เผยกลยุทธ์ “ใจแลกใจ” กระเป๋าหนังแบรนด์ไทย VERA ที่สร้างยอดขายกว่าร้อยล้าน

  • 15.3K
  •  
  •  
  •  
  •  

ศุภดิศ ศิรินภาพันธ์ (คุณอาร์ท) และวิไลพร ศิรินภาพันธ์ (คุณกิ) สองผู้บริหารผู้ปลุกปั้นแบรนด์ VERA

จากอดีตมนุษย์เงินเดือนที่มีหน้าที่การงานกำลังไปได้สวย แต่ตัดสินใจสละเรือลำใหญ่ที่มั่นคง เลือกเบนเข็มชีวิตสู่ธุรกิจกระเป๋าหนัง โดยใช้ “คุณภาพ” สู้กับแบรนด์ดังๆ

4 ปีก่อน พวกเขาเริ่มต้นจาก “ศูนย์” แต่ด้วยความทุ่มเท และใส่ใจในรายละเอียดทำให้แบรนด์ VERA เริ่มมีฐานแฟนที่เหนียวแน่นในกลุ่มลูกค้าสายแฟชั่นนับหมื่นรายที่ต้องการมองหาสินค้าคุณภาพ

ซึ่งวันนี้ หลังจาก VERA สั่งสมประสบการณ์ระดับหนึ่งแล้ว จึงพร้อมโตต่อและพร้อมที่จะ explore ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ด้วย การเปิดตัว VERA Men หลังมีเสียงเรียกร้องจากกลุ่มลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ

เริ่มต้นการพูดคุยในวันนี้ เราเปิดด้วยคำถามถึงที่มาของแบรนด์ VERA คุณกิเป็นผู้ช่วยถ่ายทอดให้ฟังว่า “เดิมกิเคยเป็นมาร์เก็ตติ้งอยู่ที่บริษัทยูนิลิเวอร์ค่ะ ต้องเดินทางต่างประเทศบ่อย ไปเจอร้านที่ทำกระเป๋าหนัง รู้สึกประทับใจว่ากระเป๋าเขามันเรียบดี กิไม่ชอบกระเป๋าที่ลายเยอะหรือโลโก้ใหญ่ๆ มาคิดว่าบ้านเราไม่ค่อยเห็นสไตล์แบบนี้ จนวันหนึ่เรารู้สึกอยากลองทำกระเป่าที่เราชอบ เลยลองขึ้นแบบเอง ทำเสร็จแล้วก็ไปสะพายโชวให้เพื่อนดู ใครๆ ก็ชอบ เราก็เริ่มรู้สึกชอบ จึงคิดที่จะทำขาย จึงตัดสินใจลาออกจากงานมาทำ ซึ่งตอนนั้นเราไม่มีแบ็กราวนด์ด้านนี้เลย”

“ช่วงที่เรามาเริ่มตรงนี้เป็นช่วงที่ทุกคนเริ่มออกมาทำสตาร์ทอัพ เราทำงานมาระดับหนึ่งแล้วก็อยากลองออกมาทำอะไรของตัวเอง ตอนต้องเลือกธุรกิจนั้น ผมอยู่ในสายไอทีก็ชอบอย่างหนึ่ง กิเขาก็ทำกระเป๋าของเขา พอถึงจุดเราทำจริงจังมากขึ้น กลายเป็นกระเป๋ามันอยู่ได้ด้วยตัวเอง” คุณอาร์ทเสริม

สำหรับเหตุผลที่เลือกทำธุรกิจออนไลน์ เพราะทั้งสองมองว่า เป็นช่องทางการขายที่กำลังมาแรง ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องลงทุนสูงมากนัก

“ตอนแรกเราเริ่มจากเปิดพรีออร์เดอร์ แต่ตอนหลังพบว่ามันมีปัญหาเรื่องเวลากิเป็นคนที่ติดความสมบูรณ์แบบ กว่าจะส่งถึงลูกค้าได้เราต้องตรวจเช็คทุกขั้นตอน เลยทำให้มีปัญหาเรื่องของเวลาส่งมอบ ก็เลยมองว่าพรีออร์เดอร์ไม่ใช่แล้ว ประกอบกับเราเป็นมาร์เก็ตติ้ง อยากทำอะไรให้เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อยก่อนทีเดียว ก็เลยปรับมาเป็นผลิตแล้วจำหน่าย”

การเริ่มต้นในธุรกิจนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับคุณกิ เพราะไม่เคยมีแบ็คกราวนด์ในธุรกิจเครื่องหนัง และเธอต้องปรับตัวเข้ากับโลกโซเชียลมีเดียที่ไม่เคยให้ความสนใจมาก่อน

“เดิมเป็นคนไม่ชอบเฟสบุ๊คเลย ไม่ชอบการถ่ายรูป แต่เราต้องมานั่งลงมือทำอะไรเองทั้งหมด จำได้เลยตื่นเต้นมากกับการโพสต์ ครั้งแรกว่าจะเขียนอะไร คนจะอ่านของเราไหม เราทำเองคนเดียวทุกอย่าง ตอบคำถามลูกค้า ทุกขั้นตอนในเวลานั้น” คุณกิย้อนวันวาน

VERA แปลว่า ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ

ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ คือ DNA ของแบรนด์ VERA ที่น่าจะสะท้อนถึงบุคลิกของแบรนด์ ที่มีความจริงใจเป็นที่ตั้งได้เป็นอย่างดี และยังเป็นองค์ประกอบที่ทำให้แบรนด์ VERA ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว แม้มีอายุเพียง 4 ขวบปี

คุณกิเล่าว่า ในธุรกิจขายของออนไลน์สิ่งที่จะมัดใจลูกค้าคือต้องใช้ใจแลกใจ และมีความเข้าใจในตัวลูกค้ามากๆ  เริ่มตั้งแต่การออกแบบอย่างเข้าใจ Lifestyle ของกลุ่มเป้าหมายจริงๆ  รวมถึงการที่คุณกิใช้สินค้าเองจริงๆ ในชีวิตประจำวันก่อนสั่งผลิตจริง ซึ่งเธอย้ำว่า ถ้าเธอใช้เองแล้วไม่ชอบ ไม่ตอบโจทย์ ก็พยายามปรับปรุงสินค้าจนกว่าจะดีที่สุด

“เรารู้อินไซต์ของสาวๆ ต้องการอะไร คือสินค้าเรามีแนวคิดว่า “ฟังค์ชันต้องได้ สไตล์ต้องมา” ในแง่การออกแบบ เราเชื่อว่าสิ่งที่เขาต้องการคือดีไซน์ที่เป็นมินิมอล ใช้งานได้ในชีวิตจริง เพราะเราเคยเป็นสาวทำงาน เรามีเพื่อน มีไลฟ์สไตล์แบบไหนเรารู้ ช่วงแรก VERA จึงเป็นแบรนด์ที่ตอบสนองสาวออฟฟิศ ต่อมาก็ค่อยๆ ขยายไปกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ แต่ทุกวันนี้เรามีลูกค้าหลากหลาย ไปจนถึงลูกค้าในต่างจังหวัดหรือในต่างประเทศ และทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น คุณหมอ อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา

คุณอาร์ท ช่วยให้เหตุผลว่า “ในความคิดของผมมองว่าลูกค้าส่วนใหญ่ชอบในเรื่องฟังค์ชัน และความละเอียดใส่ใจ เพราะกระเป๋าแต่ละใบต้องผ่านมือกิ เขาจะเป็นคนขึ้นแบบ ใช้เอง ปรับแต่งจนได้ตามความต้องการ เป็นคนที่จุดเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ยอมปล่อยผ่าน อย่างสายปรับเลื่อนขึ้นลงกว่าจะได้ที่เขาพอใจ”

