Case Study: คิดแบบคนรุ่นใหม่ในการทำธุรกิจ จาก ‘BEARHOUSE – อองตอง ข้าวซอย’ ก้าวเล็กแต่โตกระโดด!

  • 2K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ทุกวันนี้โลกของเราแคบลงเรื่อยๆ เราสามารถเห็นความฝันของใครหลายๆ คนได้ในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะมาจากซีกโลกฝั่งไหนหรือห่างไกลจากเราแค่ไหนก็ตาม ดังนั้น ความฝันที่เราเห็นเหล่านี้สามารถเปลี่ยนอาชีพในฝันของใครอีกหลายคนได้ ความคิดที่ต่างออกไปจากสมัยก่อน ที่เรามักจะคุ้นเคยกับการเรียนจบปริญญา แล้วค่อยๆ ไต่ตามขั้นบันได ทำอาชีพต่างๆ ทั้งภายใต้รัฐ หรือเอกชนก็ตาม

แต่เดี๋ยวนี้เส้นทางความฝันของคนเป็นล้านๆ กำลังเปลี่ยนไป ‘CEO – เจ้าของธุรกิจ’ กลายมาเป็นหนึ่งในอาชีพในฝันอันดับท็อปๆ ของคนรุ่นใหม่ พอๆ กับความอยากเป็น influencers หรือ stars หน้าใหม่ในวงการดิจิทัลทั้งหลาย

ดังนั้น ในวันนี้เราอยากจะมาแชร์ความคิด มุมมองจากคนรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าของกิจการอายุน้อย ทั้ง 2 แบรนด์จากเวที ‘SME Thailand & Startup’ โดยคุณอรรถกร รัตนารมย์ (กานต์) เจ้าของร้านชานมไข่มุก BEARHOUSE Fresh Boba Milk Tea และคุณดุลยวิทย์ ขุ่ยอาภัย (ท็อป) เจ้าของร้านอองตอง ข้าวซอย ซึ่งเป็น 2 ในหลายๆ ธุรกิจในไทยที่ขยายสาขาเร็วมาก ในเวลาเพียงไม่กี่ปี

 

 

BEARHOUSE

เรามาดูฝั่งของแบรนด์ร้านชานมไข่มุก ‘BEARHOUSE’ กันก่อน จุดสังเกตที่น่าสนใจคือ ทำไมคุณกานต์ ถึงทิ้งอาชีพ Youtuber (BearHug) ซึ่งมีรายได้หลักเป็น 10 ล้านบาท แล้วมาเริ่มต้นเปิดร้านชานมไข่มุก

คุณกานต์เล่าให้ฟังว่า จุดเปลี่ยนที่อยากทำธุรกิจเริ่มต้นจาก ไอเดียที่อยากทำตามความฝันร่วมกับเพื่อนๆ และมีกิจการที่พอจะเป็นมรดกตกทอดไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้

“ผมเคยลองทำมาหลายอย่างมาก และก็ล้มเหลวทุกครั้งเพราะ passion ของตัวเอง ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนให้รู้ว่า เราต้องเริ่มทำจากความชอบหรือสิ่งที่รัก มันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด”

สำหรับ BEARHOUSE เรื่องเงินทุนอาจจะไม่ใช่ปัญหาตั้งแต่แรก เพราะโชคดีที่มีเงินทุนก้อนหนึ่งที่มาจากการเป็น Youtuber แต่สิ่งที่น่าสนใจจากแนวคิดของคุณกานต์ ก็คือ ‘Business Model’ เพราะอันดับแรกถ้าไม่นับเรื่องว่าเราจะขายอะไร กับทำเลที่ตั้งร้าน การเขียน Business Model แบบละเอียดต้นจนจบมันสำคัญมาก!

“ผมยึดคติที่ว่า สำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ เราต้องเขียน Business Model ก่อนเลย เพราะถ้าจะเจ๊ง ก็ปล่อยให้เจ๊งแค่ในกระดาษ ไม่ใช่ชีวิตจริง!

