EXCLUSIVE INTERVIEW: เผยเส้นทางของผู้ชายแห่งความสำเร็จ “David Jou” มือโปรด้านเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซ ซีอีโอแห่ง POMELO แบรนด์แฟชั่นหลักพันล้าน

  • 1.9K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

จากผู้ร่วมก่อตั้ง Lazada Thailand และปัจจุบันเป็นซีอีโอของ Pomelo แบรนด์แพลตฟอร์มแฟชั่นหลักพันล้าน ต้องบอกเลยว่าประวัติและประสบการณ์ของผู้ชายคนนี้ที่มีชื่อว่า David Jou นั้นไม่ธรรมดาเลยจริงๆ ดังนั้นการสัมภาษณ์ คุณ David เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเปรียบเสมือน “โอกาสทอง” ทางเราเลยต้องขอคำชี้แนะจากเซียนแห่งวงการ เพื่อแบ่งปันเคล็ดลับและเทคนิคในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมของลูกค้า ทิศทางของวงการแฟชั่นและ online retail การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไปจนถึงโมเมนต์ “face palm” หรือ “มือกุมขมับ” ที่แสนจะหนักใจ พร้อมวิธีแก้แบบฉบับของ คุณ David

รับรองว่าความรู้ในบทความนี้ สามารถนำไปใช้ได้อย่างแน่นอน เพราะเน้นแต่เนื้อๆ กันเลยทีเดียว ส่วนใครเป็นแฟนคลับแบรนด์นี้อยู่แล้วก็ห้ามพลาดเด็ดขาด เพราะมีทั้งข่าวเปิดสาขาใหม่ และฟีเจอร์คูลๆ ที่กำลังจะเข้ามาในแอปของ Pomelo เร็วๆ นี้

 

จาก Lazada สู่ Pomelo

คุณ David เล่าว่าเขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Lazada ในปี 2013 แต่ก็อยากสร้างแบรนด์ใหม่ด้วย เลยก่อตั้งแบรนด์แฟชั่น Pomelo ขึ้นมา โดยเจาะไปที่อีคอมเมิร์ซก่อน (ไม่มีหน้าร้าน) และฐานอยู่ที่กรุงเทพฯ สิ่งที่น่าประทับใจในเรื่องราวของการก่อตั้งของ Pomelo คือ ความเพียรพยายามที่จะเข้าใจ “แฟชั่น” ให้มาก เพราะแต่เดิมแพสชั่นของเขาอยู่ที่เทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซ ดังนั้นเขาเลยตั้งใจบินไปเกาหลีทุกๆ เดือนเพื่อดูเทรนด์ สร้างแรงบันดาลใจให้ทีมงาน ค้นหาสินค้าใหม่ๆ และซัพพลายเออร์

“เราเริ่มจากเพียงคอนโดเล็กๆ ในย่านสุขุมวิทย์เพียง 7 คน” คุณ David กล่าวพร้อมยิ้มออกมาอย่างภาคภูมิใจเพราะปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 500 คน และระดมทุนได้ประมาน 1.6 พันล้านบาทในปี 2019

 

ซีอีโอ ก็ผิดได้

ในตอนแรกที่ Pomelo ยังไม่มีหน้าร้าน คุณ David เล่าในจุดนี้อย่างตลกขับขัน และไม่อายที่จะยอมรับว่าวิสัยทัศน์ของซีอีโอก็ไม่ได้จะถูกเสมอไป เขาได้เรียนรู้ว่า สิ่งสำคัญคือการมองกลับไปที่ความต้องการของลูกค้าและนำข้อมูลตรงนั้นมาปรับใช้เพราะ “ทุกไอเดียที่ดีที่พวกเรานำมาใช้ มาจากลูกค้าเกือบทั้งหมด”

จากที่ได้กล่าวด้านบน คุณ David มีแพสชั่นด้านเทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซ เขาจึงมีความเชื่อมากว่าไม่จำเป็นต้องมี “หน้าร้าน” ทว่าแบบสอบถามที่ทาง Pomelo ส่งให้ลูกค้าหลายหมื่นคนในช่วงเวลา 3 ปีก่อนเปิดสาขาแรก กลับบอกสิ่งตรงกันข้ามทุกปีที่ส่งแบบสอบถามไป ซึ่งก็คือลูกค้ามากถึง 50% เรียกร้องให้ “เปิดหน้าร้านได้แล้ว!”

แต่ถึงกระนั้น ในช่วง 2 ปีแรกที่ส่งแบบสอบถามไป คุณ David ก็ยังยืนยันว่าจะไม่เปิดหน้าร้าน เพราะ “เทรนด์นั้นคืออีคอมเมิร์ซ เราไม่ควรเปิดหน้าร้าน รอไปก่อน เดี๋ยวลูกค้าก็เปลี่ยนใจเองแหละ” แต่ท้ายที่สุดพอเข้าปีที่ 3 ที่ส่งแบบสอบถาม ก็ยังมีกระแสเรียกร้องให้เปิดหน้าร้าน คุณ David ก็เลยตัดสินใจเปิดร้าน และกล่าวว่า “ร้านที่พวกเราเปิดไปได้ดีมาก” เขาทิ้งท้ายในเรื่องราวนี้ว่า ถึงแม้จะเป็นถึงซีอีโอ ก็ไม่ควรที่จะหยุดฝักใฝ่ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

 

“The Best of Both World” ความสมดุลที่ควรมีระหว่างออนไลน์และออฟไลน์

เนื่องจาก Pomelo ไม่ใช่แค่แบรนด์แฟชั่นทั่วไป แต่มุ่งเน้นไปด้านเทคโนโลยีและ data-driven หลายสิ่งหลายอย่างที่ตัดสินใจจึงมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลเกือบจะทั้งหมด ด้วยเหตุผลตรงนี้ ทางเราก็เลยขอให้ คุณ David ช่วยฉายภาพว่าเขามองพื้นที่ Online Retail จะเป็นอย่างไรในอนาคต

คุณ David กล่าวว่า 82% ของลูกค้าที่มาทำแบบสอบถามต้องการช็อปปิ้งทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ทางเราจึงถามต่อว่า แล้วผู้บริโภคมีแบบไหนที่ชอบมากกกว่ากันหรือไม่? คุณ David ตอบว่า “ผู้บริโภคชาวไทยชอบเวลามีตัวเลือกทั้งสองรูปแบบ” หรือก็คือ ไม่ควรมุ่งเน้นหนักไปทางด้านออนไลน์หรืออฟไลน์จนเกินไป แต่ควรมีความเป็น omni channel หรือ การติดต่อสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้บริโภคในหลากหลายช่องทางให้รวมเป็นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดและไร้รอยต่อให้กับผู้บริโภค

ในจุดนี้ คุณ David กล่าวเสริมว่า ทุกอย่างเชื่อมต่อเข้าหากันและเริ่มกลมกลืนกันมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น สมัยก่อนโซเชียลมีเดียอาจเป็นเพียงแค่ช่องทางในการแชร์รูปภาพ แต่ตอนนี้กลายเป็นพื้นที่เอาไว้ “ช็อปปิ้ง” หรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้า สมัยก่อนคือพื้นที่เอาไว้ซื้อของ แต่ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่เอาไว้ “ลองของ”

 

Test and Repeat Model กับการวางกลยุทธ์ของ Pomelo

ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่า แฟชั่นนั้นขยับเร็วมาก และความที่ทุกอย่างเชื่อมต่อเข้าหากันแล้วกลมกลืนมากขึ้นเรื่อยๆ ทางเราจึงสงสัยว่า ทาง Pomelo ทำอย่างไรเพื่อที่จะคอยอยู่ใน “ด่านหน้า” ของเทรนด์?

