานที่นั้น ตามมูลค่าจริง เช่น ห้องมูลค่าหนึ่งล้านบาท อาจจะแยกย่อยเป็น 1,000 โทเค็น ใครที่ถือครอง Token นั้นก็มีสัดส่วนการเป็นเจ้าของในสถานที่หรือห้องนั้นๆ มากน้อยลดหลั่นกันไป

นิยามของ Token กับ Coins ในแบบของ พรก.สินทรัพย์ดิจิทัลไทย

ในแง่ของพรก.สินทรัพย์ไทยจะแตกต่างจากมุมมองโดยทั่วๆ ไปพอประมาณ เนื่องจากเป็นการตีความที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ที่กระแส ICO กำลังโด่งดังและพานักลงทุนเจ๊งกันเป็นแถว (มีผลสำรวจออกมาแล้วว่า 80% ของของโปรเจคที่ระดมทุนด้วย ICO นั้นเป็นโปรเจคหลอกลวง ลิ้งค์ข่าว)

  1. Coin ในนิยามของ พรบ.สินทรัพย์ดิจิทัลไทย คือ เหรียญหรือสกุลเงินดิจิทัล “ถูกสร้างขึ้นมาแบบเฉพาะเจาะจง” สำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการต่างๆ คล้ายกับเงินตรา (Currency) หรือแม้แต่ใช้สำหรับซื้อขายเหรียญดิจิทัลสกุลอื่น โดยเหรียญที่ใช้เป็นสื่อกลางที่เรามักคุ้นหน้าคุ้นตากันก็คือ Bitcoin , ETH นั่นเอง
  2. Token ในนิยามของ พรบ.สินทรัพย์ดิจิทัลไทย คือ Digital Token ที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นเสมือนตั๋วหรือแต้มสำหรับแลกหรือเข้าใช้บริการต่างๆ รวมไปถึงการใช้เสมือนตั๋วผ่านทางไปสู่การลงทุนหรือออกเสียงในธุรกิจในรูปแบบของระบบนั้นๆ สำหรับตัว Token นั้นก็จะถูกแยกย่อยออกมาอีก 2 ประเภท นั่นคือ

Token ก็ยังสามารถแยกย่อยออกไปได้อีก(แล้ว) !

เช่นเดียวกับนิยามแบบทั่วไป Token ในนิยามของ พรก.สินทรัพย์ดิจิทัลไทยก็สามารถแบ่งแยกย่อยออกมาได้อีก 2 ประเภทด้วยกัน ดังนี้

1. โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) เป็นแต้มหรือเหรียญชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นบนระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อ “กำหนดสิทธิ” ในการรับสินค้าหรือบริการที่เจาะจง

2. โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) เป็นแต้มหรือเหรียญชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นบนระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อ “กำหนดสิทธิ” ของบุคคลที่ถือครองเหรียญที่มีสิทธิในการรับ “สิทธิประโยชน์หรือการปันผล” หรือเรียกง่ายๆ ว่าผู้ถือครองจะมีสิทธิในการรับส่วนแบ่งรายได้ รวมไปถึงการปันผลจากธุรกิจๆ หนึ่งนั่นเอง

สำหรับวิธีการแยกว่า Coin กับ Token นั้นแตกต่างกันอย่างไร  หากเราสังเกตดีๆ จะเห็นว่าในตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลทั่วโลก หรือแม้แต่ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่ามีทั้ง Coin และ Token โชว์ขายอยู่ปะปนกันไป  โดยในแง่ของนักลงทุนที่ต้องชั่งใจว่าควรเลือกลงทุนในเหรียญตัวไหนเป็นหลัก?  ขอแนะนำว่าท่านควรศึกษาถึงระบบของโปรเจคแต่ละตัวอย่างถี่ถ้วนและพิเคราะห์ว่าโปรเจคลักษณะใดที่หากเปรียบเป็นรูปแบบของบริษัทจริงๆ ตัวไหนน่าจะทำอะไรได้จริงๆ หรือทำกำไรได้ดีกว่า

และอย่างที่ทราบกัน Token นั้นมักจะเป็นเหรียญที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงลงมา ไม่ว่าจะเป็นเหรียญสำหรับซื้อขายแลกเปลี่ยนบริการ, มีไว้ถือครองเสมือนหุ้นหรือสินทรัพย์ , หรือแม้แต่การเป็น “เครื่องมือ” ที่ใช้อำนวยสะดวกให้ผู้คนสามารถใช้เขียนระบบบนบล็อคเชนหลักได้สะดวกขึ้น  สิ่งเหล่านี้จะเห็นว่าปัจจัยที่สำคัญจริงๆ ต่อราคาก็คือ

  • โปรเจคที่ใช้ Token ตัวนี้ไปแลกเปลี่ยนบริการ บริษัทเหล่านั้นมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน, ได้รับความนิยมมั้ย? หรือแม้กระทั่งจะสามารถทำกำไรได้จริงๆ หรือเปล่า?
  • Token ที่สร้างขึ้นมาจาก SideChain เพื่ออำนวยความสะดวกให้เหล่านักพัฒนา อันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ มูลค่าจะขึ้นอยู่กับว่า “บล็อคเชนหลักของเหรียญนั้นๆ ได้รับความนิยม นำไปต่อยอดพัฒนาเป็นแอพลิเคชั่นที่สามารถใช้จริงได้ไหม”

การลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนการลงทุน

 

 

เขียนโดย จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
Expertise:
  Blockchain & FinTech
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่


  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  
Jirayut Srupsrisopa
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการทำงานในแวดวงอุตสาหกรรม เทคโนโลยี Cryptocurrency และ Blockchain ก่อนหน้านี้เคยทำงานในฐานะนายธนาคารด้านการลงทุนที่ปรึกษาทางการเงินและนายธนาคารกลาง มีประสบการณ์การเป็นวิทยากรหนึ่งในทีมชั้นนำระดับประเทศ จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ประเทศสหราชอาณาจักร ตอนนี้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ bitkub.com - การแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลชั้นนำของประเทศไทย