คุณกานต์ยังเล่าให้ฟังอีกว่า การที่เรามี Business Model แบบสมบูรณ์ เวลาที่เราเจอวิกฤตหนักๆ อย่างเช่น COVID-19 เราสามารถเปลี่ยน พลิกแพลงกลยุทธ์ได้ทันที แค่ปรับ Model นิดๆ หน่อยๆ ก็ไปต่อได้แล้ว ดังนั้น หมายความว่าตั้งแต่ที่เราเปิดธุรกิจจนถึงปัจจุบัน Business Model จะถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ มันง่ายกว่ามาเริ่มเขียนใหม่ทั้งหมด’

www.facebook.com/bearhousethailand

ส่วนเรื่อง ‘ทำเลร้าน’ (โลเคชั่น) เราจะเห็นว่าส่วนใหญ่จะได้แต่ทำเลทองทั้งนั้น อย่างสาขาแรกที่เปิดที่สยาม คุณกานต์พูดว่า “เรื่องทำเล ถ้าเราอยากได้ที่ดีๆ เราต้องเร็ว ผมชอบเปิดดูใน Facebook จะมีกลุ่มที่เปิดให้เซ้งกิจการตลอด เราต้องติดตามตลอด”

และคติอีกอย่างหนึ่งที่คุณกานต์กระซิบบอก “มันอาจจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ผมก็ไม่ได้อยากให้ทำตาม แต่วิธีของผมเวลาเจอทำเลที่ใช่ สิ่งแรกที่จะทำ คือ การจ่ายเงินมัดจำเลยทันที! เพราะอย่างน้อยเราจะไม่ปล่อยให้ตัวเลขมีเวลาขี้เกียจ มัดมือชกตัวเองก่อน”

 

ทั้งนี้ สำหรับร้านชานมไข่มุก BEARHOUSE คุณกาต์วางแผนอยากจะขยายได้ 12 สาขาปีหน้า (จากปัจจุบัน 6 สาขา ซึ่งเฉลี่ยแล้วขายได้วันละ 1,500 แก้ว) และอยากเป็นร้านชานมไข่มุกในไทยที่ติด Top 5 ให้ได้ ซึ่งเขายังทิ้งท้ายแง่คิดให้ฟังว่า “หัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ 1.ต้องเร็ว มี aggressive plan เพราะโลกเราหมุนเปลี่ยนแบบ aggressive 2.ต้องเริ่มจากสิ่งที่เรารัก และ 3.ต้องมี Business Model เจ๊งแค่ในกระดาษ แต่ที่ลืมไม่ได้ คือ ‘cash flow’ สำคัญมาก”

 

www.facebook.com/bearhousethailand

 

 

อองตอง ข้าวซอย

ไอเดียการเป็นเจ้าของร้านอาหารก็เป็นอีกหนึ่งไอเดียยอดนิยม ใครๆ ก็คิดว่าการเปิดร้านอาหารง่าย แค่มีฝีมือ อร่อย ก็เปิดได้สบาย แต่ลองมาฟังจากปากคุณท็อปดู ในฐานะที่เป็นเจ้าของกิจการ และต้องคุมขั้นตอนการทำงานเองทั้งหมด

จุดเริ่มต้นธุรกิจมาจาก การอิ่มตัว’ จากร้านเดิม นั่นคือ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ อองตอง หลังจากที่เปิดมา 3 ปีที่เชียงใหม่ และค่อนข้างประสบความสำเร็จ จากความมั่นใจในเส้นทางนี้ว่าเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว เลยปิ๊งไอเดียอยากจะเปิดร้านที่กรุงเทพฯ เป็น next destination โดยยอมทิ้งเป้าหมายที่จะไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วมุ่งหน้ามาที่กรุงเทพฯ เต็มตัว แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจปรับเมนูไม่เปิดร้านก๋วยเตี๋ยว แต่เป็น ‘ข้าวซอย’ แทนเพราะคิดว่าน่าจะสู้รสชาติก๋วยเตี๋ยวเรือที่กรุงเทพฯ ไม่ได้