“สำหรับกระเป๋าเรื่อง “Sizing” เป็นเรื่องที่ matter มากๆ เลยนะ กระเป๋าใบหนึ่ง ทรงแบบนี้ ถ้าขนาดใหญ่หรือเล็กกว่านี้แค่นิดเดียว มันก็ไม่น่ารักแล้ว นอกจากนี้ กระเป๋าอาจหน้าตาเหมือนกันแต่การขึ้นทำได้หลายแบบ ซึ่งแต่ละวิธีมีผลต่อการใช้งาน”

“เขาเป็นคนที่ Cost Added คือมีอะไรก็ใส่เข้าไป” คุณอาร์ทบอกเล่า

คุณกิหัวเราะพร้อมเอ่ยว่า “คือเราเชื่อว่าลูกค้าเขาใช้แบรนด์เนมมาหมดแล้ว แต่โจทย์เราคือทำอย่างไรให้เขามาใช้เราด้วย  เราเชื่อว่าถ้ามีดี คนก็แฮปปี้ที่จะใช้ ทำให้เราต้องใส่ใจเรื่องรายละเอียดจริงๆ”

ดีไซน์ต้องตอบโจทย์ลูกค้า VERA

แม้กระเป๋าของ VERA จะยึดแนวทางของ Timeless Design ที่ไม่ยึดติดกับความหวือหวาของแฟชั่น แต่  VERA ก็ไม่เคยหลุดจากกระแส และยังคงติดตามเทรนด์โลกไปด้วยเสมอ อย่างไรก็ดี ในการเลือกออกแบบที่ดีที่สุด ย่อมไม่พ้นการเลือกสิ่งที่ลูกค้าต้องการและเหมาะสมกับลูกค้า

“เราก็จะคอยคิดตามตลอดว่า เทรนด์แต่ละปีเป็นอย่างไร อะไรมา แต่ถ้าบางอย่างที่มันไม่ตอบโจทย์ เช่น ปีหน้า big bag กำลังมา แต่เราดูแล้วว่า ขนาดมันไม่เหมาะกับสรีระคนไทยเราก็ยึดลูกค้าเป็นหลัก” คุณกิให้ข้อมูล

“แต่อีกเทรนด์ที่เรามองว่าน่าจะมาจริงๆ คือเทรนด์ Organics เป็นการออกแบบที่เน้นการโชว์ธรรมชาติหรือคาแรคเตอร์ของหนังของหนังที่มีความยับย่น หรือเห็นร่องรอยกระเป๋า ซึ่งแต่ละใบไม่ต้องเหมือนกัน และไม่ต้องสมบูรณ์แบบ ซึ่งในต่างประเทศเทรนด์นี้เป็นที่นิยมมานานแล้ว แต่คนไทยจะคุ้นเคยเคยกับกระเป๋าแบบหนังเรียบกริบมากกว่า ซึ่งนั่นเป็นแนวโน้มที่เรากำลังไป มันเลยเป็นความชาเลนจ์ของเราที่ทำยังไงถึงจะเปลี่ยนความคุ้นเคยของคนไทยดังกล่าว”

เธอยังเสริมต่อว่า แต่ปัจจุบันคนไทยมีความเป็น individual มากขึ้น ทั้งชอบความหลากหลายขึ้น แม้แต่ในคนๆ เดียวก็มีหลายสไตล์ในตัวเอง ฉะนั้นโจทย์สำคัญคือทำยังไงให้ VERA อยู่ในทุกอารมณ์ของลูกค้า

“อย่างปีนี้เราเริ่มเล่นสีที่เป็น colorful มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่มีความเป็น individual มากขึ้นนั่นเอง”

ถอดรหัสความสำเร็จ

ปัจจุบันแบรนด์เปิดตัวมาได้เพียง 4 ปี แต่มีการเติบโตค่อนข้างรวดเร็ว โดยถ้านับยอดขาย VERA ส่งต่อกระเป๋าให้กับลูกค้านับหลายหมื่นราย ไม่น้อยกว่าสามสี่หมื่นใบแล้ว

“ปีที่ผ่านมาเราโตค่อนข้างเยอะ และปีนี้ยังโตค่อนข้างดี เฉลี่ยโตปีละประมาณสองหลัก มองว่าสิ่งที่ทำให้เราเติบโตได้ดี ส่วนหนึ่งเพราะเราพยายามออกรุ่นใหม่ๆ ตลอด นอกจากสไตล์เดิมที่เป็นมินิมัล เราเริ่มขยายฐานลูกค้าให้หลากหลายขึ้น อย่างกลุ่ม first jobber โดยปรับสีสันรูปแบบให้เข้ากับเขา ก็ปรากฏว่าทำให้เรามีลูกค้ากลุ่มใหม่อายุน้อยขึ้นเข้ามา”

คุณอาร์ทช่วยเอ่ยต่อว่า “กลยุทธ์นี้เป็นแนวทางที่เรามองไว้ตั้งแต่ก่อนปีที่แล้ว เราตั้งแผนไว้แล้วว่าจะโตยังไง ซึ่งประกอบด้วย 2 เรื่อง คือ “ช่องทาง” กับ “ตัวสินค้า”  ในแง่โพรดักส์เราเพิ่มความหลากหลายสินค้าให้มากขึ้น ส่วนช่องทาง หลังจากประสบความสำเร็จในออนไลน์ระดับหนึ่งแล้ว เราก็ตั้งใจเปิด VERA Gallery เป็นช็อปสาขาแรกเมื่อปีที่แล้ว ที่อาคารเวฟเพลส เพลินจิต และที่ VERA Gallery เซ็นทรัลลาดพร้าว เป็นสาขาที่สองที่เราเปิดในปีนี้ สองตัวนี้เป็นคีย์หลักๆ ในการไดรฟ์ยอดขายให้เราในช่วงปีที่ผ่านมา”

สำหรับเทคนิคทางการตลาดของแบรนด์ที่เรียบง่าย แต่กลับประสบความสำเร็จ และครองใจสาวๆม านานกว่า 4 ปี คุณกิและคุณอาร์ทเปิดเผยเคล็ดลับว่ามี 2 ประเด็นหลักคือ

“ความจริงใจ” ที่ทั้งสองให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ตั้งแต่เริ่มต้นออกแบบ กระบวนการผลิต การสื่อสารกลับลูกค้า ไปจนถึงการบริการหลังการขาย ความพิถีพิถันเริ่มตั้งแต่ในกระบวนการเลือกหนัง ที่ทางแบรนด์คัดสรรจากโรงฟอกดีๆทั่วโลก เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส บางตัวเป็นผืนเดียวกับที่ใช้ในแบรนด์เนมระดับโลก ไปจนถึงการผลิตที่เน้นใช้ช่างที่ชำนาญตัวจริง ซึ่งคุณกิกระซิบบอกว่า บางรุ่นผลิตยากมาก เราไม่อยากเร่ง การทำกระเป๋าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เป็นงานที่ละเอียด หลายครั้งๆ ก็ต้องยอมให้คุณลูกค้าพรีออเดอร์

“ทุกขั้นตอนเราจะคิดกลับกันเสมอ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ถ้าเราเป็นลูกค้า เราอยากได้อะไร” คุณกิย้ำ

ใส่ใจทุกคำถาม จริงใจทุกคำตอบ

สำหรับอีกส่วนเสริมความสำเร็จของแบรนด์ คือการพัฒนา “เครื่องมือที่ช่วยลูกค้าตัดสินใจ

เนื่องจากในการซื้อขายออนไลน์ แน่นอนว่าโอกาสลูกค้าจะได้เห็นหรือสัมผัสสินค้าจริงนั้นแทบไม่มี ดังนั้นทางแบรนด์ จึงสร้างความแตกต่าง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นอีกจุดคือแข็ง คือการสร้าง material ที่ครอบคลุม ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นภาพสินค้า ภาพวิดีโอ ฯลฯ

“Sales Page” จึงเป็นอีกเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารกับลูกค้าที่ VERA พัฒนาอย่างตั้งใจขึ้น โดยไมโครไซต์ดังกล่าวจะรวบรวมข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับสินค้าอย่างละเอียดในแต่ละรุ่น ไว้ทั้งหมด เพื่อให้ลุกค้าศึกษาสินค้าได้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่การเล่าถึงแรงบันดาลใจ และอธิบายฟังก์ชันอย่างละเอียด และวิดีโอ Open Bag เล่าทุกดีเทลของสินค้าในภาพเคลื่อนไหว ดูจบแล้วเข้าใจในตัวสินค้าทันที

นอกจากนี้ ทางแบรนด์ยังพัมนาบุคลากรผู้ให้คำแนะนำ ที่เรียกว่า Fashion Consultant (FC)  ที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถการตัดสินใจซื้อได้รวดเร็ว เรียกได้ว่าตอบโจทย์ทุก pain points ในการซื้อของออนไลน์  และนี่เป็นเหตุผลที่ VERA มีลูกค้าที่ซื้อซ้ำถึง 90%

“เราจะเทรนน้องๆ ในทีม ว่า ในการตอบควรจะใช้ภาษาแบบไหน สำนวนการใช้ สปีดในการตอบ เป็นเรื่องที่ต้องเทรนกัน รวมถึงมีแมทีเรียลให้น้องๆ  เช่น รูปภาพหลายๆ มุม” คุณกิกล่าว

“หรือแม้แต่เวลาออกสินค้ามาแต่ละรุ่น เราจะ Brain Strom กันเลยว่าลูกค้าจะถามอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเทียบราคา สี หรือเทียบไซส์กับรุ่นนั้น เราก็จะทำรูปรอไว้เลย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเดา เพราะเรารู้ว่าสาว VERA ต้องเข้าห้องประชุมบ่อยๆ เวลาที่เขาว่างจะซื้อคือมันเสี้ยวโมเมนท์ของเวลาสั่งซื้อ เพราะฉะนั้นคำตอบต้องชัดเจน และ ตอบกลับลูกค้าอย่างรวดเร็ว ภายใน 3 นาที  นอกจากนี้ยังต้อง ส่งของเร็ว เข้าใจลูกค้าในยุคนี้ เขายอมจ่ายเงินก่อนโดยไม่เห็นของ ยังไม่ได้ของเขาจ่ายเงินให้เราแล้ว หน้าที่เราส่งมอบให้เราเร็วที่สุด

Sale Page > http://m.veraparisbag.com/freda

ก้าวกระโดดจากออนไลน์สู่ออฟไลน์

นอกจากทางแบรนด์ ใช้ทุก Online Platform ในการนำเสนอสินค้า และทำโฆษณา ทั้ง Google, Facebook, Instagram, LINE และอัพเดทให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเสมอ

แต่อีกแนวโน้มที่เริ่มได้เห็นสัญญาณในปีนี้ คือการเติบโตในช่องทางออฟไลน์เริ่มแซงหน้าออนไลน์อย่างมีนัยสำคัญ โดยหลัง VERA ตัดสินใจเปิดหน้าร้าน

พฤติกรรมลูกค้าจากการได้มีโอกาสเจอสินค้าจริงผ่านหน้าร้านสาขาของ VERA เริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น จนเกิดการกลับมา “ซื้อซ้ำ” ในช่องทางออนไลน์ จนยอดขายเริ่มพุ่งสูงขึ้น

“พูดง่ายๆ คือออฟไลน์ยัง gain ลูกค้าใหม่ให้เรา แล้วเกิดการ repeat ออร์เดอร์ในช่องทางออนไลน์” คุณกิว่า “เดิมลูกค้ารู้จัก VERA อยู่แล้วจากการสื่อสารผ่านทางออนไลน์ แต่ลูกค้าบางรายเขาอยากเข้าไปสัมผัส เข้าไปเลือกชมสินค้า เพราะฉะนั้นหน้าร้านมันเปิดโอกาสให้คนได้จับกระเป๋าจริงๆ ลองสะพายจริง และสุดท้ายสามารถปิดการขายที่หน้าร้าน แต่ถามว่าตอนที่ไม่มีหน้าร้านออนไลน์ก็ไปได้ดีค่ะ  แต่ปัจจุบันมันกลายเป็นว่าการทำตลาดของเรา ออนไลน์กับออฟไลน์มัน seamless (กลมกลืน) จนเป็นเรื่องเดียวกันไปแล้ว”

“เราเชื่อว่าพอถึงจุดหนึ่งเรามองว่ามันไม่มี on หรือ off แล้ว ทุกอย่าง engage กันหมด อย่างลูกค้าอาจซื้อออนไลน์แต่ขอรับของที่หน้าร้านก็มี หรือลูกค้าซื้อหน้าร้านแต่ขอให้ส่งออนไลน์ก็มี ไม่มีการแบ่งแยก เพราะฉะนั้นระบบหลังบ้านและทุกอย่างจะต้องปรับให้การทำงานสอดคล้องกัน” คุณอาร์ทให้ความเห็นเพิ่มเติม

การเปิดหน้าร้าน ยังทำให้คุณกิมีอีกหลายเลิร์นนิ่งซึ่งเป็นประสบการณ์ความรู้ใหม่ๆ ที่เธอคาดไม่ถึง

“อย่างเรื่องหนึ่งเราได้ค้นพบคือ เราตั้งราคาผิดค่ะ (หัวเราะ) กิไม่ได้คิดเรื่องต้นทุนการขายในแบบออฟไลน์มาก่อน เพราะตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจเปิดหน้าร้าน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีห้างหลายแห่งที่ติดต่ออยากให้เราไปวางขาย แต่เขาขอมาร์จิ้นแบบที่เราขาดทุน เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เรามองว่า งั้นเราเปิดหน้าร้านเองน่าจะเหมาะกว่า เพราะมันควบคุมค่าใช้จ่ายได้ และยังขายได้ในราคาเดิมที่ไม่เป็นภาระให้กับลูกค้า”

วิดีโอเล่าถึงตัวแบรนด์ > https://trustyle.co.th

New Journey สู่ VERA MEN

ที่ผ่านมา VERA มุ่งไปที่สาวๆวัยทำงานที่มีไลฟ์สไตล์ คนเมือง ชอบสินค้าที่มีความสวยเรียบง่าย ฟังก์ชันตอบโจทย์ และคุณภาพดี แต่วันนี้ VERA พร้อมที่จะเติบโตไปอีกขั้น กับการก้าวเข้าสู่กลุ่มผู้ชายวัยทำงาน สไตล์ City Life ที่มองหาเครื่องหนังคุณภาพ ดีไซน์เรียบง่าย ใช้ได้ทุกวัน กับ VERA MEN

“สไตล์การทำงานของเรา เราไม่รีบร้อนในการทำอะไร เราสองคนค่อยๆ เดินก้าวทีละขั้น มองว่าเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ พูดตามตรงเราไม่ได้มองมาถึงจุดนี้ จำได้ว่าเดือนแรกขายได้แสนบาท แค่นั้นดีใจจะแย่แล้วที่ลูกค้าเขาใช้ของเรา ซึ่งทุกวันนี้เรามักจะคุยกันเสมอ ความสุขของเราคือแค่ทำให้มันดีขึ้นทุกๆ วัน และทำสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้า อย่างวันนี้ที่เราลุกขึ้นมาทำ VERA MEN ก็เพราะลูกค้าผู้หญิงของเราถามกันมาเยอะมาก ทำไมไม่มีของผู้ชายบ้างจะได้ซื้อให้แฟนเขาบ้าง หรืออย่างแฟนกิเองก็ไม่มีกระเป๋าใช้” คุณกิเล่า

ด้านคุณอาร์ทเอ่ยเสริมว่า “จริงๆ VERA MEN เราจะออกมาตั้งแต่ปีที่สองแล้ว แต่มาคุยกับกันแล้ว เราคิดตรงกันว่าเรายังควรโฟกัสฐานลูกค้าผู้หญิงให้ฐานแน่นมั่นคงค่อยมาทำตรงนี้ เพราะมันมีความแตกต่างพอสมควร ทั้งในแง่ตัวสินค้า การออกแบบ ทีมงาน เราเป็นบริษัทไม่ได้ใหญ่ การสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าก็ไม่เหมือนกัน มันแตกต่างกันหมดเลย”    

คุณกิให้คำจำกัดความ คุณลูกค้า VERA คือคนที่ไม่ได้ติดในแบรนด์เนม แต่เป็นคนที่หลงใหลของคุณภาพดี มีฟังก์ชั่นตอบโจทย์ และสวยงามแบบเรียบง่ายใช้ได้ทุกวัน เช่นเดียวกับ ผู้ชาย VERA ก็จะเป็นคนที่น้อยๆ แต่ดูลุ่มลึก ที่ต้องการความน้อยๆ เรียบๆ แต่รู้ว่าอะไรคือของดี

ดังนั้นถึง VERA MEN เป็นกระเป๋าสตางค์ผู้ชายหน้าตาเรียบๆ ใบหนึ่ง แต่รายละเอียดเยอะ เพราะทางแบรนด์ใส่ใจตั้งแต่การเลือกหนังไปจนถึงวิธีการออกแบบและผลิต

“ถ้าสัมผัสแล้วจะรู้สึกได้ทันทีว่านุ่ม แต่ใช้แล้วไม่เสียรูปทรง เพราะด้านในเราเน้นให้แข็งเพื่อรักษาทรงกระเป๋า เพราะโจทย์แรกของเราคือมันต้องบางให้ได้ ทำไงให้ไม่เกิน 1 เซ็นติเมตร เราอยากให้มัน seamless ไม่มีรอยต่อ แต่ยังแข็งแรง คงทนอยู่ ทีนี้อะไรที่เรามองว่าไม่ช่วย ไม่ดี เราตัดออก อะไรที่ทำให้ดีเราใส่เข้าไป ซึ่งมันมีดีเทลปลีกย่อยเยอะมาก ซึ่งกว่าเราจะได้หน้าตาแบบนี้เราขึ้นโปรโตไทป์มาแล้ว 6 ครั้งได้” คุณกิเล่า

จากการพบว่าผู้ชายส่วนใหญ่จะชอบใส่กระเป๋าสตางค์ไว้ในกางเกงด้านหน้า ทางแบรนด์จึงพยายามออกแบบกระเป๋าให้มีการเสริมทรงด้วย Box Leather แต่ยังคงความบางไว้ได้

สำหรับในการเจาะตลาด ทางแบรนด์ยังเลือกเริ่มต้นสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าหลัก นั่นคือลูกค้า ผู้หญิง

“เพราะเรามองว่าเวลาผู้ชายซื้อกระเป๋า เขาซื้อใบเดียวแล้วเขาก็ใช้ลืมไปเลย ดังนั้นเป็นหน้าที่ของผู้หญิงอย่างเราที่ต้องบอกเขาว่าควรเปลี่ยนได้แล้วเพราะมันเก่า เริ่มต้นเราสื่อสารไปที่ลูกค้าผู้หญิงที่อยากเปลี่ยนกระเป๋าให้ผู้ชาย”

“กระเป๋าใส่สตางค์ที่เราออกแบบ แม้จะดูเรียบ แต่ผ่านการคิดมาแล้ว ที่สำคัญผมเองก็ใช้เองด้วย” คุณอาร์ท กล่าวทิ้งท้าย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : www.veraparisbag.com , Facebook : VERAPARISbag , Instagram : VERAPARISbag


  • 15.3K
  •  
  •  
  •  
  •