“จุดอ่อนที่สุดของคุณคืออะไร ?” ตอบอย่างไรกับคำถามสัมภาษณ์งานยอดฮิต

  • 127
  •  
  •  
  •  
  •  

 

บทความจาก Adam Grant อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัย Wharton ได้เผยถึงผลการสำรวจเรื่องการสัมภาษณ์งาน ซึ่งผู้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันคือ หากมีการถามถึงข้อเสีย ผู้สมัครจะให้คำตอบในเชิงบวกกันเป็นส่วนมาก คำตอบในเชิงบวกอาจฟังแล้วดูดี แต่ไม่ได้แปลว่ามันคือเรื่องจริงเสมอไป

 

ด้วยคำถามตั้งต้นที่ถามถึงข้อมูลด้านลบ คำตอบที่ได้กลับกลายเป็นบวก ตัวอย่างคำตอบเชิงบวกที่ผู้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่เจอมาคือ ‘ผมเป็นคนทุ่มเทและเครียดกับงานมากเกินไป’ ‘ฉันเป็นคนประเภทต้องสมบูรณ์แบบทุกอย่าง’ ซึ่งทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้สมัครต่างรู้ดีว่านี่ไม่ใช่คำตอบที่ตรงกับคำถาม  เพราะเป็นไปได้ยากมากที่ผู้สมัครจะยอมเผยข้อเสียของตัวเองตรงๆ เพราะกลัวเกิดผลเสียต่อการสัมภาษณ์งาน

 

คำถามที่ถามถึงจุดอ่อนจึงถูกปรับเปลี่ยนประโยคให้มีความซับซ้อนมากขึ้น แต่ยังคงมีเป้าหมายเพื่อให้ได้คำตอบเดิม โดยออกแบบคำถามที่แยบยลให้ผู้สมัครเผยจุดอ่อนของตัวเองออกมา อย่างเช่นการยกตัวอย่างสถานการณ์บางอย่างขึ้นมาให้ผู้สมัครลองให้แนวทางการแก้ไข

 

1*J7j5KJ-Q_pqXaCRzE5p4Og

 

จากงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เผยว่าผู้สมัครที่จบการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจมามีแนวโน้มที่จะกังวลในเรื่องการถูกมองในเชิงลบมากกว่าสาขาอื่น เพราะด้วยตำแหน่งงานที่ต้องอาศัยศักยภาพสูงในหลายด้านและยังต้องมีความมั่นใจในตนเอง ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นนั้นมาจาก นักวิจัย Harvard ที่ได้ลงพื้นที่สอบถามนักศึกษาด้วยคำถามสัมภาษณ์งานยอดฮิต

 

 

คือถามเกี่ยวกับข้อเสียของพวกเขา มีเพียง 23% เท่านั้นที่กล้าเผยถึงข้อเสียของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ตัวอย่างคำตอบคือ ‘ผมผัดวันประกันพรุ่ง’ ‘ฉันประหม่าตลอดจนทำอะไรไม่ถูกทุกครั้งเวลาเจอคนเยอะๆ’ ‘ผมสมาธิสั้นและทำงานช้า’ เป็นต้น ส่วนอีก 77% นั้นจะพยายามหลีกเลี่ยงการพูดถึงข้อเสียตัวเองตรงๆ ตัวอย่างคำตอบคือ ‘ฉันขี้เกรงใจเกินไป’ ‘ผมเป็นพวกไม่อ่อนข้อให้กับความอยุติธรรม’ ‘ฉันเฟรนด์ลี่มากเกินไป’ เป็นต้น

 

Adam Grant  แนะนำไว้ในบทความว่า ไม่ว่าคำถามประเด็นนี้จะมาในรูปแบบไหน สิ่งที่คุณควรทำคือกล้าบอกข้อเสียเรื่องงานของคุณไปตรงๆ และตามด้วยประโยคที่แสดงความรับผิดชอบต่อข้อเสียนั้นๆ เช่นว่า เรามีแนวทางในการแก้ไขข้อเสียนั้นอย่างไร หรือที่ผ่านมาเราจัดการกับข้อเสียไปมากน้อยแค่ไหน มันคือการแสดงความตระหนักรู้ในตัวเอง และพร้อมจะปรับปรุงในข้อด้อยต่างๆเพื่อพัฒนาไปข้างหน้า ผู้สัมภาษณ์นั้นเจอคำตอบมาแล้วหลากหลายรูปแบบ เขาทราบดีว่าสิ่งที่คุณบอกนั้นเป็นความจริงหรือไม่

 

Reference: amj.aom.org
Reference: Medium 
Reference: science of us

Cover photo: Yuri Arcurs/Getty Images

Source: Copyright © MarketingOops.com


  • 127
  •  
  •  
  •  
  •