อาร์ติสไทยระดับโลก “มุก เพลินจันทร์” สร้างแรงบันดาลใจรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านงานศิลปะ กระตุกจิตสำนึกบนเวที GC Circular Living Symposium

  • 5.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เรื่องของการดูแลโลกรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสำคัญและพูดถึงกันมานาน ตอกย้ำความสำคัญด้วยคำสัญญาที่ผู้นำโลกต่างได้ให้ไว้ผ่านเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ โดยตั้งเป้าที่จะสร้างโลกที่ปราศจากมลพิษ เพื่อส่งต่อโลกที่สะอาดสวยงามให้กับคนรุ่นหลังได้

น่าชื่นชมที่เมืองไทยเองก็มีคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อยู่ไม่น้อย หนึ่งในอาชีพที่ไม่น่าเชื่อว่าจะใกล้เคียงกับการดูแลสิ่งแวดล้อมได้ด้วยนั่นคือการเป็น ศิลปิน ทั้งนี้ ยังมีผู้ผลิตงานอาร์ทที่มีหัวใจสีเขียวแถมยังเป็นอาร์ทติสเอเชียคนแรกที่ได้ร่วมงานกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง ‘หลุยส์ วิตตอง’ (LOUIS VUITTON) อีกด้วย เธอคนนั้นคือ คุณมุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์’ ศิลปิน Tactile Arts ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากสิ่งไร้ค่าสู่งานอาร์ทสร้างมูลค่าได้

 

‘คุณมุก-เพลินจันทร์ วิญญรัตน์’ ศิลปิน Tactile Arts ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากสิ่งไร้ค่าสู่งานอาร์ทสร้างมูลค่าได้

 

วัสดุเหลือใช้สู่งานศิลปะทรงคุณค่าประดับยังภายในร้าน หลุยส์ วิตตอง’

คุณมุก เล่าถึง การร่วมงานกับ ‘หลุยส์ วิตตอง’ ว่า ถือว่าเป็นโอกาสอันดีมากที่ได้ร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลก ซึ่งการร่วมงานครั้งนี้ค่อนข้างเซอร์ไพรส์มากที่ทางทีมจากฝรั่งเศสของหลุยส์ วิตตองได้ติดต่อเข้ามาเอง ให้มาช่วยออกแบบตกแต่งภายในสโตร์แห่งใหม่ที่ไอคอนสยาม โดยบอกว่าเขาต้องการคนที่จะเล่าเรื่องราวของประเทศไทย ความเป็นโลคอลไลซ์ใส่ลงไปที่สโตร์แห่งใหม่ ซึ่งเราก็นำเสนอเรื่องราวของการมาค้าขายของชาวตะวันตก โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาล่องเรือมา พร้อมกับนำหีบทรังค์ (Trunk) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของแบรนด์หลุยส์ วิตตอง เข้ามายังประเทศไทย ไม่เพียงแค่นั้นยังหอบเอาวัฒนธรรมในหลายๆ ด้านมาสู่แผ่นดินสยามด้วย เราก็นำมาถ่ายทอดร่วมกับแม่น้ำเจ้าพระยายามค่ำคืน ซึ่งถือเป็นจุดเด่นสำคัญของห้างไอคอนสยามที่ติดริมแม่น้ำสายหลักของประเทศไทย

 

 

จุดสำคัญที่เราแตกต่างจากงานตกแต่งทั่วไปคือ การที่เรานำวัสดุที่เราเก็บสต๊อกเอาจากการทำงานกว่า 20 ปีนำมาใช้หมดเลย มาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานแล้วใช้ในการนำเสนอสายน้ำเจ้าพระยายามค่ำคืน ซึ่งจะเรียกว่ามันเป็นกึ่งๆ งานรีไซเคิลก็ได้ แต่จริงๆ แล้วมันคือการหมุนเวียนของการใช้ประโยชน์จากชิ้นงานต่างๆ ที่เราเก็บเอาไว้แม้เพียงหยิบมือเดียว นำมาเล่าเรื่องใหม่ในโปรเจ็คต์นี้ ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ร่วมงานกันอีกเป็นสโตร์อีกสองแห่งเพิ่งเสร็จไปที่ภูเก็ตและอีกแห่งกำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดยงานในลักษณะนี้ทำให้ทางแบรนด์เกิดความประทับใจและสอดคล้องกับแนวคิดของเรื่อง Sustainability ของเขาด้วย