คุณท็อปเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เข้ามากรุงเทพฯ ทำเซอร์เวย์ทุกอย่างเอง ตั้งแต่ รสชาติ, ประเภทอาหาร, กลุ่มลูกค้า, โลเคชั่น จนมาจบดีลที่ อารีย์’ เปิดร้านเป็นสาขาแรก ด้วยกลุ่มลุกค้าชาวออฟฟิศ ที่มี traffic คึกคัก และมีกำลังซื้อระดับหนึ่ง

ความน่าสนใจมันอยู่ตรงนี้ ด้วยความมั่นใจจากสาขาแรกที่มียอดขายรายวันค่อนข้างดี (ประมาณครึ่งแสนในช่วงที่พีคสุด) อีกทั้งยังได้ มิชลิน’ อีกด้วย ดังนั้นจึงตัดสินใจเปิดสาขาที่ 2 ที่ เดอะเซอร์เคิล ราชพฤกษ์ ส่วนดีไซน์ร้านก็ copy and paste จากสาขาแรกที่อารีย์ แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ลูกค้าน้อยมาก เงียบมาก!

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “กรณีที่สถานที่ต่างกัน เราอาจจะ copy and paste การออกแบบร้าน หรือเมนูอาหารได้ แต่เราไม่สามารถ copy and paste ลูกค้าได้ เพราะคนละ target กันเลย”

 

www.facebook.com/ongtongkhaosoi

ส่วนความยากของการทำธุรกิจอาหาร คุณท็อปเล่าว่า “ในความคิดของผม คิดว่าการทำธุรกิจอาหารเป็นอะไรที่ค่อนข้างยากมาก เพราะมันไม่ใช่แค่รสชาติอาหารมที่ดี แต่มันต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมคน, บริการ, ลูกค้า, พนักงานเสิร์ฟ, ความสะอาดในร้าน จนไปถึง การควบคุมคุณภาพอาหาร”

คุณท็อป พูดให้แง่คิดทิ้งท้ายว่า ที่จริงเป้าหมายก็อยากมีสาขาเพิ่มเป็น 10 แห่งเหมือนกัน (จากปัจจุบันมี 6 สาขา) แต่การเปิดสาขาครั้งต่อๆ ไป คงต้องระมัดระวังมากกว่านี้ ที่สำคัญต้อง ‘slow ความมั่นใจ’ ของตัวเองลงเพราะมันจะทำร้ายเราทีหลัง

“สำหรับผม key success ในการทำธุรกิจมันคือทุกอย่าง ต้นทุน, คน, คุณภาพ, บริการ, สูตรอาหาร ที่สำคัญอะไรที่เราไม่ถนัดก็ให้คนอื่นทำ ผมเริ่มจ้างทีม marketing ตั้งแต่ตอนที่ขยายสาขาที่ 3 และยึดกลยุทธ์ที่ว่า ทุกๆ 3 เดือนร้านเราต้องมีเมนูอาหารเพิ่ม 1 รายการ และรสชาติ mess ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ต้องใช้จินตนาการเดาว่ามันคืออะไร”

พอเข้าใจมุมมองของคนรุ่นใหม่จากตัวอย่างทั้ง 2 แบรนด์แล้ว หวังว่าไอเดียนี้จะมีประโยชน์สำหรับคนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร และต้องปรับ mindset ให้เป็นแบบไหน แต่ที่แน่ๆ เห็นด้วยมากๆ กับคำพูดที่ว่า “ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากสิ่งที่เรารักก่อน” ดังนั้น ค้นหาตัวเองให้เจอ แล้วไอเดียจะนำพากลยุทธ์ และ business model ของตัวเราเอง

 

 

 

ข้อมูลโดย SME Thailand&Start


  • 2K
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม