ธุรกิจร้านอาหารในไทยเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มี Barrier to Entry ค่อนข้างน้อย ไม่ว่าใครก็สามารถเปิดได้ แต่การเข้าสู่ตลาดเป็นเพียงก้าวแรก แต่บทพิสูจน์ที่แท้จริงไม่ได้มีเพียงเท่านั้น หากแต่เป็นการดำเนินธุรกิจให้เติบโต พร้อมปรับตัวให้อยู่รอดได้ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ และไม่หยุดที่จะมองหาโอกาสใหม่เสมอ คือ หัวใจสำคัญที่จะนำพาร้านอาหารนั้นๆ เดินต่อไปได้อย่างมั่นคงและสร้างความยั่งยืนในระยะยาว
ดังเช่น “Salad Factory” (สลัดแฟคทอรี่) จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ที่เติบโตจากธุรกิจครอบครัว เปิดสาขาแรกในอาคารพาณิชย์เล็กๆ แห่งหนึ่งแถวเมืองทองธานี ถึงวันนี้กลายเป็นหนึ่ง Major Player ของตลาดร้านอาหารเพื่อสุขภาพในไทยที่คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดรวมเซ็กเมนต์นี้จะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาทในปี 2025
บทความนี้ชวนทุกคนไปเจาะลึกเบื้องหลังการเดินทางของ “Salad Factory” พร้อมบทเรียนธุรกิจนับตั้งแต่ก้าวแรก และจุดเปลี่ยนสำคัญในแต่ละช่วง ไปจนถึงแผนธุรกิจในอนาคต ผ่านการพูดคุยกับ “คุณปิยะ ดั่นคุ้ม” ผู้ก่อตั้ง Salad Factory และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด
ก้าวแรกเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการ และการเอาตัวรอด!
ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว เวลานั้นตลาดร้านอาหารยังไม่ค่อยมีร้านอาหารเพื่อสุขภาพมากนักในไทย จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ “คุณกอล์ฟ-ปิยะ ดั่นคุ้ม” เริ่มต้นปลุกปั้นร้าน “Salad Factory” ในปี 2012 จากแรงบันดาลใจเมื่อครั้งไปเรียนต่างประเทศ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานร้านอาหารที่นั่น ทำให้ได้เห็นว่ามีเมนูสลัดหลากหลายรูปแบบ
ด้วยแนวคิดอยากให้ Salad Factory เป็นร้านสลัดและอาหารเพื่อสุขภาพที่รับประทานง่าย เมนูหลากหลายมากไปกว่าสลัดอย่างเดียว เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม ทุกวัย โดยเริ่มจากสาขาแรกเปิดในอาคารพาณิชย์เล็กๆ แถวเมืองทองธานี
คุณปิยะ เล่าว่า ตนเองเคยทำงานร้านอาหารที่ต่างประเทศ ทำทุกตำแหน่งในร้าน ทำให้ได้เรียนรู้ธุรกิจร้านอาหาร แต่วันที่เปิดร้านเอง เป็นอีกโลกหนึ่งที่แตกต่างจากการเป็นพนักงาน ทำให้ได้เรียนรู้ Skill การเป็นผู้ประกอบการและการเอาตัวรอด
“ด้วยความที่เราอยากทำธุรกิจ ก็ลุยเลย แต่ไม่ได้วางแผนอย่างดีมาก่อน เป็นความประมาทไปหน่อย พอเปิดร้าน ก็มีเรื่องที่ต้องแก้ไข ปรับปรุง เรียนรู้ตลอดเวลา ฟังลูกค้าเยอะ อย่างช่วงแรกมีเมนูแค่หน้า–หลัง เราเห็นกลุ่มลูกค้าครอบครัว มีทั้งคนที่อยากทานผัก และไม่อยากทานผัก เราจึงครีเอทเมนูให้หลากหลายขึ้น รองรับความต้องการลูกค้าทุกคน
หลังเปิดได้ 6 เดือน ร้านเริ่มอยู่ตัว และมีลูกค้าประจำ เราจึงค่อยมีเงินนำมาปรับปรุงร้าน เพิ่มโต๊ะ–เก้าอี้ให้ลูกค้า กระทั่งขึ้นปีที่ 2 เจ้าของตึกไม่ได้ให้เช่าต่อ ซึ่งเมื่อก่อนเรายังไม่มีประสบการณ์ จึงทำสัญญาเช่าปีต่อปี ทำให้เราต้องหาสถานที่ใหม่”

ออกจาก Comfort Zone สู่การขยายสาขาในคอมมูนิตี้มอลล์ – ศูนย์การค้า
หลังจากที่ไม่ได้ต่อสัญญาเช่าที่เดิม Salad Factory ต้องมองหาทำเลใหม่ เพื่อเปิดร้านต่อ…ในที่สุดได้ตัดสินใจย้ายไปเปิดร้านที่โครงการคอมมูนิตี้มอลล์ “BEEHIVE” ในเมืองทองธานี ถือเป็นจุดเปลี่ยนและเป็นจุดเริ่มต้นของ Salad Factory ในการขยายสาขาในโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ และศูนย์การค้า รวมทั้งโลเกชันอื่นๆ ที่มีศักยภาพในเวลาต่อมา
คุณปิยะ ยอมรับว่าก่อนย้ายไปอยู่ในคอมมูนิตี้มอลล์ เต็มไปด้วยความกังวล ทั้งลูกค้าเก่าที่รู้จักร้านอยู่แล้วจะตามมาใช้บริการไหม อีกทั้งร้านใหม่ มีขนาดพื้นที่ 140 ตารางเมตร เล็กกว่าร้านเดิมที่เป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ทำให้ต้องออกแบบระบบบริหารจัดการร้านใหม่ ด้วยการทำครัวกลางขนาดเล็กข้างนอก เพื่อเตรียมวัตถุดิบ
แต่การตัดสินใจออกจาก Comfort zone ที่เดิม ปราฏว่าร้านใหม่ประสบความสำเร็จเกินคาด! และทำให้ Salad Factory เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะการอยู่ในคอมมูนิตี้มอลล์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าอยู่แล้ว เช่น ที่จอดรถ, ห้องน้ำ และมี ecosystem หลากหลายที่ช่วยดึงลูกค้ามาใช้บริการได้บ่อยขึ้น ประกอบกับการตอบโจทย์ความคุ้มค่าคุ้มราคา ส่งผลให้ยอดขายโตกว่าเดิมหลายเท่า
“จุดเด่นของ Salad Factory คือ “ความคุ้มค่า” ในคุณภาพที่ลูกค้าสัมผัสได้ จานใหญ่ ให้เยอะ แชร์ริ่งกันได้ มีมากกว่า 300 เมนู และรักษาคุณภาพมาตรฐาน เป็นจุดที่เมื่อก่อนเราแทบไม่ได้ใช้การตลาดใดๆ ทำให้เกิดการบอก “ปากต่อปาก” ในกลุ่มลูกค้า ซึ่งเรามีลูกค้าหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มครอบครัว กลุ่ม Middle class กลุ่มพนักงานออฟฟิศ”
จากธุรกิจครอบครัว สู่การร่วมทุน “CRG” และบททดสอบครั้งใหญ่ยุค COVID-19
หลังจากดำเนินธุรกิจมาได้สักพัก ในปี 2018 “Salad Factory” และ “CRG” (Central Restaurants Group) เริ่มคุยถึงความร่วมมือทางธุรกิจ ช่วงเวลานั้นยังมีเพียง 6 สาขา จนนำไปสู่การร่วมทุนในปี 2019 จัดตั้ง “บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด” CRG ถือหุ้น 51% และกลุ่มครอบครัวผู้ก่อตั้ง Salad Factory ถือหุ้น 49% นับเป็น Milestone สำคัญของ Salad Factory ในการขับเคลื่อนการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
“เมื่อก่อน Salad Factory เป็นธุรกิจครอบครัว การตัดสินใจมาจากเราคนเดียว แต่เมื่อร่วมทุนกับ CRG ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีทีมงานเก่งๆ ในแผนกต่างๆ ทำให้มีเพื่อน มีที่ปรึกษา ได้เรียนรู้จากมืออาชีพ และทรานส์ฟอร์มจาก Family Business ให้เป็น Good Company ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการวางทิศทางองค์กร การวาง Road Map สร้าง Career Path ให้กับพนักงานได้มีโอกาสเติบโต”
อย่างไรก็ตามหลังจากร่วมทุนกับ CRG ไม่นาน ก็เกิด COVID-19 ส่งผลกระทบธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะช่วงปี 2020-2022 ทำให้ผู้ประกอบการต่างหาทางเอาตัวรอด ทั้งปรับตัว และ Rethink มองหาโมเดลธุรกิจใหม่
Salad Factory เองก็เช่นกัน หันมาโฟกัสบริการ Delivery มากขึ้น จากก่อน COVID-19 สัดส่วนยอดขายผ่านบริการนี้ เพียง 1-2% แต่ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ยอดขายจากช่องทางนี้เพิ่มขึ้นมาถึง 50%
ไม่เพียงเท่านั้น ยังได้ลงทุนซื้อโรงงาน สำหรับเป็นครัวกลาง และเป็นฐานการผลิตน้ำสลัดให้กับพาร์ทเนอร์ เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต รวมทั้งร้านอาหารในเครือ CRG และลูกค้า B2B ทำให้สามารถ diversify ไปยังธุรกิจ Non-restaurant ควบคู่กับการเดินหน้าลุยธุรกิจ Restaurant ด้วยการเปิดสาขา Salad Factory รูปแบบใหม่ ทั้งโมเดลขนาดเล็ก และโมเดลในสถานีบริการน้ำมัน เพื่อขยายฐานธุรกิจให้มี scale ใหญ่ขึ้น และเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
เปิดโหมด “Alert” ยุคการแข่งขันสูง และเทรนด์เปลี่ยนเร็ว
นับตั้งแต่หลัง COVID-19 ถึงปัจจุบัน จะเห็น Landscape ของธุรกิจร้านอาหารเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นกว่าเดิม มาจากปัจจัยหลัก ไม่ว่าจะเป็น
– การแข่งขันสูงขึ้น: ทั้งจากผู้เล่นรายเดิม และรายใหม่ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
– เทรนด์อาหารและพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว: เทรนด์อาหารเปลี่ยนเร็วขึ้น อย่างในอดีตการดำรงอยู่ของเทรนด์อาหารใช้เวลาสักพักใหญ่กว่าจะเปลี่ยน แต่หลัง COVID-19 จนถึงทุกวันนี้ เทรนด์มาเร็ว ไปเร็ว ในขณะที่ผู้บริโภค ต้องการประสบการณ์ใหม่ หรือความตื่นเต้นใหม่อยู่เสมอ และมองหา “ราคาที่เข้าถึงได้” ทำให้ร้านอาหาร affordable price เข้าถึงกลุ่มแมส เป็นโมเดลธุรกิจที่เติบโตและได้รับความนิยม
– เศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว: ผู้บริโภคกังวลกับเศรษฐกิจ เงินในกระเป๋า และการใช้จ่าย
จากปัจจัยดังกล่าว Salad Factory จึงต้องเปิดโหมด “Alert” ตลอดเวลา ด้วยการฟังลูกค้ามากขึ้น เข้าหาลูกค้ามากขึ้น พัฒนาโปรดักต์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า พร้อมปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้ชนะใจลูกค้า และเข้าไปอยู่ในโอกาสการรับประทานของผู้บริโภค
“การทำธุรกิจร้านอาหาร ไม่มีปีไหนที่ง่าย ยากขึ้นทุกๆ ปี แต่ในความยากขึ้น ทำให้เราปรับตัวมากขึ้น ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต เปิดโหมด Alert ตลอดเวลา ต้องพยายามฟังลูกค้ามากขึ้น เข้าไปหาลูกค้ามากขึ้น ทำโปรดักต์ให้ตอบโจทย์กับลูกค้ามากขึ้น อย่างเมื่อก่อน Salad Factory ไม่ค่อยทำมาร์เก็ตติ้ง เพราะเราเชื่อว่าทำสินค้าให้ดีที่สุด ก็โอเคแล้ว อยู่ได้ แต่เวลาผ่านไป บริบทเปลี่ยน ต้องมีมาร์เก็ตติ้งเข้ามาช่วยเสริม เพื่อสร้างแบรนด์ดิ้งให้คนจดจำ และมาใช้บริการ”
สรุป 5 กลยุทธ์ความสำเร็จ “Salad Factory”
จากการเดินทางของ Salad Factory สะท้อนกลับมาที่ความแข็งแกร่งของผลประกอบการ “บริษัท กรีนฟู้ด แฟคทอรี่ จำกัด” ที่สามารถทำยอดขายแตะหลักร้อยล้าน! (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์)
– ปี 2567: รายได้รวม 736.77 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 28.83 ล้านบาท
– ปี 2566: รายได้รวม 593.48 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 20.09 ล้านบาท
– ปี 2565: รายได้รวม 439.13 ล้านบาท / กำไรสุทธิ 7.96 ล้านบาท
– ปี 2564: รายได้รวม 256.30 ล้านบาท / ขาดทุน 18.68 ล้านบาท
– ปี 2563: รายได้รวม 199.59 ล้านบาท / กำไร 0.972 ล้านบาท
ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต Salad Factory มาถึงวันนี้ และก้าวต่อไป มาจาก 5 กลยุทธ์หลัก
1. ความคุ้มค่า + ฟังเสียงลูกค้า
เป็น Brand DNA ของ Salad Factory ที่ถูกกำหนดไว้ชัดเจนนับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งนิยาม “ความคุ้มค่า” ไม่ได้หมายถึงการทำราคาถูกที่สุด แต่เป็นความคุ้มค่าทั้งในด้านคุณภาพวัตถุดิบ เช่น ผักออร์แกนิก เนื้อที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน, ความคุ้มค่าด้านปริมาณที่สามารถแชร์ริ่งกับครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนที่มาด้วยกัน ในราคาเริ่มต้น 90 บาท และ Price point ที่ลูกค้ายินดีจ่ายอยู่ที่ 200 กว่าบาทต่อคน
ประกอบกับใช้หลัก “Customer Centric” ฟังเสียงของลูกค้า ทั้งคำแนะนำ ความคิดเห็น หรือคำติชมต่างๆ นำมาพัฒนาและต่อยอด
“ตั้งแต่วันแรกที่ทำร้าน เราคิดเสมอว่าลูกค้าคือเพื่อน ร้านแรกของ Salad Factory ผมรู้จักชื่อลูกค้าทุกคน เดินไปถามลูกค้าว่าชอบอะไร อยากทานอะไร ถึงวันนี้ Salad Factory มีสาขา หลักการยังคงเหมือนวันแรกที่เปิดร้าน คือ ต้อง “ฟัง” และ “เป็นเพื่อน” กับลูกค้า แต่จากที่เดินไปถามเอง วันนี้มีระบบ Data และทีมงานดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะในการรับฟีดแบค คำแนะนำ หรือคำติชมต่างๆ
ความคิดเห็นและคำแนะนำของลูกค้ามีคุณค่ากับแบรนด์เสมอ ทำความเข้าใจว่าอะไรคืออินไซต์ อะไรที่เป็น Unmet Need แล้วกลับไปพัฒนา ปรับปรุง เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่มาใช้บริการ เพราะร้านอาหารที่อยู่ได้ คือ ร้านอาหารที่ลูกค้ากลับมาใช้บริการอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้ามาครั้งเดียว แล้วไป ร้านอาหารนั้นๆ ก็อยู่ไม่ได้”
2. สร้าง Supply Chain และระบบบริหารจัดการต้นทุน
ความท้าทายอย่างหนึ่งของธุรกิจร้านอาหาร คือ ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น แต่เบื้องหลังที่ทำให้ Salad Factory สามารถรักษาระดับราคาให้อยู่ในเกณฑ์ความคุ้มค่า โดยยังคงรักษาคุณภาพและมาตรฐานไว้ได้นั้น มาจากการมี “ทีมงาน” ที่ดูแลเรื่องวัตถุดิบโดยเฉพาะ ได้วางกระบวนการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ และมี War room ตรวจเช็คราคาวัตถุดิบแต่ละประเภท รวมทั้งคุยกับซัพพลายเออร์ล่วงหน้า เพื่อวางแผนการจัดซื้อ เพื่อไม่ให้กระทบลูกค้า
ขณะเดียวกันอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการบริหารเชนร้านอาหารคือ Sourcing วัตถุดิบ ซึ่ง Salad Factory มีเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ ทำให้สามารถจัดหาวัตถุดิบขึ้นชื่อจากแหล่งต่างๆ เช่น ผักสลัด มาจากภาคกลางตอนบน และภาคเหนือเป็นหลัก, พริกไทยตรัง ได้รับการขึ้นทะเบียน GI รวมทั้งใช้วัตถุดิบท้องถิ่นประจำจังหวัด พัฒนาเป็น Local Menu เช่น สาขาเซ็นทรัล นครปฐม นำส้มโอ ผลไม้ประจำจังหวัดมาครีเอทเป็นเมนูใหม่, สาขาเซ็นทรัล นครสวรรค์ นำรากบัว พัฒนาเป็นเมนูใหม่
“เราพยายามสร้างเป็น ecosystem เชื่อมโยงระหว่างเกษตรกร กับการครีเอทเมนูใหม่ๆ ของร้าน Salad Factory โดยเมนูที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น จะเป็นเมนูเฉพาะจังหวัด และดูการตอบรับของลูกค้า ถ้ากระแสตอบรับดีมาก เราเอามาให้บริการสาขาในกรุงเทพฯ – ปริมณฑลด้วย”
3. ความหลากหลายของเมนู
ด้วยเมนูกว่า 300 รายการ Salad Factory ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าทุกกลุ่ม และทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการได้บ่อยขึ้น นอกจากนี้ยังมี Seasonal Menu เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ
4. ขยายสาขา และพัฒนาโมเดลสาขารูปแบบใหม่
แผนและเป้าหมายในปี 2025 Salad Factory “ธุรกิจร้านอาหาร” ภายใต้แบรนด์ Salad Factory ตั้งเป้ามี 54 สาขา จากปัจจุบัน 48 สาขา ขณะเดียวกันเริ่มขยายไปจังหวัดที่สามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ ไม่เกิน 4 ชั่วโมงไปบ้างแล้ว เช่น พัทยา, นครปฐม, นครสวรรค์ รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาจังหวัดที่ไกลออกไป
“เรามีเครือข่ายเกษตรกรจากทั่วประเทศ จัดส่งมาที่ครัวกลาง บริหารจัดการแบบรวมศูนย์ในการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ ทั้งกระบวนการตรวจ และการล้างอย่างเข้มงวด จากนั้น process และกระจายวัตถุดิบไปยังสาขาต่างๆ ถ้าเป็นกรุงเทพฯ – ปริมณฑล และจังหวัดทีใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง จัดส่งจากครัวกลางทั้งหมด
แต่ความท้าทายคือ จังหวัดที่ไกลออกไปเกิน 3-4 ชั่งโมงจากกรุงเทพฯ เช่น ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ กำลังอยู่ใน pipeline ศึกษาการควบคุมคุณภาพ และควบคุมสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคให้ดีที่สุด”
นอกจากนี้ยังได้ทดลองเปิดโมเดลสาขารูปแบบ “QSR” ขนาดพื้นที่ 50 ตารางเมตรที่เซ็นทรัลเวสต์วิลล์ ได้การตอบรับที่ดีจากลูกค้า และถ้ารูปแบบนี้ลงตัว มีแผนจะใช้โมเดลนี้ขยายสาขาในเมือง เนื่องจากร้านขนาด compact มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ขยายได้ง่าย และตอบโจทย์วิถีชีวิตเร่งรีบของคนเมือง อย่างไรก็ตามการขยายสาขาทำเลในเมือง ย่อมเต็มไปด้วยคู่แข่ง เพราะฉะนั้นจะแข่งขันได้ Salad Factory ต้องสร้างความแตกต่าง