 

 

ปลูกฝังนิสัยของการมองเห็นคุณค่าของทุกสิ่งให้คนรอบตัว

สำหรับแนวคิดเรื่องของการสร้างสรรค์งานศิลปะที่เกิดจากการนำของที่เหลือทิ้งแล้วมาใช้ต่อเกิดขึ้นมาได้อย่างไรนั้น คุณมุกเล่าว่า ทุกอย่างมันซึมซับขึ้นมาเอง เพราะนิสัยส่วนตัวเป็นคนที่ทิ้งของไปโดยเปล่าประโยชน์ไม่ได้ แม้แต่เสื้อผ้าของเราหรือเสื้อผ้าของแม่ก็ยังเก็บเอาไว้อยู่จนทุกวันนี้ ทุกอย่างมันฝังอยู่ในตัวเราจะทิ้งก็เสียดาย แต่ถ้าจะเอาออกไปจริงๆ ก็คงจะหาคนรับช่วงต่อไปแทนที่จะทิ้งเปล่า หรือแม้แต่ข้าวของของลูกของเล่นของลูกก็จะเก็บเอามาทำงานศิลปะมันคือความทรงจำที่ดีของเขาซึ่งเรานำกลับมาสร้างสรรค์ได้ ซึ่งแนวคิดแบบนี้เราได้ปลูกฝังให้กับลูกของเราเพื่อให้เขาเห็นคุณค่าของทุกสิ่งก่อนที่จะทิ้งไป รวมไปถึงทีมงานลูกน้องที่บริษัทก็จะทำให้ให้เขาเห็นเพื่อให้เขาได้ซึมซับและเข้าไปถึงจิตใจ ทำออกมาเองโดยไม่ต้องไปสั่ง ดังนั้น ทุกครั้งที่ทำงานน้องๆ ที่โรงงานจะมีถุงใส่เศษด้ายเศษผ้าเล็กๆ ไว้ข้างตัวเสมอ ซึ่งเศษผ้าเหล่านี้สามารถนำมาเป็นชิ้นงานศิลปะได้เลย

“เจตนาจริงๆ เราก็ไม่ได้ต้องการเป็นแบบอย่างให้คนหมู่มากได้ขนาดนั้น แต่สิ่งที่เราทำได้คือเราสามารถเป็นต้นแบบให้กับลูกได้ ให้กับคนในครอบครัวหรือคนรอบๆ ตัวของเราได้ เมื่อเขาเห็นเราทำแบบนี้ทุกๆ วัน ก็เชื่อว่ามันจะซึมซับกันไปเอง”

 

ศิลปะจากของเหลือทิ้งริมหาดสู่งานอาร์ทในคฤหาสน์หรู

คุณมุกยังเล่าต่อว่า หลายชิ้นงานที่สร้างสรรค์มาเธอไม่ได้มุ่งหวังที่จะนำไปเป็นสินค้าเพื่อมุ่งหวังรายได้ แต่มันเกิดจากการที่คนมองเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญกับเรื่องราวที่เกิดจากเบื้องหลังงานชิ้นนี้มากกว่า

ยกตัวอย่างเหตุการณ์น่าประทับใจที่ครั้งหนึ่งมีเศรษฐีต่างชาติคนหนึ่งเดินทางมาหาที่โรงงานด้วยตัวเองเลย เขาใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที ก็ตัดสินใจซื้องานชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า Sea ghost ซึ่งเป็นงานที่เรานำขยะตามชายหาดนำมาเก็บแล้วสร้างสรรค์เป็นงานอาร์ทขึ้นมาใหม่ เขาตัดสินใจเร็วมากซื้อกลับไปบ้านเลยถึง 2 ชิ้น แล้วนำไปตกแต่งที่บ้านของเขาซึ่งเป็นคฤหาสต์ใหญ่โตหรูหรา เรื่องนี้ก็ทำให้เราภูมิใจอยู่เหมือนกันที่งานลักษณะนี้คนเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่ามันสามารถใช้ได้จริง มันไม่ใช่ขยะอีกต่อไป

เธอย้ำว่าของทุกสิ่งที่แม้แต่มันถูกทิ้งไปแล้ว แต่ถ้าเรานำมาใส่ไอเดีย หยิบนำมาสร้างสรรค์ใหม่ และมองมันไม่ไร้ค่ามันความงดงามของมันเองแบบที่ไม่มีใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้

“อย่างงานคอลเลคชั่น Sea ghost ที่เล่าไป มีชิ้นหนึ่งที่เราสร้างสรรค์จากแหจับปลาแล้วตัวแหก็มีรอยเปื้อนมีคลาบดำๆ ของน้ำมันกระจายไปทั่ว ซึ่งล้างยังไงซักยังไงก็ไม่ออก แต่พอเรามาทำเป็นผ้าทอแล้วปรากฏว่ารอยเปื้อนนั้น กลายเป็นความสวยงามที่เกิดขึ้นบนผืนผ้าตามธรรมชาติ กลายเป็นร่องรอยแห่งความงดงามที่เราก็อดประหลาดใจไม่ได้เหมือกัน”

 

ภาพจาก Instagram คุณมุก เพลินจันทร์ : @mookv

 

GC บิ๊กอีเวนท์สู่การสร้างแรงบันดาลใจเรื่องของการ Think Green  

นอกจากนี้ คุณมุกยังกล่าวชื่นชมการจัดงาน GC Circular Living Symposium 2022: Together To Net Zero โดย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เสาหลักที่มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ‘Circular Economy’ ที่ดึงทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมในการสร้างจิตสำนึกความรักและดูแลสิ่งแวดล้อม

 

 

“เรารู้สึกดีมากเลยที่ GC ทำงานบิ๊กแบบนี้ขึ้นมา คือมาเห็นแล้วตื่นตาตื่นใจมากเลย เพราะทุกอย่างมันไม่ได้แค่อยู่บนคอนเซ็ปต์แต่มันสามารถจับต้องได้ แล้วนำไปต่อยอดจริงๆ ได้ด้วย คือส่วนตัวยอมรับว่าไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ แต่การเรียนรู้ผ่านงานอีเวนท์แบบนี้ที่ GC จัดขึ้นทำให้เราได้เห็นภาพและสามารถนำไปเรียนรู้ต่อเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน การนำสิ่งของมาสร้างเป็นมูลค่าหรือการช่วยกันคนละไม้คนละมือ แม้แต่เรื่องเล็กๆ อย่างการทำงานศิลปะผ่านสิ่งเหลือใช้มาสร้างคุณค่าต่อได้แบบนี้น่าชื่นชมมากๆ เลย”

และที่สำคัญเรายังเห็นภาพของความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งรัฐและเอกชนร่วมกันทำงาน ซึ่งทุกวันนี้เป็นเรื่องน่ายินดีที่เอกชน และคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการทำธุรกิจสีเขียว Think Green กันมากขึ้น เพราะเรื่องนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมาก ประเทศไทยเราเองก็ควรจะให้ความสำคัญเช่นกัน

 

ฝากฝังคนรุ่นใหม่ ให้ทำอย่างจริงจัง

ท้ายที่สุดสิ่งที่คุณมุกอยากฝากถึงคนรุ่นใหม่ในการนำแพสชั่นของตัวเองมาสร้างสรรค์เพื่อการสร้างโลกที่ดีขึ้นได้ว่า เราก็หวังว่า คนรุ่นใหม่จะคิดอย่างยั่งยืน และลงมือทำจริงๆ ไม่ได้มองแค่การตามกระแส เพราะปัจจุบันนี้ทุกสิ่งทุกอย่างมันมาเร็วไปเร็วมาก ดังนั้น ก็อยากจะให้ทุกคนทำมันจนเป็นนิสัย เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน  และที่สำคัญทำอย่างเข้าใจ

 

 

“คุณต้องรู้สึกกับมันจริงๆ ไม่ใช่แค่บ่นว่าทำไมโลกร้อนจัง แต่คุณไม่คิดจะเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง หรือไม่คิดที่จะลงมือทำอะไร โลกร้อนอากาศร้อนเพราะอะไร ก็เพราะพวกเรานี่แหละทำให้มันเกิดขึ้นใช่หรือไม่ ดังนั้น อย่าเพิ่งโทษอะไร แต่ให้เริ่มต้นที่ตัวเองก่อน”


  • 5.3K
  •  
  •  
  •  
  •