ด้านล่างนี้คือคำตอบจาก คุณ David ที่ช่วยฉายภาพให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน:

“พวกเราใช้ระบบ Test and Repeat Model เนื่องจากมีสไตล์ใหม่ๆ เข้ามาตลอดเวลา เราสามารถมองว่าสไตล์แบบไหนกำลังอยู่ในกระแส หลังจากนั้นค่อยผลิตสไตล์นั้นให้มากขึ้น ข้อที่สองคือ เรามีข้อมูลจากจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทาง โซเชียลมีเดีย ประวัติการขาย และ แพลตฟอร์ม(แอปในมือถือ) เรารวบรวมข้อมูลจากจุดเหล่านี้เพื่อทำความเข้าใจว่าเทรนด์จะไปในทิศไหน และข้อสุดท้ายคือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรารวบรวมทีมที่เป็น Data Scientist เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาทำสิ่งที่เรียกว่า Demand Forecast เพื่อเจาะให้ลึกลงว่า หมวดหมู่ไหน โปรดักต์อะไร จะมีความต้องการแบบไหนและในช่วงราคาเท่าไหร่ หลังจากนั้นทางทีมดีไซน์เนอร์ก็ต้องนำสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นโปรดักต์อีกที”

ยกตัวอย่างเช่น การริเริ่มฟีเจอร์ Tap.Try.Buy ในแอป ก็เป็นการตัดสินใจจากความต้องการของลูกค้าอีกเช่นกัน ก็คือเริ่มจากการมีลูกค้าอยากทดลองสินค้าบางอย่างออนไลน์ แต่ไปลองที่ร้าน (สินค้าหลายอย่างอาจมีขายแต่ในแอป แต่ไม่มีที่ร้าน) หลังจากนั้นก็ได้การตอบรับที่ดีอย่างล้นหลาม

จนกระทั่ง covid19 ระบาด

นี่เป็นหนึ่งในโมเมนต์ที่หลายๆ คน รวมถึง คุณ David นั่งกุมขมับหนักใจเพราะหน้าร้านต้องหยุดกิจการชั่วคราว แต่ด้วยความที่เป็นคนไม่ยอมจมอยู่กับปัญหา สุดท้ายก็เลยคิดหาทางแก้ด้วยการเสริม “.at Home” เข้ามาในฟีเจอร์ Tap.Try.Buy เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ไม่สามารถเดินทางมาที่หน้าร้านได้ โดยจะมีพี่ๆ ไรเดอร์ไปส่งสินค้าให้ลองถึงที่บ้าน และสามารถกดให้มารับคืนถึงหน้าบ้านได้ภายใน 3 วัน ฟีเจอร์นี้ได้การตอบรับที่ดีและสามารถแก้ปัญหาเรื่องหน้าร้านได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงที่ระบาด

 

Tap.Try.Buy. at Home ฟีเจอร์ที่ดึงทั้งร้านมาไว้ที่บ้าน

ฟีเจอร์นี้สามารถใช้ได้ใน iPhone และกำลังจะเปิดตัวในฝั่งมือถือแอนดรอยด์เร็วๆ นี้ สำหรับใครที่ยังไม่เคยได้ลองใช้ ทางเรามีภาพตัวอย่างมาให้ดูว่าสะดวกสบายแค่ไหน:

ให้เลือกฟีเจอร์ Tap.Try.Buy. at Home ก่อนสั่งซื้อของ (ให้สังเกตด้วยว่าสินค้าที่เลือกมา สามารถลองหรือคืนได้หรือไม่)

 

หายใจเข้า หายใจออก ใจเย็นๆ อดใจรอพี่ไรเดอร์มาส่ง

 

ทำการลองสินค้าที่สั่งมา ชิ้นไหนไม่ลงตัวก็เรียกพี่ไรเดอร์มารับ

 

มารับถึงที่และส่งสินค้าคืนแบบชิลๆ

 

การแก้ปัญหาแบบฉบับซีอีโอแห่ง Pomelo

แน่นอนว่าปัญหาจากการแพร่ระบาดของ covid19 อย่างหนักก่อนหน้านี้เป็นเพียงหนึ่งในปัญหาต่างๆ ที่ คุณ David เจอมาตั้งแต่ก่อตั้ง Lazada จนมาเป็นซีอีโอของ Pomelo ในปัจจุบัน ดังนั้นสิ่งที่เราสงสัยคือ “วิธีการ” ที่จะแก้ปัญหาโมเมนต์นั่งกุมขมับเหล่านั้นที่ไม่เกี่ยวกับข้อมูล แต่ในเชิง Mind-set

“สิ่งสำคัญที่ผมเรียนรู้คือ มันจะมีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถึงแม้คนข้างนอกจะมองเข้ามาแล้วดูว่าพวกเรามีความประสบผลความสำเร็จสูง แต่เบื้องหลังจะมีปัญหาที่ต้องคอยแก้ตลอดเวลา สิ่งที่ผมพยายามทำคือโฟกัสกับการแก้ปัญหา โดยการระบุถึงปัญหานั้นให้ชัดเจนและหาวิธีแก้ปัญหา เพราะถ้าผมเริ่มคิดว่า เฮ้ย! ทำไมเกิดขึ้นกับเราเนี่ย โห! มีปัญหาเยอะแยะไปหมด มันจะมากเกินไป เพราะฉะนั้นด้วยความที่ผมมีความคิดแบบหุ่นยนต์นิดๆ คือจะคอยสับย่อยปัญหาเหล่านั้นลงมา ระบุว่าปัญหาคืออะไร? เรามีทางแก้อะไรบ้าง? ผมอาจใช้เวลานั่งกุมขมับและบ่นกับตัวเองว่าทำไมสิ่งนี้ถึงเกิดขึ้นกับเราซักวันนึงเวลามีเรื่องแย่ๆ เข้ามา แต่วันต่อมาผมจะพยายามไม่จมกับมัน และมองว่าจะทำอย่างไรต่อเพื่อจะแก้ปัญหานี้ได้”

วิธีที่ คุณ David เล่ามานั้น ก็เป็นทางแก้ให้กับเหตุการณ์แพร่ระบาดของ covid19 ที่เกิดขึ้น จนนำมาซึ่งตัวเสริม .at Home ให้ลองที่บ้าน และหมวดหมู่อื่นๆ ในแอปที่เน้นเจาะไปที่ Home Living

สิ่งสำคัญที่เขาเตือนไว้ คือ ต้องบริหารความเสี่ยงให้ดี โดยการเริ่มจากโปรเจกต์ที่ไม่ได้ใช้ทุนเยอะ อย่างในกรณี .at Home ที่เสริมขึ้นมา เริ่มจากเพียงการทดลองแค่ 1 สัปดาห์และช่องทางขนส่งที่มีอยู่ หลังจากนั้นก็นำมาวิเคราะห์ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ก่อนจะพัฒนาให้โปรเจกต์ใหญ่ขึ้น ถ้ามันเวิร์คก็เป็นเรื่องดีไป แต่ถ้าไม่ อย่างน้อยๆ ก็ไม่มีผลกระทบในแง่ลบเป็นวงกว้างเกิน

 

อยากบอกอะไรกับคนอ่านของ Marketing Oops! และแฟนๆ ของ Pomelo

ก่อนที่จะจบบทสัมภาษณ์ ทางเราก็เลยถามว่ามีอะไรเจ๋งๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นบ้าง นอกจากจะเปิดตัว Tap.Try.Buy.at Home บนมือถือแอนดรอยด์ และอยากบอกอะไรแก่ผู้อ่านของเรา

คุณ David ก็เลยบอกว่า ในส่วนของหน้าร้าน ล่าสุดได้เปิดอีกสาขาที่ Central Westgate ส่วนบนแอป กำลังจะมีฟีเจอร์ใหม่เร็วๆ นี้ ก็คือ การให้ลูกค้าสามารถหาสินค้าบนแอปจากสิ่งที่เขา “ใส่ใจเป็นพิเศษ” เช่น ถ้าใส่ใจในวัตถุดิบรักษ์โลก ก็จะมีสินค้าที่ตอบโจทย์ในด้านนั้น

ส่วนสุดท้ายที่ คุณ David อยากทิ้งไว้ให้:

“ถ้าอยากประสบผลความสำเร็จ ให้ถามตัวเองว่า ในตอนนี้เทรนด์คืออะไร? ข้อที่สอง บางครั้งคุณต้องทำตัวเหมือนหุ่นยนต์ โดยการระบุถึงปัญหา แก้ปัญหานั้น เดินไปข้างหน้า ระบุถึงปัญหาใหม่ หาวิธีแก้ และเดินไปข้างหน้าต่อ ให้ใช้วิธีแบบนี้วนไป”

  • 1.9K
  •  
  •  
  •  
  •  
sailwithme
Postera crescam laude