5. Diversify ลุยธุรกิจ Non-restaurant – เล็งเปิดแบรนด์ใหม่ เข้าถึง Gen Z
อีกขา คือ “กลุ่มธุรกิจ Non-restaurant” สร้างการเติบโตใหม่ และกระจายความเสี่ยงให้กับ Salad Factory โดยปีนี้โฟกัสการผลิตน้ำสลัดให้กับพาร์ทเนอร์ เนื่องจากมีผู้สนใจจำนวนมากติดต่อและใช้บริการจ้างผลิตน้ำสลัด
ไม่เพียงเท่านี้ คุณปิยะ ยังเผยว่า มีแผนจะพัฒนาแบรนด์ใหม่ในอนาคต โดยยังคงอยู่บนความเชี่ยวชาญ นั่นคือ ร้านอาหารประเภท Healthy Food เพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z
“เราต้อง diversify เพราะตอนนี้ธุรกิจหลัก 90% มาจากแบรนด์เดียว คือ Salad Factory และอีกขาหนึ่งคือ ผลิตน้ำสลัดให้กับพาร์ทเนอร์ ซึ่งในระยะยาว ถ้าเราสามารถ diversify แบรนด์ใหม่ๆ ที่ยังอยู่บนจุดแข็งของเราในด้านอาหารสุขภาพได้ จะช่วยกระจายความเสี่ยง และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”
13 ปีกับ 3 บทเรียนธุรกิจ
ตลอดระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมาของ Salad Factory คุณปิยะ เล่าถึงบทเรียนธุรกิจที่ได้เรียนรู้ว่ามี 3 ข้อ
1. Partnership: การมีพาร์ทเนอร์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็น CRG, ซัพพลายเออร์, เกษตกร, ทีมงาน, ครอบครัวที่คอยซัพพอร์ต รวมถึงลูกค้า เป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์เช่นกัน ทำให้ธุรกิจเติบโตมาถึงวันนี้ได้ และไปได้ไกลกว่าการทำคนเดียว
2. Quality First: ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร หรือเกิดสถานการณ์ที่ไมคาดคิดมาก่อน เช่น COVID-19 ที่ผ่านมา “คุณภาพต้องมาก่อน” ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพวัตถุดิบ อาหาร การให้บริการ เพราะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้าง Trust หรือความไว้วางใจที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์
3. เผชิญหน้ากับปัญหาและแก้ไขปรับปรุง: ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ ยิ่งธุรกิจร้านอาหาร ปัญหามีเข้ามาทุกวัน ต้องพยายามแก้ไข ปรับปรุง และทำให้ดีขึ้น

“ไม่มีใครที่สมบูรณ์แบบ ในช่วง 12-13 ปีที่ผ่านมา Salad Factory ก็มีสิ่งที่ผิดพลาด ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ทำแล้วล้มเหลว แต่เรียนรู้จากสิ่งนั้น แล้วทำให้ดีกว่าเดิม รวมทั้งเรียนรู้จากลูกค้าเยอะมาก
ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจนี้เข้าง่าย–ออกง่าย แต่มีพื้นที่ว่างเสมอสำหรับคนที่ตั้งใจทำจริงๆ สิ่งสำคัญคือ ต้องศึกษาตลาด เข้าใจบริบทของตลาด ฟังเสียงลูกค้า พร้อมแก้ไขปัญหา และอย่ารักโปรดักต์ของตัวเองมากกว่าลูกค้า จนไม่ยอมปรับเปลี่ยนใดๆ ให้รักลูกค้ามากกว่าโปรดักต์ และสิ่งที่แบรนด์ต้องยึดมั่นอยู่เสมอคือ คุณภาพ” คุณปิยะ ทิ้งท้ายถึงบทเรียนธุรกิจของ Salad Factory พร้อมคำแนะนำให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่