Case Study: ความสำเร็จแบบ ‘น้าเน็ก’ จากพิธีกรในโทรทัศน์ สู่วงการครีเอเตอร์ที่ Facebook ยกนิ้วให้

  • 824
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีบนจอโทรทัศน์ กับประสบการณ์ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของ ‘น้าเน็ก’ (เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) หลายๆ คนคงคุ้นหน้าคุ้นตาในฐานะพิธีกรมากความสามารถ บางคนก็เรียกว่า เป็นพิธีกรปากหมา อารมณ์ขัน ซึ่งก็มีไม่กี่คนในวงการบันเทิงไทย

ณ วันนี้ น้าเน็กได้สลัดภาพพิธีกรไปเกือบหมด (แต่ยังพอมีให้เห็นกันบ้างในโทรทัศน์หลายรายการ เช่น Take Me Out, เกมแจกรถ) จนล่าสุด น้าเน็ก ได้ก้าวมาสู่ฐานะคุณลุงคนหนึ่ง หรือบุคคลที่มีความสามารถและประสบการณ์ที่หลากหลายมากๆ และอยากจะให้คำปรึกษา สอน แนะนำ กลุ่มคนรุ่นลูกรุ่นหลานที่อยู่ในวัยอยากรู้อยากเห็นไปซะหมดทุกเรื่อง

ด้วยความที่เป็นคนตรงไปตรงมา พูดคุยสนุกสนาน และเต็มไปด้วยคำแนะนำหลายๆ เรื่อง ทำให้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ว่าเป็นบุคคลทรงอิทธิพล และได้รับการยอมรับ ที่สำคัญ Facebook เองก็ชื่นชม ยกให้เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในด้านการผลิตคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม Facebook

 

 

น้าเน็ก transform จากพิธีกรในสายดั้งเดิม สู่ตัวตนใหม่สายครีเอเตอร์

ที่จริงน้าเน็ก เคยพูดย้ำหลายครั้งก่อนหน้านี้ว่า ยุคดิจิทัลกำลัง disrupt รายการโทรทัศน์ดั้งเดิมทำให้เราทุกคนต้องปรับตัว และน้าเน็กก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งก็เป็นที่มาของไอเดียที่จะผลิตคอนเทนต์ออนไลน์ บน Facebook เพจ: Nanake555

ย้อนไปแค่อาทิตย์เดียว Facebook เพจของ น้าเน็ก ได้ฉลองยอดผู้ติดตามแตะ 3.4 ล้านคนเป็นครั้งแรก ซึ่งในบทความของ Facebook for Media ได้พูดประโยคหนึ่งน่าสนใจมาก “น้าเน็ก ถือว่าเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์คนแรกบน Facebook ที่มีผู้ติดตามและผู้รับชมคนไทยมากเป็นหลักล้าน”

Facebook ยังได้ชื่นชม LIVE คอนเทนต์ของน้าเน็กด้วย แม้ว่าความยาวของคอนเทนต์จะนานถึง 4 ชม.กว่าๆ แต่ก็ยังดึงดูดทำให้ผู้ชมอยากรู้อยากฟังตลอดเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง โดยแต่ละอาทิตย์จะมีการอัพเดทประเด็นเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ เป็นหัวข้อที่แตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ไม่มีสอนในโรงเรียน เช่น เพศศึกษา(แบบจริงจัง) หรือ การแนะนำเกี่ยวกับการเงิน

ทั้งนี้ การที่มีเป้าหมายชัดเจนมากๆ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ Facebook ชื่นชมน้าเน็ก ในฐานะนักคอนเทนต์ครีเอเตอร์

โดยมี 3 เป้าหมายหลักๆ ที่ drive รายการของน้าเน็ก

1.ส่งต่อคอนเทนต์ที่มีสาระบันเทิง (edutainment) ซึ่งค่อนข้างดึงดูดผู้ชมมากกว่าคอนเทนต์สาระทั่วๆ ไป

2.เพิ่มจำนวนผู้ชมที่เป็นผู้ชม หรือ real target จริงๆ

3.เพิ่มช่องทางการสร้างรายบนแพลตฟอร์ม Facebook (อาจจะเป็นการสตรีมมิ่ง, คอนเทนต์, กิจกรรมอื่นๆ)

 

โดยเป้าหมายที่ว่ามานั้น เห็นได้ชัดว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จ เช่น

  • จำนวนวิดีโอและ LIVE แบบ edutainment กว่า 1,200 รายการที่มีผู้ชมกว่า 492 ล้านครั้ง (ช่วงเดือน ม.ค. ถึง ธ.ค. 2020)
  • Facebook เพจ Nanake555 มีผู้ติดตามใหม่ กว่า 900,000 คน (เดือน ม.ค. ถึง ธ.ค. 2020)
  • รายได้ต่อปี Nanake555 บน Facebook เพิ่มขึ้น 62% จากการสร้างรายได้หลายช่องทาง (Instream Ads , Branded Content และ Stars) เทียบระหว่างปี 2019 กับ 2020

 

www.facebook.com/watch/nanake555

 

4 กลยุทธ์ที่น้าเน็กกลายเป็น ‘master of monetization’ (ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างรายได้)

 

 #1 สร้างคอนเทนต์เพิ่ม

มีหลายๆ คนเคยพูดมาแล้วว่า ความถี่และความสม่ำเสมอในการอัพโหลดคอนเทนต์ มีความสำคัญในการสร้างรายได้ และฐานแฟนคลับให้อยุ่กับเรานานๆ นอกเหนือจากปัจจัยเรื่องรูปแบบคอนเทนต์ และเนื้อหาที่ต้องมีความน่าสนใจ

อย่างที่น้าเน็กเฉลี่ยแล้วจะอัพโหลดวิดีโออย่างน้อยวันละ 5 ชิ้น(เรื่อง) บางคนคงตกใจเพราะว่ามันเยอะมาก แต่ลองมาฟังที่น้าเน็กให้เหตุผลดูว่าทำไม?

“ผมรู้ว่าจำนวนคอนเทนต์ที่ว่านั้นมันเยอะมาก! และมันทำให้เราทำงานกันหนักมาก! แทบจะอธิบายออกมาเป็นคำพูดไม่ถูกเลยด้วยซ้ำ แต่เหตุผลที่ทำให้พวกสู้กันต่อไป คือ เรายังยึดมั่นในความสำคัญของคอนเทนต์ การใส่ใจในการคิดประเด็นต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ว่าจะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนไทยอีกหลายคน ซึ่งรายการของเรามาในเวลาที่เหมาะสม และถูกต้องที่สุดแล้ว”

นอกจากคอนเทนต์ทั่วๆ ไป ที่อัพโหลดทุกวัน น้าเน็กยังจัดช่วง Facebook LIVE ทุกวันพฤหัสฯ ศุกร์ และเสาร์ด้วย ซึ่งระยะเวลาก็จะนานหน่อย 4-5 ชั่วโมงแล้วแต่เรื่อง ความหลากหลายของเรื่องและความเป็นกันเอง ใกล้ชิดกับผู้ชมทางบ้านที่ ถาม-ตอบได้เลยสบายๆ ทำให้รายการของน้าเน็กได้รับความนิยมเร็วมาก

 

#2 สร้างคอนเทนต์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง

ก็ในเมื่อน้าเน็ก ก็เป็นแค่ผู้ชายคนหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะเก่งไปซะทุกเรื่อง ดังนั้น การพูดคุยกับคนที่เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ โดยเฉพาะ ก็เป็นอีกหนึ่งสีสันของรายการ ไม่ว่าจะเป็นที่ปรึกษาเรื่องการเงิน, ทนายความ, คุณหมอ ไปจนถึง ครูสอนภาษาอังกฤษ ฯลฯ

กลยุทธ์หลักๆ ที่สำคัญของน้าเน็ก ก็คือ การทำงานร่วมกัน ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของรายการอย่าหาว่าน้าสอนของน้าเน็ก ก็คือ การช่วยชี้ทาง ให้ความกระจ่าง สอน ในเรื่องที่คนยังไม่เข้าใจ มีความรู้แค่ผิวเผินไม่ลึกซึ้ง แต่เน้นการสอนแบบบันเทิงสไตล์น้าเน็ก เหมือนลุงสอนน้องสอนหลานให้แนวทางเกี่ยวกับบทเรียนของชีวิต

นอกจากความรู้ด้านต่างๆ เช่น การปรึกษาเรื่องการเงิน หรือ ภาษาอังกฤษ รายการของน้าเน็กยังให้คำปรึกษาเรื่องอาชีพ หรือเรื่องอะไรที่ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับงาน

 

#3 ลองใช้เครื่องมือสร้างรายได้ใหม่ๆ

บนแพลตฟอร์ม Facebook มีเครื่องมือหลายตัวที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เช่น การส่งดาว (Stars) หรือการสื่อสารกับผู้ชมโดยตรงผ่านกล่องคอมเมนต์ ซึ่งการส่งดาวให้กับครีเอเตอร์ ถือว่าเป็นการแสดงความรักอีกรูปแบบหนึ่งบน Facebook

ที่จริง น้าเน็ก ได้ทดลองใช้อีกหลายเครื่องมือใน Facebook เช่น Chatbot Commerce และ Facebook payments ครั้งที่จัด LIVE พิเศษเป็น Live Shopping 11.11 เพื่อหารายได้นำเงินไปบริจาคจากของใช้ส่วนตัวของน้าเน็กทั้งหมด ซึ่งยอดขายที่มาจาก Facebook เพิ่มขึ้นประมาณ 40%

 

#4 ลองที่ Facebook ก่อนเลย! (Go Facebook-first)

น้าเน็กพูดประโยคหนึ่งเกี่ยวกับ Facebook “สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับ Facebook คือ การสร้างชุมชนเดียวกัน (ภายใต้ความสนใจเดียวกัน)”

ดังนั้น จุดประสงค์ของ Faceook ก็ตรงกับเป้าหมายหลักของ น้าเน็ก นั่นก็คือ การสร้างชุมชมของเขาขึ้นมาอยู่ภายใต้ความสนใจเดียวกัน เรื่องที่สนใจเหมือนกัน และนี่ก็เป็นเหตุผลแรกที่เขาตัดสินใจเลือก Facebook ในการเผยแพร่คอนเทนต์ของเขาที่แรก

น้าเน็ก พูดทิ้งท้ายว่า Facebook เป็นพื้นที่เปิดที่เราจะทำอะไรก็ได้ สร้างสรรค์คอนเทนต์แบบไหนก็ได้ ไม่ว่าจะ เกมโชว์ออนไลน์, Facebook LIVE, Facebook Polls เป็นต้น ซึ่งเราใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้หลายอย่าง

พอฟังน้าเน็กแบบนี้แล้ว เห็นชัดเลยว่า Facebook เป็นพื้นที่ที่ใครๆ ก็สามารถมาใช้ประโยชน์ในการสร้างรายได้ได้ เพียงแต่เราต้องให้ความสำคัญกับคอนเทนต์ว่ามันดีเพียงพอหรือไม่ ที่สำคัญต้องตั้งเป้าหมายชัดเจนว่า ผู้ชมเขาจะได้อะไรจากเรา หรือว่าเราช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้เขาได้มากน้อยแค่ไหน ในระยะยาวผู้ชมหน้าใหม่ก็จะกลายมาเป็นฐานแฟนคลับเราเองโดยอัตโนมัติ

 

 

 

ที่มา: facebook media


  • 824
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม